ท่าบริหารฟื้นฟู อาการข้อเท้าหลวม - Exercises for Ankle Instability

8 ท่าบริหาร ฟื้นฟูข้อเท้าหลวม (8 Exercises for ankle instability)

ข้อเท้าหลวม เกิดได้จากหลายสาเหตุ ไม่ว่าจะเป็น ข้อเท้าพลิกบ่อย ๆ ประสบอุบัติเหตุ อายุที่มากขึ้น หรือป่วยเป็นโรคที่เกี่ยวกับการอักเสบ เช่น โรคลูปัส โรคข้ออักเสบรูมาตอยด์ ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อข้อเท้า และอาจก่อให้เกิด ข้อเท้าเสื่อมและโรคข้อเท้าหลวมตามมาได้

แชร์

8 ท่าบริหาร ฟื้นฟูข้อเท้าหลวม

ข้อเท้าหลวม เกิดได้จากหลายสาเหตุ ไม่ว่าจะเป็น ข้อเท้าพลิกบ่อย ๆ ประสบอุบัติเหตุ อายุที่มากขึ้น หรือป่วยเป็นโรคที่เกี่ยวกับการอักเสบ เช่น โรคลูปัส โรคข้ออักเสบรูมาตอยด์ ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อข้อเท้า และอาจก่อให้เกิด ข้อเท้าเสื่อม และโรคข้อเท้าหลวมตามมาได้

อาการข้อเท้าหลวม ที่พบได้บ่อย

โดยปกติ อาการข้อเท้าเสื่อม มีแนวโน้มที่จะเกิดขึ้นในกลุ่มผู้ที่อายุ 40 ปีขึ้นไป ซึ่งเป็นผลมาจากความเสื่อม การสึกหรอ และการอักเสบสะสม ส่วนในกลุ่มคนอายุน้อยที่เป็นโรคข้อเท้าหลวม มักเกิดจากการประสบอุบัติเหตุและได้รับบาดเจ็บที่ข้อเท้าอย่างรุนแรง

เมื่อเริ่มมีอาการข้อเท้าเสื่อม ข้อเท้าหลวม จะก่อให้เกิดอาการปวดเวลาเคลื่อนไหว อาการบวม ตึง ข้อเท้าติดหรือล็อก ยืนหรือก้าวเดินได้ไม่มั่นคง ซึ่งอาการเหล่านี้ ทำให้คนไข้เจ็บปวด และใช้ชีวิตประจำวันได้ลำบากไม่แตกต่างจากโรคข้อเข่าเสื่อม หรือโรคข้อสะโพกเสื่อมเลยทีเดียว 

วิธีรักษาข้อเท้าหลวมที่ไม่ต้องผ่าตัด  

  • ใช้ที่รัดข้อเท้า เพื่อพยุงเท้าแล้วรองรับการเคลื่อนไหวอย่างเหมาะสม จะช่วยลดความเจ็บปวดได้
  • ฉีดสเตียรอยด์ เพื่อลดอาการปวด บวม แต่เป็นวิธีแก้ปัญหาที่ปลายเหตุ ไม่สามารถรักษาที่ต้นเหตุได้
  • ทำกายภาพบำบัด ใช้ท่าบริหาร เน้นการเสริมสร้างความแข็งแรงของกล้ามเนื้อให้แก่ร่างกาย ช่วยให้กล้ามเนื้อสามารถพยุงข้อต่อต่าง ๆ เพิ่มความคล่องตัวและลดอาการปวดได้

ท่าบริหารง่าย ๆ บรรเทาอาการจากโรคข้อเท้าหลวม

ในบทความนี้ จะมาแนะนำท่าบริหารง่าย ๆ ทำได้ที่บ้าน ที่ช่วยบรรเทาอาการจากโรคข้อเท้าหลวม โดยใช้อุปกรณ์เพียง 2 อย่าง ได้แก่ ผ้าขนหนู และแผ่นยางยืด

โดยท่าบริหาร 5 ท่าแรก เป็นท่าเบา ๆ ที่สามารถทำได้อย่างปลอดภัย

1. ขยำผ้าขนหนู

นั่งบนเก้าอี้ วางผ้าขนหนูไว้ด้านหน้า วางฝ่าเท้าข้างที่มีปัญหาลงบนผ้าขนหนู จากนั้นใช้นิ้วเท้าขยำผ้าขนหนู ค้างไว้ 3-5 วินาที แล้วคลายออก ทำซ้ำ 10 ครั้ง นับเป็น 1 เซต ควรทำวันละ 4 เซต

2. ไอโซเมตริก (ดันออก)

นั่งบนเก้าอี้ ให้เท้าข้างที่มีปัญหาอยู่ข้างกำแพง จากนั้นวางเท้าให้ขอบเท้าด้านนอกชิดกำแพงโดยใช้ผ้าขนหนูมากันระหว่างเท้ากับกำแพง ค่อย ๆ ออกแรงดันเท้าหากำแพงโดยไม่ขยับหรือเคลื่อนไหวบริเวณข้อต่อของข้อเท้า ดันค้างไว้ 5-15 วินาที จากนั้นผ่อนคลาย ทำซ้ำ 5 ครั้ง นับเป็น 1 เซต ควรทำวันละ 4 เซต

3. ไอโซเมตริก (ดันเข้า)

ทำคล้ายกับท่าไอโซเมตริกแบบดันออก แต่เปลี่ยนมาใช้ขาโต๊ะแทนกำแพง ให้ขาโต๊ะอยู่ด้านหน้า วางเท้าให้ขอบเท้าด้านในชิดขาโต๊ะโดยใช้ผ้าขนหนูมากันไว้ระหว่างเท้ากับขาโต๊ะ จากนั้นค่อย ๆ ออกแรงดันเท้าเข้าหาขาโต๊ะโดยไม่เคลื่อนไหวบริเวณข้อต่อของข้อเท้า ดันค้างไว้ 5-15 วินาที จากนั้นผ่อนคลาย ทำซ้ำ 5 ครั้ง นับเป็น 1 เซต ควรทำวันละ 4 เซต

4. เหยียดฝ่าเท้าด้วยแผ่นยางยืด

นั่งบนเก้าอี้ เหยียดขาข้างที่ข้อเท้ามีปัญหาออกไปด้านหน้าโดยคล้องแผ่นยางยืดไว้ มือสองข้างจับปลายทั้งสองด้านถึงแผ่นยางยืดเข้าหาตัว ค่อย ๆ ชี้ปลายเท้าไปด้านหน้า เข่าเหยียดตรง จะเป็นการออกแรงต้านกับยางยืด อาจรู้สึกตึงบริเวณกล้ามเนื้อขา พยายามเหยียดจนตึงที่สุดเท่าที่ทำได้ ค้างไว้ 2 วินาที จากนั้นค่อย ๆ กลับสู่ท่านั่งปกติ ทำซ้ำ 12-20 ครั้ง นับเป็น 1 เซต และทำประมาณ 4-5 เซตต่อวัน

5. กระดกเท้าด้วยแผ่นยางยืด

ทำคล้ายกับท่าที่ 4 แต่เป็นการคล้องแผ่นยางยืดกับฝ่าเท้า (หลังเท้า) แล้วดึงยางยืดออกจากตัว ผูกยางยืดเป็นห่วงกับขาโต๊ะ เหยียดขาข้างที่ข้อเท้ามีปัญหาออกไปด้านหน้า คล้องแผ่นยางยืดจากนั้นกระดกปลายเท้าขึ้นเข้าหาตัว เข่าเหยียดตรง จะเป็นการออกแรงต้านกับยางยืด ค้างไว้ 2 วินาที จากนั้นค่อย ๆ กลับสู่ท่านั่งปกติ ทำซ้ำ 12-20 ครั้ง นับเป็น 1 เซต และทำประมาณ 4-5 เซตต่อวัน

ต่อมาเป็น 3 ท่าบริหาร ที่ควรทำเมื่อข้อเท้ามีความแข็งแรงประมาณหนึ่ง และไม่มีอาการปวด สามารถปรึกษาแพทย์เฉพาะทาง หรือนักกายภาพบำบัดที่ดูแลก่อนทำ

6. ยืนเขย่ง

ยืนตัวตรง (กางปลายเท้าออกเล็กน้อย) กางเท้าห่างกันเล็กน้อย ปลายเท้าตรง จับพนักเก้าอี้ไว้เพื่อการทรงตัว ค่อย ๆ เขย่งยืนด้วยปลายเท้าทั้งสองข้าง ค้างไว้ประมาณ 2 วินาที จากนั้นกลับสู่ท่ายืนปกติ ทำซ้ำ 10-15 ครั้ง นับเป็น 1 เซต และทำประมาณ 4-5 เซตต่อวัน

7. ยืนขาเดียวกระดกส้นเท้า

ยืนตัวตรง กางเท้าห่างกันเล็กน้อย ปลายเท้าตรง  จับพนักเก้าอี้ไว้เพื่อการทรงตัว ค่อย ๆ ยกขาข้างหนึ่งขึ้น โดยยืนด้วยขาข้างที่ต้องการบริหาร จากนั้นกระดกส้นเท้าขึ้นเหนือพื้น ค้างไว้ 2 วินาที แล้วกลับสู่ท่ายืนปกติ ทำซ้ำ 6-8 ครั้ง นับเป็น 1 เซต และทำประมาณ 4-5 เซตต่อวัน สามารถทำสลับข้างได้

8. ยืนขาเดียวฝึกทรงตัว

ยืนตัวตรง กางเท้าห่างกันเล็กน้อย ปลายเท้าตรง จับพนักเก้าอี้ไว้เพื่อการทรงตัว ยกขาขึ้นหนึ่งข้าง โดยยืนด้วยขาข้างที่ต้องการบริหาร พยายามทรงตัว หากทรงตัวได้ดีอาจใช้เพียงปลายนิ้วแตะขอบพนักเก้าอี้เพื่อช่วย ทรงตัว ค้างไว้สักครู่ และค่อย ๆ พยายามฝึกทรงตัวแบบนี้ในระหว่างวัน ระหว่างทำกิจกรรมประจำวัน เช่น ยืนล้างจาน ยืนรดน้ำต้นไม้ สามารถทำสลับข้างได้

ท่าบริหารทั้งหมดนี้เป็นท่าง่าย ๆ ที่สามารถฝึกได้ที่บ้าน แต่ควรปรึกษาแพทย์และนักกายภาพบำบัดผู้ดูแลเพื่อเลือกหรือปรับเปลี่ยนท่าบริหารตามความเหมาะสมเฉพาะบุคคล

วิธีการรักษาข้อเท้าหลวมด้วยการผ่าตัด 

นอกจากการดูแลโดยไม่ต้องผ่าตัดแล้ว ยังมีการรักษาด้วยการผ่าตัด ที่เป็นอีกวิธีหนึ่งที่จะช่วยอาการดีขึ้น กลับมาใช้ชีวิตได้ตามปกติ เมื่อตัวโรคเป็นมากเข้าจนการรักษาบำบัดด้วยวิธีอื่นอาจช่วยได้ไม่มาก แพทย์จะพิจารณาให้การรักษาด้วยการผ่าตัด ซึ่งทำได้ดังนี้

  • ผ่าตัดส่องกล้อง เป็นการผ่าตัดแผลเล็กที่รุกล้ำอวัยวะในร่างกายน้อยที่สุด มักทำเพื่อซ่อมแซมกระดูกอ่อน ตัดเอากระดูกงอกออก ซ่อมเอ็นข้อเท้าให้เหมาะสม เพื่อการเคลื่อนไหวที่มั่นคง กระชับมากขึ้น มักใช้ในกรณีที่ตัวโรคเป็นไม่มาก หรือภาวะข้ออักเสบที่ไม่รุนแรง
  • ผ่าตัดเปลี่ยนข้อเท้าเทียม ใช้ในกรณีที่ข้อเท้าได้รับความเสียหายจากข้อเท้าอักเสบ โรคข้อเท้าหลวมอย่างมาก และใช้วิธีอื่นแล้วให้ผลได้ไม่ดีนัก วิธีนี้ก็เป็นอีกหนึ่งทางเลือกที่จะแพทย์จะผ่าตัดเพื่อเอาพื้นผิวกระดูกข้อที่อักเสบ เสียหายออกแล้วแทนที่ด้วยวัสดุทดแทนที่อาจเป็นโลหะและพลาสติก ช่วยแก้ปัญหาการปวดเรื้อรังในระยะยาว และช่วยให้สามารถกลับมาเดินหรือเคลื่อนไหวได้เหมือนปกติ

นอกจากนี้ ยังมีวิธีการผ่าตัดเชื่อมกระดูกข้อเท้า และวิธีการรักษาผสมผสานที่แพทย์เจ้าของไข้จะพิจารณาปรับใช้ตามแต่กรณีไป 

หากเริ่มมีปัญหาข้อเท้าเสื่อม โรคข้อเท้าหลวม มีอาการปวด บวม เคลื่อนไหวหรือเดินไม่ถนัด ควรรีบปรึกษาแพทย์เฉพาะทางด้านศัลยศาสตร์กระดูกและข้อ เพื่อตรวจวินิจฉัย ประเมินความรุนแรง และวางแนวทางการรักษาที่เหมาะสม

บทความโดย

เผยแพร่เมื่อ: 16 พ.ค. 2024

แชร์