ฝุ่น PM 2.5 คุณภาพอากาศ ที่ต้องตระหนัก ถ้าอยากมีชีวิตยืนยาว

ฝุ่น PM 2.5 คุณภาพอากาศ ที่ต้องตระหนัก ถ้าอยากมีชีวิตยืนยาว

ฝุ่น PM 2.5 มลภาวะอากาศเป็นพิษ ที่ทำให้ผู้คนในเมืองพากันหนีออกต่างจังหวัดในวันหยุด เพื่อต้องการสัมผัส คุณภาพอากาศ ที่ดีกว่าในเมืองหลวง

แชร์

ฝุ่น PM 2.5 คุณภาพอากาศ ที่ต้องตระหนัก ถ้าอยากมีชีวิตยืนยาว

หากสังเกตวิถีชีวิตของคนเมืองยุคใหม่ เราจะเห็นเทรนด์การดูแลตัวเองในรูปแบบที่หลากหลายขึ้น ทั้งเลือกทานอาหารคลีน ทานวิตามิน อาหารเสริม ทำดีท็อกซ์ ใช้ผลิตภัณฑ์ออร์แกนิก หมอนเพื่อสุขภาพ รองเท้าเพื่อสุขภาพ เก้าอี้นวดไฟฟ้า อื่น ๆ อีกมากมาย แต่ในขณะที่หลายคนพยายามดูแลสุขภาพด้วยวิธีการต่าง ๆ กลับมีสิ่งหนึ่งที่คอยทำร้ายเราอยู่ตลอดเวลา แถมยังหลีกเลี่ยงได้ยาก นั่นก็คือ มลภาวะอากาศเป็นพิษ ที่ทำให้ผู้คนในเมืองพากันหนีออกต่างจังหวัดในวันหยุด เพื่อต้องการสัมผัส คุณภาพอากาศ ที่ดีกว่าในเมืองหลวง

การได้อยู่ใกล้ชิดธรรมชาติ สภาพแวดล้อมที่ปลอดโปร่ง อากาศดี อากาศบริสุทธิ์ ส่งผลดีต่อสุขภาพของเราอย่างไร แล้วสัญญาณอะไรที่บอกว่าคุณภาพอากาศกำลังแย่ หาคำตอบได้ในบทความนี้

ทำไมต้องให้ความสำคัญกับ คุณภาพอากาศ รอบตัวเรา

หากใครติดตามข่าวสารเกี่ยวกับ ฝุ่นพิษ PM2.5 คงทราบกันดีกว่า ในพื้นที่กรุงเทพฯ และปริมณฑล บางวันตรวจพบปริมาณฝุ่นในอากาศสูงเกิน 50 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร ซึ่งถือว่าเกินกว่าค่ามาตรฐาน จนหลายหน่วยงานต้องขอความร่วมมือให้พนักงาน Work from home และย้ำเตือนให้ทุกคนสวมใส่ หน้ากากอนามัย N95 ไว้ตลอดเวลา แต่นอกจากฝุ่นจิ๋วนี้แล้ว อย่าลืมว่ายังมีอันตรายที่ซ่อนอยู่ในอากาศรอบตัวเราอีกมากมาย ไม่ว่าจะเป็น ควันจากการเผาขยะ ควันจากท่อไอเสียรถยนต์ เชื้อโรค แบคทีเรีย ไวรัส เชื้อรา ละอองเกสรดอกไม้

สาเหตุที่เราต้องตระหนักเรื่องคุณภาพอากาศให้มาก ก็เพราะฝุ่น PM2.5 ในอากาศที่เราหายใจเข้าไป สามารถหลุดจากปอดเข้าสู่กระแสเลือด ซึ่งจะถูกลำเลียงไปยังเซลล์ต่าง ๆ ทั่วร่างกาย ทำให้เกิดการอักเสบเรื้อรังในร่างกาย หากเราสูดหายใจนำอากาศที่ปนเปื้อนไปด้วยมลพิษเข้าไปอย่างต่อเนื่องเป็นเวลานาน ร่างกายจะเริ่มส่งสัญญาณอาการผิดปกติออกมา เช่น ไอ คัดจมูก แสบจมูก แสบตา เคืองตา ตาแดง เลือดกำเดาไหล แน่นหน้าอก ภูมิแพ้กำเริบ ซึ่งจะยิ่งเพิ่มความเสี่ยงทำให้เป็น โรคปอดอักเสบ มะเร็งปอด โรคติดเชื้อในระบบทางเดินหายใจ โรคหอบหืด เจ็บคอเรื้อรัง โรคหัวใจ หรืออื่น ๆ ตามมาได้

ให้ความสำคัญกับ คุณภาพอากาศ รอบตัวเรา

ทำความรู้จัก โรคตึกเป็นพิษ สาเหตุเกิดจากอะไร

คุณภาพของอากาศ ไม่ได้วัดกันเพียงแค่สภาพแวดล้อมภายนอกอาคารเท่านั้น ในกลุ่มคนทำงานในอาคารสำนักงาน หากสังเกตว่าตนเองมีอาการปวดศีรษะ คลื่นไส้ เวียนหัว แสบคอ คันตา คันจมูก คันตามผิวหนัง หายใจไม่สะดวก ไอ จาม แต่ถ้าออกไปนอกอาคารแล้วอาการค่อย ๆ บรรเทาหายไป นั่นอาจเป็นสัญญาณเตือนว่าคุณกำลังเป็น โรคตึกเป็นพิษ หรือ Sick Building Syndrome – SBS อยู่ก็เป็นได้

แม้จะยังไม่สามารถระบุได้แน่ชัดถึงสาเหตุที่ทำให้ป่วยเป็นโรคตึกเป็นพิษ แต่คาดว่าคุณภาพของอากาศภายในอาคาร เป็นปัจจัยหลักทำให้เกิดอาการป่วยขึ้น ซึ่งสิ่งที่ต้องระวัง ได้แก่

  • ฝุ่นในพรม บนฝ้าเพดาน ผ้าม่าน สามารถฟุ้งกระจาย หรือหมุนเวียนอยู่ภายในระบบปรับอากาศของอาคารได้
  • ระบบปรับอากาศและระบบถ่ายเทอากาศของอาคารไม่เหมาะสม ปริมาณอากาศภายนอกที่ไหลเวียนเข้าสู่ภายในอาคารไม่เพียงพอ
  • เชื้อราบนผนังหรือฝ้าอาคาร
  • สารเคมีที่ฟุ้งกระจายไปทั่ว เช่น กาว ทินเนอร์ น้ำยาทำความสะอาด ยาฆ่าแมลง สเปรย์ดับกลิ่น เครื่องถ่ายเอกสาร ควันบุหรี่
  • วัสดุก่อสร้าง สีที่ใช้ทาภายในอาคารที่อาจปล่อยสารประกอบอินทรีย์ระเหยง่าย


แนวคิดอาคารสีเขียว เพื่อคุณภาพอากาศที่ดี เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม

ปัจจุบันหน่วยงานหลายแห่ง ให้ความสำคัญกับแนวคิดออกแบบอาคารเพื่อรักษ์พลังงานและสิ่งแวดล้อมมากขึ้น นับตั้งแต่การออกแบบก่อสร้างให้ตัวอาคารมีระบบที่ช่วยถ่ายเทอากาศได้ดี มีหน้าต่างเพียงพอ หรือติดตั้งระบบหมุนเวียนอากาศ เพื่อให้อากาศเก่าไหลออก และอากาศใหม่เข้ามาในอาคารได้ตลอดเวลา ส่วนตึกหรืออาคารที่สร้างเสร็จไปแล้ว สามารถใช้เครื่องฟอกอากาศมาช่วยเสริมได้ และต้องพยายามกำจัด หรือควบคุมแหล่งกำเนิดมลพิษ เชื้อโรคต่าง ๆ และใช้เครื่องดูดฝุ่นคุณภาพดี หมั่นทำความสะอาดสิ่งที่เป็นแหล่งสะสมฝุ่น หรือเชื้อโรคเป็นประจำ

เช่นเดียวกับ โรงพยาบาลเมดพาร์ค ที่ออกแบบให้ทั้งอาคารเป็น Positive Pressure Building หรือ อาคารความดันบวก โดยอาศัยระบบเติมอากาศของอาคารในอัตราที่สูงเพียงพอที่จะรักษาความดันในอาคารให้สูงกว่าภายนอกตลอดเวลา อากาศภายนอกจะไหลผ่านแผ่นกรองประสิทธิภาพสูง สามารถกรอง PM 2.5 ฝุ่นละออง เชื้อโรคและแบคทีเรียในอากาศ รวมทั้งลดอุณหภูมิและความชื้นให้ใกล้เคียงกับอากาศภายในก่อนปล่อยเข้าสู่ตัวอาคาร  ด้วยความดันภายในที่สูงกว่าภายนอกอาคาร อากาศภายในจะไหลออกจากอาคารตลอดเวลาโดยไม่มีการนำกลับมาหมุนเวียน ทำให้อัตราการถ่ายเทอากาศสูงกว่าอาคารทั่วไป และอากาศมีความสะอาดสูงทั่วทั้งอาคาร โดยเฉพาะจุดสำคัญ เช่น หอผู้ป่วย ICU ซึ่งช่วยลดการติดเชื้อ และลดภาวะภูมิแพ้อากาศให้ผู้ป่วยและผู้เข้ารับบริการได้เป็นอย่างดี นอกจากนี้ยังใช้กระจก 4 ชั้น เพื่อกรองแสงแดด และลดความร้อนที่จะเข้าสู่ตัวอาคาร จึงช่วยลดการใช้พลังงานไฟฟ้าลงด้วย จนได้การรับรองมาตรฐานอาคารสีเขียว ระดับ Gold (LEED Gold Certified) โดย U.S. Green Building Council ของประเทศสหรัฐอเมริกา

การตื่นตัวกับวิกฤต PM2.5 ในหลาย ๆ หน่วยงาน เป็นจุดเริ่มต้นที่ดี ที่จะช่วยให้คุณภาพอากาศของประเทศไทยดีขึ้น อย่างไรก็ตาม คนทั่วไปก็สามารถช่วยกันทำให้อากาศดีได้ง่าย ๆ เริ่มต้นจากการลดแหล่งกำเนิดฝุ่นจากภายในบ้านของเราเอง ลดการใช้รถยนต์ส่วนตัวหันไปใช้ระบบขนส่งมวลชนให้มากขึ้น เลือกซื้อรถยนต์ที่มีอัตราสิ้นเปลืองเชื้อเพลิงต่ำ หรือเปลี่ยนเป็นรถเครื่องยนต์ไฟฟ้า

เผยแพร่เมื่อ: 13 มี.ค. 2023

แชร์