ศัลยศาสตร์อุบัติเหตุทางกระดูกและข้อ

ชั้น 5 เคาน์เตอร์ A (WEST Lift)

โทร. โทร. 02-090-3116

8:00 am.- 8:00 pm. / Weekend 8:00 am.- 5:00 pm.

ศัลยศาสตร์อุบัติเหตุทางกระดูกและข้อ

“กระดูกหัก” เป็นอาการบาดเจ็บที่เกิดขึ้นได้กับทุกคนและทุกวัย โดยเฉพาะเด็กเล็กและผู้สูงอายุ ส่วนมากเกิดขึ้นจากเหตุที่ไม่คาดคิด เช่น เดินสะดุดล้ม ตกจากที่สูง ถูกกระแทกอย่างรุนแรง หรือถูกทำร้ายร่างกาย โดยอุบัติเหตุทางการจราจร ถือว่าเป็นสาเหตุอันดับต้น ๆ ของโลกที่ทำให้เกิด “ภาวะกระดูกหัก”

แต่ไม่ว่าอาการกระดูกหักจะรุนแรงมากหรือน้อยเพียงใด ก็จำเป็นต้องได้รับการปฐมพยาบาลเบื้องต้นอย่างถูกวิธี และรีบเข้าพบศัลยแพทย์ผู้ชำนาญการเฉพาะทางด้านศัลยศาสตร์อุบัติเหตุและข้อ เพื่อทำการรักษาอย่างเหมาะสมโดยเร็วที่สุด เพื่อให้สามารถกลับมาใช้ชีวิตประจำวันได้ตามปกติ

โดยอาการ “กระดูกหัก” จะได้รับการดูแลอย่างเหมาะสมจาก ศัลยแพทย์เฉพาะทางด้านอุบัติเหตุทางกระดูกและข้อ ผู้มีความชำนาญและประสบการณ์โดยตรงในการรักษาอาการกระดูกหักทุกรูปแบบ โดยศัลยแพทย์จะทำการตรวจร่างกายและซักประวัติ ร่วมกับการวินิจฉัยโดยการใช้เทคโนโลยีทางการแพทย์ประเมินอาการบาดเจ็บอย่างละเอียด และวางแผนการรักษาที่เหมาะสม ซึ่งปัจจุบันวิทยาการทางการแพทย์ที่นำมาใช้รักษาอาการกระดูกหัก รวมถึงเทคนิคและทักษะการรักษาของศัลยแพทย์เฉพาะทางด้านกระดูกหักที่มีประสบการณ์สูง ถือเป็นปัจจัยสำคัญที่ช่วยให้คนไข้หายจากอาการกระดูกหักได้เร็วขึ้น

ศัลยแพทย์เฉพาะทางด้านอุบัติเหตุทางกระดูกและข้อ แตกต่างจากศัลยแพทย์เฉพาะทางด้านกระดูกและข้อสาขาอื่น ๆ อย่างไร?

ศัลยแพทย์เฉพาะทางด้านอุบัติเหตุทางกระดูกและข้อ จะมีความชำนาญด้านกระดูกหักและข้อเคลื่อนโดยเฉพาะการรักษาภาวะกระดูกหัก ทั้งวิธีผ่าตัด และไม่ผ่าตัด ซึ่งการทำหัตถการด้วยการผ่าตัด ศัลยแพทย์จะใช้เทคนิคการรักษาขั้นสูง อย่างการผ่าตัดแบบแผลเล็ก ฟื้นตัวไว

โดยอาจมีการรักษาร่วมกับศัลยแพทย์เฉพาะทางด้านกระดูกและข้อสาขาที่เกี่ยวข้องกับอาการบาดเจ็บอื่น ๆ เช่น หากมีการบาดเจ็บของกล้ามเนื้อ เส้นเอ็น หรือเส้นประสาทร่วมด้วย ศัลยแพทย์เฉพาะทางด้านเวชศาสตร์การกีฬา จะเข้ามาดูแลในส่วนของอาการบาดเจ็บเหล่านี้ หรือถ้าหากประสบอุบัติเหตุเกี่ยวกับกระดูกบริเวณมือ ข้อเท้า หรือกระดูกสันหลัง ก็จะทำการรักษาร่วมกันกับศัลยแพทย์กระดูกมือ ศัลยแพทย์เท้าและข้อเท้า ศัลยแพทย์กระดูกสันหลัง
เช่นเดียวกับกรณีอุบัติเหตุกระดูกหักในเด็ก ศัลยแพทย์เฉพาะทางด้านกระดูกและข้อในเด็ก ก็จะเข้ามาร่วมทำการรักษากับศัลยแพทย์เฉพาะทางด้านอุบัติเหตุทางกระดูกและข้อ เพื่อให้เด็ก ๆ มีการเจริญเติบโตของกระดูกได้ดีสมวัย และกลับมาเคลื่อนไหวได้อย่างคล่องแคล่วอีกครั้ง

สำหรับ ศัลยแพทย์เฉพาะทางด้านอุบัติเหตุทางกระดูกและข้อ ของโรงพยาบาลเมดพาร์ค จะทำการตรวจวินิจฉัยและรักษาคนไข้ภาวะกระดูกหักทุกรูปแบบ ที่เข้ามารับบริการในศูนย์ศัลยกรรมกระดูกและข้อ รวมทั้งยังมีบทบาทสำคัญในการดูแลรักษาคนไข้อุบัติเหตุฉุกเฉินที่มีอาการกระดูกหัก ที่ถูกส่งเข้ามายัง แผนกฉุกเฉิน โรงพยาบาลเมดพาร์ค  
โดย ศัลยแพทย์เฉพาะทางด้านอุบัติเหตุทางกระดูกและข้อ โรงพยาบาลเมดพาร์ค มีทักษะและความชำนาญในการรักษาภาวะกระดูกหักรุนแรงที่มีความยากซับซ้อน เช่น การผ่าตัดรักษาคนไข้อุบัติเหตุทางการจราจรที่ทำให้กระดูกแขนท่อนบนหัก 3 ท่อนร่วมกับการมีแผลเปิดรุนแรง ให้การดูแลรักษาและติดตามอาการอย่างใกล้ชิด จนคนไข้สามารถกลับมาใช้ชีวิตตามปกติ และทำกิจกรรมที่ชื่นชอบได้อีกครั้ง

นอกจากนี้ ศัลยแพทย์เฉพาะทางด้านอุบัติเหตุทางกระดูกและข้อ ยังมีประสบการณ์ในการผ่าตัดแก้ไขคนไข้ที่ผ่านการผ่าตัดกระดูกติดเชื้อรุนแรงมามากกว่า 20 ครั้ง ซึ่งกว่าจะมาถึงมือศัลยแพทย์ฯ ของโรงพยาบาลเมดพาร์ค กระดูกส่วนนั้นก็มีความเสียหายจนต้องพิจารณาตัดส่วนที่ติดเชื้อรุนแรงออก และใช้เทคนิคดึงกระดูกส่วนดีขึ้นมาเชื่อมต่อทีละนิด ๆ แม้จะเป็นกระบวนการรักษาที่ต้องใช้ระยะเวลานานพอสมควร แต่คนไข้ก็ไม่จำเป็นต้องนอนพักรักษาตัวอยู่ในโรงพยาบาลตลอดเวลา นับเป็นแนวทางการรักษาที่ช่วยให้คนไข้สามารถใช้ชีวิตประจำวัน และใช้เวลากับครอบครัวได้ตามปกติ

ทำไมควรเลือกรักษากับแพทย์เฉพาะทางด้านอุบัติเหตุทางกระดูกและข้อ ที่โรงพยาบาลเมดพาร์ค

  • ตรวจวินิจฉัยและรักษาอาการกระดูกหัก โดยศัลยแพทย์เฉพาะทางด้านอุบัติเหตุทางกระดูกและข้อ ที่มีประสบการณ์รักษาอาการบาดเจ็บกระดูกหักต่าง ๆ ทั้งกระดูกหักทั่วไป กระดูกหักรุนแรง กระดูกหักที่มีความยากซับซ้อน และภาวะแทรกซ้อนภายหลังกระดูกหักได้เป็นอย่างดี 
  • มีทีมศัลยแพทย์กระดูกและข้อครบทุกสาขา เช่น มือ เท้าและข้อเท้า กระดูกสันหลัง สะโพกและข้อเข่า เวชศาสตร์การกีฬา กระดูกและข้อในเด็ก เนื้องอกกระดูกและเนื้อเยื่ออ่อน ซึ่งมีความชำนาญในสาขาเฉพาะทางสูง พร้อมให้การรักษาร่วมกันเป็นทีมเวิร์ค 
  • มีแพทย์ผู้ชำนาญการเฉพาะทาง และสหวิชาชีพผู้ชำนาญการในสาขาอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้อง เช่น ศัลยแพทย์หลอดเลือด วิสัญญีแพทย์เฉพาะทางด้านการระงับปวด นักกายภาพบำบัด พร้อมรักษาร่วมกันเป็นทีม เพื่อช่วยให้คนไข้มีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นหลังการรักษา
  • มีความพร้อมในด้านเทคโนโลยีและเครื่องมือแพทย์ มีห้องผ่าตัดที่รองรับการทำหัตถการซึ่งต้องใช้ทีมสหวิชาชีพหลายทีม และใช้เทคนิครักษาที่มีความซับซ้อนสูง จึงช่วยเพิ่มประสิทธิภาพในการรักษาได้ดียิ่งขึ้น
  • มีห้องพักผู้ป่วยที่ออกแบบมาเพื่อให้คนไข้ฟื้นตัวได้ดี มีการควบคุมคุณภาพอากาศภายในอาคารลดความเสี่ยงติดเชื้อซ้ำซ้อนได้ดี ภายนอกอาคารล้อมรอบด้วยทัศนียภาพของทะเลสาบ สวนป่าเบญจกิติ และแม่น้ำเจ้าพระยา
  • คนไข้จะได้รับการดูแลอย่างต่อเนื่องภายหลังการรักษา จากทีมนักกายภาพบำบัด ศูนย์เวชศาสตร์ฟื้นฟูและกายภาพบำบัด ด้วยโปรแกรมบำบัดฟื้นฟูคุณภาพชีวิตให้ดีขึ้น เพื่อให้สามารถกลับมาใช้ชีวิตประจำวันได้อย่างมีคุณภาพ

โรคและภาวะผิดปกติ ที่เกี่ยวข้องกับอุบัติเหตุทางกระดูกและข้อ

  • กระดูกหักทั่วไป
  • กระดูกหักล้า 
  • กระดูกหักเป็นเกลียว
  • กระดูกแตกย่อย 
  • กระดูกหักตามขวาง
  • กระดูกหักเฉียง
  • กระดูกยุบตัวเข้าหากัน
  • กระดูกหักเกยกัน
  • กระดูกร้าว
  • กระดูกเดาะ
  • ปุ่มกระดูกแตก
  • กระดูกและข้อ หักและเคลื่อน
  • กระดูกหักร่วมกับการมีแผลเปิด
  • กระดูกหักซับซ้อนและรุนแรง
  • กระดูกหัก ที่เกิดจากมะเร็งกระดูก มวลกระดูกเสื่อม หรือความผิดปกติทางพยาธิสภาพ
  • กระดูกหัก ร่วมกับการบาดเจ็บของกล้ามเนื้อ เส้นเอ็น และเนื้อเยื่อ
  • กระดูกและข้อไม่เชื่อมติดกัน
  • ภาวะแทรกซ้อนภายหลังกระดูกหัก

สัญญาณผิดปกติที่ควรมาพบแพทย์เฉพาะทาง ด้านอุบัติเหตุทางกระดูกและข้อ

หากเกิดอุบัติเหตุเกี่ยวกับกระดูกและข้อขึ้น ไม่ว่าจะเป็นการหกล้ม ประสบอุบัติเหตุทางการจราจร อุบัติเหตุจากการทำงาน การพลัดตกจากที่สูง หรือเล่นกีฬาที่มีการปะทะกันอย่างรุนแรง ส่งผลให้เกิดอาการบาดเจ็บ ได้แก่ กระดูกหัก กระดูกแตก กระดูกร้าว กระดูกเคลื่อน บริเวณส่วนต่าง ๆ ของร่างกาย เช่น แขน ขา หัวเข่า ข้อมือ ข้อเท้า สะโพก เชิงกราน เป็นต้น เมื่อเกิดอุบัติเหตุขึ้น ควรรีบสังเกตอวัยวะส่วนนั้น ๆ ทันทีว่า มีสัญญาณผิดปกติเหล่านี้หรือไม่

4 สัญญาณบอกอาการกระดูกหัก

  • ปวด มีอาการปวดรุนแรง หรือปวดระดับ 9 - 10 
  • บวม ผิวหนังบริเวณที่เกิดอุบัติเหตุมีการบวมอย่างชัดเจน เช่น บวมขึ้นอย่างรวดเร็ว บวมและผิวหนังเปลี่ยนเป็นสีม่วงเข้ม แสดงว่ามีเลือดออกบริเวณใต้ผิวหนัง เป็นต้น    
  • ขยับหรือลงน้ำหนักไม่ได้ หากขยับอวัยวะจุดนั้นแล้วรู้สึกเจ็บปวดรุนแรง รวมถึงไม่สามารถขยับอวัยวะส่วนนั้นได้ หรือลงน้ำหนักบริเวณอวัยวะที่เกิดอุบัติเหตุไม่ได้ เป็นต้น
  • ผิดรูป มีการหัก บิด งอ เบี้ยว หรืออวัยวะสองข้างไม่เท่ากัน

ไม่ว่าจะมีเพียง 1 อาการ หรือ 2 อาการขึ้นไป ให้สันนิษฐานเบื้องต้นได้เลยว่าอาจมีอาการกระดูกหัก ดังนั้น ควรรีบมาพบแพทย์เฉพาะทางด้านอุบัติเหตุทางกระดูกและข้อโดยเร็วที่สุด

ใครบ้างมีปัจจัยเสี่ยงต่อการเกิดอุบัติเหตุทางกระดูกและข้อ?

ไม่ว่าจะอยู่ในช่วงวัยไหน เพศใด หรือประกอบอาชีพอะไร ทุกคนล้วนมีสิทธิ์เกิดอุบัติเหตุเกี่ยวกับกระดูกและข้อได้เช่นเดียวกัน ดังนั้น นอกจากการป้องกันการเกิดอุบัติเหตุด้วยการใช้ชีวิตประจำวันด้วยความระมัดระวัง และปรับสภาพแวดล้อมที่อยู่อาศัยให้มีความปลอดภัย ซึ่งเป็นการป้องกันการเกิดอุบัติเหตุจากต้นเหตุได้ดีแล้ว บ้านที่มีเด็กเล็ก หรือผู้สูงวัยอาศัยอยู่ร่วมกัน ควรต้องเพิ่มสิ่งอำนวยความสะดวก และอุปกรณ์ป้องกันอุบัติเหตุภายในบ้าน เช่น ราวพยุงตัวสำหรับผู้สูงอายุ แผ่นกันลื่นบริเวณทางลาด หรือประตูกันตกบันได ก็จะช่วยลดโอกาสเกิดอุบัติเหตุพลัดตกหกล้มและกระดูกหักได้ดีขึ้น

การบริการของศัลยแพทย์เฉพาะทางด้านอุบัติเหตุทางกระดูกและข้อ

ศัลยแพทย์เฉพาะทางด้านอุบัติเหตุทางกระดูกและข้อ ให้บริการตรวจวินิจฉัยและรักษาอาการบาดเจ็บที่เกี่ยวกับกระดูกและข้อต่าง ๆ ตามความเหมาะสม ได้แก่

  • การรักษาแบบไม่ต้องผ่าตัด เป็นการรักษาด้วยใช้วิธีจำกัดการเคลื่อนไหว (Immobilization) โดยการเข้าเฝือก ซึ่งปัจจุบันมีเฝือกหลายชนิดที่ใช้ในการรักษาอาการกระดูกหักได้อย่างเหมาะสม และสอดคล้องกับการใช้ชีวิตประจำวัน เช่น เฝือกปูน เฝือกพลาสติก และเฝือกไฟเบอร์กลาส 
  • การรักษาโดยการผ่าตัด มีหลายเทคนิค เช่น
    • ผ่าตัดยึดตรึงภายนอกกระดูกด้วยแท่งเหล็ก (External Fixator)
    • ผ่าตัดยึดตรึงกระดูกด้วยแผ่นเหล็ก (Plate) 
    • ผ่าตัดยึดตรึงภายในกระดูกด้วยแท่งเหล็ก (Nail)
    • ผ่าตัดยึดตรึงกระดูกแบบแผลเล็ก (Minimally Invasive Plate Osteosynthesis : MIPO) ซึ่งเป็นวิธีที่นิยมใช้มากที่สุด เนื่องจากเป็นการผ่าตัดเปิดแผลขนาดเล็ก เพื่อสอดวัสดุยึดตรึงกระดูกเข้าไปในชั้นกล้ามเนื้อ จึงมีแผลเล็ก เจ็บน้อย ยึดตรึงกระดูกได้ดี ลดความเสี่ยงการติดเชื้อในกระดูกหรือเนื้อเยื่อได้ดี ช่วยให้คนไข้ฟื้นตัวไวขึ้น เมื่อเทียบกับการผ่าตัดยึดตรึงกระดูกแบบเปิดแผลขนาดใหญ่

อุปกรณ์และเครื่องมือแพทย์ ที่ใช้ในการตรวจและรักษาอุบัติเหตุทางกระดูกและข้อ

เครื่องมือและอุปกรณ์ทางการแพทย์ ที่เกี่ยวข้องในการตรวจวินิจฉัยและรักษากระดูกหัก ได้แก่

  • เครื่องเอกซเรย์ (X-ray)
  • เครื่องเอกซเรย์แบบซีอาร์ม (C-arm X-ray Surgical Lights) เป็นเทคโนโลยีที่ใช้ในการผ่าตัดกระดูก ช่วยให้ศัลยแพทย์สามารถดูตำแหน่งของกระดูกและบันทึกภาพขณะทำการผ่าตัดได้แบบ Real - time เพิ่มความแม่นยำในการรักษาอาการกระดูกและข้อหักได้อย่างมีประสิทธิภาพ
  • วัสดุยึดตรึงกระดูกต่าง ๆ เช่น เฝือก แผ่นเหล็ก (Plate) แท่งเหล็ก (Nail) เป็นต้น

อุปสรรคและข้อจำกัดในการรักษาอุบัติเหตุทางกระดูกและข้อ

  • การติดเชื้อบริเวณกระดูกและเนื้อเยื่อ
  • กระดูกเสียหายรุนแรง
  • เนื้อเยื่อ เนื้อเยื่ออ่อน เนื้อเยื่อกระดูกเสียหายรุนแรง
  • เส้นเลือดเสียหายรุนแรง

ความเสี่ยงและภาวะแทรกซ้อนที่อาจพบได้จากการรักษาอุบัติเหตุทางกระดูกและข้อ

  • ภาวะกระดูกอักเสบติดเชื้อ พบมากในภาวะกระดูกหักแบบเปิด ที่มีลักษณะกระดูกหักทะลุออกมานอกผิวหนัง และสัมผัสกับเชื้อโรคภายนอก
  • ภาวะความดันในช่องกล้ามเนื้อสูง เป็นภาวะแทรกซ้อนที่ส่งผลให้การไหลเวียนเลือดมายังจุดที่เกิดการบาดเจ็บลดลงหรือหยุดลง ทำให้เกิดภาวะขาดออกซิเจนในเนื้อเยื่อ ส่งผลให้เนื้อเยื่อตาย และเกิดความเสียหายรุนแรงกับอวัยวะส่วนนั้น

คำถามที่พบบ่อย

  • กระดูกหัก ใช้เวลานานไหมกว่าจะหายดี?
    กระดูกจะใช้เวลาสมานกันจนติดสนิท 100% ประมาณ 3 - 6 เดือน
  • เด็กกระดูกหัก หายเร็วกว่าผู้ใหญ่จริงหรือ?
    จริง เพราะกระดูกของเด็ก จะใช้เวลาในการเริ่มสมานติดกันเพียง 3 - 4 สัปดาห์

เผยแพร่เมื่อ: 19 เม.ย. 2024

แชร์

แพทย์ที่เกี่ยวข้อง

  • Link to doctor
    นพ. พงศกร บุบผะเรณู

    นพ. พงศกร บุบผะเรณู

    • ศัลยศาสตร์กระดูกและข้อ
    • การบาดเจ็บทางออร์โธปิดิกส์
    ศัลยกรรมกระดูกและข้อ, Trauma Surgery