April and Skin Allergy Banner 1.jpg

เมษา...พาผิวแพ้

โรคผื่นภูมิแพ้ผิวหนังมักมีการกำเริบของโรคในช่วงที่อากาศร้อนอบอ้าวแบบนี้ ฉะนั้นเรามาทำความรู้จักโรคผื่นภูมิแพ้ผิวหนังเพื่อหาแนวทางป้องกันไม่ให้เกิดการกำเริบของโรคไปพร้อม ๆ กัน

แชร์

เข้าสู่ช่วงเดือนเมษายน เดือนที่อากาศร้อนอบอ้าวเป็นพิเศษ ท่านที่เป็นโรคผื่นภูมิแพ้ผิวหนังมักมีการกำเริบของโรคในช่วงที่อากาศร้อนอบอ้าวแบบนี้ ฉะนั้นเรามาทำความรู้จักโรคผื่นภูมิแพ้ผิวหนังเพื่อหาแนวทางป้องกันไม่ให้เกิดการกำเริบของโรคไปพร้อม ๆ กันเลยครับ

โรคผื่นภูมิแพ้ผิวหนัง คือ โรคที่ร่างกายเกิดปฏิกิริยาที่ผิดปกติต่อสารก่อภูมิแพ้ในอากาศ เช่น ไรฝุ่น ขนแมว ขนสุนัข เกสรหญ้า เชื้อรา หรือ แมลงสาบ เป็นต้น หรือต่ออาหาร เช่น นมวัว นมถั่วเหลือง ไข่ไก่ แป้งสาลี หรืออาหารทะเล เป็นต้น ทำให้เกิดการอักเสบเรื้อรังที่บริเวณผิวหนัง โรคนี้พบได้ทั้งในเด็กและผู้ใหญ่แต่พบได้บ่อยในเด็กทารก ผู้ป่วยส่วนใหญ่จะเริ่มมีอาการเมื่ออายุ 2 เดือนขึ้นไป และช่วงอายุที่พบได้บ่อยคือระหว่างอายุ 2 เดือนถึง 2 ปี ผู้ป่วยเด็กมักจะมีอาการดีขึ้นเมื่ออายุมากขึ้น อย่างไรก็ตามผู้ป่วยเด็กส่วนหนึ่งยังคงมีอาการจนกระทั่งเข้าสู่วัยรุ่นหรือวัยผู้ใหญ่

พบว่าเด็กไทยประมาณร้อยละ 13.4 เป็นโรคผื่นภูมิแพ้ผิวหนัง

สาเหตุของโรคผื่นภูมิแพ้ผิวหนัง
ปัจจุบันยังไม่ทราบสาเหตุที่แน่ชัดของการเกิดโรคผื่นภูมิแพ้ผิวหนัง แต่ปัจจัยที่อาจเกี่ยวข้องกับการเกิดโรคได้แก่ ปัจจัยทางด้านพันธุกรรม ปัจจัยทางด้านสิ่งแวดล้อม และปัจจัยทางด้านโภชนาการ เป็นต้น พบว่าประมาณร้อยละ 36.1 ของเด็กไทยที่เป็นโรคผื่นภูมิแพ้ผิวหนังเป็นโรคแพ้อาหารร่วมด้วย

อาการของโรคผื่นภูมิแพ้ผิวหนัง
สามารถแบ่งอาการของโรคผื่นภูมิแพ้ผิวหนังตามอายุของผู้ป่วยออกเป็น 3 กลุ่ม ได้แก่

  1. วัยทารก ช่วงอายุระหว่าง 2 เดือนถึง 2 ปี โดยมักจะเริ่มพบผื่นแดงคัน ซึ่งมีตุ่มแดงและตุ่มน้ำเล็ก ๆ อยู่บนผื่นแดงนั้นที่บริเวณแก้ม ถ้าตุ่มน้ำแตกออกจะมีน้ำเหลืองไหลเยิ้มและตกสะเก็ดตามมา ผื่นอาจลุกลามไปยังผิวหนังบริเวณอื่น ๆ ของร่างกาย ในรายที่เป็นมากจะพบผื่นเกิดขึ้นทั่วร่างกายได้ และอาจพบร่องรอยจากการเกาหรือขัดถู โดยเฉพาะบริเวณที่ทารกถีบ ถูไถ สัมผัสกับพื้นหรือที่นอน
  2. วัยเด็ก ช่วงอายุระหว่าง 2-12 ปี ตำแหน่งรอยโรคที่พบบ่อย ได้แก่ บริเวณรอบคอ ตำแหน่งข้อพับด้านในของแขนและขา เมื่อโรครุนแรงมากขึ้นผื่นอาจลุกลามไปยังผิวหนังส่วนอื่น ๆ ได้ ซึ่งมักประกอบด้วยตุ่มนูนแดง แห้ง มีขุยเล็กน้อย มักไม่พบตุ่มน้ำแตกแฉะเหมือนวัยทารก ผู้ป่วยจะมีอาการคันและอาจเกาจนเกิดรอยถลอกและนำไปสู่การติดเชื้อแบคทีเรียหรือไวรัสซ้ำซ้อนได้
  3. วัยรุ่นและวัยผู้ใหญ่ ช่วงอายุมากกว่า 12 ปีขึ้นไป มักพบผื่นบริเวณรอบคอ ข้อพับแขน ขา คล้ายที่พบในเด็กโต ในรายที่เป็นมากผื่นจะเกิดขึ้นได้ทั่วร่างกายเช่นกัน ผู้ป่วยในวัยนี้มีแนวโน้มที่จะเกิดผิวหนังอักเสบบริเวณมือได้ง่าย

ระยะอาการของโรคผื่นภูมิแพ้ผิวหนัง
สามารถแบ่งอาการของโรคผื่นภูมิแพ้ผิวหนังออกได้ เป็น 2 ระยะ ได้แก่

  • ระยะโรคกำเริบ พบผื่นภูมิแพ้ผิวหนังกระจายตัวตามตำแหน่งต่าง ๆ ของร่างกายตามกลุ่มอายุของผู้ป่วย ซึ่งอาจพบการติดเชื้อแบคทีเรียหรือไวรัสซ้ำซ้อนบนผื่นได้
  • ระยะโรคสงบ ไม่พบผื่นภูมิแพ้ผิวหนังกระจายตัวตามตำแหน่งต่าง ๆ ของร่างกาย แต่อาจตรวจพบผิวหนังที่แห้งหรือมีอาการคันได้บ้าง

    การดูแลรักษา

    1. หลีกเลี่ยงปัจจัยที่ทำให้โรคกำเริบมากขึ้น
      • หลีกเลี่ยงการสัมผัสสารก่อภูมิแพ้ที่ตนเองแพ้ ในกรณีที่ไม่ทราบชนิดของสารก่อภูมิแพ้ ควรปรึกษาแพทย์เพื่อเข้ารับการตรวจเลือด หรือทำการทดสอบผิวหนังเพื่อหาสารก่อภูมิแพ้
      • หลีกเลี่ยงการอาบน้ำร้อนหรือน้ำอุ่น รวมถึงควรใช้สบู่อ่อน ๆ และไม่ฟอกสบู่บ่อยจนเกินไป
      • หลีกเลี่ยงการใช้หรือสัมผัสกับสารระคายเคือง ควรเลือกใช้ผงซักฟอกชนิดระคายเคืองน้อย และควรซักล้างผงซักฟอกออกให้หมดก่อนนำเสื้อผ้ามาสวมใส่
      • เลือกใช้เสื้อผ้าที่มีเนื้อผ้านุ่มโปร่งสบาย เช่น ผ้าแพร ผ้าฝ้าย และหลีกเลี่ยงผ้าขนสัตว์
      • หลีกเลี่ยงการออกกำลังกายที่ทำให้เหงื่อออกมาก ๆ
      • หลีกเลี่ยงอากาศร้อนจัด หรือหนาวจัดเกินไป เพราะจะทำให้ผิวแห้ง
      • หลีกเลี่ยงการใช้แอลกอฮอล์ หรือยาปฏิชีวนะทาบริเวณผื่นเพื่อหวังผลในการรักษาผื่น
      • ควรตัดเล็บให้สั้น เพื่อป้องกันการติดเชื้อแบคทีเรียหรือไวรัสซ้ำซ้อนจากการเกา
      • หลีกเลี่ยงความเครียด หรือความวิตกกังวลใด ๆ
    2. แนะนำไม่ให้ผู้ป่วยเกา และรับประทานยาแก้แพ้เพื่อลดอาการคัน ซึ่งผลข้างเคียงจากการรับประทานยาแก้แพ้จะทำให้ผู้ป่วยรู้สึกง่วงซึม ซึ่งเป็นผลดีในการช่วยลดการเกาได้
    3. การใช้ยาทากลุ่มสเตียรอยด์ ยาทากลุ่มนี้มีฤทธิ์ลดการอักเสบของผื่นภูมิแพ้ผิวหนังโดยตรง ควรใช้ยาทาสเตียรอยด์เฉพาะในระยะโรคกำเริบ ไม่ควรใช้ยาทาติดต่อกันนานเกินกว่า 1 สัปดาห์ และควรใช้ยาทาภายใต้คำแนะนำของแพทย์อย่างเคร่งครัด ในปัจจุบันพบว่ามียาทาตัวใหม่ ได้แก่ ยาทา tacrolimus และ pimecrolimus ซึ่งสามารถนำมาใช้ในการรักษาโรคผื่นภูมิแพ้ผิวหนังได้ด้วยเช่นกัน โดยอาจเลือกใช้ยาดังกล่าวในกรณีที่ผู้ป่วยจำเป็นต้องได้รับการรักษาเป็นระยะเวลานานกว่า 1 สัปดาห์ ซึ่งสามารถนำมาใช้ทดแทนการใช้ยาทาสเตียรอยด์
    4. การใช้ยาปฏิชีวนะ กรณีที่ผื่นภูมิแพ้ผิวหนังมีการติดเชื้อแบคทีเรียซ้ำซ้อน ซึ่งสามารถสังเกตุได้จากการตรวจพบตุ่มหนองเกิดขึ้นบนบริเวณผื่นแดง ผู้ป่วยควรไปพบแพทย์เพราะผู้ป่วยจำเป็นต้องได้รับยาปฏิชีวนะชนิดรับประทาน หรือชนิดทาแล้วแต่ความรุนแรงของการติดเชื้อแบคทีเรียนั้น

    การป้องกันและรักษาผิวหนังที่แห้ง

    1. การทามอยซ์เจอร์ไรเซอร์ หรือโลชั่นทันทีหรือในเวลาไม่เกินกว่า 3 นาทีภายหลังการอาบน้ำ ถ้าผิวหนังยังคงแห้งมากแนะนำให้ทาเพิ่มเติมในช่วงระหว่างวัน
    2. การแช่น้ำเกลือภายหลังการอาบน้ำตามปกติ ประมาณ 10-15 นาที
    3. การห่อหุ้มร่างกายด้วยเสื้อผ้าที่ชุบน้ำเกลือหมาด ๆ แล้วสวมทับด้วยเสื้อผ้าแห้งอีกชั้นหนึ่ง จะสามารถช่วยให้ผิวหนังของผู้ป่วยมีความชุ่มชื้นมากขึ้น และทำให้อาการคันลดน้อยลงได้

    โรคผื่นภูมิแพ้ผิวหนังหายได้หรือไม่
    โรคผื่นภูมิแพ้ผิวหนังเป็นโรคในกลุ่มโรคเรื้อรัง อาการของโรค มักเป็น ๆ หาย ๆ อย่างไรก็ตามผู้ป่วย ร้อยละ 50 จะมีอาการดีขึ้นเมื่ออายุ 10 ปี แต่ผู้ป่วยประมาณ 1 ใน 3 ยังคงมีอาการของโรคจนกระทั่งเข้าสู่วัยผู้ใหญ่ ผู้ป่วยร้อยละ 50 มีโอกาสเป็นโรคหืดในอนาคต โดยเฉพาะผู้ป่วยที่มีอาการของโรคผื่นภูมิแพ้ผิวหนังชนิดรุนแรง และผู้ป่วยประมาณร้อยละ 65 จะเป็นโรคแพ้อากาศร่วมด้วยเมื่อโตขึ้น

    บทความโดย

    เผยแพร่เมื่อ: 17 เม.ย. 2022

    แชร์

    แพทย์ที่เกี่ยวข้อง

  1. Link to doctor
    นพ. ปิยวุฒิ กรีฑาภิรมย์

    นพ. ปิยวุฒิ กรีฑาภิรมย์

    • กุมารเวชศาสตร์
    • กุมารเวชศาสตร์โรคภูมิแพ้และภูมิคุ้มกัน
    Pediatrics, Well Child Care and Vaccination, Pediatrics Allergy and Immunology, Pediatrics Allergy Blood Testing and Skin Prick Testing, Pediatrics Chronic Dermatitis, Pediatrics Suspected Food Allergies
  2. Link to doctor
    นพ. ปรีดา สง่าเจริญกิจ

    นพ. ปรีดา สง่าเจริญกิจ

    • กุมารเวชศาสตร์
    • กุมารเวชศาสตร์โรคภูมิแพ้และภูมิคุ้มกัน
    Pediatrics Chronic Rhinorrhea, Pediatrics Snoring and Obstructive Sleep Apnea, Pediatrics Chronic Wheezing, Pediatrics Chronic Dermatitis, Pediatrics Chronic Urticaria, Pediatrics Suspected Food Allergies, Pediatrics Allergy Blood Testing and Skin Prick Testing
  3. Link to doctor
    MedPark Hospital Logo

    รศ.พญ. พรรณทิพา ฉัตรชาตรี

    • กุมารเวชศาสตร์
    • กุมารเวชศาสตร์โรคภูมิแพ้และภูมิคุ้มกัน
    Allergy Symptoms in Children, Prevention of Allergies in Children, Food Allergy of Newborn to 5 Years, Pediatrics Chronic Dermatitis, Pediatrics Chronic Urticaria, Pediatrics Allergy Blood Testing and Skin Prick Testing
  4. Link to doctor
    ศ.พญ. ชุติมา    ศิริกุลชยานนท์

    ศ.พญ. ชุติมา ศิริกุลชยานนท์

    • กุมารเวชศาสตร์
    • กุมารเวชศาสตร์ทั่วไป
    • กุมารเวชศาสตร์โภชนาการ
    General Pediatrics, Pediatrics Education and Achievements, Pediatrics Nutrition
  5. Link to doctor
    พญ. รพิศา นันทนีย์

    พญ. รพิศา นันทนีย์

    • กุมารเวชศาสตร์
    • กุมารเวชศาสตร์โรคภูมิแพ้และภูมิคุ้มกัน
    Pediatrics, Pediatrics Allergy and Immunology, Pediatrics Allergy Blood Testing and Skin Prick Testing, Pediatrics Chronic Dermatitis, Pediatrics Suspected Food Allergies