เลือกหัวข้อที่อ่าน
- ทดสอบภูมิแพ้ทางผิวหนัง ตรวจหาสารก่อภูมิแพ้อะไรบ้าง
- ใครที่ควรทดสอบภูมิแพ้ทางผิวหนัง
- อาการแพ้ ที่ควรทดสอบภูมิแพ้ทางผิวหนัง
- ขั้นตอนการทดสอบภูมิแพ้ทางผิวหนัง
- ทดสอบภูมิแพ้ทางผิวหนัง ใช้เวลากี่วัน
- ผลข้างเคียงการทดสอบภูมิแพ้ทางผิวหนัง
- ข้อดีของการทดสอบภูมิแพ้ทางผิวหนัง
ทดสอบภูมิแพ้ทางผิวหนัง (Skin Prick Test)
การทดสอบภูมิแพ้ทางผิวหนัง (Skin prick test) คือ การตรวจภูมิแพ้ทางผิวหนังด้วยวิธีการสะกิดผิวหนังและหยดสารสกัดจากโปรตีนสารก่อภูมิแพ้หรืออาหารทีละชนิด เช่น เช่น ถั่ว นมวัว ไข่ หรือไรฝุ่น เพื่อตรวจหาว่ามีอาการแพ้ต่อสารก่อภูมิแพ้ชนิดใด โดยผู้ที่มีอาการแพ้จะมีอาการคัน ตุ่มบวม นูนแดงปรากฎขึ้นบนผิวหนัง การทดสอบภูมิแพ้ทางผิวหนัง ช่วยให้ทราบว่าแพ้สารก่อภูมิแพ้ชนิดไหน เช่น ภูมิแพ้ผิวหนัง ภูมิแพ้อาหารและยา หรือภูมิแพ้อากาศ ช่วยให้หลีกเลี่ยงสารก่อภูมิแพ้ชนิดนั้น และช่วยให้แพทย์วางแผนการรักษาได้ตรงจุด การทดสอบภูมิแพ้ทางผิวหนัง เป็นการตรวจสุขภาพเชิงป้องกันที่มีความปลอดภัย ให้ผลการตรวจรวดเร็ว และนำไปสู่การพิจารณารักษาด้วยการกระตุ้นภูมิคุ้มกันร่างกายให้แข็งแรง และทนทานต่อสารก่อภูมิแพ้ชนิดนั้น
ทำไมต้องทดสอบภูมิแพ้ทางผิวหนัง
ในผู้ที่เป็นโรคหอบหืด ลมพิษ หวัดเรื้อรัง ภูมิแพ้รุนแรงเฉียบพลัน ภาวะแองจิโออีดีมา หรือเยื่อบุตาอักเสบจากสารก่อภูมิแพ้บางชนิด เช่น ไรฝุ่น ขนสัตว์ ละอองเกสรดอกไม้ ยาบางชนิด ถั่ว หรืออาหารทะเล เช่น กุ้ง ปู ปลา จากการกิน การหายใจ หรือการสัมผัสโดนแล้วเกิดอาการแพ้เฉียบพลัน เช่น ไอ จาม ผื่นคัน บวม แดง การทดสอบภูมิแพ้ทางผิวหนัง ถือเป็นวิธีการทดสอบภูมิแพ้ที่มีประสิทธิภาพมากที่สุด เนื่องจากเมื่อร่างกายได้รับสารก่อภูมิแพ้ครั้งแรก ร่างกายจะสร้างภูมิต่อต้านสารก่อภูมิแพ้ชนิด IgE ไปเกาะที่เนื้อเยื่อเกี่ยวพันผิวหนัง เมื่อร่างกายได้รับสารก่อภูมิแพ้ชนิดนั้นครั้งที่ 2 หรือ 3 จากการทดสอบภูมิแพ้ทางผิวหนัง ร่างกายจะจำได้และแสดงออกซึ่งปฏิกิริยาภูมิแพ้ต่อสารก่อภูมิแพ้ชนิดนั้นอย่างรวดเร็ว เช่น ตุ่มนูน บวม แดง ช่วยให้แพทย์พบสารก่อภูมิแพ้ต้นเหตุ และนำไปสู่การรักษาได้ตรงจุด
การทดสอบภูมิแพ้ทางผิวหนัง ตรวจหาสารก่อภูมิแพ้อะไรบ้าง
การทดสอบภูมิแพ้ทางผิวหนัง สามารถตรวจหาสารก่อภูมิแพ้ได้มากมาย ดังต่อไปนี้
- ถั่วบางชนิด เช่น ถั่วเหลือง ถั่วเปลือกแข็ง ถั่วลิสง แป้งสาลี หรือธัญพืชมีกลูเตน
- ยาชนิดฉีดเข้าในชั้นผิวหนังบางชนิด หรือยาชนิดรับประทาน เช่น เพนิซิลลิน
- ละอองเกสรดอกไม้ ละอองหญ้า ต้นไม้ วัชพืช หรือสมุนไพร
- ยางไม้บางชนิด เช่น ยางพารา
- ไรฝุ่นบ้าน ไรโรงเก็บ
- อาหารทะเล สัตว์น้ำที่มีเปลือกแข็ง เช่น กุ้ง กั้ง ปู ปลา
- ไข่และผลิตภัณฑ์จากไข่ นมและผลิตภัณฑ์จากนม
- ผลไม้กระกูลส้ม เช่น ส้ม มะนาว เกรปฟรุต
- เชื้อราบางชนิด เช่น แอสเปอร์จิลโลซิส หรือยีสต์
- แมลงสัตว์กัดต่อย พิษเหล็กในของแมลงสัตว์
- รังแค หรือ ขนสัตว์เลี้ยง เช่น ขนสุนัข หรือขนแมว
ใครที่ควรทดสอบภูมิแพ้ทางผิวหนัง
ผู้ที่มีอาการหรือโรคประจำตัวดังต่อไปนี้ ควรทดสอบภูมิแพ้ทางผิวหนัง
- โรคเยื่อบุจมูกและตาอักเสบจากภูมิแพ้
- เยื่อบุตาอักเสบจากภูมิแพ้
- ภูมิแพ้รุนแรงเฉียบพลัน
- ลมพิษเฉียบพลัน
- โรคภูมิแพ้จมูก
- โรคหอบหืด
- ไซนัสอักเสบ
- ภูมิแพ้ผิวหนัง
- โรคผื่นภูมิแพ้ผิวหนังชนิดเอคซิมา
- ผู้ที่มีประวัติบุคคลในครอบครัวเดียวกันเป็นโรคภูมิแพ้
อาการแพ้ ที่ควรทดสอบภูมิแพ้ทางผิวหนัง
- ภูมิแพ้จมูก (Nasal allergies) มีอาการคัดจมูก น้ำมูกไหล ไอจาม ไอแห้ง หายใจถี่ ๆ หายใจหวีด ๆ ไซนัสอักเสบ
- ภูมิแพ้ตา (Eye allergies) มีอาการคันตา เคืองตา ตาแดง ตาบวม น้ำตาไหล เปลือกตาบวม และเยื่อบุตาอักเสบ
- ภูมิแพ้ทางเดินหายใจ (Respiratory allergies) มีอาการโรคหอบหืด จามเป็นชุด ๆ รูจมูกตัน คันคอ มีเสมหะ หายใจลำบาก
- ภูมิแพ้ผิวหนัง (Skin allergies) มีอาการคัน ตุ่มนูน บวมแดงผิวหนัง หนังตาและปากบวม ผื่นลมพิษ ผิวหนังลอกเป็นขุย ผิวหนังแตก
การเตรียมตัวก่อนการทดสอบภูมิแพ้ทางผิวหนัง
- งดยาแก้แพ้หรือยาที่มีส่วนผสมของยาแก้แพ้ เช่น ยาแก้หวัด ยาลดน้ำมูก ยาแก้คัน ยาแก้ลมพิษ 1 สัปดาห์
- งดยากล่อมประสาท ยานอนหลับ ยาแก้วิงเวียนศีรษะ ยาคลายกังวล ยาแก้เมารถ อย่างน้อย 1-3 สัปดาห์
- งดยาสเตียรอยด์ชนิดฉีด ชนิดทา หรือชนิดรับประทาน อย่างน้อย 3 สัปดาห์ แจ้งให้แพทย์ทราบหากใช้ยาสเตียรอยด์
- ไม่ต้องงดน้ำ งดอาหาร ก่อนเข้ารับการตรวจ
- แพทย์ซักประวัติทางการแพทย์ ประวัติการได้รับสารก่อภูมิแพ้ ลักษณะอาการแพ้ และตรวจร่างกายเบื้องต้น
- แจ้งให้แพทย์ทราบหากมีประวัติแพ้ยา ทานยารักษาโรคประจำตัว หรือยาแก้แพ้
ขั้นตอนการทดสอบภูมิแพ้ทางผิวหนัง
- แพทย์หรือเจ้าหน้าที่ทางการแพทย์ทำความสะอาดผิวหนังบริเวณท้องแขนหรือแผ่นหลัง ก่อนทำการทดสอบ
- เจ้าหน้าที่ทางการแพทย์ตีตารางสี่เหลี่ยม แบ่งช่องจุดทดสอบภูมิแพ้ทางผิวหนังด้วยปากกา
- แพทย์หยดสารสกัดจากโปรตีนสารก่อภูมิแพ้ทีละชนิด ชนิดละ 1 หยด ลงบนผิวหนังในแต่ละช่องตารางสี่เหลี่ยม
- แพทย์ใช้เข็มสะกิดผิวแบบพิเศษ สะกิดผิวชั้นหนังกำพร้าบริเวณที่หยดน้ำยา และซับน้ำยาทดสอบออก
- จากนั้นจะใช้เวลารอ 15 นาที สังเกตปฏิกิริยาภูมิแพ้ ในขณะที่รอ ห้ามเกา หากมีอาการคัน เพื่อป้องกันไม่ให้ผลการทดสอบคลาดเคลื่อน
- เมื่อครบเวลารอ แพทย์จะสังเกตปฏิกิริยาภูมิแพ้ เช่น ผื่นบวม แดง คันขึ้นบนผิวหนังบริเวณที่ทดสอบ ช่วยให้พบสารก่อภูมิแพ้ต้นเหตุ
- แพทย์จะเช็ดทำความสะอาดผิวหนังบริเวณที่ทดสอบด้วยแอลกอฮอล์ฆ่าเชื้อ แล้วทายาเพื่อบรรเทาอาการคัน บวม แดง
- โดยทั่วไป การทดสอบภูมิแพ้ทางผิวหนังจะใช้เวลาประมาณ 20 นาที ตุ่มนูนจากอาการแพ้จะค่อย ๆ หายไปได้เองภายใน 1-2 ชม.
ผลการทดสอบภูมิแพ้ทางผิวหนัง
ผลการทดสอบภูมิแพ้ทางผิวหนังสามารถแปรผลได้ 4 ประเภท ดังนี้
Positive
ผลการตรวจเป็นบวก พบผื่น บวม แดงขึ้นในตำแหน่งที่ทดสอบ มีอาการแพ้หรือปฏิกิริยาภูมิแพ้ต่อสารก่อภูมิแพ้ชนิดที่ทำการทดสอบบนผิวหนัง
Negative
ผลการตรวจเป็นลบ ไม่พบผื่น บวม แดงขึ้นในตำแหน่งที่ทดสอบ ไม่มีอาการแพ้หรือปฏิกิริยาภูมิแพ้ต่อสารก่อภูมิแพ้ชนิดที่ทำการทดสอบบนผิวหนัง
False positive result
ผลบวกปลอม คือ มีอาการแพ้หรือปฏิกิริยาภูมิแพ้ต่อสารก่อภูมิแพ้ชนิดนั้นในระหว่างการทดสอบ แต่กลับไม่มีอาการแพ้เมื่อได้รับสารก่อภูมิแพ้ชนิดนั้นในชีวิตประวัน
False negative result
ผลลบปลอม คือ ไม่มีอาการแพ้หรือปฏิกิริยาภูมิแพ้ต่อสารก่อภูมิแพ้ชนิดนั้นในระหว่างการทดสอบ แต่กลับมีอาการแพ้เมื่อได้รับสารก่อภูมิแพ้ชนิดนั้นในชีวิตประวัน
การทดสอบภูมิแพ้ทางผิวหนัง ใช้เวลากี่วัน
โดยทั่วไป การทดสอบภูมิทางแพ้ผิวหนัง ใช้เวลา 15-20 นาทีก็สามารถทราบผลการตรวจได้
ผลข้างเคียงการทดสอบภูมิแพ้ทางผิวหนัง
ผลข้างเคียงทั่วไปจากการทดสอบภูมิทางแพ้ผิวหนัง เช่น คัน ผื่นนูน บวมแดง โดยจะมีอาการหลังการทดสอบประมาณ 15-20 นาที จนถึง 2-3 ชม. ส่วนใหญ่เป็นผลข้างเคียงที่ไม่รุนแรงและจะค่อย ๆ หายไปได้เอง โดยแพทย์จะให้ยาแก้แพ้ชนิดทาภายนอกเพื่อบรรเทาอาการ
ผลข้างเคียงรุนแรงจากการทดสอบภูมิทางแพ้ผิวหนังที่พบได้น้อยมาก เช่น ภูมิแพ้รุนแรงเฉียบพลัน (Anaphylaxis) ที่มีอาการแพ้ร่วมกันหลายระบบ ซึ่งหากเป็นการทดสอบที่โรงพยาบาล แพทย์จะคอยสังเกตอาการและให้การรักษาทันที
ข้อดีของการทดสอบภูมิแพ้ทางผิวหนัง
- ให้ผลการตรวจรวดเร็ว (Fast) ช่วยให้แพทย์ทราบสารก่อภูมิแพ้ต้นเหตุ เช่น แพ้อาหาร และนำไปสู่การรักษาที่ถูกต้องได้ภายในวันเดียว
- ช่วยให้ทราบสารก่อภูมิแพ้ที่กระตุ้นโรคประจำตัว (Informative) เช่น โรคหอบหืด เยื่อบุตาอักเสบ หรือภูมิแพ้ผิวหนัง ว่าถูกกระตุ้นด้วยสารก่อภูมิแพ้ชนิดใด และในปริมาณที่มากเพียงใด
- ช่วยให้หลีกเลี่ยงสารก่อภูมิแพ้ชนิดนั้น (Preventive) เช่น หลีกเลี่ยงสัตว์เลี้ยง
- ช่วยให้แพทย์ให้การรักษาที่จำเพาะกับสารก่อภูมิแพ้ชนิดนั้น (Precise) เช่น วัคซีนภูมิแพ้ชนิดอมใต้ลิ้น สำหรับผู้ที่แพ้ไรฝุ่น หรือวัคซีนภูมิแพ้ชนิดฉีดเข้าใต้ชั้นผิวหนัง สำหรับผู้ที่แพ้ขนสุนัขหรือขนแมว
- ค่าใช้จ่ายถูกกว่าการตรวจภูมิแพ้ด้วยการวิธีอื่น (Cost-effective) การทดสอบภูมิแพ้ทางผิวหนัง เป็นการทดสอบภูมิแพ้ที่มีค่าใช้จ่ายในการทดสอบหาสารก่อภูมิแพ้ที่ถูกกว่า ย่อมเยากว่า เมื่อเทียบกับการตรวจภูมิแพ้ด้วยวิธีการอื่น ๆ
ทดสอบภูมิแพ้ทางผิวหนัง รพ. เมดพาร์ค
คลินิกภูมิแพ้ รพ. เมดพาร์ค กรุงเทพ ประเทศไทย นำโดยทีมแพทย์ผู้ชำนาญการเฉพาะทางด้านโรคภูมิแพ้และภูมิคุ้มกันที่มีประสบการณ์ระดับอาจารย์แพทย์ มีความพร้อมในการตรวจวินิจฉัยและรักษาโรคภูมิแพ้ และโรคที่เกี่ยวข้องกับระบบภูมิคุ้มกันทุกชนิด ทั้งภูมิแพ้ที่มีอาการระบบเดียว ภูมิแพ้ที่มีอาการร่วมกันหลายระบบ หรือภูมิแพ้รุนแรงเฉียบพลันที่ต้องเร่งให้ความช่วยเหลือทางการแพทย์อย่างเร่งด่วน ร่วมกับทีมสหวิชาชีพที่พร้อมให้การดูแลรักษาร่วมกันอย่างต่อเนื่อง พร้อมด้วยห้องปฏิบัติการทางการแพทย์มาตรฐาน ISO 15189 และ ISO 15190 ที่ทันสมัย ช่วยตรวจหาสารก่อภูมิแพ้ทุกชนิดได้อย่างครอบคลุม สามารถแปรผลการตรวจได้อย่างถูกต้องและแม่นยำ นำไปสู่การรักษาที่มีประสิทธิภาพและตรงจุด พร้อมทั้งป้องกันการกลับมาเป็นซ้ำ ช่วยกระตุ้นการสร้างภูมิคุ้มกัน และช่วยให้ผู้รับการรักษามีสุขภาพร่างกายแข็งแรง