สาเหตุของอาการเหนื่อยล้า - Reasons why you feel exhausted

7 สาเหตุของอาการเหนื่อยล้า

มาดู 7 สาเหตุที่ให้เรารู้สึกเหนื่อยล้าอ่อนเพลียได้ หลายคนอาจรู้สึกเหนื่อยล้าอ่อนเพลียจากความเครียดในชีวิตประจำวัน การนอนหลับอย่างไม่มีคุณภาพ การขาดสารอาหาร หรือเจ็บป่วยไม่สบายจากโรค

แชร์

7 สาเหตุของอาการเหนื่อยล้า

เมื่อพูดถึงความรู้สึก เหนื่อยล้าอ่อนเพลีย รับประกันได้เลยว่าคุณไม่ได้เป็นอยู่คนเดียวแน่ ๆ  หลายคนอาจรู้สึกเหนื่อยล้าอ่อนเพลียจากความเครียดในชีวิตประจำวัน การนอนหลับอย่างไม่มีคุณภาพ การขาดสารอาหาร หรือเจ็บป่วยไม่สบายจากโรค เช่น ไข้หวัด อย่างไรก็ตามอาการเหนื่อยล้าบ่อย ๆ นั้นเป็นเรื่องผิดปกติและอาจเป็นผลมาจากหลาย ๆ ปัจจัย

มาดู 7 สาเหตุที่ให้เรารู้สึกเหนื่อยล้าอ่อนเพลียได้

  1. การอดนอน นอนไม่พอ

    การนอนหลับอย่างมีคุณภาพอย่างเพียงพอนั้นจำเป็นต่อสุขภาพ ในขณะที่นอนหลับร่างกายจะปล่อยฮอร์โมนที่จำเป็นต่อการเจริญเติบโต เซลล์จะได้รับการซ่อมแซมฟื้นฟู โดยทาง American Academy of Sleep Medicine  และ Sleep Research Society แนะนําว่าผู้ใหญ่ควรนอนให้ได้อย่างน้อยวันละ 7 ชั่วโมง การนอนหลับยาวช่วยให้สมองมีช่วงของการหลับตื้นไปจนถึงหลับลึก (NREM sleep) และช่วงที่ฝัน (REM sleep) แต่สภาพแวดล้อมที่ไม่เอื้อต่อการนอนหลับ ความเครียด หรืออาการเจ็บป่วยอาจไปรบกวนการนอน ทำให้ตื่นขึ้นมาแล้วรู้สึกไม่สดชื่น รู้สึกง่วงและเหนื่อยในเวลากลางวัน ผู้ที่นอนหลับยาก หลับ ๆ ตื่น ๆ ในเวลากลางคืนอาจเป็นโรคนอนไม่หลับ (insomnia) การปรึกษาพูดคุยกับผู้เชี่ยวชาญด้านการนอนหลับสามารถช่วยให้ระบุสาเหตุ ปรับปรุงคุณภาพการนอน และแก้ปัญหาเรื่องอาการเหนื่อยล้าได้ 
  2. ความเครียด 

    การต้องรับมือกับความเครียดเป็นเวลานาน ๆ อาจส่งผลต่อโครงสร้างและการทํางานของสมองได้ ทําให้ร่างกายเกิดการอักเสบและรู้สึกเหนื่อยล้า และอาจนําไปสู่ภาวะเหนื่อยล้าจากความเครียด (stress-related exhaustion disorder: ED) ในชีวิตประจำวันเราอาจไม่สามารถหลีกเลี่ยงสถานการณ์ที่ตึงเครียดได้ แต่เราสามารถเรียนรู้วิธีจัดการกับความเครียด เพื่อป้องกันอาการเหนื่อยล้าได้ การออกกําลังกาย แช่น้ำอุ่น หรือนั่งสมาธิเป็นเทคนิคการผ่อนคลายที่มีประสิทธิภาพ ซึ่งสามารถลดความเครียดและความเหนื่อยล้า หรืออาจเข้ารับคำปรึกษาจากแพทย์เพื่อหาวิธีรับมือกับความเครียดอย่างเหมาะสม
  3. โรคต่าง ๆ 

    ความรู้สึกเหนื่อยล้าอ่อนเพลียอาจเป็นผลมาจากโรค เช่น ภาวะหยุดหายใจขณะหลับ ภาวะพร่องไทรอยด์ โรคมะเร็ง โรคปลอกประสาทเสื่อมแข็ง โรควิตกกังวล โรคไต ภาวะซึมเศร้า โรคเบาหวาน และภาวะปวดกล้ามเนื้อ เส้นเอ็นเรื้อรัง (fibromyalgia) เมื่อรักษาโรคดังกล่าวหาย อาการเหนื่อยล้ามักดีขึ้นและหายในที่สุด 
  4. การรับประทานอาหารไม่ครบ 5 หมู่ 

    การรับประทานอาหารให้ครบ 5 หมู่ สารอาหารครบถ้วนถือเป็นสิ่งสําคัญต่อกระบวนการที่สําคัญ ๆ ในร่างกาย เมื่อร่างกายไม่ได้รับแคลอรี่และสารอาหารอย่างเพียงพอ ไขมันและกล้ามเนื้อจะถูกดึงมาใช้เป็นพลังงาน ทําให้ร่างกายสูญเสียไขมันและมวลกล้ามเนื้อ อาหารและเครื่องดื่มรสหวานอาจทําให้น้ำตาลในเลือดพุ่งสูงขึ้นและทําให้นอนไม่หลับในเวลากลางคืน 
    ผัก ผลไม้สด และโปรตีนไม่ติดมัน เช่น ไข่และปลา ให้สารอาหารที่จําเป็นต่อการนอนหลับอย่างมีคุณภาพและช่วยความรู้สึกเหนื่อยล้า
  5. การขาดสารอาหาร

    การขาดวิตามินและแร่ธาตุ (วิตามิน B2, B3, B5, B6, B9, B12, C, D, เหล็กและแมกนีเซียม) เป็นหนึ่งในสาเหตุหลักของอาการเหนื่อยล้าที่หาสาเหตุไม่ได้ ประชากรโลกมากกว่า 50 % ได้รับผลกระทบจากการขาดวิตามินดีและประมาณ 12.5% มีภาวะโลหิตจางจากการขาดธาตุเหล็ก ความสามารถในการดูดซึมวิตามินบี 12 ของร่างกาย ซึ่งจําเป็นสําหรับการเผาผลาญและการลำเลียงออกซิเจนจะเสื่อมสภาพลงตามอายุที่มากขึ้น  ความรู้สึกเหนื่อยล้าอ่อนเพลียเป็นอาการหนึ่งของการขาดสารอาหาร การตรวจเลือดสามารถประเมินได้ว่าอาการเหนื่อยล้านั้นเกิดจากการขาดสารอาหารหรือไม่ หากใช่ อาการจะดีขึ้นเมื่อร่างกายได้รับสารอาหารอย่างเพียงพอ
  6. การบริโภคคาเฟอีนมากเกินไป

    การดื่มกาแฟหรือเครื่องดื่มที่มีคาเฟอีนมากเกินไปอาจไปรบกวนวงจรการนอนหลับและทำให้ผล็อยหลับได้ยาก รู้สึกวิตกกังวลในเวลากลางคืน ตื่นนอนตอนกลางคืน และง่วงนอนตอนกลางวัน ควรลดการบริโภคคาเฟอีนและประเมินว่านอนหลับได้ดีขึ้นและรู้สึกสดชื่นหลังตื่นนอนหรือไม่
  7. น้ำหนักตัวที่มากเกินไปหรือโรคอ้วน

    ผู้ที่มีน้ำหนักตัวมากเกินไปมักมีวงจรการนอนหลับที่ไม่สม่ำเสมอและเสี่ยงต่อการเกิดภาวะหยุดหายใจขณะนอนหลับ อาการดังกล่าวอาจทำให้รู้สึกง่วงนอนในตอนกลางวันและเกิดภาวะเหนื่อยล้าเรื้อรังได้  โรคอ้วนยังเป็นสาเหตุของโรคเรื้อรัง เช่น โรคเบาหวานชนิดที่ 2 หรือภาวะซึมเศร้า ซึ่งก่อให้เกิดอาการเหนื่อยล้าได้ การรักษาน้ำหนักตัวที่เหมาะสมจะช่วยให้มีคุณภาพการนอนหลับที่ดีและรักษาระดับพลังงานในระหว่างวันป้องกันความเหนื่อยล้า 

ภาวะเหนื่อยล้าเรื้อรัง เกิดขึ้นได้จากหลายปัจจัย การปรับเปลี่ยนการใช้ชีวิต นิสัยการกิน และการรักษาอาการเจ็บป่วยสามารถช่วยทำให้อาการเหนื่อยล้าหายหรือดีขึ้นได้  แต่ถ้าหากรู้สึกเหนื่อยอยู่ตลอดเวลา ควรปรึกษาแพทย์เพื่อหาสาเหตุที่แท้จริงของโรคและวางแผนการรักษาที่เหมาะสม

เผยแพร่เมื่อ: 25 ก.ย. 2023

แชร์