Foods and Exercise Lower the Risk of Cancers Banner 1.jpg

อาหารและการออกกำลังกายสามารถป้องกันหรือลดความเสี่ยงในการเกิดโรคมะเร็งได้หรือไม่

อาหาร วิตามิน เกลือแร่บางชนิดพบว่าสามารถลดความเสี่ยงในการเกิดโรคมะเร็งได้ 

แชร์

อาหาร วิตามิน เกลือแร่บางชนิดพบว่าสามารถลดความเสี่ยงในการเกิดโรคมะเร็งได้  ตัวอย่างเช่น

  • อาหารจากพืช (Plant-based foods) อาหารเหล่านี้อุดมไปด้วยสารจากธรรมชาติ ที่เราเรียกว่า ไฟโตนิวเทรียนต์ (phytonutrients) ตัวอย่างเช่น
    • แคโรทีนอยด์หรือแคโรทีน (carotenoids/carotenes) พบมากในผักสีแดง ส้ม เหลือง และผักสีเขียวเข้มบางชนิด
    • โพลีฟีนอล (polyphenols) พบได้ในเครื่องเทศ สมุนไพร ผัก ชา กาแฟ ช็อกโกแลต ถั่ว แอปเปิ้ล หัวหอม เบอร์รีเป็นต้น
    • อัลเลียม (alliums) พบในกุยช่าย กระเทียม กระเทียมหอม และหัวหอม

สารไฟโตนิวเทรียนต์ที่พบในผักและผลไม้ ช่วยลดความเสี่ยงในการเกิดมะเร็ง โดยช่วยควบคุมฮอร์โมน เช่น เอสโตรเจน รวมทั้งสารอื่น ๆ โดยอาจช่วยยับยั้งการอักเสบ การเติบโตของเซลล์มะเร็ง หรือลดสารอนุมูลอิสระ 

อาหารจากพืชที่มีงานวิจัยว่าสามารถป้องกันมะเร็งได้ ได้แก่

    • ผักตระกูลกะหล่ำ ได้แก่ บรอกโคลี กะหล่ำดอก กะหล่ำปลี กะหล่ำดาวผักกวางตุ้งไต้หวัน และคะน้า  การรับประทานผักเหล่านี้จะช่วยควบคุมเอนไซม์ที่ป้องกันการเกิดมะเร็ง และสามารถหยุดการเติบโตของเซลล์มะเร็ง และลดความเสี่ยงในการเกิดโรคมะเร็ง เช่น  มะเร็งศีรษะและคอ มะเร็งหลอดอาหาร มะเร็งกระเพาะอาหาร
    • ไลโคปีน (Lycopene)พบในเกรปฟรุตสีชมพู แตงโม และแอปริคอต มีงานวิจัยที่พบว่าไลโคปีนสามารถลดความเสี่ยงของมะเร็ง เช่น มะเร็งปอด  มะเร็งกระเพาะอาหาร มะเร็งต่อมลูกหมาก แต่ไม่ได้แสดงถึงความสัมพันธ์โดยตรง
    • ถั่วเหลืองมีไฟโตนิวเทรียนต์ที่ค่อนข้างจำเพาะ และมีงานวิจัยที่บอกว่าสารเหล่านี้ป้องกันมะเร็งบางชนิดได้ ความสัมพันธ์ระหว่างถั่วเหลืองกับมะเร็งเต้านมค่อนข้างซับซ้อน มีงานวิจัยที่แนะนำว่าการรับประทานถั่วเหลืองอย่างน้อย 3 เสิร์ฟนั้นปลอดภัยและสามารถลดความเสี่ยงในการเกิดมะเร็งเต้านมได้ แต่บางการศึกษาไม่แนะนำให้รับประทานเพื่อลดความเสี่ยงในการเกิดมะเร็งเต้านม และแพทย์ควรแนะนำให้หลีกเลี่ยงยาเม็ดหรือผงไอโซฟลาโวนชนิดเข้มข้น
  • วิตามิน เกลือแร่ และสารต้านอนุมูลอิสระ ตัวอย่างเช่น เบต้าแคโรทีน ซีลีเนียม วิตามินซีและอี แคลเซียม ไอโอดีน วิตามิน เอ ดี อี เค และ วิตามินบี  สารต้านอนุมูลอิสระจะป้องกันไม่ให้เซลล์ถูกทำลายจากอนุมูลอิสระ อนุมูลอิสระเกิดขึ้นได้ตามธรรมชาติจากกระบวนการของเซลล์ หรือเกิดจากสิ่งแวดล้อม เช่น มลพิษและการสูบบุหรี่
    ร่างกายของเราต้องการวิตามินและเกลือแร่เพื่อช่วยในการเจริญเติบโตและซ่อมแซมส่วนที่สึกหรอ  โดยวิตามินและเกลือแร่ทำหน้าที่เป็นสารต้านอนุมูลอิสระ แต่จะยังไม่มีผลแน่ชัดว่าสามารถป้องกันการเกิดโรคมะเร็งได้
    1. เบต้าแคโรทีน เบต้าแคโรทีนขนาดสูงดูเหมือนจะไม่สามารถป้องกันการเกิดโรคมะเร็ง มีการศึกษาวิจัยขนาดใหญ่ 2 การศึกษา พบว่าผู้ที่มีความเสี่ยงสูงในการเกิดโรคมะเร็งปอด  เช่น ผู้ที่สูบบุหรี่หรือเคยสูบบุหรี่ ผู้ที่สัมผัสแร่ใยหิน (Asbestos) ยังมีความเสี่ยงสูงในการเกิดมะเร็งปอดแม้ว่าจะรับประทานเบต้าแคโรทีนขนาดสูง
    2. แคลเซียมและวิตามินดี มีการศึกษาขนาดใหญ่ในผู้หญิงวัยหมดประจำเดือนที่ภาวะโภชนาการสมบูรณ์ พบว่าการเสริมแคลเซียมและวิตามินดีไม่เกี่ยวข้องกับความเสี่ยงในการเกิดมะเร็งลำไส้ใหญ่และลำไส้ตรง
    3. โฟเลต พบมากในผักใบเขียว ผลไม้ น้ำผลไม้ และถั่ว มีการศึกษาความสัมพันธ์ระหว่างโฟเลตและความเสี่ยงในการเกิดโรคมะเร็ง พบว่าผู้ที่มีระดับโฟเลทต่ำจะมีความเสี่ยงในการเกิดมะเร็งเต้านม มะเร็งลำไส้ใหญ่ และมะเร็งตับอ่อน แต่บางการศึกษาก็ไม่พบความสัมพันธ์ของการเสริมโฟเลตกับการป้องกันการเกิดโรคมะเร็ง
    4. วิตามินรวม ปัจจุบันยังไม่มีหลักฐานชัดเจนว่า วิตามินรวมสามารถลดความเสี่ยงในการเกิดโรคมะเร็งได้ แต่มีการศึกษาหนึ่งพบว่ามีแนวโน้มว่าจะมีประโยชน์ เนื่องจากมีผู้ที่รับประทานวิตามินรวมเกิน 10 ปีสามารถลดการเกิดติ่งเนื้อในลำไส้ใหญ่ได้ ซึ่งติ่งเนื้อเหล่านี้ เมื่อเวลาผ่านไป สามารถพัฒนาเป็นมะเร็งลำไส้ใหญ่ได้ถ้าไม่ตัดออก แต่การศึกษานี้ก็แปลผลยาก เนื่องจากผู้ที่ได้รับวิตามินรวมสม่ำเสมอในการศึกษานี้ มีสุขภาพแข็งแรงและได้รับการตรวจคัดกรองโรคมะเร็งลำไส้ใหญ่เป็นประจำอยู่แล้ว
    5. ซีลีเนียม ในการศึกษาว่าซีลีเนียมสามารถป้องกันการเกิดโรคมะเร็งได้หรือไม่ พบว่าการเสริมซีลีเนียมไม่ป้องกันการเกิดมะเร็งผิวหนัง แต่จะลดการเกิดเคสใหม่ของมะเร็งต่อมลูกหมาก มะเร็งปอด และมะเร็งลำไส้ใหญ่ได้ บางการศึกษาพบว่าซีลีเนียมเพิ่มความเสี่ยงในการเกิดโรคเบาหวาน ดังนั้นควรรับประทานด้วยความระมัดระวัง
    6. วิตามินซี มีเพียงบางการศึกษาเท่านั้นที่พบว่าวิตามินซีสามารถป้องกันการเกิดมะเร็งกระเพาะอาหาร
    7. วิตามินอี มีการศึกษาขนาดใหญ่พบว่า การรับประทานวิตามินอี จะเพิ่มความเสี่ยงในการเกิดมะเร็งต่อมลูกหมาก การรับประทานวิตามิน ซี และ อี ขนาดสูงจะเพิ่มความเสี่ยงในการกลับมาเป็นซ้ำหลังการรักษาของมะเร็งศีรษะและคอได้
  • กากใยอาหาร (dietary fiber)กากใยเหล่านี้ช่วยในการจับตัวของอุจจาระ ทำให้การเคลื่อนของอาหารในระบบขับถ่ายเร็วขึ้น และยังช่วยทำให้จุลินทรีย์ในระบบทางเดินอาหารแข็งแรงขึ้น ซึ่งจะทำให้ลดความเสี่ยงในการเกิดโรคมะเร็ง ตัวอย่างของอาหารที่มีกากใยสูง ได้แก่
    • ธัญพืชเต็มเมล็ดที่ผ่านการขัดสีน้อย เช่น ข้าวบาร์เลย์ ข้าวโอ๊ต แป้งสาลีคามุต (kamut) สเปลต์ (spelt) บัลเกอร์ (bulgur) ข้าวโพด ไซเลียม (psyllium) ข้าวไรย์ (rye)
    • ขนมปังธัญพืชและพาสต้า
    • ถั่วต่าง ๆ
    • ผักและผลไม้
  • โปรตีน: โปรตีนจากเนื้อสัตว์ เช่น เนื้อวัว ปลา เนื้อไก่ ไข่ ผลิตภัณฑ์จากนม ควรจำกัดเนื้อแดง เช่น เนื้อหมู แพะ แกะ วัว และเนื้อที่ผ่านกระบวนการเช่น ไส้กรอก แฮม เบคอน ซาลามี เพราะหากรับประทานในปริมาณมากอาจเพิ่มความเสี่ยงต่อมะเร็งลำไส้ใหญ่ได้
  • เครื่องดื่มแอลกอฮอล์: การดื่มแอลกอฮอล์จะเพิ่มความเสี่ยงในการเกิดโรคมะเร็งบางชนิด เช่น มะเร็งศีรษะและคอ มะเร็งเต้านม มะเร็งตับ มะเร็งหลอดอาหาร และมะเร็งลำไส้ใหญ่ เป็นต้น

ความอ้วน ผู้ที่มีน้ำหนักเกินหรืออ้วนจะเพิ่มความเสี่ยงในการเป็นมะเร็งได้หลายชนิดเช่น เช่น มะเร็งเต้านม มะเร็งมดลูก มะเร็งหลอดอาหาร มะเร็งถุงน้ำดี มะเร็งลำไส้ มะเร็งตับอ่อน มะเร็งไทรอยด์

การรับประทานอาหารที่เกินความจำเป็นของร่างกายทำให้น้ำหนักเพิ่ม บางรายรับประทานน้ำตาลและไขมันมาก ทำให้อ้วนมากขึ้น อาหารเหล่านี้ ตัวอย่างเช่น

  • เครี่องดื่มที่มีรสหวาน เช่น น้ำอัดลม น้ำผลไม้แต่งกลิ่น
  • ผลิตภัณฑ์นม เช่น นมเต็มมันเนย ชีสชนิดเต็มมันนม
  • เนื้อสัตว์ที่มีไขมันสูง เช่น หนังไก่ทอด เป็ด เบคอน แฮม ไส้กรอก

การออกกำลังกาย สามารถลดความเสี่ยงในการเกิดโรคมะเร็ง เช่น

  • มะเร็งลำไส้ใหญ่ มีการศึกษาเปรียบเทียบระหว่างผู้ที่ออกกำลังกายกับผู้ที่ไม่ออกกำลังกาย พบว่าผู้ที่ออกกำลังกายสามารถลดความเสี่ยงต่อการเกิดมะเร็งลำไส้ใหญ่ได้ถึง ร้อยละ 40-50 แม้ว่าจะไม่ทราบความสำคัญที่แน่ชัดนักก็ตาม
  • มะเร็งเต้านม มีการศึกษาพบว่า ผู้หญิงที่ออกกำลังกายปานกลางหรือมากกว่า 3 ชั่วโมงต่อสัปดาห์ ความเสี่ยงในการเกิดมะเร็งเต้านมลดลง ร้อยละ 30-40 โดยรวมทั้งผู้หญิงส่วนใหญ่และผู้หญิงที่มีประวัติครอบครัวเป็นมะเร็งเต้านม บางการศึกษาพบว่าเมื่อมีการออกกำลังระดับสูงสามารถลดความเสี่ยงในการเกิดโรคมะเร็ง แต่ยังไม่ชัดเจนว่าต้องสูงเพียงใด แต่พบว่า การออกกำลังหรือทำกิจกรรมที่มีการเคลื่อนไหวของร่างกายในทุกช่วงอายุสามารถลดความเสี่ยงในการเกิดมะเร็งเต้านมได้
  • มะเร็งมดลูก บางการวิจัยพบว่าการออกกำลังกายมีความสัมพันธ์กับการลดความเสี่ยงในการเกิดมะเร็งมดลูกได้
  • มะเร็งปอด มีหลายการศึกษาแสดงให้เห็นว่าผู้ที่ออกกำลังกายสม่ำเสมอ มีโอกาสเป็นมะเร็งปอดได้น้อย





บทความโดย
พญ.ศิยามล มิ่งมาลัยรักษ์
แพทย์ผู้ชำนาญการด้านอายุรศาสตร์มะเร็งวิทยา
ประวัติแพทย์

    เผยแพร่เมื่อ: 17 มิ.ย. 2022

    แชร์