เลือกหัวข้อที่อ่าน
- การส่องกล้องตรวจลำไส้ใหญ่คืออะไร?
- ทำไมต้องส่องกล้องตรวจลำไส้ใหญ่?
- ใครที่ควรเข้ารับการตรวจคัดกรองโรคมะเร็งลำไส้
- การเตรียมตัวก่อนเข้ารับการส่องกล้องตรวจลำไส้ใหญ่ มีขั้นตอนอย่างไร?
- ขั้นตอนการส่องกล้องตรวจลำไส้ใหญ่เป็นอย่างไร?
- ผลตรวจของการส่องกล้องลำไส้ใหญ่
- คำถามที่พบบ่อยเกี่ยวกับการส่องกล้องตรวจลำไส้ใหญ่
- ลงทะเบียนรับสิทธิ์ส่วนลดพิเศษ
การส่องกล้องตรวจลำไส้ใหญ่
ส่องกล้องตรวจลำไส้ใหญ่ (Colonoscopy) เป็นการตรวจเพื่อดูสภาพภายในของลำไส้ โดยมักใช้วิธีนี้เพื่อตรวจคัดกรองและวินิจฉัยโรคมะเร็งลำไส้ และทวารหนัก และโรคลำไส้อักเสบเรื้อรัง โดยการคัดกรองมะเร็งลำไส้ใหญ่และทวารหนักนั้นแนะนำให้ทำในผู้ที่มีอายุตั้งแต่ 45 ปีขึ้นไปทุกคน โดยไม่จำเป็นต้องมีอาการ
การส่องกล้องตรวจลำไส้ใหญ่คืออะไร?
การส่องกล้องตรวจลำไส้ใหญ่มีวัตถุประสงค์เพื่อตรวจดูส่วนต่าง ๆ ภายในลำไส้ใหญ่ ซึ่งประกอบไปด้วยลำไส้ใหญ่ทั้งหมด รวมถึงทวารหนัก โดยกล้องที่ใช้จะมีลักษณะเป็นท่อยาวที่มีความโค้งงอ สอดเข้าทางทวารหนัก และสามารถบังคับทิศทางให้ไปตามลำไส้ได้ นอกจากนี้ที่ตัวกล้องยังมีช่องสำหรับใส่อุปกรณ์เพื่อทำหัตถการต่าง ๆ ได้ทันทีในขณะส่องกล้อง ไม่ว่าจะเป็นการตัดตัวอย่างชิ้นเนื้อจากบริเวณที่ตรวจพบความผิดปกติ หรือตัดติ่งเนื้อซึ่งเป็นรอยโรคก่อนมะเร็งเพื่อป้องกันการเกิดมะเร็งลำไส้ใหญ่
ทำไมต้องส่องกล้องตรวจลำไส้ใหญ่?
แพทย์ส่องกล้องตรวจลำไส้ใหญ่เพื่อการคัดกรอง ตรวจวินิจฉัย รวมถึงรักษาโรค อาการ และมะเร็งประเภทต่างๆ ที่เกิดขึ้นในลำไส้ใหญ่หรือทวารหนักได้ ตัวอย่างเช่น เมื่อทราบว่าผู้ป่วยมีความเสี่ยงที่จะเป็นมะเร็งลำไส้ใหญ่ เช่น อายุตั้งแต่ 45 ปีขึ้นไป หรือมีประวัติครอบครัวเป็นมะเร็งลำไส้ใหญ่ แพทย์จะแนะนำให้ตรวจส่องกล้องลำไส้ใหญ่ตามช่วงอายุ และระยะเวลาที่กำหนด นอกจากนี้ การส่องกล้องยังช่วยให้แพทย์ตรวจหาหรือตัดติ่งเนื้อในลำไส้ใหญ่ออกได้
การส่องกล้องตรวจลำไส้ใหญ่เพื่อป้องกันโรค
เนื่องจากความเสี่ยงในการเป็นโรคมะเร็งลำไส้นั้น เพิ่มขึ้นตามอายุ สมาคมโรคมะเร็งแห่งสหรัฐอเมริกา จึงแนะนำให้เริ่มเข้ารับการส่องกล้องตรวจลำไส้ใหญ่ตั้งแต่อายุ 45 ปีเป็นต้นไปทุกคน โดยไม่จำเป็นต้องมีอาการใด ๆ เพื่อตรวจหาติ่งเนื้อขนาดเล็กที่สามารถโตไปเป็นมะเร็งลำไส้ใหญ่ในอนาคต และทำการตัดติ่งเนื้อก่อนที่จะโตไปเป็นมะเร็งหรือก่อให้เกิดอาการ
ใครที่ควรเข้ารับการตรวจคัดกรองโรคมะเร็งลำไส้ ด้วยการส่องกล้องตรวจลำไส้ใหญ่
- ผู้ที่มีอายุ 45 ขึ้นไปหรือมากกว่า และยังไม่เคยเข้ารับการส่องกล้องตรวจลำไส้มาก่อน
- ผู้ที่คนในครอบครัวสายตรงมีประวัติเป็นมะเร็งลำไส้
- ผู้ที่เคยเข้ารับการส่องกล้องและถูกตัดติ่งเนื้อออก
- ผู้ที่ไม่ได้รับการส่องกล้องตรวจลำไส้มานาน 10 ปี
- ผู้ที่ป่วยเป็นโรคลำไส้อักเสบเรื้อรัง (IBD)
ส่องกล้องตรวจลำไส้ใหญ่เพื่อตรวจวินิจฉัยโรค
ผู้ป่วยบางคนมีอาการที่จำเป็นต้องได้รับการวินิจฉัยด้วยการส่องกล้องตรวจลำไส้ใหญ่ ซึ่งเป็นวิธีที่แสดงภาพภายในลำไส้ใหญ่ได้อย่างชัดเจน รวมถึงสามารถทำการตัดชิ้นเนื้อจากบริเวณที่ตรวจพบความผิดปกติ เพื่อยืนยันการวินิจฉัยโรคอีกด้วย
นอกจากติ่งเนื้อหรือมะเร็งลำไส้แล้ว อาการและโรคที่อาจต้องวินิจฉัยด้วยการส่องกล้องตรวจลำไส้ใหญ่มักจะเป็นอาการที่หาสาเหตุไม่ได้ เช่น อาการปวดท้องเรื้อรัง ท้องเสียเรื้อรัง ถ่ายเป็นเลือด มีการขับถ่ายเปลี่ยนไป รวมถึงโรคลำไส้ใหญ่อักเสบเรื้อรังและภาวะลำไส้ขาดเลือด
ส่องกล้องตรวจลำไส้ใหญ่เพื่อรักษาโรค
นอกเหนือจากประโยชน์ในการป้องกันและตรวจวินิจฉัยโรคแล้ว การส่องกล้องตรวจลำไส้ใหญ่ยังช่วยให้แพทย์ทำรักษาอาการต่างๆ ได้ระหว่างที่ส่องกล้องตรวจลำไส้ใหญ่ โดยหัตถการที่แพทย์สามารถทำได้ขณะส่องกล้อง ได้แก่
- ตัดติ่งเนื้อ
- ใส่ท่อเหล็กเพื่อระบายการอุดตัน
- ถ่างขยายลำไส้ส่วนที่มีการตีบแคบ
- นำสิ่งแปลกปลอมออกจากลำไส้ใหญ่
- หยุดเลือดออกในลำไส้ใหญ่ด้วยวิธีต่าง ๆ
การเตรียมตัวก่อนเข้ารับการส่องกล้องตรวจลำไส้ใหญ่ มีขั้นตอนอย่างไร?
แพทย์จะแนะนำข้อปฏิบัติที่ควรทำก่อนเข้ารับการส่องกล้องตรวจลำไส้ใหญ่ โดยผู้เข้ารับการตรวจต้องปรับเปลี่ยนการรับประทานอาหารหรือยา นอกจากนี้ สิ่งสำคัญที่ต้องทำก่อนเข้ารับการส่องกล้องตรวจลำไส้ใหญ่คือการทำความสะอาดลำไส้ เพราะจะช่วยเพิ่มโอกาสในการพบสิ่งผิดปกติในลำไส้ (ถ้ามี) รวมทั้งยังลดโอกาสการเกิดภาวะแทรกซ้อนจากการส่องกล้องได้อีกด้วย
ผู้ที่จะเข้ารับการตรวจควรเลี่ยงรับประทานอาหารที่มีกากใยสูงจำพวกผัก และผลไม้ อย่างน้อย 2-3 วัน ก่อนเข้ารับการตรวจ โดยผู้เข้ารับการตรวจควรรับประทานแต่อาหารอ่อนหรือดื่มเครื่องดื่มใสเท่านั้น เช่น น้ำเปล่า กาแฟหรือชาไม่ใส่นม และแกงจืด นอกจากนี้ผู้ป่วยจะได้รับคำแนะนำให้ดื่มยาระบาย อย่างน้อย 2-3 ลิตร เพื่อทำการล้างลำไส้ก่อนเข้ารับการตรวจตามช่วงเวลาที่เหมาะสม
ผู้ที่มีโรคประจำตัว และมียาที่รับประทานเป็นประจำโดยเฉพาะยาละลายลิ่มเลือด หรือยาที่ทำให้เลือดไม่แข็งตัว และยารักษาโรคเบาหวาน และความดันโลหิตสูง ควรได้รับคำแนะนำในการรับประทานยา หรือหยุดยาโรคประจำตัวของท่านก่อนการส่องกล้องจากแพทย์ทุกครั้งก่อนเข้ารับการส่องกล้องลำไส้ใหญ่
ขั้นตอนการส่องกล้องตรวจลำไส้ใหญ่เป็นอย่างไร?
ก่อนส่องกล้องตรวจลำไส้ใหญ่
แพทย์จะอธิบายขั้นตอนและภาวะแทรกซ้อนที่อาจเกิดขึ้นหลังเข้ารับการตรวจ รวมถึงให้ผู้เข้ารับการตรวจเซ็นยินยอมเข้ารับการตรวจด้วย ผู้เข้ารับการตรวจจะได้รับยาระงับประสาทและยาระงับปวดผ่านทางสายน้ำเกลือที่เจาะบริเวณแขน และแพทย์จะเฝ้าสังเกตตรวจดูความดันเลือด อัตราการเต้นหัวใจ การหายใจ คลื่นไฟฟ้าหัวใจ และระดับความเข้มข้นของออกซิเจนในเลือด ไปด้วยในระหว่างการส่องกล้อง
ระหว่างการส่องกล้องตรวจลำไส้ใหญ่
แพทย์จะทำการสอดกล้องที่มีลักษณะเป็นท่อเล็ก ๆ เข้าไปในร่างกาย โดยท่อนี้จะปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์ออกมาเพื่อขยายลำไส้ให้ใหญ่ขึ้น ทำให้แพทย์มองเห็นภาพที่ชัดเจนขึ้น ผู้ป่วยส่วนมากจะหลับ และไม่รู้สึกตัวขณะทำการส่องกล้อง อย่างไรก็ดีในบางรายอาจรู้สึกมวนท้องหรืออยากถ่าย เป็นเรื่องปกติที่เกิดขึ้นในระหว่างเข้ารับการตรวจ สามารถแจ้งแพทย์เพื่อพิจารณาเพิ่มยานอนหลับ หรือยาแก้ปวดได้
หากเจอติ่งเนื้อที่ผิดปกติ แพทย์จะทำการตัดติ่งเนื้อนั้นออกโดยที่ผู้เข้ารับการตรวจจะไม่รู้สึกเจ็บใด ๆ ติ่งเนื้อส่วนใหญ่มักจะไม่เป็นอันตราย แต่หากทิ้งไว้เป็นระยะเวลานานจนใหญ่ขึ้น ติ่งเนื้อธรรมดาอาจกลายเป็นติ่งเนื้ออันตราย
การส่องกล้องตรวจลำไส้ใหญ่ใช้นานเวลาเท่าไหร่?
การส่องกล้องตรวจลำไส้ใหญ่ใช้เวลาทั้งสิ้นประมาณ 30 – 60 นาที หลังจบการตรวจแล้ว จะเคลื่อนย้ายผู้เข้ารับการตรวจไปยังส่วนพักฟื้นเพื่อเฝ้าสังเกตอาการ โดยผู้เข้ารับการตรวจอาจรู้สึกจุกเสียดหรือท้องอืดได้ แต่อาการมักดีขึ้นเองภายในเวลา 30-60 นาที
เนื่องจากผู้เข้ารับการตรวจได้รับยาระงับประสาทหรือดมยาสลบ ปฏิกิริยาตอบสนองและการประเมินสิ่งต่าง ๆ อาจไม่เหมือนเดิม ซึ่งจะส่งผลต่อความสามารถในการตัดสินใจ ดังนั้น ผู้เข้ารับการตรวจควรให้ญาติหรือบุคคลอื่นช่วยพากลับบ้านหลังเสร็จสิ้นการตรวจ โดยจะสามารถกลับไปทำงานได้ในวันรุ่งขึ้น
ภาวะแทรกซ้อนที่อาจเกิดขึ้นเมื่อตรวจส่องกล้องลำไส้ใหญ่
การส่องกล้องตรวจลำไส้ใหญ่เป็นการตรวจที่มีความปลอดภัยสูง โดยมีโอกาสเกิดภาวะแทรกซ้อนเพียงราว 1 ใน 1,000 เท่านั้น ภาวะแทรกซ้อนที่อาจเกิดขึ้น ได้แก่
- ภาวะเลือดออกเนื่องจากการตัดติ่งเนื้อหรือชิ้นเนื้อ
- ภาวะลำไส้ทะลุ เป็นปัญหาที่พบได้ไม่บ่อยนัก ในปัจจุบันเครื่องมือในการส่องกล้องพัฒนาขึ้นมากจนภาวะลำไส้ทะลุส่วนมากสามารถปิดได้ด้วยการส่องกล้อง มีเพียงส่วนน้อยเท่านั้นที่ต้องเข้ารับการผ่าตัด
- ผลข้างเคียงจากยาระงับประสาท เช่น อาการคลื่นไส้ อาเจียน หรือ กดการหายใจ
หลังตรวจส่องกล้องตรวจลำไส้ใหญ่ หากมีอาการต่อไปนี้ ควรพบแพทย์ทันที
- อาการปวดท้องรุนแรง
- ถ่ายเป็นเลือดสดมากกว่า 30 มล. (2 ช้อนชา) หรือมีลิ่มเลือด
- มีไข้
- อาเจียน
ผลตรวจของการส่องกล้องลำไส้ใหญ่
ผู้เข้ารับการตรวจจะทราบผลส่วนใหญ่ทันทีที่ตรวจเสร็จ แต่หากพบติ่งเนื้อหรือเนื้อเยื่อที่ผิดปกติ ผลอาจใช้เวลาตั้งแต่ 2-3 วันจนถึงสัปดาห์
ความผิดปกติที่พบได้จากการส่องกล้องตรวจลำไส้ใหญ่
การส่องกล้องตรวจลำไส้ใหญ่อาจพบความผิดปกติต่อไปนี้
- ติ่งเนื้อชนิดธรรมดา ติ่งเนื้อในระยะก่อนมะเร็ง หรือติ่งเนื้ออันตราย
- ภาวะเลือดออกในลำไส้ใหญ่
- แผล
- กระเปาะในลำไส้ใหญ่
- ลำไส้ใหญ่อักเสบ
- ลำไส้อุดตัน
คำถามที่พบบ่อยเกี่ยวกับการส่องกล้องตรวจลำไส้ใหญ่
- วิธีตรวจแบบอื่นนอกเหนือจากการส่องกล้องตรวจลำไส้ใหญ่มีอะไรบ้าง?
วิธีตรวจลำไส้ใหญ่ประเภทอื่นสำหรับการคัดกรองมะเร็งลำไส้ใหญ่ ได้แก่
- การตรวจหาเลือดแฝงในอุจจาระด้วยวิธี fecal immunochemical test (FIT) เป็นการตรวจหาร่องรอยของเลือดที่แฝงอยู่ในอุจจาระเพื่อคัดกรองมะเร็งลำไส้ ผลตรวจที่เป็นบวกสื่อได้ว่าอาจมีเลือดออกในทางเดินอาหารจากรอยโรค เช่น ติ่งเนื้อในลำไส้ ซึ่งอาจจำเป็นต้องตัดเนื้อเยื่อไปตรวจเพื่อวินิจฉัยเพิ่มเติม ทั้งนี้ สำหรับการตรวจหาเลือดแฝงในอุจจาระ แนะนำให้ตรวจทุกปี
- การตรวจลำไส้ใหญ่ด้วยการเอกซเรย์คอมพิวเตอร์ (Virtual Colonoscopy) เป็นการตรวจลำไส้ใหญ่โดยใช้เครื่อง CT Scan เพื่อหาติ่งเนื้อหรือมะเร็งในลำไส้ วิธีนี้จะใช้ประโยชน์จากรูปภาพ 3 มิติในการตรวจลำไส้ทุกส่วน อย่างไรก็ดี แม้วิธีนี้จะไม่ต้องใช้กล้องส่องหรือยาระงับประสาทเหมือนการส่องกล้องตรวจแบบปกติ ผู้เข้ารับการตรวจยังคงต้องเตรียมตัวด้วยการทานยาระบายแบบเดียวกันกับการเข้ารับการตรวจส่องกล้องแบบปกติเพื่อให้ได้ภาพที่ชัดเจน และหากตรวจพบความผิดปกติจากการทำ CT scan ก็มีความจำเป็นจะต้องไปเข้ารับการส่องกล้องลำไส้ใหญ่ในลำดับถัดไป โดยแพทย์แนะนำให้ตรวจลำไส้ใหญ่ด้วยการเอกซเรย์คอมพิวเตอร์ทุก ๆ 5 ปี
ถึงแม้จะมีการตรวจประเภทอื่น ๆ ที่อาจทดแทนการส่องกล้องตรวจลำไส้ใหญ่แบบดั้งเดิมได้ แต่การตรวจแบบดั้งเดิมนี้เป็นการตรวจที่มีโอกาสพบมะเร็งในระยะต้นได้มากที่สุด และยังเป็นวิธีตรวจคัดกรองมะเร็งลำไส้วิธีเดียวที่ใช้วินิจฉัยและรักษาได้ในการตรวจครั้งเดียว เพราะเมื่อเจอเนื้อเยื่อที่ผิดปกติหรือน่าสงสัยระหว่างส่องกล้อง แพทย์สามารถใส่อุปกรณ์เข้าไปตัดติ่งเนื้อออกได้ในทันที
- การส่องกล้องตรวจลำไส้ใหญ่เพื่อคัดกรองมะเร็งลำไส้มีข้อดีอะไรบ้าง?
ข้อดีของการส่องกล้องตรวจลำไส้ใหญ่ ได้แก่
- ตรวจเจอโรคเร็ว
- ใช้ได้ทั้งตอนวินิจฉัย รักษา และป้องกันโรค
- หากตรวจแล้วไม่พบสิ่งผิดปกติ ไม่จำเป็นต้องตรวจซ้ำบ่อย ๆ โดยสามารถตรวจซ้ำได้ทุก ๆ 10 ปี
การส่องกล้องตรวจลำไส้ใหญ่เป็นเครื่องมือสำคัญที่ช่วยดูแลสุขภาพลำไส้ใหญ่ หากมีข้อสงสัยหรือตกเป็นกลุ่มเสี่ยงสูง ปรึกษาแพทย์เพื่อหาแนวทางปฏิบัติที่เหมาะสมที่สุดตามความต้องการ