สรีรวิทยาไฟฟ้าหัวใจ งานที่รักษาและเห็นผลได้โดยไม่ต้องรอเวลา
ไฟฟ้าหัวใจ หนึ่งในสาขาที่มีบทบาทสำคัญในการเข้ามาดูแลผู้ป่วยโรคหัวใจที่มีความผิดปกติทางระบบไฟฟ้าหัวใจ จังหวะการเต้นของหัวใจ ซึ่งส่งผลต่อการทำงานของหัวใจ และอาจเป็นอันตรายต่อชีวิตได้ เมดพาร์คจึงชวนทุกคนมาพูดคุยกับ พญ. ศนิศรา จันทรจำนง อายุรแพทย์โรคหัวใจและหลอดเลือด ผู้ชำนาญการด้านการตรวจสรีรวิทยาไฟฟ้าหัวใจ
ประสิทธิภาพของการรักษา ทำให้สนใจเรื่องสรีรวิทยาไฟฟ้าหัวใจ
ย้อนกลับไปสมัยที่คุณหมอศนิศรา เรียนแพทย์ประจำบ้านต่อยอดด้านหัวใจ แล้วมีโอกาสศึกษางานด้านสรีรวิทยาไฟฟ้าหัวใจใน Cath Lab และได้เห็นการทำงานและรายละเอียดต่าง ๆ ของสาขานี้
“รู้สึกว่าไฟฟ้าหัวใจเป็นอะไรที่เปิดโลกเหมือนกัน เพราะเป็นการดูแลคนไข้แบบที่พอให้การรักษา ทำหัตถการแล้วก็จะเห็นผลของรักษาที่ดีกับคนไข้ในทันที ก็เลยตัดสินใจมาเป็นหมอหัวใจ เพราะสามารถช่วยผู้ป่วยที่อาจมาด้วยอาการหนัก มีโอกาสเสียชีวิตสูง แต่เราช่วยเขาได้ ให้เขาได้กลับบ้านไปเจอครอบครัว”
พอได้เห็นว่ามีการรักษาและดูแลผู้ป่วยในรูปแบบนี้ ทั้งยังให้ผลค่อนข้างดี คนไข้หาย สามารถกลับไปใช้ชีวิตได้เหมือนคนปกติ ก็เลยสนใจศึกษาต่อในสาขาวิชานี้
“โรคเกี่ยวกับหัวใจหลายโรคสามารถหายขาดค่ะ บางโรคที่เป็นซ้ำ เรื้อรัง ก็สามารถหายได้เช่นกัน แต่ยังไงก็จะมีผู้ป่วยบางกลุ่ม ที่ต้องมาติดตามอาการต่อเนื่อง แต่ก็จะช่วยให้เขามีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นได้”
หมอหัวใจ ได้ช่วยชีวิต ได้ให้โอกาส
“มีคนไข้คนหนึ่ง มาด้วยโค้ดบลู ก็คือหัวใจหยุดเต้นค่ะ ทางห้องฉุกเฉินก็ซีพีอาร์ขึ้นมา แต่คนไข้ความดันตก และยังไม่รู้สึกตัว จนไปเจอว่าลิ่มเลือดอุดตัน เสี่ยงเสียชีวิต เราได้ให้ความช่วยเหลือ ให้ยาละลายลิ่มเลือด หลังจากนั้นหนึ่งสัปดาห์ เราได้เห็นคนไข้ตื่น กลับบ้านไปหาครอบครัวได้ ได้ต่อชีวิตให้เขา”
คุณหมอเสริมว่า โรคหัวใจ โดยเฉพาะในกลุ่มที่หัวใจหยุดเต้น จะมีโอกาสเสียชีวิตเกิน 50 เปอร์เซ็นต์ เวลาจึงเป็นหนึ่งในปัจจัยสำคัญในการช่วยให้รอด หากสามารถช่วยเหลือได้ไว โอกาสรอดก็จะสูงขึ้น นี่จึงเป็นเหตุให้หมอหัวใจ ต้องรับมือกับเคสที่อยู่ระหว่างความเป็นความตายบ่อย ๆ
“ในเคสของงานสรีรวิทยาไฟฟ้าหัวใจ เคยเจอเคสหนึ่งที่มีภาวะหัวใจล้มเหลวเรื้อรัง หัวใจบีบตัวไม่ดี ทำให้น้ำท่วมปอด ปรับยาอย่างไรก็ไม่ได้ผล เรียกว่าร่อแร่ สุดท้ายเราใช้เทคนิคของไฟฟ้าหัวใจเข้าไปช่วย คือใส่เครื่องกระตุ้นหัวใจชนิดซีอาร์ที เพื่อช่วยให้หัวใจด้านซ้ายและขวาบีบตัวประสานกันเป็นปกติ ช่วยเรื่องหัวใจล้มเหลวได้ดีขึ้น อาการดีขึ้นเยอะมาก และกลับไปมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น เหมือนได้ชีวิตใหม่ค่ะ”
คุณหมอสรุปให้ฟังว่า แม้ว่างานด้านหลอดเลือดหัวใจจะสำคัญ แต่ก็เหมือนกับระบบประปา ส่วนงานด้านไฟฟ้าหัวใจก็เหมือนระบบไฟฟ้า ดังนั้นมันจึงสำคัญทั้งคู่ ทั้งไฟฟ้าและประปา
ความพร้อมของเมดพาร์ค ด้านสรีรวิทยาไฟฟ้าหัวใจ ช่วยเพิ่มโอกาสและประสิทธิภาพการรักษาโรคหัวใจ
ที่เมดพาร์คมีความพร้อมทั้งแพทย์เฉพาะทางด้านหัวใจแขนงต่าง ๆ มีทีม Cath Lab ที่ดีมาก และมีความกระตือรือร้นในการพัฒนา อีกทั้งยังมีทีมซัพพอร์ตอื่น ๆ ที่พร้อมจะเข้ามาช่วยดูแลคนไข้ในแต่ละราย ในส่วนของอุปกรณ์กระตุ้นหัวใจ กระตุกไฟฟ้าหัวใจ ก็ครบครัน และในปัจจุบันยังมีเทคโนโลยีใหม่ ๆ อัปเดตเรื่อย ๆ คุณหมอศนิศราอธิบายเพิ่มเติม
“เทคโนโลยีปัจจุบัน สามารถใส่เครื่องกระตุ้นหัวใจเข้าไปในห้องหัวใจได้เลย โดยไม่ต้องใส่สายสวนเข้าไปทางหลอดเลือดดำ ช่วยรักษาสภาพหลอดเลือดดำเอาไว้ ในผู้ป่วยที่ต้องทำหัตถการอื่น ๆ เช่น ผู้ป่วยโรคไต รวมไปถึงผู้ป่วยที่ยังมีอายุน้อยและหัวใจเต้นช้า และอาจจำเป็นต้องรักษาสภาพของหลอดเลือดดำเอาไว้เพื่ออนาคต วิธีดังกล่าวก็จะช่วยได้ค่อนข้างมาก ”
“อีกทั้งในผู้ป่วยหลายคน หากต้องใส่เครื่องกระตุกเพื่อช็อตให้การเต้นของหัวใจกลับมาเป็นปกติ สามารถทำได้โดยไม่ต้องใส่สายเข้าไปในหลอดเลือด อุปกรณ์อยู่นอกหัวใจ แต่ก็สามารถทำงานได้ ข้อดีหลัก ๆ เลยคือ ถ้าเกิดการติดเชื้อรุนแรงก็ล็อกเอ้าท์ออกได้ เกิดอะไรผิดปกติสามารถเช็กจากภายนอก รวมไปถึงเมื่อถึงเวลาหนึ่งที่ไม่จำเป็นต้องใส่แล้ว สามารถเอาออกได้ง่ายกว่า โอกาสติดเชื้อในหัวใจก็น้อยกว่าด้วย”
สรุปง่าย ๆ คือ เครื่องไม้เครื่องมือในปัจจุบัน ใช้งานได้ง่ายกว่า ปลอดภัยกว่า และยังให้คุณภาพชีวิตที่ดีกว่ากับคนไข้
จังหวะหัวใจ ที่สอดคล้องกับจังหวะของเสียงดนตรี
ในอีกแง่มุมหนึ่งในไลฟ์สไตล์ คุณหมอศนิศรามีทักษะการเล่นเปียโนที่เรียนมาตั้งแต่เด็ก และยังคงเล่นได้ดีในปัจจุบัน อีกทั้งในสมัยที่ยังเป็นนักศึกษาแพทย์ ก็ยังมีประสบการณ์เป็นครูสอนเปียโนด้วย เมื่อเทียบกับงานด้านการแพทย์ที่ดูไม่เข้ากันเลย คุณหมอจึงอธิบายเสริม
“ความจริงการแพทย์ก็คือศิลปะ เพราะการรักษาคนในบางครั้งมันก็ไม่เป็นสเต็ปหนึ่งสองสามสี่ เพราะเงื่อนไขทางสุขภาพของแต่ละคนไม่เหมือนกัน บางคนต้องเริ่มจากหนึ่ง แต่กับบางคนอาจเริ่มจากสาม ทุกอย่างมันเทเลอร์เมด จึงมีความเป็นศิลป์ในตัวของมันเองค่ะ”
นอกจากนี้ คุณหมอยังฝึกเล่นกีต้าร์ด้วยตัวเอง เคยเล่นตั้งวงกับเพื่อน ๆ แม้กระทั่งในปัจจุบัน ถึงจะไม่ได้เล่นจริงจังเหมือนเมื่อก่อน แต่ก็มักจะเล่นเพื่อความสนุก และผ่อนคลาย ถือว่าเป็นคุณหมอเมดพาร์คอีกหนึ่งท่าน ที่มีงานอดิเรกน่าสนใจ และมีกิจกรรมที่แหวกแนวไปจากงานด้านแพทย์ วิชาการไปเลย นับเป็นอีกสีสันของชีวิตที่คุณหมอทำเพื่อบาลานซ์อารมณ์ จิตใจ ทั้งยังเติมเต็มสัดส่วนความสนใจให้ครบถ้วนอีกด้วย