ริดสีดวงจมูก (Nasal Polyps) อาการ สาเหตุ และการรักษา

ริดสีดวงจมูก (Nasal Polyps)

ริดสีดวงจมูก (Nasal Polyps) คือติ่งเนื้อ หรือ ก้อนในจมูกที่ไม่เป็นมะเร็ง แม้ว่าติ่งเนื้อในจมูกนี้จะไม่ก่อให้เกิดอาการเจ็บปวด แต่ถ้าหากมีขนาดใหญ่หรือมีอยู่ด้วยกันหลายก้อนอาจขัดขวางทางเดินหายใจ ทำให้หายใจลำบาก หรือคัดจมูก

แชร์

ริดสีดวงจมูก ติ่งเนื้อในจมูก

ริดสีดวงจมูก (Nasal Polyps) คือติ่งเนื้อ หรือ ก้อนในจมูกที่ไม่เป็นมะเร็ง แม้ว่าติ่งเนื้อในจมูกนี้จะไม่ก่อให้เกิดอาการเจ็บปวด แต่ถ้าหากมีขนาดใหญ่หรือมีอยู่ด้วยกันหลายก้อนอาจขัดขวางทางเดินหายใจ ทำให้หายใจลำบาก คัดจมูก ไม่ได้กลิ่น และจมูกอาจติดเชื้อได้ง่าย

ริดสีดวงจมูกเกิดได้กับคนทุกเพศทุกวัย แต่พบได้มากในวัยรุ่นหรือวัยกลางคน วิธีการรักษาได้แก่การใช้ยาเพื่อลดขนาดติ่งเนื้อในจมูก หรือการผ่าตัดเพื่อตัดติ่งเนื้อออก อย่างไรก็ตามผู้ป่วยอาจกลับมาเป็นริดสีดวงจมูกได้อีกแม้ว่าจะเข้ารับการรักษาแล้ว 

ริดสีดวงจมูก ติ่งเนื้อในจมูก มีสาเหตุเกิดจากอะไร?

สาเหตุของริดสีดวงจมูกนั้นยังไม่เป็นที่ทราบแน่ชัดเนื่องจากความซับซ้อนของกลไกการเกิดโรค แต่จากงานวิจัยพบว่าผู้ที่เป็นริดสีดวงจมูกมักมีการตอบสนองของภูมิคุ้มกันที่ผิดปกติและมีตัวบ่งชี้สารเคมีของเยื่อบุโพรงจมูกและไซนัสต่างจากผู้ที่ไม่ได้เป็นริดสีดวงจมูก โดยตัวบ่งชี้นี้มีส่วนสำคัญในการส่งสัญญาณไปยังระบบการตอบสนองของร่างกาย อย่างไรก็ตามจำเป็นต้องมีการศึกษาเรื่องนี้เพิ่มเติมกันต่อไป

ริดสีดวงจมูก ติ่งเนื้อในจมูก มีอาการอย่างไร?

ริดสีดวงจมูกมักก่อให้เกิดอาการระคายเคือง บวม อักเสบด้านในจมูกและไซนัส หากมีอาการนานกว่า 3 เดือน จะถือว่าเป็นไซนัสอักเสบเรื้อรัง อย่างไรก็ตามไซนัสอักเสบเรื้อรังอาจเกิดขึ้นได้โดยไม่มีริดสีดวงจมูก
โรคไซนัสอักเสบเรื้อรังจากริดสีดวงจมูกจะก่อให้เกิดอาการน้ำมูกไหล มีเสมหะ ไม่รับรู้รสและกลิ่น ปวดศีรษะ ปวดหน้าหรือฟัน ปวดหน่วงบริเวณหน้าผากและใบหน้า นอนกรน

เมื่อเป็นริดสีดวงจมูก หรือมีติ่งเนื้อในจมูก ควรพบแพทย์เมื่อไหร่?

หากอาการไม่ดีขึ้นภายใน 10 วัน ควรเข้ารับการตรวจวินิจฉัยอย่างเหมาะสม

ริดสีดวงจมูก มีปัจจัยเสี่ยงจากอะไรบ้าง?

ผู้ที่เป็นโรคภูมิแพ้ มีการติดเชื้อ หรืออาการใด ๆ ที่เป็นสาเหตุของอาการอักเสบเรื้อรังมีความเสี่ยงที่เป็นโรคริดสีดวงจมูกสูง โดยปัจจัยเสี่ยงของโรคริดสีดวงจมูกยังรวมไปถึงโรคหอบหืด อาการไวต่อแอสไพริน โรคซิสติกไฟโบรซิส (Cystic Fibrosis)  อาการติดเชื้อที่เหงือก และการขาดวิตามินดี ทั้งนี้ผู้ที่มีคนในครอบครัวเป็นโรคริดสีดวงจมูกยังมีความเสี่ยงที่เป็นโรคนี้สูงกว่าคนทั่วไป

Nasal Polyps ริดสีดวงจมูก ติ่งเนื้อในจมูก

ริดสีดวงจมูก ติ่งเนื้อในจมูก มีภาวะแทรกซ้อนหรือไม่?

การติดเชื้อในไซนัสเรื้อรังอาจนำไปสู่ภาวะแทรกซ้อนที่พบได้น้อยมากแต่รุนแรง เช่น การติดเชื้อที่กระดูก มวลกระดูกหาย หรือฝีกระจายไปสู่เบ้าตาและสมอง และโรคเยื่อหุ้มสมองอักเสบ

ริดสีดวงจมูก ติ่งเนื้อในจมูก มีวิธีการตรวจวินิจฉัยอย่างไร?

  • การซักประวัติและตรวจร่างกาย
  • การส่องกล้องตรวจในโพรงจมูก
  • การตรวจวินิจฉัยด้วยภาพถ่าย เช่น การทำ CT สแกนเพื่อประเมินขนาดและจุดที่พบริดสีดวงจมูก และตัดสาเหตุอื่น ๆ ที่ก่อให้เกิดอาการคัดจมูกหรือทางเดินหายใจอุดกั้น
  • การทดสอบสารก่อภูมิแพ้ทางผิวหนัง
  • การตรวจเลือด
  • การทดสอบความเข้มข้นสารละลายในเหงื่อเพื่อตรวจโรคซิสติกไฟโบรซิส (Cystic Fibrosis)  ซึ่งเป็นโรคทางพันธุกรรม ส่งผลต่อเซลล์ที่ทำหน้าที่สร้างเมือก เหงื่อ และน้ำย่อย

ริดสีดวงจมูก ติ่งเนื้อในจมูก มีวิธีการรักษาอย่างไร?

วิธีการรักษาขึ้นอยู่กับความรุนแรงของอาการที่เกิดจากริดสีดวงจมูก

  • การใช้ยา สามารถบรรเทาอาการได้ แต่ไม่สามารถกำจัดริดสีดวงจมูกได้
    • ยาพ่นจมูกสเตียรอยด์ ช่วยบรรเทาอาการและลดขนาดของริดสีดวงจมูกได้
    • ยาสเตียรอยด์สำหรับรับประทาน เช่น Prednisolone
    • ยาชีววัตถุ เช่น ยาฉีด Dupilumab ซึ่งมีส่วนประกอบของ Monoclonal antibody ซึ่งช่วยกระตุ้นภูมิคุ้มกันและลดขนาดของริดสีดวงจมูก
    • ยาปฏิชีวนะเมื่อมีการติดเชื้อ
  • การผ่าตัดแบบไม่รุกล้ำ ในกรณีที่ริดสีดวงจมูกมีขนาดใหญ่
    • การตัดติ่งเนื้อออกระหว่างส่องกล้อง (Polypectomy) แพทย์จะใช้กรรไกรผ่าตัดหรือบ่วงตัด (snaring) รูดเอาริดสีดวงจมูกออก
    • การผ่าตัดไซนัสโดยใช้บอลลูนขยาย (Balloon sinuplasty) โดยแพทย์จะทำการสอดบอลลูนเข้าไปทางโพรงจมูก บอลลูนจะพองลมเพื่อเปิดทางเดินหายใจทำให้แพทย์ทำการตัดริดสีดวงจมูกออกได้ผ่านการปั่นดูด (Microdebrider)
    • การผ่าตัดโพรงจมูกและไซนัสด้วยกล้องเอ็นโดสโคป (Functional endoscopic sinus surgery: FESS) เพื่อนำติ่งเนื้อ เนื้อเยื่อที่ตายแล้ว กระดูกที่ได้เสียหาย และสิ่งที่อุดกั้นโพรงจมูกออก โดยใช้การผ่าตัดและการปั่นดูด (Microdebrider) ช่วยในการผ่าตัดผ่านกล้อง

ริดสีดวงจมูก ติ่งเนื้อในจมูก มีวิธีการป้องกันอย่างไร?

  • ควบคุมโรคภูมิแพ้และหอบหืด โดยปฏิบัติตามแผนการรักษาที่แพทย์แนะนำอย่างเคร่งครัด
  • หลีกเลี่ยงสารระคายเคือง เช่น ควันบุหรี่ ไอระเหยสารเคมี และฝุ่น
  • ล้างมือบ่อย ๆ เพื่อลดโอกาสในการติดเชื้อที่จมูก
  • ใช้เครื่องเพิ่มความชื้นในอากาศ เพื่อบรรเทาอาการคัดจมูกและอาการระคายเคือง ทำความสะอาดตัวเครื่องตามคำแนะนำของคู่มือการใช้เพื่อป้องกันการสะสมของแบคทีเรีย
  • ล้างจมูกด้วยน้ำเกลือหรือสเปรย์น้ำเกลือ เพื่อชะล้างสารระคายเคืองออกจากโพรงจมูก ทำความสะอาดและจัดเก็บอุปกรณ์หลังใช้ทุกครั้งเพื่อสุขอนามัยที่ดี

คำถามที่พบบ่อยเกี่ยวกับริดสีดวงจมูก

  • ริดสีดวงจมูกหายได้เองหรือไม่?
    ในบางราย ริดสีดวงจมูกอาจจะมีขนาดเล็กลงเมื่อเวลาผ่านไป แต่ส่วนใหญ่แล้วมักต้องเข้ารับการรักษา
  • ผู้ป่วยสามารถมองเห็นติ่งเนื้อหรือริดสีดวงจมูกได้หรือไม่
    โดยปกติแล้วผู้ป่วยไม่สามารถมองเห็นติ่งเนื้อในจมูกได้จากการส่องดูโพรงจมูกเอง แต่ถ้าหากติ่งเนื้อมีขนาดใหญ่ แพทย์สามารถมองเห็นติ่งเนื้อได้ด้วยกล้องตรวจสอบโพรงจมูก
  • ริดสีดวงจมูกหลุดออกเองได้หรือไม่?
    อุบัติเหตุหรือการกระแทกจมูกแรง ๆ อาจทำให้ริดสีดวงจมูกบวมหรือหลุดออก การใช้ยาพ่นสเตียร์รอยด์จะช่วยลดอาการอักเสบและทำให้ริดสีดวงจมูกมีขนาดเล็กลง
  • ผู้ป่วยสามารถตัดติ่งเนื้อหรือริดสีดวงจมูกเองได้หรือไม่?
    ผู้ป่วยไม่ควรตัดติ่งเนื้อในจมูกด้วยตนเอง เพราะการทำเช่นนั้นจะทำเลือดออกมากจนเป็นอันตรายและติดเชื้อได้ ผู้ป่วยควรเข้ารับการตรวจรักษากับแพทย์ผู้ชำนาญการ

คำแนะนำจากแพทย์โรงพยาบาลเมดพาร์ค

ริดสีดวงจมูก เป็นสาเหตุของอาการคัดจมูกเรื้อรัง ซึ่งส่งผลต่อการหายใจ หากไม่ได้รับการรักษาอย่างเหมาะสม ริดสีดวงจมูกอาจแย่ลงและทำให้กระดูกและเนื้อเยื่อโพรงจมูกได้รับความเสียหาย หากเริ่มมีอาการน้ำมูกไหล มีเสมหะ ไม่รับรู้รสและกลิ่น ปวดหน่วงบริเวณหน้าผากและใบหน้า ควรเข้ารับการตรวจวินิจฉัยเพื่อหาสาเหตุของอาการได้อย่างถูกต้อง

บทความโดย

เผยแพร่เมื่อ: 20 มี.ค. 2024

แชร์