อาการ สาเหตุ การตรวจวินิจฉัยและการรักษาหูดธรรมดาที่พบได้บ่อย (Common warts)

หูด ที่พบได้บ่อย

หูดธรรมดา หรือหูดที่พบได้บ่อย (verruca vulgaris) คือ ตุ่มนูนผิวขรุขระและมีจุดเล็กสีดําในเนื้อหูด เกิดขึ้นได้ในร่างกายทุกส่วน แต่ส่วนใหญ่มักขึ้นที่มือและนิ้วมือ สาเหตุหลักของหูดคือการสัมผัสกับเชื้อ

แชร์

เลือกหัวข้อที่อ่าน


หูดธรรมดา ที่พบได้บ่อย

หูดธรรมดา หรือหูดที่พบได้บ่อย (verruca vulgaris) คือ ตุ่มนูนผิวขรุขระและมีจุดเล็กสีดําในเนื้อหูด เกิดขึ้นได้ในร่างกายทุกส่วน แต่ส่วนใหญ่มักขึ้นที่มือและนิ้วมือ สาเหตุหลักของหูดคือการสัมผัสกับเชื้อไวรัส HPV ซึ่งอาจใช้เวลาเพาะเชื้อถึง 6 เดือนกว่าที่จะแสดงอาการ โดยปกติแล้วหูดธรรมดานั้นไม่อันตรายแต่อาจมีขนาดใหญ่ขึ้นได้หากไม่รักษา และติดต่อได้ผ่านการสัมผัส

อาการโรคหูด

มีตุ่มผิวขรุขระขนาดเล็กพร้อมจุดสีดำหรือน้ำตาลซึ่งเกิดจากการที่เส้นเลือดขนาดเล็กในผิวหนังอุดตัน บนมือหรือนิ้วมือ

ควรไปพบแพทย์เมื่อไร

  • รู้สึกเจ็บและทำกิจวัตรประจำวันได้ไม่สะดวก
  • รูปร่างหรือสีของหูดเปลี่ยนไป
  • หูดแพร่กระจายหรือเป็นซ้ำ ซึ่งอาจเกิดจากระบบภูมิคุ้มกันอ่อนแอ
  • ไม่แน่ใจว่าเป็นหูดหรือไม่

สาเหตุที่เป็นหูด

เชื้อไวรัส human papillomavirus (HPV) เป็นสาเหตุหลักของหูดธรรมดา การติดเชื้อไวรัสอาจเกิดขึ้นได้ผ่านรอยแผลบนผิวหนัง เช่น รอยข่วนหรือหนังบริเวณเล็บที่ลอกออก การสัมผัสกับหูดหรือการใช้ของส่วนตัวร่วมกัน เช่น ผ้าเช็ดตัว กับผู้ติดเชื้ออาจทําให้ติดเชื้อได้ อย่างไรก็ตามการตอบสนองของภูมิคุ้มกันของแต่ละคนนั้นแตกต่างกัน ผู้ที่มีภูมิคุ้มกันแข็งแรงอาจไม่เป็นหูดแม้จะสัมผัสกับเชื้อไวรัส HPV

เชื้อไวรัส human papillomavirus (HPV) เป็นสาเหตุหลักของ หูด ธรรมดา การติดเชื้อไวรัสอาจเกิดขึ้นได้ผ่านรอยแผลบนผิวหนัง

ปัจจัยเสี่ยงที่ทำให้เป็นหูด

  • อายุ: เด็กเล็กมีแนวโน้มที่จะเกิดหูดธรรมดาเนื่องจากภูมิคุ้มกันยังไม่พัฒนาเต็มที่
  • ระบบภูมิคุ้มกันบกพร่อง: ผู้ที่ได้รับการปลูกถ่ายอวัยวะ มีเชื้อเอชไอวีหรือเอดส์ หรือรับประทานยากดภูมิคุ้มกัน

การป้องกันการเกิดหูด

เพื่อลดความเสี่ยงของการเกิดหูดธรรมดา สามารถปฏิบัติตัวได้ดังต่อไปนี้

  • ไม่จับหรือแกะหูด หลีกเลี่ยงการปัดหรือหรือโกนผิวรอบ ๆ หูด
  • ใช้ตะไบเล็บแบบใช้แล้วทิ้งเพื่อป้องกันการแพร่กระจายของหูด
  • ไม่นำกรรไกรตัดเล็บที่สัมผัสกับหูดมาตัดเล็บที่ไม่เป็นหูด
  • ไม่กัดเล็บเพราะไวรัสสามารถเข้าสู่รอยแยกของผิวหนังได้
  • บำรุงผิวบริเวณมือเท้าให้ชุ่มชื้นแข็งแรง ลดการรับเชื้อหูดผ่านรอยแตกของผิว

การตรวจวินิจฉัยโรคหูด

โดยทั่วไปสามารถวินิจฉัยได้จากการตรวจร่างกายแต่ในบางครั้งตุ่มมีลักษณะนูนหนาไม่ชัดเจน แพทย์จะทำการตรวจเพิ่มเติม โดยสกิดผิวด้านบนหูดออกเพื่อดูว่ามีจุดสีดํา ซึ่งเป็นลักษณะของหูดธรรมดาหรือไม่ แพทย์อาจทำการตัดชิ้นเนื้อไปตรวจเพื่อยืนยันว่าไม่ได้เป็นตุ่มผิวหนังประเภทอื่น ๆ   

การรักษาโรคหูด

การรักษาที่เหมาะสมสามารถกําจัดหูดและเพิ่มภูมิคุ้มกันให้แก่ร่างกายเพื่อไปต่อสู้กับเชื้อไวรัส วิธีการรักษาที่เหมาะสมนั้นขึ้นอยู่กับตําแหน่งและจำนวนของหูด อาการและความต้องการของผู้เข้ารับการรักษา

  • การลอกชั้นผิวด้วยกรดซาลิไซลิกและกรดอื่น ๆ : กรดซาลิไซลิกจะค่อยสลายชั้นผิว อาจทำให้รู้สึกแสบร้อน ผู้เข้ารับการรักษาต้องพบแพทย์เพื่อรับการรักษาทุกสัปดาห์ วิธีการรักษานี้ได้ผลดีเมื่อใช้ร่วมกับการรักษาด้วยความเย็น
  • การรักษาด้วยความเย็น: แพทย์จะทาไนโตรเจนเหลวบนหูด ทำให้เกิดความเย็นจัดบริเวณใต้และรอบหูด จนผิวหนังตายหลุดลอกออก การรักษาด้วยความเย็นยังช่วยกระตุ้นภูมิคุ้มกันเพื่อต่อสู้กับเชื้อไวรัส HPV วิธีนี้เจ็บและอาจทำให้สีผิวเปลี่ยน จึงไม่แนะนําให้ใช้ในเด็กเล็ก
  • การผ่าตัด: เป็นการตัดหูดออก แต่อาจทําให้เกิดแผลเป็นได้ ใช้ในกรณีที่หูดมีขนาดใหญ่มาก ไม่สามารถรักษาด้วยวิธีอื่นได้
  • การจี้ด้วยไฟฟ้า: เนื้อเยื่อที่ถูกจี้จะตายและลอกออก แต่วิธีนี้อาจทำให้รู้สึกเจ็บและทิ้งรอยแผลเป็นได้ รวมถึงต้องดูแลแผลหลังจี้ไฟฟ้าเป็นระยะเวลานานกว่าจี้ด้วยความเย็น

การดูแลตัวเองที่บ้าน

ผู้ที่ไม่ได้เป็นโรคเบาหวานหรือมีภาวะระบบภูมิคุ้มกันอ่อนแอ สามารถลองวิธีเหล่านี้ได้

  • ใช้แผ่นแปะ ขี้ผึ้ง หรือยาน้ำที่มีส่วนผสมของกรดซาลิไซลิกทุกวันเป็นเวลา 2-3 สัปดาห์ ควรแช่หูดในน้ำอุ่นก่อนทายา ใช้ตะไบเล็บแบบใช้แล้วทิ้งขัดเอาผิวหนังที่ตายแล้วออก หากเกิดอาการระคายเคืองควรเว้นระยะห่างในการทายาให้นานขึ้น หญิงตั้งครรภ์ควรปรึกษาแพทย์ก่อนใช้
  • ใช้ไนโตรเจนเหลวแบบสเปรย์หรือยาน้ำ
  • ใช้แผ่นแปะปิดหูดเป็นเวลา 6 วัน จากนั้นแช่หูดในน้ำอุ่นและขัดผิวที่ตายแล้วออกด้วยตะไบเล็บแบบใช้แล้วทิ้ง ปล่อยให้หูดได้สัมผัสกับอากาศเป็นเวลา 12 ชั่วโมง แล้วจึงติดแผ่นแปะอีกครั้ง

การเตรียมตัวก่อนพบแพทย์

ก่อนที่จะไปพบแพทย์ จดยาที่ใช้และคําถามที่ต้องการถามแพทย์ เช่น

  • อะไรคือสาเหตุที่ทำให้เป็นหูด
  • ควรทำการรักษาอย่างไร มีผลข้างเคียงหรือไม่
  • จะป้องกันไม่ให้เป็นหูดซ้ำได้อย่างไร

แพทย์อาจถามคําถาม เช่น

  • มีหูดมานานเท่าไรแล้ว
  • เคยเป็นมาก่อนหรือไม่ เคยรักษาด้วยวิธีอะไรบ้าง
  • หูดรบกวนการใช้ชีวิตประจําวันหรือไม่

บทความโดย

เผยแพร่เมื่อ: 31 พ.ค. 2023

แชร์