สาเหตุเลือดกำเดาไหลเกิดจากอะไร ปกติหรือไม่ วิธีห้ามเลือดกำเดาไหล - Epistaxis, What causes it? Is it normal? How to stop nosebleeds?

เลือดกำเดาไหล

เลือดกำเดาไหล (Epistaxis/Nosebleeds) คือภาวะที่มีเลือดออกทางโพรงจมูกข้างเดียวหรือทั้งสองข้างเนื่องจากหลอดเลือดที่มาเลี้ยงเยื่อบุโพรงจมูกฉีกขาด โดยมีสาเหตุจากการแคะจมูก หรือการได้รับแรงกระแทกแรง ๆ

แชร์

เลือกหัวข้อที่อ่าน


เลือดกำเดาไหล คืออะไร?

เลือดกำเดาไหล (Epistaxis/Nosebleeds) คือ ภาวะที่มีเลือดไหลออกทางโพรงจมูกข้างเดียวหรือทั้งสองข้างเนื่องจากหลอดเลือดที่หล่อเลี้ยงเยื่อบุโพรงจมูกฉีกขาด โดยอาจมีสาเหตุจากการแคะจมูกแรง ๆ การได้รับแรงกระแทกแรง ๆ ภาวะเยื่อบุโพรงจมูกแห้ง หรือการที่อุณหภูมิในร่างกายขึ้นสูง โดยเลือดกำเดาไหลอาจเป็นสัญญาณเตือนถึงโรคร้าย หรือโรคซับซ้อนอื่น ๆ เช่น เนื้องอกในจมูกหรือโรคมะเร็งหลังโพรงจมูก ความผิดปกติของหลอดเลือดบริเวณโพรงจมูก หรือเลือดแข็งตัวช้าผิดปกติ (Clotting disorders, Hemophilia) นอกจากนี้ยาบางชนิด เช่น ยาต้านการแข็งตัวของเกล็ดเลือด (Anticoagulant medications) ที่ใช้ในผู้ป่วยโรคหัวใจยังอาจเป็นสาเหตุที่ทำให้เลือดกำเดาไหลได้

เลือดกำเดาไหลมีสาเหตุเกิดจากอะไร?

เลือดกำเดาไหล มีสาเหตุเกิดจากหลอดเลือดขนาดเล็กหรือเส้นเลือดฝอยซึ่งมีอยู่เป็นจำนวนมากภายในบริเวณโพรงจมูกแตก ฉีกขาด จนทำให้มีเลือดไหลออกทางโพรงจมูก โดยอาจไหลออกมาเพียงข้างเดียวหรือทั่งสองข้าง เลือดกำเดาไหลส่วนใหญ่ไม่ร้ายแรงและสามารถทำการปฐมพยาบาลเบื้องต้นได้ที่บ้าน เลือดกำเดาไหลสามารถแบ่งสาเหตุการเกิดได้จากสาเหตุทั่วไป และสาเหตุจากโรคหรือความผิดปกติบางอย่างในร่างกาย ดังนี้

เลือดกำเดาที่เกิดจากสาเหตุทั่วไป

  • อากาศแห้งอันเกิดจากสภาพอากาศร้อน ความชื้นสัมพัทธ์ต่ำ หรือ อากาศในสิ่งแวดล้อม อาคารสถานที่หรือที่อยู่อาศัยร้อนจัด ทำให้เส้นเลือดบริเวณเยื่อบุโพรงจมูกแห้ง จับตัวเป็นเกร็ด และแตกออกเมื่อถูกสัมผัสแรง ๆ
  • การแกะหรือแคะจมูกแรง ๆ (Nose-picking)
  • การจามแรง ๆ หรือการสั่งน้ำมูกแรง ๆ
  • การได้รับอุบัติเหตุหรือการได้รับแรงกระแทกแรง ๆ บริเวณจมูก ศีรษะ หรือใบหน้า
  • การใช้ยาบางชนิด เช่น ยาสเตียรอยด์พ่นจมูก (Intranasal steroids) เพื่อรักษาโรคภูมิแพ้ ยาหดหลอดเลือด (Decongestant) ยาต้านฮิสตามีน (Antihistamines) จนทำให้โพรงจมูกแห้งและเป็นเหตุให้เลือดกำเดาไหล
  • การใช้ยาต้านการแข็งตัวของเลือด (Anticoagulant medications) ในผู้ป่วยโรคหัวใจ เช่น ยาวาร์ฟาริน (Warfarin) หรือยาเฮปาริน (Heparin)
  • การใช้เครื่อง CPAP (Continuous positive airway pressure) ในการรักษาผู้ป่วยนอนกรน หรือโรคหยุดหายใจขณะหลับ
  • หลังการผ่าตัดจมูก ผ่าตัดผนังกั้นโพรงจมูก การผ่าตัดไซนัส หรือ หลังการทำศัลยกรรมจมูก
  • ไซนัสอักเสบเฉียบพลัน (Acute sinusitis)
  • โรคติดเชื้อทางเดินหายใจส่วนบน (Upper respiratory infections) ที่มีสาเหตุจากเชื้อไวรัส แบคทีเรีย หรือเชื้อรา
  • การใช้แอมโมเนีย (Ammonia) ซี่งเป็นสารระเหยที่อาจทำให้เกิดการระคายเคืองบริเวณระบบทางเดินหายใจ
  • การสอดสายให้ออกซิเจนผ่านทางจมูก (Nasal cannula) การใส่สายให้อาหารทางจมูก (Nasogastric tube)
  • การใช้ยาแอสไพรินเกินขนาด (Aspirin overdose)
  • การนำสิ่งแปลกปลอมเข้าไปในโพรงจมูก หรือมีสิ่งแปลกปลอมเข้าไปในจมูก

เลือดกำเดาไหลที่มีสาเหตุเกิดจากโรคหรือความผิดปกติบางอย่างในร่างกาย เช่น

  • การมีผนังกั้นโพรงจมูกคด (Septal deviation)
  • ผนังกั้นโพรงจมูกทะลุเป็นรู (Septal perforation)
  • เกิดกระบวนการอักเสบในจมูก
  • การแข็งตัวของเลือดผิดปกติ (Clotting disorders) เช่น โรคฮีโมฟีเลีย (Hemophilia)
  • ภาวะเลือดออกผิดปกติ (Bleeding disorders)
  • ภาวะเกล็ดเลือดต่ำจากภูมิคุ้มกัน (Immune thrombocytopenia: ITP)
  • โรคเลือดออกทางพันธุกรรม หรือ ภาวะเส้นเลือดฝอยขยายตัว (Telangiectasia)
  • มะเร็งเม็ดเลือดขาว (Leukemia)
  • ก้อนในจมูก หรือ โรคริดสีดวงจมูก (Nasal polyps)
  • โรคมะเร็งในโพรงจมูก (Nasal cancer)
  • โรคมะเร็งหลังโพรงจมูก (Nasopharyngeal carcinoma: NPC)
  • เนื้องอกในจมูก (Nasal tumors)


Nosebleed Epistaxis

เลือดกำเดาไหลมีกี่ประเภท

เลือดกำเดาไหลสามารถแบ่งออกได้เป็น 2 ประเภท ตามตำแหน่งที่เกิดเลือดกำเดาไหล ได้แก่

  1. เลือดกำเดาไหลทางจมูกด้านหน้า (Anterior nosebleed) คือ เลือดกำเดาที่ไหลออกจากบริเวณส่วนหน้าของผนังกั้นโพรงจมูกทั้งสองด้าน ซึ่งเป็นหลอดเลือดขนาดเล็กหลายแขนงที่มีความเปราะบาง และแตกง่าย เลือดกำเดาไหลประเภทนี้เป็นประเภทที่พบได้บ่อยที่สุดโดยเฉพาะในเด็กและมักไม่ร้ายแรง โดยสามารถทำการปฐมพยาบาลเบี้องต้นที่บ้านได้
  2. เลือดกำเดาไหลทางด้านหลังโพรงจมูก (Posterior nosebleed) เป็นเลือดกำเดาที่ไหลออกทางด้านหลังโพรงจมูกส่วนที่อยู่ลึกลงไป ใกล้ลำคอซึ่งเกิดจากการฉีกขาดหรือแตกของหลอดเลือดขนาดใหญ่ ซึ่งเป็นเลือดกำเดาออกที่มีความรุนแรงมากกว่าออกทางจมูกส่วนหน้า เพราะอาจมีเลือดออกในปริมาณที่มากกว่าและอาจไหลลงคอจนทำให้เกิดการสำลักได้ ดังนั้นหากมีเลือดกำเดาออกมากผิดปกติ ควรรีบนำผู้ป่วยส่งแพทย์เพื่อทำการห้ามเลือดทันที

เลือดกำเดาไหลทำอย่างไร วิธีปฐมพยาบาลเบื้องต้น

การปฐมพยาบาลเบื้องต้นในผู้ที่มีเลือดกำเดาไหล

  1. นั่งหลังตรงและโน้มตัวมาข้างหน้าเล็กน้อย เพื่อป้องกันไม่ให้เลือดไหลลงไปในลำคอและปอดซึ่งอาจทำให้เลือดเข้าไปปิดกั้นทางเดินหายใจและเกิดการสำลักได้
  2. ใช้ผ้าชุบน้ำหมาด ๆ ช่วยในการซับเลือด
  3. ใช้นิ้วโป้งและนิ้วชี้บีบที่บริเวณปีกจมูกทั้ง 2 ข้างให้แน่นอย่างต่อเนื่องประมาณ 5 นาที เพื่อกดบริเวณด้านหน้าของผนังกั้นช่องจมูกจนกว่าเลือดจะหยุดไหล โดยให้หายใจทางปากแทน
  4. หากมีเลือดออกให้บ้วนเลือดออกเพื่อป้องกันการกลืนเลือดลงท้องซึ่งอาจทำให้เกิดการอาเจียนได้
  5. ประคบเย็นด้วยผ้าห่อน้ำแข็งที่บริเวณหน้าผาก และดั้งจมูก
  6. หลีกเลี่ยงการสั่งน้ำมูกแรง ๆ การแคะจมูก การยกของหนัก การออกแรงมาก ๆ หรือการเล่นกีฬา เพราะอาจทำให้เลือดแข็งตัวช้า
  7. หมั่นสังเกตอาการผู้ป่วยหากมีอาการช็อกหรือหมดสติ

เลือดกำเดาไหลแบบไหนที่ควรรีบพบแพทย์

เลือดกำเดาไหลส่วนใหญ่มักไม่ร้ายแรงและผู้ป่วยสามารถปฐมพยาบาลเบื้องต้นได้เอง แต่หากผู้ป่วยมีเลือดกำเดาไหลออกมากผิดปกติ อาจเป็นสัญญาณเตือนถึงการมีเลือดออกภายในหรือโรคร้ายแรงที่มีความซับซ้อน จึงควรรีบพบแพทย์เพื่อวินิจฉัยอาการอย่างละเอียดโดยเร็ว โดยให้สังเกตอาการดังต่อไปนี้

  • เลือดกำเดาไหลไม่หยุด ไหลมาก หรือไหลเกินกว่า 5 นาที
  • ได้รับอุบัติเหตุหรือได้รับแรงกระแทกบริเวณศีรษะ ใบหน้า หรือจมูก
  • เลือดกำเดาไหลออกมาเป็นลิ่มเลือด
  • สีตัวซีด ปากซีด รู้สึกหน้ามืด เวียนหัว คล้ายจะเป็นลม
  • สำลักออกมาเป็นเลือด อาเจียนออกมาเป็นเลือด หายใจลำบาก
  • ชีพจรเต้นเร็ว
  • เลือดกำเดาไหลร่วมกับการคลำได้ก้อนที่คอ หรือสังเกตว่ามีก้อนในโพรงจมูก ซึ่งอาจเป็นเนื้องอกในโพรงจมูก (Nasal polyps) วัณโรคหลังโพรงจมูก (Nasopharyngeal tuberculosis) หรือ มะเร็งหลังโพรงจมูก (Nasopharynx cancer) ซึ่งควรได้รับการวินิจฉัยโดยแพทย์

การวินิจฉัยเลือดกำเดาไหล มีวิธีการอย่างไร

การวินิจฉัยเลือดกำเดาไหลที่โรงพยาบาลโดยแพทย์เฉพาะทางด้านหู คอ จมูก แพทย์จะทำประเมินการสูญเสียเลือดและห้ามเลือดภายในโพรงจมูกทันทีเพื่อป้องกันการเกิดภาวะช็อกอันอาจเกิดจากการสูญเสียเลือด ในผู้ที่เลือดกำเดาไหลบางราย เลือดกำเดาไหลอาจเป็นสัญญาณของโรคร้ายหรือโรคซับซ้อน เช่น โรคมะเร็งหลังโพรงจมูก ซึ่งมักตรวจพบขณะเข้ารับการรักษาเลือดกำเดาไหลที่โรงพยาบาล ดังนั้นการได้รับการรักษาและตรวจวินิจฉัยเลือดกำเดาไหลโดยแพทย์ผู้เชี่ยวชาญเฉพาะทาง หู คอ จมูกจะช่วยให้สามารถรักษาโรคที่เกี่ยวข้องกับเลือดกำเดาไหลได้อย่างทันท่วงที

การรักษาเลือดกำเดาไหลโดยแพทย์ที่โรงพยาบาล

หากเลือดกำเดาไหลไม่หยุด ควรรีบนำผู้ป่วยส่งโรงพยาบาลโดยเร็วเพื่อป้องกันภาวะช็อก หมดสติจากการสูญเสียเลือด เมื่อถึงที่โรงพยาบาล แพทย์จัดท่านั่งที่เหมาะสมกับผู้ป่วย จากนั้นจะทำการประเมินอาการและวิธีการรักษาจากระดับความรุนแรงของอาการและตำแหน่งของเลือดที่ไหลออกและเริ่มทำการห้ามเลือด (Hemostasis) โดยแพทย์อาจพิจารณาวิธีการรักษา ดังต่อไปนี้

  • ยาหดหลอดเลือดเฉพาะที่ (Topical decongestants) สอดเข้าไปในโพรงจมูก โดยยาหดหลอดเลือดเฉพาะที่ จะออกฤทธิ์โดยการทำให้เส้นเลือดในเยื่อบุจมูกหดตัวลง เลือดออกลดลง ลดอาการบวมของเยื่อบุโพรงจมูก ทำให้แพทย์มองเห็นสภาพภายในโพรงจมูก และสามารถประเมินและค้นหาตำแหน่งที่เลือดออกได้
  • การจี้จุดเลือดออก (Cauterization) เป็นการรักษาโดยวิธีการใช้สารเคมี (Chemical cauterization) เช่น ซิลเวอร์ไนเตรต (Silver nitrate) หรือพลังงานความร้อน (Electrocautery) เพื่อห้ามเลือดโดยการปิดผนึกหลอดเลือดที่มีเลือดออก โดยแพทย์จะทำการให้ยาชาเฉพาะที่ (Local Anesthesia) ในโพรงจมูกก่อนการรักษา
  • การใช้วัสดุกดห้ามเลือดในโพรงจมูกด้านหน้า (Anterior nasal packing) โดยแพทย์จะใช้วัสดุห้ามเลือดคล้ายฟองน้ำชนิดพิเศษ (Special nasal sponges) ใส่เข้าในจมูกเพื่อกดบริเวณที่มีเลือดออก โดยวัสดุห้ามเลือดจะถูกทิ้งไว้ประมาณ 48-72 ชั่วโมง จากนั้นแพทย์จึงนำออก ในบางกรณีแพทย์อาจพิจารณาใช้วัสดุละลายได้เอง โดยไม่ต้องนัดมาเอาออกในภายหลัง
  • การผูกเส้นเลือดเพื่อห้ามเลือด (Internal artery ligation) ในผู้ป่วยบางรายแพทย์อาจพิจารณาทำการผูกเส้นเลือดแดงหรืออุดหลอดเลือดแดงเพื่อห้ามเลือดโดยใช้สารอุดหลอดเลือดร่วมกับการส่องกล้อง (Nasal endoscopy) ช่วยในการผูกเส้นเลือดหรือหลอดเลือดเพื่อห้ามเลือด การใช้เทคโนโลยีส่องกล้องร่วมในการรักษานับเป็นเทคโนโลยีทางการแพทย์ที่มีประสิทธิภาพเนื่องจากช่วยให้แพทย์สามารถมองเห็นตำแหน่งที่เลือดออกได้อย่างชัดเจนโดยเฉพาะอย่างยิ่งบริเวณด้านหลังโพรงจมูก ทำให้ห้ามเลือดได้เร็ว
  • การปรับยา/และสั่งยาใหม่ (Medication adjustment/new prescriptions) ผู้ที่มีเลือดกำเดาไหลที่รับประทานยาต้านการแข็งตัวของเกล็ดเลือด หรือยาละลายลิ่มเลือด แพทย์อาจพิจารณาปรับยาหรือสั่งยาใหม่เพื่อช่วยควบคุมภาวะการแข็งตัวของเกล็ดเลือด รวมทั้งความดันโลหิตให้อยู่ในเกณฑ์ปกติ เพื่อช่วยให้เลือดแข็งตัว
  • การผ่าตัดเพื่อห้ามเลือดในกรณีจมูกหักหรือการผ่าตัดแก้ไขผนังกั้นช่องโพรงจมูก (Surgical repair of broken nose or correction of a deviated nasal septum) ในผู้ป่วยที่จมูกหักหรือผู้ที่มีผนังกั้นช่องโพรงจมูกคด (Deviated nasal septum) ที่เป็นสาเหตุของเลือดกำเดาไหล แพทย์อาจพิจารณาทำการผ่าตัดเพื่อห้ามเลือดและแก้ไขจมูกหัก หรือผ่าตัดแก้ไขผนังกั้นโพรงจมูก โดยแพทย์จะใช้วิธีให้ดมยาสลบก่อนการผ่าตัด
  • กำจัดสิ่งแปลกปลอมอันเป็นสาเหตุของเลือดกำเดาไหลออก (Foreign body removal) เลือดกำเดาไหลในเด็กหลายรายเกิดจากการที่เด็กนำของเล่นหรือสิ่งแปลกปลอมเข้าจมูกจนทำให้เกิดเลือดกำเดาไหล โดยแพทย์จะทำการตรวจภายในบริเวณจมูก หากมีสิ่งแปลกปลอมจะเอาออกเพื่อทำการห้ามเลือด

        Nosebleed Epistaxis Prevention

        การป้องกันเลือดกำเดาไหล

        • ไม่แคะ แกะจมูกแรง ๆ หรือสั่งน้ำมูกแรง ๆ
        • สวมหมวกกันน็อคและเข็มขัดนิรภัยขณะขับขี่ยานพาหนะ เพื่อป้องกันอุบัติเหตุหรือการได้รับการบาดเจ็บที่บริเวณจมูก ศีรษะ หรือใบหน้า
        • ไม่สูบบุหรี่ สูดดมควันบุหรี่ หลีกเลี่ยงการสูดดมสารเคมี ฝุ่นละออง มลภาวะ 5
        • หลีกเลี่ยงการอยู่ในที่ที่มีอากาศแห้ง อากาศร้อน หรืออากาศเย็นจนเกินไป
        • ทาวาสลีนเคลือบผิวในจมูก หรือใช้น้ำเกลือหยอดจมูกเพื่อป้องกันไม่ให้เยื่อบุโพรงจมูกแห้ง
        • รับประทานผัก ผลไม้ที่มีวิตามินซีสูงเพื่อบำรุงให้เส้นเลือดฝอยในจมูกแข็งแรง
        • ดื่มน้ำ และพักผ่อนให้เพียงพอ

        การรักษาเลือดกำเดาไหลโดยแพทย์เฉพาะทางหู คอ จมูกที่โรงพยาบาล

        เลือดกำเดาไหลสามารถเกิดขึ้นได้กับบุคคลทุกเพศ ทุกวัย ในหลาย ๆ กรณีที่เลือดกำเดาออกโดยไม่ทราบสาเหตุ ซึ่งควรได้รับการตรวจอย่างเป็นระบบ แม้ว่าเลือดกำเดาไหลส่วนใหญ่มักไม่ร้ายแรงและสามารถปฐมพยาบาลเบื้องต้นได้เองที่บ้าน แต่ผู้ที่มีเลือดกำเดาออกมากไม่ควรนิ่งนอนใจ ควรรีบนำส่งโรงพยาบาล เพราะหากเลือดออกไม่หยุด โดยเฉพาะอย่างยิ่งในเด็กเล็ก ผู้สูงอายุ ผู้ที่มีภาวะโลหิตจาง ผู้ที่ร่างกายขาดน้ำ หรือผู้ที่รับประทานยาต้านการแข็งตัวของเลือด การเสียเลือดมากอาจเป็นอันตรายถึงชีวิต การห้ามเลือดได้อย่างทันท่วงทีและการวินิจฉัยเลือดกำเดาไหลที่มีสาเหตุมาจากโรคร้ายได้อย่างตรงจุดจะช่วยให้ได้รับการรักษาที่ถูกต้องและยับยั้งไม่ให้โรคร้ายพัฒนาลุกลามต่อไปได้อย่างมีประสิทธิภาพ

        คำถามที่พบบ่อย (FAQ)

        1. คำถาม: เลือดกำเดาไหล เกิดจากอะไร?
          คำตอบ:
          เลือดกำเดาไหล เกิดจากหลอดเลือดขนาดเล็กหรือเส้นเลือดฝอยซึ่งมีอยู่เป็นจำนวนมากภายในบริเวณโพรงจมูกแตก ฉีกขาด จนทำให้มีเลือดไหลออกทางโพรงจมูก ส่วนใหญ่ไม่ร้ายแรงและสามารถทำการปฐมพยาบาลเบื้องต้นได้ที่บ้าน ซึ่งอาจมีสาเหตุจากอากาศที่แพ้งเพราะสภาพอากาศร้อน ความชื้นสัมพัทธ์ต่ำ ทำให้เส้นเลือดบริเวณเยื่อบุโพรงจมูกแห้ง จับตัวเป็นเกร็ด และแตกออกเมื่อถูกสัมผัสแรง ๆ การจามแรง ๆ หรือการสั่งน้ำมูกแรง ๆ การได้รับอุบัติเหตุหรือการได้รับแรงกระแทกแรง ๆ บริเวณจมูก ศีรษะ หรือใบหน้า

        2. คำถาม: เลือดกำเดาไหลแบบไหนที่อันตราย และควรพบแพทย์?
          คำตอบ:
          เลือดกำเดาไหลออกมากผิดปกติ อาจเป็นสัญญาณเตือนถึงการมีเลือดออกภายในหรือโรคร้ายแรงที่มีความซับซ้อน เลือดกำเดาไหลไม่หยุด ไหลมาก หรือไหลเกินกว่า 5 นาที ได้รับอุบัติเหตุหรือได้รับแรงกระแทกบริเวณศีรษะ ใบหน้า หรือจมูก เลือดกำเดาไหลออกมาเป็นลิ่มเลือด สีตัวซีด ปากซีด รู้สึกหน้ามืด สำลักหรืออาเจียนออกมาเป็นเลือด ชีพจรเต้นเร็ว เป็นต้น

        3. คำถาม: ป้องกันไม่ให้เลือดกำเดาไหลอย่างไร?
          คำตอบ:
          การป้องกันหรือหลีกเลี่ยงการเกิดเลือดกำเดาไหล เช่น ไม่แคะจมูกแรง ๆ หรือสั่งน้ำมูกแรง ๆ ไม่สูบบุหรี่ สูดดมควันบุหรี่ หลีกเลี่ยงการสูดดมสารเคมี ฝุ่นละออง มลภาวะ หลีกเลี่ยงการอยู่ในที่ที่มีอากาศแห้ง อากาศร้อน หรืออากาศเย็นจนเกินไป ทาวาสลีนเคลือบผิวในจมูกหรือใช้น้ำเกลือหยอดจมูก รับประทานผัก ผลไม้ที่มีวิตามินซีสูงเพื่อบำรุงให้เส้นเลือดฝอยในจมูก เป็นต้น

        4. คำถาม: การรักษาภาวะเลือดกำเดาไหล ควรพบแพทย์เฉพาะทางด้านใด?
          คำตอบ:
          ภาวะเลือดกำเดาไหล ควรพบแพทย์เฉพาะทางด้านหู คอ จมูก เพราะการวินิฉัยจากแพทย์ผู้เชี่ยวชาญเฉพาะทางโดยตรง จะช่วยให้ได้รับการรักษาที่ถูกต้องและยับยั้งไม่ให้โรคร้ายพัฒนาลุกลามต่อไปได้อย่างมีประสิทธิภาพ

        เลือกกำเดาไหล Epistaxis - Infographic Th

        บทความโดย

        เผยแพร่เมื่อ: 05 เม.ย. 2023

        แชร์