อาหารจากธรรมชาติที่ดีต่อระบบทางเดินอาหาร
อาหารจากธรรมชาติ ส่วนมากมักให้ประโยชน์มากกว่าให้โทษ อย่างที่รู้จักกันดี คือพรีไบโอติกและโพรไบโอติก ทั้ง 2 อย่างนี้แตกต่างกันอย่างไร
โพรไบโอติก (Probiotics) คือ แบคทีเรียที่อยู่บริเวณลำไส้ใหญ่ที่เป็นประโยชน์ต่อร่างกาย ได้แก่ กลุ่มแบคทีเรียที่สร้างกรดแลคติก (lactic acid) ได้ เช่น แล็กโตบาซิลลัส (Lactobacilli) และไบฟิโดแบคทีเรีย (Bifidobacteria) ซึ่งแบคทีเรียกลุ่มนี้จะช่วยยับยั้งการเจริญของแบคทีเรียก่อโรคและลดการดูดซึมคอเลสเตอรอล ช่วยย่อยอาหารที่ร่างกายไม่สามารถย่อยได้ ช่วยดูดซึมสารอาหาร ช่วยในการทำงานของลำไส้ ลดอาการท้องผูก และสามารถผลิตวิตามินที่มีประโยชน์ต่อร่างกาย เช่น วิตามินบี 1 วิตามินบี 2 วิตามินบี 6 วิตามินบี 12 ไบโอติน และกรดโฟลิก มักพบแบคทีเรียกลุ่มนี้ในผลิตภัณฑ์อาหารหมัก เช่น กิมจิ แหนม นมเปรี้ยว เป็นต้น แหล่งอาหารของแบคทีเรียโพรไบโอติก เป็นใยอาหารชนิดละลายน้ำได้และร่างกายไม่สามารถย่อยได้ (soluble fiber) อาทิ กลุ่มโอลิโกแซ็กคาไรด์ (oligosaccharide) ต่างๆ อินูลิน เพกทิน
พรีไบโอติก (Prebiotics) คือ อาหารที่ร่างกายไม่สามารถย่อยและดูดซึมได้ในระบบทางเดินอาหาร ทั้งในกระเพาะอาหารและลำไส้เล็ก แต่จะถูกย่อยด้วยแบคทีเรียบริเวณลำไส้ใหญ่ โดยจะกระตุ้นการทำงานและส่งเสริมการเจริญเติบโตของจุลินทรีย์โพรไบโอติกที่เป็นประโยชน์ต่อสุขภาพ หรือกล่าวง่ายๆได้ว่า “พรีไบโอติกเป็นอาหารของโพรไบโอติก” เช่น แล็กโตบาซิลลัส (Lactobacilli) และไบฟิโดแบคทีเรีย (Bifidobacteria) ซึ่งจะช่วยให้การดูดซึมอาหารในลำไส้มีประสิทธิภาพมากขึ้นและลดอาการท้องผูกได้ พรีไบโอติก มักพบในเส้นใยอาหารของผักและผลไม้ต่างๆ เช่น แอปเปิ้ล กล้วย ฝรั่ง ถั่วเหลือง กระเทียม หัวหอมใหญ่ กะหล่ำปลี หน่อไม้ฝรั่ง เป็นต้น พรีไบโอติกที่พบในท้องตลาด ส่วนใหญ่จะอยู่ในรูปแบบผงแห้งที่ประกอบไปด้วยสารประกอบเชิงซ้อนของคาร์โบไฮเดรต อาทิ อินูลิน (inulin) และกลุ่มโอลิโกแซ็กคาไรด์ต่างๆ (oligosaccharide) ซึ่งบางผลิตภัณฑ์อาจทำในรูปแบบสูตรผสมที่ประกอบด้วยโพรไบโอติกและพรีไบโอติกในผลิตภัณฑ์เดียวกัน
Anadón, A., Martínez-Larrañaga, M. R., Ares, I., & Martínez, M. A. (2016). Probiotics: safety and toxicity considerations. In Nutraceuticals (pp. 777-798). Academic Press.
Slavin, J. (2013). Fiber and prebiotics: mechanisms and health benefits. Nutrients, 5(4), 1417-1435.