ยาเม็ดคุมกำเนิด (Birth Control Pills) วิธีกินยาคุม และประโยชน์ยาเม็ดคุมกำเนิด - How to take, and Benefits of birth control pills

ยาเม็ดคุมกำเนิด (Birth Control Pills)

ยาเม็ดคุมกำเนิดมีประสิทธิภาพในการคุมกำเนิด > 90% นอกจากนี้ยังช่วยทำให้ประจำเดือนมาเป็นปกติ บรรเทาอาการปวดประจำเดือน ประจำเดือนมามาก ลดการเกิดสิว ลดความเสี่ยงของมะเร็งรังไข่และมะเร็งมดลูก

แชร์

ยาเม็ดคุมกำเนิด

ยาเม็ดคุมกำเนิด มีประสิทธิภาพในการคุมกำเนิด > 90% นอกจากนี้ยังช่วยทำให้ประจำเดือนมาเป็นปกติ บรรเทาอาการปวดประจำเดือน ประจำเดือนมามาก ลดการเกิดสิว ลดความเสี่ยงของมะเร็งรังไข่และมะเร็งมดลูก และช่วยรักษาภาวะเยื่อบุโพรงมดลูกเจริญผิดที่ได้อีกด้วย

อย่างไรก็ตามยาเม็ดคุมกำเนิดไม่สามารถช่วยป้องกันโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ได้ หากต้องการป้องกันโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ ควรใช้ถุงยางอนามัยร่วมด้วยทุกครั้ง

ยาเม็ดคุมกำเนิดประเภทต่าง ๆ

ยาเม็ดคุมกำเนิดนั้นแบ่งออกได้เป็นฮอร์โมน 2 ประเภท 

  1. ยาฮอร์โมนรวม (เอสโตรเจนกับโปรเจสเตอโรน) ซึ่งเป็นที่นิยมใช้กันโดยทั่วไป
  2. ยาฮอร์โมนโปรเจสเตอโรนอย่างเดียว ยาคุมฉุกเฉินเป็นโปรเจสเตอโรนอย่างเดียว แนะนำกรณีฉุกเฉินเท่านั้น เหมาะสำหรับหญิงที่กำลังให้นมบุตร หรือมีประวัติโรคเลือดสมองหรือภาวะลิ่มเลือดอุดตันในหลอดเลือดดำ

ประสิทธิภาพของยาเม็ดคุมกำเนิด

ยาเม็ดคุมกำเนิดมีประสิทธิภาพในการป้องกันการตั้งครรภ์สูงที่ราว 93% เมื่อรับประทานเป็นประจำทุกวัน แต่ถ้าหากลืมรับประทานยา ประสิทธิภาพในการป้องกันการตั้งครรภ์จะลดลง สำหรับยาคุมฉุกเฉิน ประสิทธิภาพการคุมกำเนิดเพียง 60-80% ไม่แนะนำให้ใช้เป็นประจำหรือใช้เป็นวิธีคุมกำเนิดหลัก

การทำงานของยาเม็ดคุมกำเนิด

  • ระงับไม่ให้ไข่สุกหรือขัดขวางไม่ให้มีการตกไข่
  • เพิ่มความเหนียวข้นให้กับเมือกบริเวณปากมดลูก เพื่อให้อสุจิเข้าไปปฏิสนธิได้ยากขึ้น
  • ทำให้ผนังมดลูกบางลง ไม่พร้อมให้ไข่ที่ปฏิสนธิฝังตัว

Birth Control Pills Banner 3

วิธีรับประทานยาเม็ดคุมกำเนิด

อาจเริ่มรับประทานภายใน 3-5 วันแรกของการมีประจำเดือน เพื่อให้ได้ประสิทธิภาพสูงสุด

ยาเม็ดคุมกำเนิดนั้นมีหลากหลายรูปแบบ 1) แบบที่ให้มีประจำเดือนตามรอบเดือน ได้แก่ 21 เม็ด หรือ 28 เม็ด 2) แบบรับประทานยาว ๆ เช่น 84 เม็ด หรือ 365 เม็ด (ไม่ค่อยนิยม) โดยแต่ละแบบจะบรรจุตัวยาต่างกันและมีกำหนดเวลาที่ต้องรับประทานแตกต่างกันไป จึงควรรับประทานยาให้ถูกต้องถูกเวลาเพื่อประสิทธิภาพสูงสุด

ยาฮอร์โมนรวม

ในแผงยาจะบรรจุยาที่มีฮอร์โมนและยาที่ไม่มีฮอร์โมนหรือยาหลอก

  1. ยาเม็ดคุมกำเนิดแบบทั่วไป
    • ยาคุมแบบแผง 28 เม็ด ประกอบไปด้วยยาจริง 21 เม็ดและยาหลอก 7 เม็ด หรือยา 24 เม็ด ยาหลอก 4 เม็ดช่วงที่รับประทานยาหลอกมักมีเลือดคล้ายประจำเดือนออกมา หากยาหมดแผงให้เริ่มแผงใหม่ได้ทันที
    • ยาคุมแบบแผง 21 เม็ด ประกอบไปด้วยยาจริง 21 เม็ดและเว้นการรับประทานยาไป 7 วัน ซึ่งระหว่างนั้นมักมีเลือดออก จากนั้นจึงเริ่มรับประทานยาอีกครั้งในวันที่ 29  
  2. ยาฮอร์โมนโปรเจสเตอโรนอย่างเดียว
    • แบบยาจริง 28 เม็ด ซึ่งต้องรับประทานทุกวันในเวลาเดียวกัน ห่างกันได้ไม่เกิน 3 ชั่วโมง
    • แบบยาจริง 24 เม็ด และยาหลอก 4 เม็ด

หลังรับประทานยาคุมกำเนิดแล้ว ยาจะเริ่มออกฤทธิ์เมื่อไหร่?

หากเริ่มทานยาใน 3 วันแรกของการมีประจำเดือน ยาแผงนั้นจะมีประสิทธิภาพคุมกำเนิดได้ในรอบนี้เลย ยาจะเริ่มออกฤทธิ์หลังรับประทานไปได้หนึ่งสัปดาห์ ดังนั้นในสัปดาห์แรกควรใช้ถุงยางอนามัยร่วมด้วย

หากลืมรับประทานยาควรทำอย่างไร?

หากลืมรับประทานยาไป 1 วัน ควรรีบรับประทานยาโดยทันทีที่จำได้ และใช้ถุงยางอนามัยเมื่อมีเพศสัมพันธ์ในช่วง 7 วันหลังจากนั้น หากลืมรับประทานยาเป็นเวลาหลายวัน ควรปรึกษาเภสัชกรหรือแพทย์

Birth Control Pills Banner 4

สามารถรับประทานยาคุมกำเนิดควบคู่ไปกับยาอื่น ๆ ได้หรือไม่?

ขณะรับประทานยาคุมกำเนิด ควรปรึกษาแพทย์ก่อนรับประทานยาหรือผลิตภัณฑ์อาหารเสริมทุกครั้ง เพราะยาบางชนิดอาจส่งผลให้ประสิทธิภาพของยาคุมกำเนิดลดลง โดยเฉพาะยาแก้ชัก ยารักษาโรคเอดส์ หรือผลิตภัณฑ์อาหารเสริมที่ทำมาจากสมุนไพรพร้อมกับยาคุมกำเนิด

สามารถรับประทานยาคุมกำเนิดระหว่างที่ให้นมบุตรได้หรือไม่?

หากกำลังให้นมบุตร ควรเลือกรับประทานยาฮอร์โมนโปรเจสเตอโรนอย่างเดียว เพราะยาฮอร์โมนรวมซึ่งมีฮอร์โมนเอสโตรเจนเป็นส่วนประกอบอาจส่งผลให้ปริมาณน้ำนมลดลง อย่างไรก็ตามแนะนำปรึกษาแพทย์

ประโยชน์ของยาเม็ดคุมกำเนิดมีอะไรบ้าง?

  • สะดวก: รับประทานเพียงวันละ 1 เม็ด หาซื้อได้ง่าย
  • ประสิทธิภาพดี: สามารถป้องกันการตั้งครรภ์ได้ถึง 93%
  • สามารถกลับมาตั้งครรภ์ได้ทันที: หลังจากที่หยุดรับประทานยาเม็ดคุมกำเนิด

นอกจากนี้ยาเม็ดคุมกำเนิดยังช่วย

  • ลดสิว ลดขนดก
  • ทำให้ประจำเดือนมาเป็นปกติ ประจำเดือนไม่มามาก ป้องกันโรคโลหิตจาง
  • บรรเทาอาการปวดท้องประจำเดือนและปวดไมเกรนจากประจำเดือน
  • ลดอาการเหวี่ยงวีนก่อนมีประจำเดือน
  • รักษากลุ่มอาการถุงน้ำรังไข่ ภาวะเยื่อบุโพรงมดลูกเจริญภายนอกโพรงมดลูก
  • ลดความเสี่ยงของมะเร็งรังไข่ มะเร็งมดลูก และมะเร็งลำไส้ใหญ่ หากใช้ต่อเนื่องหลายปี

ยาเม็ดคุมกำเนิดช่วยป้องกันโรคติดเชื้อทางเพศสัมพันธ์ได้หรือไม่?

ยาเม็ดคุมกำเนิดไม่สามารถช่วยป้องกันโรคติดเชื้อทางเพศสัมพันธ์ได้ ไม่ว่าจะเป็นโรคหนองในเทียม โรคเริม โรค HIV หรือเชื้อ HPV

การรับประทานยาเม็ดคุมกำเนิดมีผลข้างเคียงอะไรบ้าง?

เมื่อเริ่มรับประทานยาเม็ดคุมกำเนิด อาจมีอาการข้างเคียง เช่น เวียนศีรษะ คลื่นไส้ หงุดหงิดง่าย คัดหน้าอก มีเลือดออกกระปริดกระปรอย ซึ่งอาการเหล่านี้จะดีขึ้นหรือหายได้เองหลังรับประทานยาไปแล้ว 2-3 เดือน หากอาการไม่หายไปหรือมีอาการรุนแรง ควรปรึกษาแพทย์เพื่อเปลี่ยนตัวยาหรือเข้ารับการตรวจวินิจฉัย ผลข้างเคียงที่รุนแรงแต่พบได้น้อย ได้แก่ ลิ่มเลือดอุดตัน ก้อนเนื้อที่เต้านมหรือมะเร็งเต้านม หากใช้ยาเป็นระยะเวลานานกว่า 5-10 ปี

การรับประทานยาคุมกำเนิดจะส่งผลให้น้ำหนักตัวเพิ่มขึ้นหรือลดลงหรือไม่?

ยาคุมกำเนิดไม่ส่งผลต่อน้ำหนักตัว

ข้อห้ามหรือข้อควรระวังในการใช้ยาเม็ดคุมกำเนิด

ผู้ที่มีปัญหาสุขภาพดังต่อไปนี้ไม่ควรรับประทานยาเม็ดคุมกำเนิด

  • ผู้ที่มีลิ่มเลือดอุดตันไม่ว่าจะที่ขาหรือปอดไม่ควรรับประทานยาเม็ดคุมกำเนิดแบบฮอร์โมนรวม
  • ผู้ป่วยมะเร็งมดลูกหรือมะเร็งเต้านม
  • ผู้ที่ความดันโลหิตสูงที่ควบคุมไม่ดี
  • ผู้ที่สูบบุหรี่ที่อายุ > 35 ปี
  • ผู้ที่มีประวัติโรคหลอดเลือดสมอง โรคหัวใจ
  • ผู้ที่ปวดหัวไมเกรนรุนแรง
  • ผู้ที่มีเลือดออกผิดปกติทางช่องคลอดโดยยังไม่ทราบสาเหตุ
  • ผู้ป่วยโรคตับ

ทั้งนี้ผู้ที่มีโรคประจำตัว แนะนำปรึกษาแพทย์ก่อนใช้ยา

บทความโดย

เผยแพร่เมื่อ: 14 ส.ค. 2023

แชร์

แพทย์ที่เกี่ยวข้อง

  • Link to doctor
    พญ. อสมา วาณิชตันติกุล

    พญ. อสมา วาณิชตันติกุล

    • สูติศาสตร์และนรีเวชวิทยา
    • ผ่าตัดส่องกล้องทางนรีเวช
    Gynecologic Oncology, Gynecologic Endoscopy, Minimally Invasive Surgery, Sexual Medicine