การคัดกรองและป้องกันมะเร็งลำไส้ใหญ่ (Colon Cancer Screening and Prevention)

การคัดกรองและป้องกันมะเร็งลำไส้ใหญ่

ผู้ป่วยมะเร็งลำไส้ใหญ่กว่าครึ่งมักได้รับการวินิจฉัยในระยะท้าย ๆ ของโรค เนื่องจากอาการของมะเร็งลำไส้ใหญ่มักจะเกิดขึ้นเมื่อมะเร็งมีขนาดใหญ่แล้ว

แชร์

การคัดกรองและป้องกันมะเร็งลำไส้ใหญ่

มะเร็งลำไส้ใหญ่ จัดเป็นมะเร็งที่พบบ่อยเป็นอันดับต้น ๆ ในบรรดามะเร็งทั้งหมด โดยเป็นมะเร็งที่พบมากที่สุดในสามอันดับแรกของประเทศไทยทั้งเพศชายและเพศหญิง อัตราเสี่ยงต่อการเกิดมะเร็งลำไส้ใหญ่สำหรับประชากรทั่วไปตลอดชั่วอายุนั้น พบว่าสูงถึงร้อยละ 4

ผู้ป่วยมะเร็งลำไส้ใหญ่กว่าครึ่งมักได้รับการวินิจฉัยในระยะท้าย ๆ ของโรค เนื่องจากอาการของมะเร็งลำไส้ใหญ่มักจะเกิดขึ้นเมื่อมะเร็งมีขนาดใหญ่แล้ว ไม่ว่าจะเป็นลักษณะของการขับถ่ายที่เปลี่ยนแปลงไป มีอาการท้องผูกสลับท้องเสีย หรือมีเลือดออก อาการเหล่านี้อาจนำไปสู่ภาวะการอุดตันของลำไส้ใหญ่ ลำไส้ทะลุ หรือเลือดออกรุนแรง ซึ่งทำให้การพยากรณ์ของโรคนั้นแย่ลง และเพิ่มโอกาสการเสียชีวิตจากมะเร็งมากขึ้น รวมถึงค่าใช้จ่ายที่ใช้ในการรักษาก็สูงขึ้นเช่นกัน

อย่างไรก็ดี มะเร็งลำไส้ใหญ่ จัดเป็นมะเร็งที่ป้องกันได้ เนื่องจากก่อนที่เนื้อส่วนที่ผิดปกติจะเจริญไปเป็นก้อนมะเร็งนั้นจะเริ่มจากการเป็นติ่งเนื้อธรรมดาที่ไม่ใช่มะเร็งเล็ก ๆ ก่อน โดยติ่งเนื้อเหล่านี้เกิดจากการเจริญเติบโตที่ผิดปกติของเซลล์ลำไส้ใหญ่ที่มีการผลัดเปลี่ยน การกลายพันธุ์ของสารพันธุกรรม โดยทั่วไปการเจริญจากติ่งเนื้อจนโตกลายไปเป็นมะเร็งลำไส้ใหญ่นั้นใช้เวลาถึงราว 10-20 ปี และติ่งเนื้อเหล่านี้เนื่องจากมีขนาดที่ไม่ใหญ่มากจึงยังไม่ทำให้เกิดอาการผิดปกติใด ๆ ซึ่งหากเราทำการตัดติ่งเนื้อในลำไส้ใหญ่ก่อนที่จะโตไปเป็นมะเร็งก็จะสามารถป้องกันการเกิดมะเร็งลำไส้ใหญ่และภาวะแทรกซ้อนได้ โดยการคัดกรองมะเร็งลำไส้ใหญ่นั้นแนะนำให้ทำในผู้ป่วยที่มีความเสี่ยงของการเกิดมะเร็งลำไส้ใหญ่สูง

ปัจจัยเสี่ยงของการเกิดโรคมะเร็งลำไส้ใหญ่

ปัจจัยเสี่ยงของการเกิดมะเร็งลำไส้ใหญ่สามารถแบ่งเป็นสองกลุ่มหลัก ๆ คือปัจจัยเสี่ยงที่ควบคุมได้ ได้แก่ การสูบบุหรี่ ภาวะน้ำหนักเกิน การดื่มสุรา และการบริโภคสัตว์เนื้อแดงในปริมาณมาก อีกกลุ่มหนึ่งคือปัจจัยเสี่ยงที่คุมไม่ได้ ซึ่งได้แก่ อายุที่มากขึ้นโดยพบว่าประชากรที่อายุเกิน 50 ปีขึ้นไปถึงร้อยละ 10 ตรวจพบติ่งเนื้อในลำไส้ใหญ่ และประวัติครอบครัวของมะเร็งลำไส้ใหญ่ อย่างไรก็ดีผู้ป่วยมะเร็งลำไส้ใหญ่ร้อยละ 80 พบว่าไม่มีประวัติของมะเร็งลำไส้ใหญ่ในครอบครัวเช่นกัน

การป้องกันโรคมะเร็งลำไส้ใหญ่

คำแนะนำในปัจจุบันสำหรับการคัดกรองมะเร็งลำไส้ใหญ่สำหรับผู้มีสุขภาพดีทั่วไปที่ไม่มีปัจจัยเสี่ยงกล่าวคือไม่มีประวัติครอบครัวสายตรงเป็นมะเร็งลำไส้ใหญ่ แนะนำให้เริ่มทำการคัดกรองมะเร็งลำไส้ใหญ่ในผู้ใหญ่อายุตั้งแต่ 50 ปีขึ้นไป (ในบางประเทศอาจให้เริ่มทำการคัดกรองตั้งแต่อายุ 45 ปี) ทุกรายโดยไม่จำเป็นต้องมีอาการผิดปกติใด ๆ

เนื่องจากอายุที่มากขึ้นจัดเป็นปัจจัยเสี่ยงหนึ่งของการเกิดมะเร็งลำไส้ใหญ่ และจุดประสงค์ของการคัดกรองคือการตรวจหาติ่งเนื้อในลำไส้ใหญ่ตั้งแต่ยังไม่มีอาการและทำการตัดติ่งเนื้อเหล่านั้นออก เพื่อป้องกันไม่ให้เจริญไปเป็นมะเร็งในอนาคต สำหรับผู้ที่มีญาติสายตรงเป็นมะเร็งลำไส้ใหญ่ตั้งแต่อายุยังน้อยจะเริ่มคัดกรองตั้งแต่อายุที่นำอายุของญาติสายตรงขณะเริ่มวินิจฉัยมะเร็งลำไส้ใหญ่ย้อนไป 10 ปี เช่น ในผู้ที่มีบิดาเป็นมะเร็งลำไส้ใหญ่ตั้งแต่อายุ 52 ปี ก็จะแนะนำให้ทำการคัดกรองตั้งแต่อายุ 42 ปี นั่นเอง

วิธีการคัดกรองโรคมะเร็งลำไส้ใหญ่

สำหรับวิธีการที่แนะนำในการคัดกรองมะเร็งลำไส้ใหญ่ที่จัดว่าเป็นมาตรฐานในปัจจุบัน ได้แก่การตรวจหาเลือดแฝงในอุจจาระทุกปี หรือการส่องกล้องลำไส้ใหญ่ทุก 10 ปี เริ่มตั้งแต่อายุที่เริ่มมีความเสี่ยงดังกล่าวข้างต้น โดยการตรวจหาเลือดแฝงในอุจจาระนั้นเป็นการตรวจหาเลือดปริมาณเพียงเล็กน้อยที่ตาเปล่ามองไม่เห็นและมีการปนเปื้อนมากับอุจจาระ ซึ่งอาจบ่งบอกถึงการมีรอยโรค โดยเฉพาะอย่างยิ่งคือ ติ่งเนื้อ ที่เมื่อมีการเคลื่อนที่ของอุจจาระผ่านในลำไส้อาจทำให้มีเลือดปริมาณเล็กน้อยปนมากับอุจจาระได้

เมื่อตรวจพบเลือดแฝงในอุจจาระก็มีความจำเป็นที่จะต้องทำการส่องกล้องลำไส้ใหญ่เพื่อตรวจหารอยโรคในลำไส้ต่อไป เนื่องจากการส่องกล้องลำไส้ใหญ่นั้นสามารถวินิจฉัย ตรวจหา และทำการตัดติ่งเนื้อได้ในคราวเดียว ดั้งนั้นหากทำการคัดกรองมะเร็งลำไส้ใหญ่ด้วยวิธีการส่องกล้องลำไส้ใหญ่ตามมาตรฐาน และตรวจไม่พบความผิดปกติก็สามารถทำทุก 10 ปีได้ แต่หากตรวจพบติ่งเนื้อและทำการตัดติ่งเนื้อออก การส่องกล้องครั้งถัดไปอาจต้องย่นระยะเวลาลงตามจำนวน ขนาด และชนิดของติ่งเนื้อ

โดยสรุป มะเร็งลำไส้ใหญ่ เป็นมะเร็งที่พบบ่อย และมักจะมาในระยะที่มีอาการซึ่งบ่งบอกถึงระยะของมะเร็งที่มากแล้ว ดังนั้นการป้องกันมะเร็งลำไส้ใหญ่ในประชากรด้วยการคัดกรองมะเร็งลำไส้ใหญ่ในผู้ป่วยที่มีอายุตั้งแต่ 50 ปีขึ้นไป ด้วยวิธีการส่องกล้องลำไส้ใหญ่ หรือการตรวจหาเลือดแฝงในอุจจาระ เพื่อตรวจหาติ่งเนื้อตั้งแต่ระยะก่อนมะเร็ง จึงเป็นสิ่งที่มีความสำคัญ และจำเป็น เพื่อลดอัตราการเสียชีวิตและภาวะแทรกซ้อน รวมถึงลดค่าใช้จ่ายที่จะเกิดขึ้นจากการรักษามะเร็งลำไส้ใหญ่

บทความโดย

เผยแพร่เมื่อ: 03 ก.พ. 2022

แชร์

แพทย์ที่เกี่ยวข้อง

  • Link to doctor
    นพ. สันติ  กุลพัชรพงศ์

    นพ. สันติ กุลพัชรพงศ์

    • อายุรศาสตร์โรคระบบทางเดินอาหารและตับ
    ส่องกล้องกระเพาะอาหารและลำไส้ใหญ่, Gastrointestinal Endoscopy, โรคตับและโรคระบบทางเดินอาหาร
  • Link to doctor
    ศ.นพ.  สิน  อนุราษฎร์

    ศ.นพ. สิน อนุราษฎร์

    • อายุรศาสตร์โรคระบบทางเดินอาหารและตับ
    โรคตับและโรคระบบทางเดินอาหาร
  • Link to doctor
    พญ.  ปณิดา  ปิยะจตุรวัฒน์

    พญ. ปณิดา ปิยะจตุรวัฒน์

    • อายุรศาสตร์โรคระบบทางเดินอาหารและตับ
    ส่องกล้องกระเพาะอาหารและลำไส้ใหญ่, Gastrointestinal Endoscopy, โรคตับและโรคระบบทางเดินอาหาร
  • Link to doctor
    นพ. จรินทร์ โรจน์บวรวิทยา

    นพ. จรินทร์ โรจน์บวรวิทยา

    • อายุรศาสตร์โรคระบบทางเดินอาหารและตับ
    โรคตับและโรคระบบทางเดินอาหาร
  • Link to doctor
    พญ. สุรีย์พร  แจ้งศิริกุล

    พญ. สุรีย์พร แจ้งศิริกุล

    • อายุรศาสตร์โรคระบบทางเดินอาหารและตับ
    ส่องกล้องกระเพาะอาหารและลำไส้ใหญ่, Liver and Gastrointestinal Diseases, โรคตับและโรคระบบทางเดินอาหาร
  • Link to doctor
    ผศ.นพ. สยาม ศิรินธรปัญญา

    ผศ.นพ. สยาม ศิรินธรปัญญา

    • อายุรศาสตร์โรคระบบทางเดินอาหารและตับ
    โรคตับและโรคระบบทางเดินอาหาร