The Digestive System Banner 1.jpg

โรคระบบทางเดินอาหาร

โรคระบบทางเดินอาหารส่วนใหญ่สามารถป้องกันได้ การตรวจพบตั้งแต่เนิ่น ๆ จะทำให้ได้ผลการรักษาที่น่าพึงพอใจ

แชร์

ระบบทางเดินอาหารเริ่มต้นที่ปาก ผ่านส่วนต่าง ๆ ในร่างกาย จนไปสิ้นสุดที่ทวารหนัก โดยระบบทางเดินอาหารประกอบไปด้วยหลอดอาหารซึ่งผ่านบริเวณหน้าอกและอวัยวะช่องท้องที่สําคัญ ๆ เช่น กระเพาะอาหาร ลําไส้ ตับ ทางเดินน้ำดี ถุงน้ำดี ตับอ่อน ไส้ติ่ง และทวารหนัก

โดยทั่วไปแล้วคนเรามักจะมาพบแพทย์เมื่อไม่สบายหรือมีอาการทางระบบทางเดินอาหาร เช่น อาหารเป็นพิษ คลื่นไส้ อาเจียน ถ่ายเป็นเลือด ดีซ่าน ปวดแสบปวดร้อนกลางอก อาหารไม่ย่อย ท้องอืด ปวดท้อง และท้องผูก หากอาการดังกล่าวกำเริบหรือทำให้เจ็บป่วยรู้สึกไม่สบายมาก ควรรีบไปพบแพทย์ โรคระบบทางเดินอาหารส่วนใหญ่สามารถป้องกันได้ การตรวจพบตั้งแต่เนิ่น ๆ จะทำให้ได้ผลการรักษาที่น่าพึงพอใจ

อาการที่เกิดจากระบบทางเดินอาหาร อาจเกี่ยวข้องกับมะเร็งหรือไม่ก็ได้ เช่น เลือดสีแดงสดในโถชักโครกหรือหลังเช็ดทำความสะอาด อาจเกิดจากโรคริดสีดวงทวารหรือมะเร็งลําไส้ใหญ่

โรคมะเร็งลําไส้ใหญ่ในผู้ป่วยเกือบทุกรายเกิดจากติ่งเนื้อธรรมดาที่ไม่เป็นมะเร็ง ซึ่งเจริญเติบโตจากผนังด้านในของลําไส้ใหญ่หรือไส้ตรง ติ่งเนื้อลําไส้ใหญ่ดังกล่าวมักไม่ก่อให้เกิดอาการใด ๆ แต่อาจทําให้เกิดอาการปวดเบ่ง เป็นแผล และมีเลือดออก มะเร็งจะพัฒนาตามมาเมื่อติ่งเนื้อเหล่านี้มีขนาดใหญ่ขึ้น เซลล์จะกลายเป็นมะเร็งและบุกรุกเนื้อเยื่อโดยรอบ ในประเทศไทยโรคมะเร็งลําไส้ใหญ่เป็นมะเร็งที่พบมากเป็นอันดับสี่ รองจากมะเร็งตับ มะเร็งปอด และมะเร็งเต้านม โดยมีผู้ป่วยรายใหม่มากกว่า 11,000 รายต่อปี

ลักษณะจำเพาะอย่างหนึ่งของโรคมะเร็งลําไส้ใหญ่คือเกิดจากติ่งเนื้อที่ระยะแรกยังไม่เป็นมะเร็งอยู่เป็นช่วงระยะเวลายาวนาน ต้องผ่านการเปลี่ยนแปลงหลายขั้นตอนกว่าที่จะพัฒนากลายเป็นมะเร็ง ทำให้เรามีเวลาที่จะกำจัดติ่งเนื้อเหล่านี้ออกไปก่อนที่จะกลายเป็นมะเร็ง เนื่องจากติ่งเนื้อส่วนใหญ่และมะเร็งลําไส้ใหญ่ขั้นแรกมักไม่แสดงอาการผิดปกติ การตรวจคัดกรองมะเร็งลําไส้ใหญ่จึงควรเริ่มทำตั้งแต่ตอนที่ไม่มีอาการ หากมีอาการแล้ว นั่นแสดงว่าโรคได้ดำเนินไปถึงระยะท้ายๆ โดยมะเร็งมักจะลุกลามผ่านผนังลําไส้ใหญ่และอาจแพร่กระจายไปยังต่อมน้ำเหลือง ตับ และปอด มะเร็งชนิดรุนแรงจะยิ่งแพร่กระจายตัวได้เร็ว

การเจริญเติบโตของมะเร็งเข้าไปยังในผนังลําไส้ใหญ่และอวัยวะใกล้เคียงจะก่อให้เกิดอาการต่างๆ เช่น มีเลือดในอุจจาระ ลำไส้แปรปรวน ขนาดอุจจาระเรียวเล็กเป็นแท่ง ปวดท้อง น้ำหนักลด หรือรู้สึกอ่อนเพลียตลอดเวลา

ปัจจัยที่เพิ่มความเสี่ยงในการเกิดโรคมะเร็งลำไส้ใหญ่ ได้แก่ 

  • การรับประทานเนื้อแดงแปรรูป หรือเนื้อสัตว์ที่ปิ้งย่างไหม้เกรียม
  • โรคอ้วน โดยเฉพาะอย่างยิ่งผู้ที่มีไขมันในช่องท้องมาก
  • การสูบบุหรี่
  • การดื่มแอลกอฮอล์มากเกินไป
  • อายุ นับเป็นปัจจัยเสี่ยงที่สำคัญ โดยความเสี่ยงจะเพิ่มมากขึ้นตั้งแต่ช่วงอายุ 40-50 ปีเป็นต้นไป
  • การมีญาติใกล้ชิดลำดับที่หนึ่งเป็นโรคมะเร็งลำไส้ใหญ่

โรคมะเร็งลำไส้ใหญ่นั้นรักษาให้หายขาดได้หากพบและได้รับการรักษาตั้งแต่เนิ่น ๆ วิธีตรวจคัดกรองโรคมะเร็งลำไส้ใหญ่ที่ได้ผลมากที่สุดวิธีหนึ่ง คือการส่องกล้องตรวจลำไส้ใหญ่ (colonoscopy) โดยกล้องที่ใช้นั้นจะติดกล้องวิดีโอขนาดจิ๋วและไฟส่องทำให้แพทย์มองเห็นและตรวจพื้นผิวด้านในของผนังลำไส้ได้ทั้งหมด หากพบรอยโรคที่น่าสงสัย แพทย์จะสอดเครื่องมือผ่านช่องทางพิเศษในกล้องเพื่อตัดชิ้นเนื้อออกมาตรวจ และหากพบติ่งเนื้อแพทย์สามารถตัดติ่งเนื้อออกได้ในขณะที่ทำการตรวจวินิจฉัย ติ่งเนื้อส่วนใหญ่มักมีโคนเล็กและเรียว แพทย์สามารถใช้บ่วงลวดไฟฟ้าขนาดเล็กตัดติ่งเนื้อออกได้โดยง่าย โดยกระบวนการนี้จะใช้เวลา 30-60 นาที แพทย์จะให้ยาเพื่อให้ผู้ป่วยเกิดภาวะสลบลึกปานกลาง (moderate sedation) นั่นคือ ผู้ป่วยจะหลับตลอดการส่องกล้อง โดยไม่รู้สึกไม่สบายตัวแต่อย่างใด

การส่องกล้องตรวจลำไส้ใหญ่เหมาะสำหรับ

  • การตรวจอาการของโรคลําไส้: เป็นการตรวจวินิจฉัยเพื่อระบุสาเหตุของอาการปวดท้อง เลือดออกทางทวารหนัก ท้องเสียเรื้อรัง และปัญหาลําไส้อื่น ๆ
  • การตรวจคัดกรองมะเร็งลําไส้ใหญ่: ในผู้มีอายุ 45 ปีขึ้นไป หรือเร็วกว่านั้นในผู้ที่มีความเสี่ยงสูง
  • การตรวจหาติ่งเนื้อเพิ่มเติม: แนะนําให้ทำการส่องกล้องตรวจลำไส้ใหญ่ติดตามผลเป็นระยะ ๆ สําหรับผู้ป่วยที่เคยตัดติ่งเนื้อออกไปก่อนหน้านี้ หากพบติ่งเนื้อใหม่แล้วตัดออกไป จะป้องกันการเกิดมะเร็งได้
  • การรักษาโรคทั่วไป: บางครั้งการส่องกล้องตรวจลำไส้ใหญ่ทำเพื่อการบำบัดรักษาโรค

ก่อนส่องกล้องตรวจลำไส้ใหญ่ ต้องทำความสะอาดล้างลําไส้ใหญ่ของผู้ป่วยก่อน ถ้ามีอุจจาระตกค้างในลำไส้ จะบดบังผิวผนังด้านในของลำไส้ใหญ่และทวารหนัก อาจทำให้พลาดการเห็นรอยโรคได้

ในการล้างทำความสะอาดลำไส้ใหญ่ แพทย์จะให้ผู้ป่วยปฏิบัติดังต่อไปนี้

  • รับประทานอาหารพิเศษตามที่กำหนดก่อนการตรวจ โดยงดรับประทานอาหารปกติ 1 วันก่อนเข้ารับการตรวจ สามารถดื่มน้ำเปล่าหรือซุปใสได้เท่านั้น
  • ใช้ยาระบาย โดยแพทย์จะจ่ายยาระบายให้ในปริมาณที่มาก (2-4 ลิตร)
  • ปรับยาที่รับประทานอยู่ ก่อนหน้าการเข้ารับการตรวจควรแจ้งแพทย์ให้ทราบหากผู้ป่วยมียาที่รับประทานอยู่เป็นประจำ แพทย์อาจให้งดยาบางชนิด

หลังส่องกล้อง ผู้ป่วยจะใช้เวลาพักฟื้นจากยาสลบราว 1 ชั่วโมง ในช่วง 24 ชั่วโมงแรกหลังการตรวจ ไม่ควรขับรถเอง ผู้ป่วยควรพาเพื่อนหรือญาติมาเพื่อช่วยขับรถกลับบ้านแทน เพราะกว่ายาจะหมดฤทธิ์ต้องใช้เวลาราว 1 วันเต็ม ผู้ป่วยอาจรู้สึกท้องอืด หรือผายลมบ่อยนาน 2-3 ชั่วโมงหลังตรวจ เพื่อระบายลมที่เติมเข้าไปในลำไส้ระหว่างการตรวจ การเดินจะช่วยบรรเทาอาการได้ หากมีการตัดติ่งเนื้อออก แพทย์จะแนะนำให้ผู้ป่วยรับประทานอาหารพิเศษเป็นการชั่วคราว

สิ่งที่ผู้ป่วยสามารถทำได้ เพื่อป้องการปัญหาทางระบบทางเดินอาหารและความเสี่ยงในการเป็นมะเร็งลำไส้ใหญ่ ได้แก่

  • หลีกเลี่ยงการดื่มคาเฟอีนและอาหารที่ทำให้เกิดอาการทางระบบทางเดินอาหาร
  • เพิ่มผัก ผลไม้ อาหารที่มีกากใยในมื้ออาหารและรับประทานเนื้อและไขมันสัตว์ให้น้อยลง
  • ออกกำลังกายสม่ำเสมอ กิจกรรมทางกายหรือการเคลื่อนไหวร่างกายระดับปานกลางก็นับว่าเป็นประโยชน์
  • คุมน้ำหนักให้อยู่ในเกณฑ์ โรคอ้วนเป็นปัจจัยเสี่ยงสำคัญของโรคมะเร็งลำไส้ใหญ่

อย่างไรก็ตามสิ่งเหล่านี้อาจจะไม่เพียงพอที่จะป้องกันโรคมะเร็งลำไส้ใหญ่ได้ทั้งหมด ดังนั้นการส่องกล้องตรวจลำไส้ใหญ่จึงมีความจำเป็น เริ่มตั้งแต่อายุ 45 ปี เป็นต้นไป

การส่องกล้องตรวจลำไส้ใหญ่จะช่วยป้องกัน ตรวจพบ และรักษาโรคได้ก่อนที่จะมีอาการ การส่องกล้องตรวจลำไส้ใหญ่สามารถตัดติ่งเนื้อที่ไม่ยังเป็นมะเร็งออกได้หมด โดยไม่รู้สึกเจ็บ ช่วยให้ตรวจพบรอยโรคในผนังด้านในของลำไส้ใหญ่ เช่น ติ่งเนื้อ ก้อนเนื้อ แผล ลำไส้อักเสบ โรคกระเปาะที่ลำไส้ใหญ่ หลอดเลือดที่ผิดปกติ และการติดเชื้อ

โรคมะเร็งลำไส้ใหญ่ในระยะแรก ๆ สามารถกำจัดได้หมดโดยทางการส่องกล้อง หากไม่พบตั้งแต่ระยะแรก โรคมะเร็งอาจแพร่กระจายลุกลามไปยังอวัยวะต่าง ๆ มะเร็งระยะลุกลามต้องได้รับการผ่าตัดและการรักษาที่ซับซ้อน ผู้ป่วยที่ได้รับการตรวจพบมะเร็งเฉพาะที่ หรือมะเร็งระยะต้นจะมีโอกาสหายมากกว่าผู้ที่เป็นมะเร็งในระยะท้าย ๆ หรือมะเร็งระยะลุกลาม การตรวจพบเร็วช่วยให้มีโอกาสรักษาหายขาดได้ ซึ่งเป็นไปได้หากได้รับการส่องกล้องตรวจลำไส้ใหญ่ในช่วงเวลาที่เหมาะสม

บทความโดย

เผยแพร่เมื่อ: 20 มิ.ย. 2022

แชร์