ซีสต์เต้านม เกิดจากอะไร อาการบ่งบอก และวิธีรักษา - Breast cysts - Causes, Symptoms and Treatment

ซีสต์เต้านม (Breast Cysts) เกิดจากอะไร อาการบ่งบอก และวิธีรักษา

ซีสต์เต้านม คือถุงน้ำที่เกิดขึ้นในเนื้อเยื่อเต้านมซึ่งไม่ใช่มะเร็ง ส่วนใหญ่ไม่จำเป็นต้องได้รับการรักษา แต่อาจทำให้รู้สึกปวดหรือคัดตึงเต้านมได้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งก่อนที่จะมีประจำเดือน

แชร์

เลือกหัวข้อที่อ่าน


ซีสต์เต้านม คืออะไร?

ซีสต์เต้านม (Breast Cysts) คือถุงน้ำในเต้านมที่ไม่เป็นมะเร็ง อาจมีขนาดแตกต่างกัน ตั้งแต่ขนาดเล็กที่คลำไม่พบ ตรวจพบผ่านอัลตราซาวนด์เท่านั้น (microcyst) จนไปถึงขนาดใหญ่ที่สามารถคลำพบได้ มักมีขนาด 1-2 นิ้ว (macrocyst) ในเต้านมอาจมีถุงน้ำได้หลายถุง แต่ซีสต์เต้านมไม่ได้เพิ่มความเสี่ยงของมะเร็งเต้านม และมักจะไม่พัฒนาไปเป็นโรคร้ายแรง

ซีสต์เต้านม มักพบได้บ่อยในหญิงอายุ 35-50 ปี ที่มีประจำเดือนหรือหมดประจำเดือนแล้วแต่ใช้ฮอร์โมนบำบัด

ซีสต์เต้านม มีกี่ประเภท?

  • Simple Breast Cyst เป็นซีสต์ที่เต้านมที่ไม่เป็นมะเร็ง ผนังเรียบ ภายในไม่มีก้อนเนื้อ ราว 90% ของซีสต์เต้านมเป็นซีสต์ชนิดนี้
  • Complex Breast Cyst ภายในมีส่วนประกอบของน้ำและส่วนที่เป็นเนื้อ ซึ่งราว 20% อาจกลายเป็นมะเร็งเต้านม แพทย์อาจแนะนำให้ตัดชิ้นเนื้อไปตรวจ
  • Complicated Breast Cyst มีส่วนประกอบของน้ำสีขุ่น รูปร่างไม่ชัดเจน แพทย์อาจใช้เข็มเจาะดูดน้ำเอาเซลล์ไปตรวจเนื้อเยื่อ และติดตามอาการในอีก 6 เดือน มีโอกาสน้อยกว่า 2% ที่ซีสต์เต้านมชนิดนี้จะพัฒนาเป็นมะเร็ง  

ซีสต์เต้านม เกิดจากสาเหตุอะไร?

เต้านมของคนเรา ประกอบไปด้วยกลีบต่อมเนื้อเยื่อ ที่มีรูปร่างเหมือนกลีบดอกเดซี่ โดยแต่ละกลีบ (lobe) จะประกอบไปด้วยกลีบขนาดเล็ก (lobule) ทำหน้าที่ผลิตน้ำนมเมื่อตั้งครรภ์หรือให้นมบุตร รอบ ๆ กลีบเหล่านี้คือไขมันและเนื้อเยื่อเส้นใย ซึ่งทำให้เต้านมมีรูปร่างและขนาดที่หลากหลาย

ซีสต์เต้านม เกิดจากการสะสมของน้ำในต่อมเต้านม ซึ่งอาจเป็นผลมาจากการเปลี่ยนแปลงของระดับฮอร์โมนที่เกิดขึ้นในรอบเดือน ระดับฮอร์โมนเอสโตรเจนที่เพิ่มขึ้นในช่วงก่อนมีประจำเดือนอาจกระตุ้นการสร้างน้ำในต่อมเต้านม ทำให้เกิดซีสต์ นอกจากนี้ ซีสต์เต้านมยังอาจเกิดขึ้นในช่วงวัยหมดประจำเดือนหรือช่วงที่มีการเปลี่ยนแปลงของฮอร์โมนในร่างกาย เช่น การตั้งครรภ์หรือการใช้ยาฮอร์โมน

ซีสต์เต้านม ตำแหน่งในเต้านมที่มีซีสต์ ซีสต์ที่อยู่ในเต้านม

ซีสต์เต้านมมีอาการอย่างไร?

  • สัมผัสได้ว่ามีก้อนนุ่มหรือแข็งในเต้านม ซึ่งอาจเคลื่อนย้ายได้เมื่อกดหรือสัมผัส
  • รู้สึกเจ็บหรือคัดเต้านมก่อนมีประจำเดือน
  • ซีสต์มีขนาดใหญ่ขึ้นก่อนมีประจำเดือนและมีขนาดเล็กลงหลังมีประจำเดือน
  • อาจพบว่ามีของเหลวใสหรือสีเหลืองออกมาจากหัวนมในบางกรณี

มีซีสต์ที่เต้านม ควรพบแพทย์เมื่อไร?

หากคลำพบก้อนที่เต้านมที่ไม่หายไปภายใน 1-2 เดือน ก้อนมีขนาดใหญ่ขึ้น หรือผิวบริเวณเต้านมมีลักษณะเปลี่ยนไป ควรไปพบแพทย์

ภาวะแทรกซ้อนของซีสต์เต้านมคืออะไร?

ซีสต์เต้านมไม่มีภาวะแทรกซ้อนที่เป็นอันตรายต่อชีวิต แต่มีความเป็นไปได้ที่ซีสต์จะมีขนาดใหญ่ขึ้น กดเจ็บ ติดเชื้อ หรือจำเป็นต้องเจาะดูดชิ้นเนื้อไปตรวจ

ซีสต์เต้านม มีวิธีการตรวจวินิจฉัยอย่างไร?

การซักประวัติและตรวจร่างกาย

แพทย์จะซักถามอาการและตรวจร่างกายเพื่อดูว่ามีความผิดปกติที่เต้านมหรือไม่ หากแพทย์คลำพบก้อนในเต้านมได้ทันที แพทย์อาจใช้เข็มเจาะระบายน้ำออกจากซีสต์โดยไม่ต้องอัลตราซาวน์หรือแมมโมแกรม

รังสีวินิจฉัย

  • แมมโมแกรม สามารถตรวจพบซีสต์ขนาดใหญ่หรือซีสต์ขนาดเล็กที่อยู่กันเป็นกลุ่มก้อน แต่ไม่สามารถตรวจพบซีสต์ที่มีขนาดเล็กมากได้
  • อัลตราซาวนด์ สามารถตรวจได้ว่ามีถุงน้ำหรือก้อนที่เต้านมหรือไม่ บริเวณเนื้อเยื่อที่มีน้ำอาจหมายถึงซีสต์เต้านม บริเวณที่เป็นเนื้อเยื่อหนาอาจเป็นก้อนที่ไม่เป็นมะเร็ง เช่น เนื้องอกเต้านมชนิดไม่เป็นมะเร็ง แต่บริเวณที่เป็นก้อนแข็งอาจเป็นเนื้องอกมะเร็ง  แพทย์อาจแนะนำให้เข้ารับการตัดชิ้นเนื้อไปตรวจเพิ่มเติม

การใช้เข็มเจาะดูดเซลล์ไปตรวจ (Fine-needle Aspiration: FNA)

แพทย์จะสอดเข็มที่นำทางโดยอัลตราซาวนด์เข้าไปในก้อนที่หน้าอกและดูดตัวอย่างเซลล์ออกมา หากก้อนยุบหายไปหลังจากใช้เข็มเจาะ แสดงว่าก้อนดังกล่าวเป็นซีสต์หรือถุงน้ำ

  • หากของเหลวในซีสต์เต้านมไม่มีส่วนประกอบของเลือด มีสีน้ำตาลอ่อนเหมือนฟางข้าวและก้อนยุบหายไปหลังหัตถการ ผู้ป่วยไม่จำเป็นต้องได้รับการตรวจหรือการรักษาใด ๆ เพิ่มเติม
  • หากของเหลวในซีสต์เต้านมมีส่วนประกอบของเลือด และก้อนไม่หายไป แพทย์จะส่งตัวตัวอย่างเซลล์ที่เก็บมาไปวิเคราะห์ในห้องปฏิบัติการ
  • หากไม่มีของเหลวในตัวอย่างเซลล์ แสดงว่าเป็นก้อนเนื้อ ไม่ใช่ซีสต์เต้านม แพทย์จะให้เข้ารับการตรวจด้วยรังสีวินิจฉัย เพื่อตรวจดูว่าเป็นมะเร็งหรือไม่

Breast Cysts 2

วิธีการรักษาซีสต์เต้านมมีอะไรบ้าง?

ส่วนใหญ่แล้วซีสต์เต้านมชนิดไม่เป็นมะเร็งจะสามารถหายไปได้เอง หากผู้ป่วยมีอาการปวด แพทย์อาจเจาะเพื่อระบายของเหลวออก หากซีสต์เต้านมกลับมาและมีอาการปวด แพทย์อาจแนะนำให้เข้ารับการผ่าตัด

  • การใช้เข็มเจาะดูดน้ำในซีลท์ออก (Needle Aspiration)
    เป็นทั้งวิธีการตรวจวินิจฉัยและรักษาได้พร้อมกัน สำหรับซีสต์ที่มีขนาดใหญ่แพทย์อาจต้องดูดของเหลวออกมาหลายครั้ง ทั้งนี้ซีสต์เต้านมอาจกลับมาได้อีกหรือเกิดขึ้นใหม่ เนื่องจากเป็นภาวะที่เกี่ยวข้องกับการเปลี่ยนแปลงของระดับฮอร์โมน หากซีสต์โตขึ้นหรือไม่หายไปหลังมีประจำเดือน 2-3 ครั้ง ควรเข้ารับการตรวจวินิจฉัยเพิ่มเติม
  • การใช้ฮอร์โมน
    การรับประทานยาคุมกำเนิดสามารถลดการเกิดซีสต์เต้านมได้ แต่แพทย์มักแนะนำให้แก่ผู้ป่วยที่มีอาการรุนแรงเท่านั้น เนื่องจากยาอาจส่งผลข้างเคียง นอกจากนี้การหยุดฮอร์โมนบำบัดหลังเข้าสู่วัยทองยังสามารถช่วยป้องกันการเกิดซีสต์เต้านมได้
  • การผ่าตัด
    การผ่าตัดมักเป็นทางเลือกสุดท้าย มักแนะนำในผู้ที่มีซีสต์เต้านมบ่อย ๆ หรือมีเลือดในซีสต์เต้านม หรือมีสัญญานเตือนที่น่ากังวล

ซีสต์เต้านม มีวิธีป้องกันอย่างไร?

ซีสต์เต้านมป้องกันไม่ได้ แต่การหมั่นตรวจเต้านมด้วยตนเองหรือการเข้ารับการตรวจแมมโมแกรมประจำปี ก็สามารถช่วยให้ตรวจพบความผิดปกติได้ตั้งแต่เนิ่น ๆ

ดูแลตนเองที่บ้านเมื่อเป็น ซีสต์เต้านม

  • สวมใส่เสื้อชั้นในที่ช่วยพยุงหน้าอก
  • ประคบร้อนหรือประคบเย็นเพื่อบรรเทาอาการปวดหรือคัดเต้านม
  • หลีกเลี่ยงการบริโภคอาหารหรือเครื่องดื่มที่มีคาเฟอีน เช่น กาแฟหรือช็อกโกแลต แล้วลองสังเกตดูว่าอาการดีขึ้นหรือไม่
  • รับประทานยาแก้ปวดตามที่แพทย์แนะนำ เช่น ยาพาราเซตามอล หรือ ยาบรรเทาอาการอักเสบที่ไม่ใช่สเตียรอยด์ เช่น ไอบูโพรเฟน หรือ นาพรอกเซนโซเดียม

การเตรียมตัวก่อนไปพบแพทย์

  • จดบันทึกอาการที่มี วันสุดท้ายที่มีประจำเดือน ยาและผลิตภัณฑ์เสริมอาหารที่กำลังรับประทาน รวมถึงคำถามที่ต้องการถามแพทย์ เช่น
    • สาเหตุของซีสต์ที่เต้านมคืออะไร?
    • ซีสต์เต้านมจะกลายเป็นมะเร็งหรือไม่?
    • จำเป็นต้องเข้ารับการตรวจอะไรเพิ่มเติมหรือไม่?
    • วิธีการรักษาที่เหมาะสมคืออะไร?
  • เตรียมคำตอบสำหรับคำถามที่แพทย์มักจะถาม เช่น
    • เริ่มสังเกตเห็นว่ามีก้อนหรือซีสต์ที่เต้านมเมื่อไร?
    • ก้อนหรือซีสต์ที่เต้านมมีขนาดเปลี่ยนไปหรือไม่?
    • มีอาการอะไรบ้าง?
    • มีอาการในหน้าอกข้างเดียวหรือสองข้าง?
    • เจ็บหน้าอกบ้างหรือไม่?
    • มีของเหลวไหลออกมาจากหัวนมหรือไม่?
    • เข้ารับการตรวจแมมโมแกรมครั้งสุดท้ายเมื่อไร?
    • คนในครอบครัวมีประวัติมีก้อนหรือซีสต์ที่เต้านมหรือไม่?
    • เคยมีซีสต์หรือก้อนในเต้านม มีประวัติเป็นมะเร็งเต้านม หรือเคยได้รับการตัดชิ้นเนื้อไปตรวจมาก่อนหรือไม่?

คำถามที่มักถามบ่อย

  • ซีสต์เต้านมอันตรายหรือไม่ หายได้เองหรือไม่?
    ซีสต์เต้านมพบได้บ่อยในผู้หญิง และสามารถหายได้เอง ผู้ป่วยสามารถตรวจเต้านมด้วยตนเองและเข้ารับการตรวจแมมโมแกรมประจำปี
  • หากมีซีสต์เต้านม จำเป็นต้องได้รับการรักษาหรือไม่?
    หากซีสต์เต้านมมีขนาดเล็กและไม่ก่อให้เกิดอาการเจ็บปวดใด ๆ แพทย์อาจไม่แนะนำให้ทำอะไรเพิ่มเติม เพราะซีสต์เต้านมอาจหายได้เอง หากซีสต์เต้านมมีขนาดใหญ่ขึ้นหรือทำให้รู้สึกเจ็บบริเวณเต้านม แพทย์อาจแนะนำให้ใช้เข็มเจาะระบายของเหลวออก
  • ซีสต์เต้านมเพิ่มความเสี่ยงที่จะเป็นมะเร็งหรือไม่?
    โอกาสที่ซีสต์เต้านมจะพัฒนาไปเป็นมะเร็งนั้นน้อยมาก Simple Cyst ไม่เป็นมะเร็งและ 90% ซีสต์เต้านมเป็นซีสต์ประเภทนี้
    Complicated Cyst ที่มีโอกาสพัฒนาไปเป็นมะเร็งน้อยกว่า 2% และ 14% - 23% Complex Cyst เท่านั้นที่มีโอกาสกลายเป็นมะเร็ง
  • ซีสต์เต้านมจะกลายเป็นเนื้องอกหรือไม่?
    เป็นเรื่องที่คนเข้าใจผิดกันบ่อย แต่ซีสต์เต้านมจะไม่กลายเป็นเนื้องอก

คำแนะนำจากแพทย์โรงพยาบาลเมดพาร์ค

ซีสต์เต้านม พบได้บ่อยในผู้หญิงวัย 40 ปี มักไม่มีอันตรายร้ายแรง หากพบก้อนในเต้านมที่เกิดขึ้นใหม่ ควรพบแพทย์เพื่อเข้ารับการตรวจวินิจฉัยอย่างเหมาะสม

เผยแพร่เมื่อ: 19 พ.ค. 2025

แชร์