ค่าดัชนีมวลกาย ค่า BMI (Body Mass Index)
ค่าดัชนีมวลกาย หรือ ค่า BMI เป็นเครื่องมือที่ใช้ประมาณการระดับไขมันในร่างกาย โดยคำนวณจากน้ำหนักตัว (กิโลกรัม) หารด้วยส่วนสูงยกกำลังสอง (หน่วยเป็นเมตร) หากค่าที่ได้นั้นสูงแสดงถึงระดับไขมันในร่างกายที่น่าจะสูงด้วยเช่นกัน อย่างไรก็ตามการใช้ค่าดัชนีมวลกายเพียงอย่างเดียวไม่สามารถประเมินสุขภาพโดยรวมและความเสี่ยงที่บุคคลนั้น ๆ มีได้ จึงมักจำเป็นต้องทำการตรวจประเมินด้วยวิธีอื่น ๆ ร่วมด้วย
วิธีการคำนวณค่าดัชนีมวลกาย
ค่าดัชนีมวลกาย =
ยกตัวอย่างเช่น ส่วนสูง 156 เซนติเมตร น้ำหนัก 45 กิโลกรัม ค่าดัชนีมวลกาย คือ 18.5 กิโลกรัม/เมตร2
ค่าดัชนีมวลกาย 18.5 =
การแบ่งประเภทน้ำหนักด้วยค่าดัชนีมวลกาย
ค่าดัชนีมวลกาย | น้ำหนัก |
ต่ำกว่า 18.5 | น้อยกว่าเกณฑ์ |
18.5 - 22.9 | ตามเกณฑ์ |
23 - 24.9 | มากกว่าเกณฑ์ |
25 - 29.9 | โรคอ้วนระดับที่ 1 |
สูงกว่า 30 | โรคอ้วนระดับที่ 2 |
สูงกว่า 40 | โรคอ้วนระดับที่ 3 |
การที่มีไขมันส่วนเกินอาจส่งผลต่อปัญหาสุขภาพ เช่น โรคหัวใจ โรคหลอดเลือดสมอง และโรคเบาหวานประเภทที่ 2 ในขณะที่การที่มีไขมันในร่างกายไม่เพียงพออาจหมายถึงการขาดสารอาหารและอาจนำไปสู่ภาวะแทรกซ้อนต่าง ๆ การมีปริมาณไขมันที่เหมาะสมจึงเป็นเรื่องที่จำเป็นเพราะไขมันเป็นแหล่งพลังงานที่สำคัญและยังทำหน้าที่ปกป้องอวัยวะภายใน ไขมันใต้ชั้นผิวหนังช่วยควบคุมอุณหภูมิในร่างกายและในร่างกายช่วยเก็บสะสมวิตามินที่ละลายในไขมัน เช่น วิตามินเอ วิตามินดี และวิตามินอี
นอกจากการใช้ค่าดัชนีมวลกายแบ่งประเภทของน้ำหนักแล้ว ยังจำเป็นต้องใช้เครื่องมือวัดอื่น ๆ ร่วมด้วย เช่น
- รอบเอว
- เครื่องวัดความหนาของผิวหนังเพื่อวัดความหนาของผิวหนังเฉพาะบริเวณ เช่น ใต้กระดูกสะบักและหลังแขน
- Air Displacement Plethysmography (ADP) และ Dual-Energy X-Ray Absorptiometry (DEXA)
ทั้งนี้ในการประเมินน้ำหนักตัวของเด็กและวัยรุ่น ควรพูดคุยปรึกษาแพทย์เพราะจำเป็นต้องดูตารางน้ำหนักที่เหมาะสมกับวัยและส่วนสูงประกอบด้วย
การคัดกรองความเสี่ยงของโรคด้วยค่าดัชนีมวลกาย
ผู้ที่มีค่าดัชนีมวลกายต่ำกว่า 18.5 มีความเสี่ยงที่มีภาวะทุพโภชนาการ โลหิตจาง กระดูกพรุน มีบุตรยาก และภูมิคุ้มกันต่ำซึ่งอาจส่งผลให้ติดเชื้อได้ง่าย การตรวจเลือดเพิ่มเติมจะสามารถช่วยยืนยันว่ามีภาวะทุพโภชนาการหรือไม่
ผู้ที่มีค่าดัชนีมวลกายสูง (น้ำหนักเกินหรือโรคอ้วน) จะมีความเสี่ยงที่จะเป็นโรคเบาหวานประเภทที่ 2 โรคหัวใจ ความดันโลหิตสูง นิ่วในถุงน้ำดี โรคข้อเสื่อม ภาวะหยุดหายใจขณะนอนหลับ โรคซึมเศร้า ปัญหาทางสุขภาพจิต และมะเร็งในทรวงอก ลำไส้ใหญ่ เยื่อบุมดลูก และถุงน้ำดี หากค่าดัชนีมวลกายสูง แพทย์อาจให้ตรวจไขมันในเลือด (lipid panel) และ comprehensive metabolic panel เพิ่มเติม
ทั้งนี้ผู้ที่มีค่าดัชนีมวลกายสูงบางคนอาจไม่มีปัญหาสุขภาพดังกล่าว และผู้ที่มีค่าดัชนีมวลกายปกติก็อาจเป็นโรคดังกล่าวได้ เนื่องจากระดับไขมันในร่างกายไม่ใช่ปัจจัยเพียงปัจจัยเดียว ยังมีปัจจัยทางด้านพันธุกรรม ประวัติสุขภาพของครอบครัว และการดำเนินชีวิตร่วมด้วย
ข้อจำกัดของการใช้ค่าดัชนีมวลกาย
ค่าดัชนีมวลกายเป็นวิธีที่ช่วยประเมินไขมันในร่างกายอย่างง่ายและรวดเร็ว แต่การใช้ค่าดัชนีมวลกายมีข้อจำกัดดังต่อไปนี้
- ค่าดัชนีมวลกายไม่สามารถแยกมวลกล้ามเนื้อกับมวลไขมันได้ บางคนอาจมีค่าดัชนีมวลกายสูงเนื่องจากมีกล้ามเนื้อมาก
- ค่าดัชนีมวลกายไม่เหมาะกับการใช้ประเมินระดับไขมันของเด็ก วัยรุ่น หญิงตั้งครรภ์ นักกีฬา นักเพาะกาย ผู้สูงอายุที่อายุตั้งแต่ 65 ปีหรือมากกว่า หรือผู้ที่เป็นโรคกล้ามเนื้ออ่อนแรง
- ค่าดัชนีมวลกายไม่สามารถระบุตำแหน่งหรือการกระจายของไขมันในร่างกายได้ การสะสมของไขมันส่วนเกินในท้องเกี่ยวข้องกับความเสี่ยงทางด้านปัญหาสุขภาพที่เพิ่มมากขึ้น
เมื่อพิจารณาข้อจำกัดเหล่านี้แล้ว จึงควรใช้ค่าดัชนีมวลกายควบคู่ไปกับการประเมินวิธีอื่น ๆ การพิจารณาปัจจัยต่าง ๆ เช่น ประวัติสุขภาพของครอบครัว และปรึกษาแพทย์เพื่อการประเมินสุขภาพและความเสี่ยงอย่างครอบคลุมและเหมาะสม
ประเมินดัชนีมวลกายของคุณ เพื่อรับคำแนะนำจากผู้เชี่ยวชาญเฉพาะทาง