สังเกตสักนิด ถ้าคิดถึงแพ้อาหาร - Understanding food allergy is crucial for your and your child’s safety

สังเกตสักนิด ถ้าคิดถึงแพ้อาหาร

โรคแพ้อาหาร (Food allergy) เป็นโรคภูมิแพ้ชนิดหนึ่ง เกิดจากร่างกายเกิดปฏิกิริยาที่ผิดปกติต่อสารโปรตีนในอาหาร ทำให้เกิดการอักเสบเรื้อรังของเยื่อบุทางเดินอาหาร ไม่ค่อยพบผู้ป่วยโรคแพ้อาหารที่แพ้ต่ออาหารประเภทคาร์โบไฮเดรท

แชร์

สังเกตสักนิด ถ้าคิดถึงแพ้อาหาร

โรคแพ้อาหาร (Food allergy) เป็นโรคภูมิแพ้ชนิดหนึ่ง เกิดจากร่างกายเกิดปฏิกิริยาที่ผิดปกติต่อสารโปรตีนในอาหาร ทำให้เกิดการอักเสบเรื้อรังของเยื่อบุทางเดินอาหาร ไม่ค่อยพบผู้ป่วยโรคแพ้อาหารที่แพ้ต่ออาหารประเภทคาร์โบไฮเดรตหรือไขมัน โรคนี้พบได้ทั้งในผู้ป่วยเด็กและผู้ใหญ่ ซึ่งอาจพบร่วมกับโรคภูมิแพ้ชนิดอื่น ๆ โดยเฉพาะโรคผื่นภูมิแพ้ผิวหนังชนิดรุนแรงในผู้ป่วยเด็ก

ดร.เดวิด เจ ฮิลล์ ผู้เชี่ยวชาญด้านโรคภูมิแพ้จากประเทศออสเตรเลียกล่าวว่า จากการสำรวจการแพ้อาหารทั่วโลก พบว่าเด็กเล็กมีอัตราการแพ้อาหารอยู่ที่ร้อยละ 5-7 ผู้ใหญ่มีอัตราการแพ้อาหารร้อยละ 2-3 ของจำนวนประชากรโลก ลักษณะของอาหารที่แพ้จะแตกต่างกันตามพฤติกรรมการบริโภคของผู้ป่วย ในประเทศแถบเอเชีย เช่น มาเลเชีย ญี่ปุ่น ไทย และเกาหลีใต้ มีลักษณะการแพ้อาหารที่คล้ายกัน โดยส่วนใหญ่จะแพ้อาหารทะเล เส้นโซบะ และ สปาเก็ตตี้ที่ทำจากแป้งสาลี ในขณะที่ประเทศในแถบยุโรป อเมริกา และออสเตรเลีย จะมีการแพ้อาหารจำพวกถั่วต่าง ๆ ในกลุ่มผู้ป่วยเด็กจะมีการแพ้อาหารที่ไม่แตกต่างกัน ส่วนใหญ่จะแพ้อาหารประเภท นมวัว และไข่ไก่

สถานการณ์โรคแพ้อาหารในประเทศไทย

ในประเทศไทยพบอุบัติการณ์ของโรคแพ้อาหารประมาณร้อยละ 5 โดยพบในผู้ป่วยเด็กสูงกว่าในผู้ใหญ่ ศ.พญ.อรพรรณ โภชนุกูล แพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านโรคภูมิแพ้ โรงพยาบาลธรรมศาสตร์ กล่าวถึงสถานการณ์การแพ้อาหารในประเทศไทย จากการเก็บข้อมูลของผู้ป่วยที่เข้ารับการรักษาด้วยภาวะภูมิแพ้ชนิดรุนแรงในโรงพยาบาลธรรมศาสตร์ พบว่าผู้ป่วยมากกว่าร้อยละ 50 มีสาเหตุจากการแพ้อาหารประเภท นมวัว ไข่ไก่ และอาหารทะเล ซึ่งเป็นสาเหตุหลักของภาวะภูมิแพ้ชนิดรุนแรงในประชากรไทย สาเหตุที่พบรองลงมาได้แก่ การแพ้ยาและแพ้แมลงสัตว์กัดต่อย ข้อมูลดังกล่าวสะท้อนให้เห็นว่าโรคแพ้อาหารยังเป็นปัญหาใหญ่ของประเทศแต่ที่ผ่านมายังไม่มีการให้ความสำคัญเท่าที่ควร โดยเฉพาะการให้การรักษาที่ถูกต้อง

อาการของผู้ป่วยโรคแพ้อาหาร

ผู้ป่วยโรคแพ้อาหารจะแสดงอาการผิดปกติหลาย ๆ อย่าง หรืออย่างหนึ่งอย่างใด ของอาการดังต่อไปนี้

  • อาการผื่นลมพิษ ผื่นภูมิแพ้ผิวหนัง หรือผื่นแพ้สัมผัสพบร่วมกับอาการริมฝีปากหรือเปลือกตาบวม
  • อาการปวดท้องเป็น ๆ หาย ๆ อาเจียน ท้องร่วง อุจจาระปนเลือด
  • อาการหายใจหอบเหนื่อย มีน้ำมูกหรือเสมหะมากเป็น ๆ หาย ๆ ในรายที่มีอาการแพ้อาหารชนิดรุนแรง ผู้ป่วยจะมีอาการหน้ามืด เป็นลม หมดสติ หรืออาจจะเสียชีวิตได้ จากระบบไหลเวียนโลหิตล้มเหลว

อาหารที่พบเป็นสาเหตุของโรคแพ้อาหาร

อาหารที่พบเป็นสาเหตุของโรคแพ้อาหารได้บ่อยในผู้ป่วยเด็กเล็กได้แก่ นมวัว นมถั่วเหลือง ไข่ไก่หรือแป้งสาลี เป็นต้น ในขณะที่อาหารที่พบเป็นสาเหตุได้บ่อยในผู้ป่วยเด็กโต หรือผู้ใหญ่ได้แก่ อาหารในกลุ่มอาหารทะเล เป็นต้น

ผู้ป่วยอาจได้รับการสัมผัสกับอาหารที่ตนเองแพ้จาก

  • การรับประทานโดยตรง โดยที่ไม่ทราบมาก่อนว่าตนเองแพ้อาหารชนิดนั้น ๆ
  • การปนเปื้อนมาจากคนอื่นที่รับประทานอาหารที่ตนเองแพ้โดยการสัมผัสหรือการจูบ
  • การปนเปื้อนกับอาหารที่ตนเองรับประทาน เช่น การใช้ภาชนะร่วมกันกับคนอื่นในการปรุงหรือรับประทานอาหาร
  • การใช้เครื่องปรุงอาหารที่มีส่วนประกอบของอาหารที่ตนเองแพ้
  • การสูดดม เช่น ผู้ป่วยแพ้แป้งสาลี อาจทำให้เกิดอาการหอบหรือไอได้ เป็นต้น

ทำไมจึงเป็นโรคแพ้อาหาร

ปัจจุบันยังไม่พบสาเหตุที่แน่ชัดของการเกิดโรคแพ้อาหาร แต่ข้อสันนิษฐานของการเกิดโรคได้แก่ พัฒนาการที่ไม่สมบูรณ์ของระบบทางเดินอาหารในผู้ป่วยเด็กเล็ก หรือปัจจัยเสี่ยงทางด้านพันธุกรรม สิ่งแวดล้อม หรือโภชนาการของผู้ป่วย โดยเฉพาะกรณีที่ผู้ป่วยไม่ได้ดื่มนมมารดาตั้งแต่แรกเกิด เป็นต้น

ข้อสังเกตของผู้ป่วยโรคแพ้อาหาร

ดังที่กล่าวไว้ในข้างต้นถึงชนิดของอาหารที่เป็นสาเหตุที่พบบ่อยในผู้ป่วยแต่ละช่วงอายุ 
ข้อสังเกตอื่น ๆ ของผู้ป่วยโรคแพ้อาหารได้แก่

  1. กรณีที่มีอาการแพ้อาหารแบบเฉียบพลัน ผู้ป่วยมักมีอาการภายใน  2 ชั่วโมงหลังการรับประทานอาหาร และระยะเวลาในการเกิดอาการแพ้มักจะสั้นลง และอาการแพ้มักจะรุนแรงมากขึ้นในการเกิดอาการครั้งถัดไป
  2. กรณีที่มีอาการแพ้อาหารแบบล่าช้า ผู้ป่วยมักมีอาการภายหลังรับประทานอาหารตั้งแต่ 2 ชั่วโมงขึ้นไป ซึ่งสามารถสังเกตอาการแพ้ได้ค่อนข้างยาก แพทย์อาจจำเป็นต้องใช้ผลการทดสอบแบบแปะผิวหนังด้วยชนิดของอาหารที่ต้องสงสัยว่าจะแพ้ ร่วมกับการทดลองรับประทานอาหารเพื่อยืนยันการวินิจฉัยโรค
  3. อาการแพ้มักเกิดขึ้นทุกครั้งภายหลังการรับประทานอาหารที่ตนเองแพ้ โดยมิได้คำนึงถึง
    1. ปริมาณอาหารที่รับประทาน เช่น การรับประทานอาหารที่แพ้เพียงเล็กน้อยก็สามารถก่อให้เกิดอาการแพ้ที่รุนแรงได้ในผู้ป่วยบางราย
    2. ชิ้นส่วนของอาหารที่รับประทาน เช่น มันกุ้งบริเวณส่วนหัวของกุ้งหรือเนื้อกุ้ง ก็สามารถก่อให้เกิดอาการแพ้ได้เช่นเดียวกัน เป็นต้น
    3. วิธีการปรุงอาหาร การปรุงสุกอาหารก่อนรับประทานอาจทำให้คุณสมบัติในการก่อให้เกิดอาการแพ้ของอาหารชนิดนั้น ๆ เสียไปได้ เช่น ผู้ป่วยเด็กที่แพ้นมวัวหรือไข่ไก่อาจจะสามารถดื่มนมวัวหรือรับประทานไข่ไก่ที่ผ่านการปรุงสุกแล้วโดยไม่มีอาการแพ้ได้ ในทางกลับกันผู้ป่วยเด็กจะมีอาการแพ้หากดื่มหรือรับประทานอาหารดังกล่าวที่ไม่ได้ผ่านการปรุงสุก

Understanding Food Allergy Banner 1

วิธีการยืนยันชนิดของอาหารที่ผู้ป่วยแพ้

วิธีการยืนยันชนิดของอาหารที่ผู้ป่วยแพ้ สามารถแบ่งออกได้ดังนี้

  1. การทดสอบด้วยวิธีการสะกิดผิวหนังด้วยน้ำยาทดสอบ (Skin Prick Test) เหมาะสำหรับผู้ป่วยแพ้อาหารแบบเฉียบพลัน สามารถทราบผลการทดสอบภายในเวลา 60 นาที อย่างไรก็ตามผู้ป่วยจำเป็นต้องหยุดรับประทานยาในกลุ่มยาแก้แพ้เป็นระยะเวลาอย่างน้อย 1 สัปดาห์ก่อนทำการทดสอบ
  2. การทดสอบด้วยวิธีการแปะผิวหนังด้วยน้ำยาทดสอบ (Skin Patch Test) เหมาะสำหรับผู้ป่วยแพ้อาหารแบบล่าช้า สามารถทราบผลการทดสอบภายในเวลา 48 ชั่วโมง โดยผู้ป่วยต้องหลีกเลี่ยงการสัมผัสผิวหนังบริเวณที่ทำการทดสอบก่อนการอ่านผล และเช่นเดียวกับวิธีการสะกิดผิวหนังผู้ป่วยจำเป็นต้องหยุดรับประทานยาในกลุ่มยาแก้แพ้เป็นระยะเวลาอย่างน้อย 1 สัปดาห์ก่อนทำการทดสอบ
  3. การทดลองรับประทานอาหาร เป็นวิธีการช่วยยืนยันการวินิจฉัยโรคแพ้อาหารได้ดีที่สุด อย่างไรก็ตามควรทำการทดลองรับประทานอาหารภายใต้การดูแลของแพทย์ผู้เชี่ยวชาญที่โรงพยาบาลที่มีอุปกรณ์หรือยาคอยช่วยฟื้นคืนชีพผู้ป่วยในกรณีที่ผู้ป่วยมีอาการแพ้อย่างรุนแรง ภายหลังการทดลองรับประทานอาหาร อย่างไรก็ตามแพทย์ส่วนใหญ่สามารถให้การวินิจฉัยโรคแพ้อาหารแก่ผู้ป่วยได้จากข้อมูลของประวัติอาการป่วย และการตรวจร่างกาย รวมถึงผลการทดสอบผิวหนังดังกล่าวข้างต้น

การรักษาโรคแพ้อาหาร

  • การรักษาที่ถูกต้องและดีที่สุดคือ การงดรับประทานอาหารที่ตนเองแพ้รวมถึงผลิตภัณฑ์ที่มีอาหารชนิดนั้นเป็นส่วนประกอบ
  • กรณีผู้ป่วยเด็กที่แพ้นมวัวอาจหายจากการแพ้ได้เมื่ออายุมากขึ้น ภายหลังจากหยุดดื่มหรือรับประทานนมวัวหรือผลิตภัณฑ์ที่ทำจากนมวัวเป็นเวลาอย่างน้อย 1 ปี
  • กรณีผู้ป่วยที่แพ้อาหารทะเลมักจะไม่หาย ถึงแม้ว่าจะหยุดรับประทานอาหารทะเลเป็นระยะเวลานาน

การรักษาในผู้ป่วยที่มีการแพ้อาหารชนิดรุนแรง

กรณีผู้ป่วยมีอาการแพ้อาหารชนิดรุนแรงผู้ป่วยควรได้รับการรักษาด้วยการฉีดยาอะดรีนาลิน (Adrenaline) เข้ากล้ามเนื้อด้วยตนเองหรือผู้ดูแลผู้ป่วยก่อนนำตัวผู้ป่วยส่งโรงพยาบาล การฉีดยาอะดรีนาลินทันทีภายหลังการเกิดอาการแพ้จะช่วยบรรเทาอาการแพ้และช่วยลดอัตราการเสียชีวิตจากอาการแพ้ดังกล่าวได้ ในปัจจุบันยาอะดรีนาลินชนิดพกพาสำเร็จรูป (EpiPen) ค่อนข้างมีราคาแพง ทำให้แพทย์มีปัญหาในการสั่งจ่ายยาให้แก่ผู้ป่วยบางราย แพทย์จึงได้มีการปรับเปลี่ยนยาอะดรีนาลินชนิดฉีดที่ใช้ภายในโรงพยาบาลมาเตรียมสำหรับให้ผู้ป่วยใช้พกพา

อย่างไรก็ตามการเตรียมยาอะดรีนาลินด้วยวิธีดังกล่าวมีข้อจำกัดคือ ต้องจัดเก็บยาในอุณหภูมิที่พอเหมาะโดยส่วนใหญ่จะแนะนำให้เก็บในตู้เย็นช่องปกติ และเก็บไว้ในกล่องที่สามารถป้องกันการสัมผัสกับแสงแดดได้ รวมถึงอายุการใช้งานของยาค่อนข้างสั้น ผู้ป่วยจำเป็นต้องมาทำการเปลี่ยนยาทุก ๆ 2 เดือน หรือทันทีภายหลังที่ลักษณะของยาเปลี่ยนจากน้ำใส ๆ มาเป็นน้ำที่มีสีผิดปกติหรือมีการตกตะกอนของยา

ขั้นตอนการฉีดยาอะดรีนาลินเข้ากล้ามเนื้อด้วยตนเอง

  1. เลือกตำแหน่งของร่างกายที่เหมาะสมสำหรับการฉีดยาอะดรีนาลิน ซึ่งตำแหน่งของร่างกายที่เหมาะสมสำหรับการฉีดยาคือ บริเวณกึ่งกลางของต้นขาด้านนอก ซึ่งเป็นตำแหน่งที่สะดวกต่อการฉีดยาและเป็นตำแหน่งของกล้ามเนื้อมัดใหญ่ที่มีเลือดมาหล่อเลี้ยงในปริมาณมาก ทำให้ร่างกายสามารถดูดซึมยาอะดรีนาลินได้ในปริมาณมากและอย่างรวดเร็ว รวมถึงการฉีดยาที่ตำแหน่งดังกล่าวยังหลีกเลี่ยงการทำอันตรายต่อเส้นเลือดหรือเส้นประสาทบริเวณต้นขาจากการฉีดได้ โดยผู้ป่วยไม่จำเป็นต้องทำความสะอาดผิวหนังบริเวณที่ฉีดหรือสามารถทำการฉีดผ่านเสื้อผ้าที่สวมใส่ได้
  2. กรณีที่เป็นยาอะดรีนาลินชนิดเตรียมเอง ให้ผู้ป่วยหรือผู้ดูแลทำการฉีดโดยปักเข็มในแนวตั้งฉากกับผิวหนังบริเวณที่ฉีด ควรปักเข็มให้ลึกเท่ากับความยาวของเข็มที่เตรียมไว้ ซึ่งส่วนใหญ่เข็มจะยาวประมาณ 0.5 - 1.0 นิ้ว ขึ้นกับขนาดของต้นขาของผู้ป่วยและทำการฉีดยาในปริมาณเท่ากับที่แพทย์ได้เตรียมไว้ให้
  3. ภายหลังการฉีดยาอะดรีนาลิน ควรรีบนำผู้ป่วยส่งโรงพยาบาลเพื่อให้การรักษาเพิ่มเติม และเฝ้าสังเกตอาการภายในโรงพยาบาลเป็นเวลาอย่างน้อย 24 ชั่วโมง เนื่องจากผู้ป่วยส่วนหนึ่งสามารถกลับมีอาการแพ้รุนแรงได้อีก ถึงแม้ว่าจะไม่ได้สัมผัสกับอาหารที่ตนเองแพ้อีกแล้วก็ตาม

สัญลักษณ์แสดงชนิดของอาหารที่ตนเองแพ้

กรณีผู้ป่วยแพ้อาหารชนิดรุนแรงควรมีสัญลักษณ์แสดงชนิดของอาหารที่ผู้ป่วยแพ้ เนื่องจากผู้ป่วยอาจหมดสติในขณะที่เกิดอาการแพ้ การทราบถึงโรคที่ผู้ป่วยเป็นจะทำให้แพทย์ผู้ทำการรักษาให้การรักษาที่ถูกต้องอย่างทันท่วงทีแก่ผู้ป่วย รูปแบบของสัญลักษณ์ดังกล่าวอาจจะเป็นเสื้อ สร้อยข้อมือ หรือสายรัดข้อมือ เป็นต้น อย่างไรก็ตามควรเป็นสัญลักษณ์ที่ง่าย ต่อการสังเกตเห็นโดยผู้ให้การรักษาผู้ป่วย

การทดลองรับประทานอาหารที่ตนเองแพ้ด้วยตนเอง

การทดลองรับประทานอาหารที่ผู้ป่วยสงสัยว่าจะแพ้ด้วยตัวเองที่บ้าน เป็นการกระทำที่เสี่ยงและอาจจะทำให้ผู้ป่วยเสียชีวิตจากการกระทำดังกล่าวได้ หากผู้ป่วยมีข้อสงสัยว่าจะแพ้อาหารชนิดดังกล่าว ควรปรึกษาแพทย์เพื่อทำการทดสอบรับประทานอาหารชนิดดังกล่าวภายในโรงพยาบาล

การป้องกันโรคภูมิแพ้ในเด็กกลุ่มเสี่ยง

  1. เด็กควรได้ดื่มนมมารดาอย่างเดียว ในช่วง 4-6 เดือนแรก
  2. หลีกเลี่ยงอาหารเสริมใด ๆ ในช่วง 6 เดือนแรก ควรเริ่มให้อาหารเสริมแก่เด็กครั้งละ 1 ชนิด และค่อย ๆ เพิ่มชนิดของอาหารเสริมทุก ๆ 1 สัปดาห์ หากไม่มีอาการแพ้ โดยอาจเริ่มอาหารเสริมที่มีความเสี่ยงที่จะแพ้น้อยเป็นลำดับแรก เช่น อาจให้เริ่มรับประทานไข่แดงก่อนไข่ขาว หรือเริ่มรับประทานเนื้อหมู เนื้อไก่ก่อนอาหารทะเล เป็นต้น  ในปัจจุบันยังไม่มีคำแนะนำให้เด็กหลีกเลี่ยงการรับประทานที่มีความเสี่ยงที่จะแพ้ หากเด็กยังไม่มีอาการต้องสงสัยว่าจะแพ้อาหารชนิดดังกล่าว ยกเว้นกรณีที่เด็กมีบิดามารดาหรือพี่น้องที่มีประวัติแพ้ถั่วลิสงนั้น เด็กอาจต้องได้รับการประเมินการแพ้ถั่วลิสงก่อนเริ่มรับประทาน
  3. ไม่แนะนำให้มารดางดรับประทานอาหารชนิดใด ๆ ในช่วงระหว่างการตั้งครรภ์หรือช่วงให้นมเด็ก ยกเว้นกรณีที่มารดาหรือเด็กมีประวัติการแพ้อาหารชนิดนั้น ๆ มาก่อนหน้านี้แล้ว
  4. มารดาไม่ควรดื่มนมวัวมากเกินกว่าปกติในช่วงระหว่างการตั้งครรภ์ (โดยไม่ควรดื่มนมวัวเกินกว่าวันละประมาณ 1 และ 2 แก้ว ในช่วงการตั้งครรภ์ไตรมาสที่ 2 และ 3 ตามลำดับ) กรณีที่มารดาไม่สามารถให้นมแก่เด็กได้ แนะนำให้นมสูตรสำหรับเด็กแพ้นมวัวทดแทน
  5. แนะนำให้เด็กเริ่มรับประทานอาหารทะเลภายหลังจากอายุ 1 ปี ในเด็กกลุ่มเสี่ยง 

บทความโดย

เผยแพร่เมื่อ: 20 ต.ค. 2023

แชร์

แพทย์ที่เกี่ยวข้อง

  • Link to doctor
    นพ. ปิยวุฒิ กรีฑาภิรมย์

    นพ. ปิยวุฒิ กรีฑาภิรมย์

    • กุมารเวชศาสตร์
    • กุมารเวชศาสตร์โรคภูมิแพ้และภูมิคุ้มกัน
    Pediatrics, Well Child Care and Vaccination, Pediatrics Allergy and Immunology, Pediatrics Allergy Blood Testing and Skin Prick Testing, Pediatrics Chronic Dermatitis, Pediatrics Suspected Food Allergies
  • Link to doctor
    MedPark Hospital Logo

    รศ.พญ. พรรณทิพา ฉัตรชาตรี

    • กุมารเวชศาสตร์
    • กุมารเวชศาสตร์โรคภูมิแพ้และภูมิคุ้มกัน
    Allergy Symptoms in Children, Prevention of Allergies in Children, Food Allergy of Newborn to 5 Years, Pediatrics Chronic Dermatitis, Pediatrics Chronic Urticaria, Pediatrics Allergy Blood Testing and Skin Prick Testing
  • Link to doctor
    นพ. ปรีดา สง่าเจริญกิจ

    นพ. ปรีดา สง่าเจริญกิจ

    • กุมารเวชศาสตร์
    • กุมารเวชศาสตร์โรคภูมิแพ้และภูมิคุ้มกัน
    Pediatrics Chronic Rhinorrhea, Pediatrics Snoring and Obstructive Sleep Apnea, Pediatrics Chronic Wheezing, Pediatrics Chronic Dermatitis, Pediatrics Chronic Urticaria, Pediatrics Suspected Food Allergies, Pediatrics Allergy Blood Testing and Skin Prick Testing
  • Link to doctor
    พญ. รพิศา นันทนีย์

    พญ. รพิศา นันทนีย์

    • กุมารเวชศาสตร์
    • กุมารเวชศาสตร์โรคภูมิแพ้และภูมิคุ้มกัน
    Pediatrics, Pediatrics Allergy and Immunology, Pediatrics Allergy Blood Testing and Skin Prick Testing, Pediatrics Chronic Dermatitis, Pediatrics Suspected Food Allergies