World Stroke Day Med Park1.jpg

ทำความรู้จักกับโรคหลอดเลือดสมอง...ภัยร้าย เฉียบพลันที่ต้องแข่งกับเวลา

โรคหลอดเลือดสมอง หรือ Stroke คือ ภาวะที่สมองขาดเลือดไปเลี้ยงจากการที่หลอดเลือดสมองตีบ อุดตัน หรือแตก ส่งผลให้เซลล์สมองถูกทำลายในที่สุด

แชร์

โรคหลอดเลือดสมอง หรือ Stroke คือ ภาวะที่สมองขาดเลือดไปเลี้ยงจากการที่หลอดเลือดสมองตีบ อุดตัน หรือแตก ส่งผลให้เซลล์สมองถูกทำลายในที่สุด

ข้อมูลจากองค์กรอัมพาตโรค (World Stroke Organization: WSO) ระบุว่า มีผู้ป่วยโรคหลอดเลือดสมองรายใหม่ทั่วโลกเป็นจำนวนมากกว่า 13 ล้านคนต่อปี และประมาณ 5.5 ล้านคนจะเสียชีวิตจากโรคนี้ ซึ่งนอกจากจะเป็นสาเหตุของการเสียชีวิตที่สำคัญเป็นอันดับ 1 ทั้งในเพศชายและหญิงแล้ว ยังเป็นสาเหตุของการเกิดภาวะทุพพลภาพที่สำคัญเป็นอันดับต้น ๆ อีกด้วย ทั้งนี้ ผู้ป่วยจำเป็นต้องได้รับการวินิจฉัยอย่างทันท่วงที

สิ่งที่สำคัญในการดูแลรักษาผู้ป่วยโรคหลอดเลือดสมองคือ ความเข้าใจเกี่ยวกับตัวโรค ระดับความรุนแรง และการวินิจฉัยและการรักษาที่มีประสิทธิภาพและรวดเร็ว การปล่อยให้เวลาผ่านไปโดยผู้ป่วยไม่ได้รับการรักษาจนถึงจุดที่เซลล์สมองไม่อาจฟื้นตัว จะทำให้สมองไม่สามารถกลับมาเป็นปกติหลังการรักษาได้ ดังนั้นหากผู้ป่วยโรคหลอดเลือดสมองได้รับการรักษาในโรงพยาบาลที่มีศักยภาพ มีเครื่องไม้เครื่องมือและทีมแพทย์พยาบาลพร้อม โดยไม่ต้องส่งต่อจึงทำให้มีโอกาสที่สมองกลับมาเป็นปกติหลังการรักษาได้มากกว่า

องค์การอัมพาตโลก (World Stroke Organization: WSO) ได้กำหนดให้วันที่ 29 ตุลาคม ของทุกปี เป็นวันอัมพาตโลก (World Stroke Day) และธีมของการรณรงค์วันอัมพาตโลกในปีนี้ คือ "รักษาเวลาที่ล้ำค่า" (Save#PreciousTime)

เพื่อ "รักษาเวลาที่ล้ำค่า" ของเราและคนสำคัญใกล้ตัวเรา จึงมีความจำเป็นที่เราต้องรู้ และคอยเช็คสัญญาณเตือนภาวะอัมพฤกษ์/อัมพาตเฉียบพลัน (Stroke) เพื่อให้ผู้ป่วยสามารถเข้ารับการรักษาอย่างทันท่วงทีหากเกิดอาการ ดังนี้

  • F - Face ใบหน้าเบี้ยว
  • A - Arm แขนขาอ่อนแรง
  • S - Speech พูดไม่ชัด
  • T - Time การรักษาที่ได้ผลดีควรได้รับการรักษาภายใน 4.5 ชั่วโมงหลังจากมีอาการ


ข้อเท็จจริงเกี่ยวกับการรักษาโรคหลอดเลือดสมอง

  • การรักษาผู้ป่วยโรคหลอดเลือดสมองขึ้นอยู่กับเวลาที่เกิดอาการ ระดับความรุนแรงของโรค และเอกซเรย์คอมพิวเตอร์สมองเป็นสำคัญ
  • ในผู้ป่วยโรคหลอดเลือดสมองที่มีอาการน้อยและไม่สามารถให้การรักษาด้วยการให้ยาละลายลิ่มเลือดหรือการสวนหลอดเลือดได้ การให้ยาต้านเกล็ดเลือด 2 ชนิดพร้อมกันภายใน 24 ชั่วโมง ต่อเนื่องเป็นเวลา 21 วัน สามารถป้องกันการเกิดโรคหลอดเลือดสมองซ้ำได้อย่างมีนัยสำคัญ
  • การรักษาด้วยยาละลายลิ่มเลือด (Thrombolytic drug) สามารถช่วยผู้ป่วยโรคหลอดเลือดสมองที่ได้รับการรักษาภายใน 4.5 ชั่วโมงหลังจากมีอาการ อย่างมีนัยสำคัญ
  • การรักษาด้วยการสวนหลอดเลือดเพื่อนำเอาลิ่มเลือดที่อุดตันหลอดเลือดสมองออกมา (Mechanical thrombectomy) ในผู้ป่วยที่มีข้อบ่งชี้ ปัจจุบันสามารถใช้รักษาผู้ป่วยที่มารับการรักษาภายใน 24 ชั่วโมงหลังจากมีอาการได้
  • ผลการรักษาของการให้ยาละลายลิ่มเลือดและการสวนหลอดเลือดขึ้นอยู่กับเวลาหลังจากมีอาการ ดังนั้นการซักประวัติ ตรวจร่างกาย ตรวจเลือด และเอกซเรย์คอมพิวเตอร์ ควรมีการวินิจฉัยและประเมินอย่างรวดเร็ว


การตรวจทางรังสีวิทยาสำหรับการวินิจฉัยโรคหลอดเลือดสมอง ได้แก่

  1. CT brain (non-contrast) ใช้วินิจฉัยโรคหลอดเลือดสมองทั้งที่ตีบและแตก
  2. CTA brain and neck และ Multiphase CTA brain ใช้หาตำแหน่งของหลอดเลือดแดงที่ตีบหรืออุดตัน รวมทั้งยังสามารถคาดคะเนผลการรักษาภาวะลิ่มเลือดอุดตัน หลังการใส่สายสวนหลอดเลือดแดงเพื่อเอาลิ่มเลือดออก
  3. CT perfusion brain ใช้เพื่อประเมินเนื้อสมองที่ยังสามารถช่วยให้กลับคืนมาได้เทียบกับเนื้อสมองที่ตายแล้ว เพื่อช่วยในการตัดสินใจก่อนการรักษาโดยการใส่สายสวนหลอดเลือดแดง
  4. MRI brain และ MRA brain and neck ใช้วินิจฉัยโรคหลอดเลือดสมองที่ไม่ทราบระยะเวลาของอาการแน่ชัด โรคหลอดเลือดสมองส่วนหลัง (posterior circulation stroke) หรือผู้ป่วยที่เคยแพ้สารทึบรังสีที่ใช้ในการตรวจ CT

โดยการพิจารณาเลือกใช้การตรวจแต่ละอย่างขึ้นอยู่กับระยะเวลาอาการของผู้ป่วย และรายละเอียดเฉพาะของผู้ป่วยแต่ละราย

หลังจากเข้ารับการรักษา ผู้ป่วยหลอดเลือดสมองจะเข้าสู่ระยะฟื้นฟูสมรรถภาพ ซึ่งอาจต้องมีการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมเพื่อลดความเสี่ยงที่จะกลับมาเป็นซ้ำ รวมถึงรับการดูแลจากทีมสหสาขาวิชาชีพเพื่อให้ผู้ป่วยสามารถกลับมาใช้ชีวิตได้ตามปกติหรือใกล้เคียงปกติมากที่สุด ความร่วมมือของแพทย์เวชศาสตร์ฟื้นฟู นักกายภาพบำบัด นักกิจกรรมบำบัด นักอรรถบำบัด ทีมผู้รักษา ผู้ป่วย ญาติ และผู้ดูแล จะสามารถช่วยให้ผู้ป่วยสามารถฟื้นฟูได้เต็มที่ โดยเฉพาะช่วงระยะเวลา 3-6 เดือนแรกซึ่งถือเป็นช่วงเวลาทองของการฟื้นฟู (Golden period)

  1. ปัญหาแขนขาอ่อนแรง: ทำกายภาพบำบัด โดยจัดท่านอน การบริหารข้อ ฝึกนั่ง ยืน เดิน ทรงตัว ฝึกการเคลื่อนไหวของมือและแขน ฝึกกิจกรรมต่างๆ เช่น ใส่เสื้อผ้า อาบน้ำ เป็นต้น
  2. ปัญหาการกลืน:  ผู้ป่วยที่ยังกลืนอาหารไม่ได้ ระยะแรกควรใส่สายยางให้อาหารก่อน หลังจากอาการทั่วไปดีขึ้น ควรฝึกกล้ามเนื้อที่ใช้ในการรับประทานอาหาร ฝึกกลืนโดยใช้อาหารดัดแปลง ถ้าผู้ป่วยสามารถกลืนอาหารได้ปลอดภัยและเพียงพอจึงพิจารณาไม่ใช้สายยางให้อาหาร
  3. ปัญหาการสื่อสาร: สมองซีกซ้ายควบคุมการพูด การใช้และรับรู้ภาษา ดังนั้นรอยโรคในสมองซีกซ้ายอาจทำให้มีปัญหาการสื่อสาร ไม่เข้าใจในสิ่งที่ได้ฟัง พูดไม่ได้ ใช้คำ ผิด ควรฝึกเพื่อให้สื่อสารได้มากที่สุด




เรียบเรียงโดย

น.อ.นพ.อุดม สุทธิพนไพศาล ร.น.
อายุรแพทย์โรคหลอดเลือดสมองและรังสีร่วมรักษาระบบประสาท
คลิกดูประวัติแพทย์

พญ.บุญธิดา หุ่นเจริญ
รังสีแพทย์ผู้ชำนาญการด้านระบบประสาท
คลิกดูประวัติแพทย์

พญ. เพชรพลอย ภูวคีรีวิวัฒน์
แพทย์ผู้ชำนาญการด้านเวชศาสตร์ฟื้นฟู
คลิกดูประวัติแพทย์

เผยแพร่เมื่อ: 28 ต.ค. 2021

แชร์