Diet and Menstruation Banner.jpg

อาหารส่งผลอะไรกับประจำเดือน

ประจำเดือนส่งผลต่อร่างกายอย่างไร แล้วอาหารที่เราทานเข้าไปนั้นส่งผลต่อประจำเดือนอย่างไร

แชร์

อาหารส่งผลอะไรกับประจำเดือน

  1. ประจำเดือนส่งผลต่อร่างกายอย่างไร
    • เสียเลือด อ่อนเพลีย ขาดธาตุเหล็ก เวียนศีรษะง่าย
    • มดลูก มีการบีบตัว อาจทำให้ปวดท้อง (ปวดประจำเดือน)
    • ช่วงก่อนประจำเดือนมา ร่างกายมีการเปลี่ยนแปลงของฮอร์โมน
      • อาการทางใจ/อารมณ์ อารมณ์แปรปรวน หงุดหงิดง่าย
      • อาการทางกาย เช่น มีท้องอืด ท้องเสีย คลื่นไส้
  2. อาหารส่งผลต่อประจำเดือนอย่างไร
    อาหารไม่มีผลโดยตรงกับมดลูกเพราะอาหารที่ทานนั้นผ่านลงสู่กระเพาะอาหารและลำไส้ ซึ่งไม่ได้เชื่อมต่อกับมดลูก แต่อาหาร บางอย่างอาจมีผลต่ออาการต่าง ๆ ที่เกิดช่วงก่อนและขณะมีประจำเดือนได้ ดังนั้นจึงควรเลือกอาหารที่เหมาะสมเพื่อลดอาการเหล่านั้น
  3. อาหารที่แนะนำช่วงมีประจำเดือน
    1. ดื่มน้ำเปล่าให้เพียงพอ
      • ปริมาณน้ำที่แนะนำอย่างน้อย 2.7 ลิตร ต่อวัน
      • ช่วยทดแทนการเสียเลือด ช่วยให้ลดอาการปวด/มึนศีรษะ
      • ช่วยลดอาการท้องอืด
    2. อาหารที่มีธาตุเหล็กสูง (ได้แก่ ปลา ไก่ ผักใบเขียว เช่น ผักโขม คะน้า) ช่วยทดแทนการเสียธาตุเหล็กจากการเสียเลือด
    3. อาหารโปรตีนสูงและอาหารกากใยสูง ช่วยควบคุมระดับน้ำตาลในเลือด ให้พลังงานคงที่ ไม่หิวง่าย
    4. โอเมกา3 (Omega-3 / Fish oil) ช่วยลดอาการปวดประจำเดือน ช่วยลดอารมณ์แปรปรวน ซึมเศร้าหรือเหวี่ยง
    5. สมุนไพรบางชนิด ได้แก่ ขิง อบเชย ช่วยลดอาการปวดประจำเดือน ได้ อย่างไรก็ตามไม่ควรรับประทานมากเกินไป
    6. อาหารที่มีวิตามินและเกลือแร่
  4. อาหารที่ควรหลีกเลี่ยงช่วงมีประจำเดือน
    1. อาหารเค็ม / เกลือ
      • การกินเกลือหรืออาหารเค็มมากเกินไปทำให้น้ำในร่างกายคั่ง ตัวบวม และท้องอืดได้
    2. ของหวาน / อาหารน้ำตาลสูง
      • หากทานมากเกินไปจะทำให้ระดับน้ำตาลในเลือดแกว่งและทำให้อารมณ์แปรปรวน
    3. คาเฟอีน / ชา / กาแฟ
      • คาเฟอีนทำให้น้ำในร่างกายคั่ง ตัวบวม และอาจทำให้ปวดศีรษะมากขึ้น แต่การขาดคาเฟอีนอาจทำให้ปวดศีรษะได้เช่นกัน ดังนั้นจึงไม่จำเป็นต้องงดคาเฟอีน เพียงแต่ไม่ควรดื่มมากเกินไป
    4. แอลกอฮอล์
      • แอลกอฮอล์ทำให้ร่างกายขาดน้ำและอาจทำให้ปวดศีรษะและท้องอืดตามมาได้
    5. อาหารรสจัด / เผ็ด
      • อาหารรสเผ็ด ระคายเคืองกระเพาะอาหาร ไม่ได้มีผลต่อมดลูกโดยตรง แต่อาจทำให้ร้อนท้อง ท้องเสีย คลื่นไส้ ซึ่งส่งผลต่ออาการช่วงมีประจำเดือนได้
    6. เนื้อสัตว์ / เนื้อแดง เช่น เนื้อวัว เนื้อหมู
      • มีธาตุเหล็ก ช่วยทดแทนเลือดที่เสียไป แต่มีสารโพรสตาแกลนดิน (prostaglandins) มากเช่นกันซึ่งอาจทำให้มดลูกบีบตัวและปวดประจำเดือนได้

ความเชื่อผิด ๆ เรื่องอาหารกับประจำเดือน

  1. ไม่ควรทานน้ำเย็นหรือน้ำแข็งช่วงมีประจำเดือน
    ความเชื่อ: ไม่ควรทานน้ำเย็นหรือน้ำแข็งช่วงมีประจำเดือน บางคนเชื่อว่าเพราะทำให้ปวดประจำเดือนมากขึ้นและจะขับเลือดออกมาได้ไม่หมด
    ความจริง: น้ำเย็นหรือน้ำแข็งไม่ส่งผลใด ๆ ต่อประจำเดือน เพราะประจำเดือนคือเลือดที่ออกมาจากมดลูก อาการปวดประจำเดือนคืออาการปวดท้องอันเนื่องมาจากการบีบตัวของมดลูก เมื่อดื่มน้ำเย็น ร่างกายจะมีระบบปรับอุณหภูมิของอาหารที่ทานเข้าไป และน้ำที่เข้าสู่ร่างกายนั้นจะผ่านกระเพาะอาหารและลำไส้ ไม่เกี่ยวกับมดลูกแต่อย่างใด ซึ่งสองระบบนี้แยกจากกันชัดเจน ดังนั้นน้ำเย็นหรือน้ำแข็งจึงไม่ทำให้ปวดท้องประจำเดือนและไม่ทำให้ประจำเดือนเป็นลิ่ม อย่างไรก็ตามลักษณะร่างกายของแต่ละคนนั้นไม่เหมือนกัน
  2. ไม่ควรดื่มน้ำมะพร้าวช่วงมีประจำเดือน
    ความเชื่อ: คนไทยมีความเชื่อว่าห้ามดื่มน้ำมะพร้าวระหว่างที่มีประจำเดือน บ้างก็ว่าจะทำให้เลือดมีกลิ่นคาวขึ้น บ้างก็ว่าทำให้ประจำเดือนผิดปกติ หรือทำให้ปวดประจำเดือนมากขึ้น
    ความจริง: ไม่มีข้อห้ามในการดื่มน้ำมะพร้าวแต่ไม่แนะนำดื่มมากเกินไป น้ำมะพร้าวมีไฟโตเอสโตรเจน (Phytoestrogen) ซึ่งเป็นสารประกอบจากธรรมชาติที่มีสูตรโครงสร้างคล้ายฮอร์โมนเพศหญิง
  3. น้ำมะพร้าวทำให้ประจำเดือนผิดปกติและทำให้ปวดประจำเดือน
    ความเชื่อ: การดื่มน้ำมะพร้าวจะทำให้ประจำเดือนผิดปกติและทำให้ปวดประจำเดือน
    ความจริง: กลไกการปวดประจำเดือนเกิดจากการบีบตัวของมดลูกซึ่งเกี่ยวกับสารโพรสตาแกลนดิน (prostaglandins) ในน้ำมะพร้าวมีฮอร์โมนเอสโตรเจนสูง แม้จะไม่ใช่สาเหตุหลักของอาการ แต่อาจส่งผลต่อการบีบตัวของมดลูกและรบกวนปริมาณประจำเดือน อย่างไรก็ตามหากไม่ดื่มมากจนเกินไป น้ำมะพร้าวนั้นมีประโยชน์ต่อร่างกายเพราะอุดมไปด้วยเกลือแร่ที่จำเป็นต่อร่างกาย

สรุป เรื่องอาหารกับประจำเดือน ในช่วงมีประจำเดือนแนะนำให้เลือกทานอาหารที่มีประโยชน์ สมดุล ครบห้าหมู่ และดื่มน้ำให้เพียงพอ




บทความโดย

พญ.อสมา วาณิชตันติกุล

สูตินรีแพทย์ ผู้ชำนาญการด้านมะเร็งวิทยานรีเวชและผ่าตัดส่องกล้องทางนรีเวช
ประวัติแพทย์


อาหารส่งผลอะไรกับประจำเดือน (How does what you eat affect your menstruation?)

 

เผยแพร่เมื่อ: 28 ก.พ. 2022

แชร์