เลือกหัวข้อที่อ่าน
- แผ่นดินไหว คืออะไร
- แผ่นดินไหว เกิดจากอะไร
- แผ่นดินไหว ต้องทำยังไง
- การเตรียมความพร้อมรับมือแผ่นดินไหว
- ระดับความรุนแรงของแผ่นดินไหว
แผ่นดินไหว เกิดจากอะไร ต้องทำยังไง การเตรียมพร้อม
แผ่นดินไหว คืออะไร
แผ่นดินไหว คือ การสั่นสะเทือนของพื้นผิวโลกซึ่งเกิดจากการเคลื่อนตัวอย่างฉับพลันของแผ่นเปลือกโลกตามแนวรอยเลื่อน ส่งผลให้พลังงานความเครียดที่สะสมไว้ภายในโลก ถูกปลดปล่อยออกมาในรูปแบบของคลื่นไหวสะเทือน
แผ่นดินไหว เกิดจากอะไร
แผ่นดินไหว เกิดจากการเคลื่อนตัวของแผ่นเปลือกโลกตามแนวรอยเลื่อนที่มีพลังภายในเปลือกโลก ซึ่งอาจเกิดจากดินถล่ม ภูเขาถล่ม ภูเขาไฟระเบิด หรืออุกกาบาตพุ่งชนโลก นอกจากนี้ แผ่นดินไหวยังอาจเกิดจากการกระทำของมนุษย์และสิ่งปลูกสร้าง เช่น เขื่อนแตก แรงระเบิดจากการทำเหมืองแร่ หรือการถูกโจมตีด้วยขีปนาวุธและระเบิดปรมณู
แผ่นดินไหว ต้องทำยังไง
หากอยู่ในอาคาร ขณะเกิดแผ่นดินไหว
“ให้หมอบ ป้อง และยึด”
- หากแผ่นดินไหวขณะอยู่ในอาคาร ให้หมอบต่ำ ใช้แขนป้องศีรษะและคอ หรือหมอบลงใต้โต๊ะที่แข็งแรง ยึดขาโต๊ะไว้ให้แน่น หรือยืนชิดติดกับกำแพงหรือเสาแข็งแรง ยึดไว้ให้มั่นคงจนกว่าแรงสั่นสะเทือนของแผ่นดินไหวจะหยุดลง
- ออกห่างจากหน้าต่าง วัตถุแขวนลอยบนผนัง เฟอร์นิเจอร์แขวนสูง กระจก โคมไฟ เครื่องใช้ไฟฟ้า หรือตู้เก็บของขนาดใหญ่
- ในขณะที่เกิดการสั่นสะเทือนอย่างรุนแรง อย่าเพิ่งวิ่งหนีออกจากตัวอาคารเพื่อป้องกันไม่ให้กระจกหรือวัตถุหล่นใส่ ให้รอจนกระทั่งการสั่นสะเทือนของแผ่นดินไหวลดลง แล้วจึงค่อยวิ่งหนีลงทางบันได ห้ามใช้ลิฟต์โดยเด็ดขาด
- วิ่งหนีออกให้ห่างจากตัวอาคาร วิ่งไปที่จุดรวมพลกลางแจ้งหรือพื้นที่ปลอดภัย เพื่อป้องกันกระจกหรือโครงสร้างอาคารหล่นใส่
- หากนอนอยู่บนเตียงนอนและไม่มีโคมไฟแขวนลอยเหนือศีรษะ ให้นอนอยู่บนเตียงแล้วเอาหมอนมาป้องศีรษะและคอ
- หากอยู่บนรถเข็น ให้ล็อคล้อรถ แล้วใช้แขนป้องศีรษะและคอ
หากอยู่กลางแจ้ง ขณะแผ่นดินไหว
- ให้ออกห่างจากตัวอาคาร สิ่งปลูกสร้าง สะพายลอย เสาไฟ เสาสัญญาณไฟ สายไฟฟ้า และต้นไม้ใหญ่
- หากกำลังขับรถ ให้จอดรถในที่โล่งแจ้งแล้วหยุดรถ จอดรถให้ห่างจากตัวอาคาร สะพานลอย เสาไฟ เสาสัญญาณไฟ สายไฟฟ้า และให้อยู่ภายในรถ เพื่อป้องกันกระจกหรือโครงสร้างอาคารหล่นใส่
- หากอยู่บนชายหาด ห้ามลงทะเล ให้วิ่งหนีอพยพไปยังพื้นที่สูงเพื่อป้องกันภัยจากคลื่นสึนามิที่อาจกำลังเกิดขึ้นตามมา
เมื่อแผ่นดินไหวหยุดลง
- ระวังอาฟเตอร์ช็อก (Aftershock) เตรียมพร้อมรับมือกับแผ่นดินไหวอาฟเตอร์ช็อก ที่อาจกำลังเกิดขึ้นตามมา
- เช็คตนเองว่าได้รับบาดเจ็บหรือไม่ หากมีบาดแผลเลือดออก ให้ห้ามเลือดโดยใช้ผ้าสะอาดกดบาดแผลเอาไว้ หากได้รับบาดเจ็บรุนแรง ให้ขอความช่วยเหลือจากบุคคลที่อยู่ใกล้
- เช็คบุคคลรอบข้าง หากมีผู้ได้รับบาดเจ็บ ให้ปฐมพยาบาลเบื้องต้น ห้ามเคลื่อนย้ายผู้ที่ได้รับบาดเจ็บสาหัส เว้นแต่ผู้ที่อยู่ในพื้นที่อันตรายที่จำเป็นต้องเคลื่อนย้ายโดยเร็วเพราะอาจได้รับบาดเจ็บเพิ่มเติมจากสิ่งของหล่นใส่ ขอความช่วยเหลือทางการแพทย์ในกรณีฉุกเฉินที่มีผู้ได้รับบาดเจ็บร้ายแรง
- หากผู้ประสบภัยมีภาวะช็อค หมดสติ ไม่หายใจ และผู้ช่วยเหลือสามารถทำ CPR ได้ ให้ทำ CPR ทันที ขอความช่วยเหลือจากผู้ที่อยู่ใกล้ที่สุดเพื่อสลับการทำ CPR และขอความช่วยเหลือทางการแพทย์โดยเร็วที่สุด
- หากมีไฟไหม้ขนาดเล็ก ให้ใช้ถังดับเพลิงดับไฟในทันที หากมีกลุ่มไฟขนาดใหญ่และมีควันไฟหนาแน่น ให้หมอบลง คลานต่ำ และหายใจผ่านเสื้อผ้า รีบวิ่งหนีออกให้ห่างจากพื้นที่เพลิงไหม้และกลุ่มควันไฟให้เร็วที่สุด หากอยู่ภายในอาคาร ให้หนีออกทางบันไดหนีไฟหรือทางที่ปลอดภัย ห้ามใช้ลิฟต์โดยเด็ดขาด
- หากพบสายไฟขาดชำรุดเสียหาย ห้ามสัมผัสกับสายไฟโดยเด็ดขาด ให้สับคัตเอาท์ลง ปิดเซอร์กิตเบรกเกอร์หรือสะพานไฟทุกตัวเพื่อป้องกันไฟช็อต ไฟดูด หรือไฟรั่ว
- ตรวจสอบก๊าซรั่วไหล ปิดวาล์วก๊าซทันทีหากได้กลิ่นก๊าซรั่วไหล ห้ามจุดบุหรี่ ไฟแช็ค ไม้ขีดไฟ หรือเทียนไขโดยเด็ดขาด
- ให้ระวัง ก่อนเปิดตู้เก็บสิ่งของเหนือศีรษะหรือชั้นเก็บสิ่งของที่อยู่สูง เพราะสิ่งของอาจตกหล่นใส่ จนได้รับบาดเจ็บอันตราย
- ตรวจสอบสัญญาณเครือข่ายโทรศัพท์ อุปกรณ์สื่อสาร หรือสัญญาณ Internet หากมีคลื่นสัญญาณ ให้ติดตามสถานการณ์จากศูนย์แจ้งข้อมูลข่าวสารหลักแห่งชาติ รัฐบาล และหน่วยงานที่ตนปฏิบัติงาน และปฏิบัติตามคำแนะนำจากเจ้าหน้าที่
- ก่อนกลับเข้าบ้าน ประเมินความปลอดภัย ให้ตรวจเช็คโครงสร้างบ้านจากภายนอกสู่ภายในบ้าน หากพบโครงสร้างรับน้ำหนักแตกร้าวเสียหาย งดการเข้าอยู่อาศัยภายในบ้าน จนกว่าวิศวกรตรวจสอบบ้านจะยืนยันความปลอดภัย
- ก่อนกลับเข้าอาคาร รอจนกว่าเจ้าหน้าที่อาคารสถานที่จะแจ้งหรือส่งข้อความยืนยันความปลอดภัย ว่าสามารถกลับเข้าไปภายในตัวอาคารได้ หากพบโครงสร้างรับน้ำหนักแตกร้าวเสียหาย ห้ามเข้าไปภายในตัวอาคารโดยเด็ดขาด
การเตรียมความพร้อมรับมือแผ่นดินไหว
- เตรียมชุดอุปกรณ์ฉุกเฉิน ถังดับเพลิง ชุดปฐมพยาบาล (First aid kit) ยาสามัญประจำบ้าน ไฟฉาย น้ำดื่ม อาหารแห้ง แบตเตอรี่สำรองไฟ และรองเท้าหุ้มส้นไว้ให้พร้อมไว้เสมอ
- ตรวจสอบโครงสร้างอาคาร บ้านเรือน และซ่อมแซมโครงสร้างที่ไม่มั่นคงให้แข็งแรงให้เป็นไปตามที่กฎหมายกำหนด
- เรียนรู้และฝึกซ้อมการปฐมพยาบาลเบื้องต้น การห้ามเลือด และการทำ CPR
- ตรวจสอบตำแหน่งและเรียนรู้วิธีการปิดวาล์วแก๊ส วาล์วน้ำ การสับคัตเอาท์ สะพายไฟ และเซอร์กิตเบรกเกอร์ภายในบ้าน
- ซักซ้อมการหนีไฟ อพยพแผ่นดินไหว การเคลื่อนย้ายผู้ป่วยออกจากบ้านและอาคารสถานที่ไปยังจุดรวมพลที่ปลอดภัย เป็นประจำทุกปี
- ไม่วางสิ่งของหนัก ๆ บนชั้นสูง ๆ หรือแขวนสิ่งของแขวนลอยที่มีน้ำหนักมาก ๆ เหนือศีรษะ
- วางแผนเรื่องที่พักสำรองต่างจังหวัด ในกรณีที่มีความจำเป็นต้องย้ายที่พัก
- ติดตามข่าวสารแผ่นดินไหวล่าสุดและคำเตือนแผ่นดินไหวจากหน่วยงานของรัฐที่เกี่ยวข้องเป็นประจำ ไม่เผยแพร่ข่าวลือที่ไม่มีมูลความจริง
- พิจารณาการซื้อกรมธรรม์ประกันภัยที่ให้ความคุ้มครองภัยแผ่นดินไหว
- จดบันทึกเบอร์โทรศัพท์ สายด่วน เหตุฉุกเฉิน สายด่วนแผ่นดินไหว ศูนย์เตือนภัยพิบัติแห่งชาติ สถาบันการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติ กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย และศูนย์ช่วยเหลือ-เยียวยาด้านประกันภัยเหตุแผ่นดินไหว