EQ (Emotional quotient) ความฉลาดทางอารมณ์
EQ (Emotional quotient) หรือ ความฉลาดทางอารมณ์ คือความสามารถในการรับรู้ ควบคุม และจัดการอารมณ์ของตนเองได้อย่างชาญฉลาดและเหมาะสมกับสถานการณ์ มีจิตใจที่มั่นคง มองโลกในแง่ดี มีความประพฤติปฏิบัติดี มีมารยาททางสังคม ความฉลาดทางอารมณ์นำไปสู่การเป็นผู้ที่มีวุฒิภาวะทางอารมณ์ มีความเห็นอกเห็นใจผู้อื่น และสามารถใช้ชีวิตอยู่ร่วมกันในสังคมได้อย่างมีความสุข
EQ หรือ ความฉลาดทางอารมณ์สำคัญอย่างไร?
ความสำคัญของ EQ หรือความฉลาดทางอารมณ์ คือการเป็นปัจจัยสำคัญในการสนับสนุนส่งเสริม IQ หรือความฉลาดทางสติปัญญาของบุคคลให้สามารถประสบความสำเร็จในชีวิตได้ EQ ช่วยให้รับมือกับปัญหาและอุปสรรคได้อย่างมีสติ ช่วยให้ตระหนักรู้เท่าทันอารมณ์ของตนเองและผู้อื่น ช่วยให้สามารถควบคุม ดูแล จัดการอารมณ์ได้อย่างมีประสิทธิภาพ ความฉลาดทางอารมณ์จะช่วยให้เผชิญหน้ากับสถานการณ์ที่มีความตึงเครียด กดดัน และมีความยากลำบากให้สามารถตัดสินใจได้อย่างสงบ และช่วยให้ค้นพบทางออกให้กับปัญหาได้อย่างดี ความสำคัญของ EQ ได้แก่
- ช่วยให้ประสบความสำเร็จในชีวิต เมื่อ IQ และ EQ ส่งเสริมซึ่งกันและกันอย่างเหมาะสม
- ช่วยให้สามารถปรับตัวอยู่ร่วมกับผู้อื่นได้อย่างเป็นปกติสุข
- ช่วยให้มีวุฒิภาวะ รู้สำนึกผิดชอบชั่วดี มีสติยับยั้งชั่งใจ ไม่ทำพฤติกรรมที่ไม่เหมาะสม
- มีความเห็นอกเห็นใจผู้อื่น มีจิตสำนึกสาธารณะ และมีน้ำใจเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่
- ช่วยให้มองโลกในแง่ดี มีความสุข ไม่เครียด และช่วยให้รู้สึกพึงพอใจในตนเอง
ความฉลาดทางอารมณ์ มีกี่ประการ?
ความฉลาดทางอารมณ์ สามารถจำแนกออกได้เป็น 5 ประการ ได้แก่
- ความสามารถในการตระหนักรู้อารมณ์ตนเอง (Self-Awareness) เป็นผู้ที่มีความสามารถในการตระหนักรู้อารมณ์ของตนเองที่ส่งผลต่อความคิดและพฤติกรรม รู้จุดแข็งและจุดอ่อน และมีความเชื่อมั่นในตนเอง
- ความสามารถในการจัดการอารมณ์ของตนเอง (Self-management) เป็นผู้ที่มีความสามารถในการควบคุม ดูแล จัดการอารมณ์ตนเองได้ เป็นผู้ที่คิดก่อนทำ เป็นผู้ที่เปิดรับ และสามารถปรับเปลี่ยนตามสถานการณ์ได้
- ความสามารถในการตระหนักรู้อารมณ์ผู้อื่น (Social-Awareness) เป็นผู้ที่มีความเห็นอกเห็นใจ รับรู้ร่วมรู้สึกอารมณ์ของผู้อื่น เข้าใจธรรมชาติทางอารมณ์ของผู้อื่น และมีวิธีการปฏิบัติต่อผู้อื่นอย่างเหมาะสม
- ความสามารถในการบริหารจัดการความสัมพันธ์กับผู้อื่น (Relationship management) เป็นผู้ที่มีความสามารถให้การพัฒนาและรักษาความสัมพันธ์กับผู้อื่นได้ดี สามารถสื่อสารได้อย่างชัดเจน เข้าใจง่าย สามารถเป็นแบบอย่างและสร้างแรงบันดาลใจให้กับผู้อื่น ทำงานเป็นทีมร่วมกันกับผู้อื่นได้เป็นอย่างดี และสามารถแก้ไขความขัดแย้งได้
- ความสามารถในการสร้างแรงจูงใจให้ตนเอง (Self-Motivation) เป็นผู้ที่มีความปรารถนาอันแรงกล้าที่จะทำสิ่งใดสิ่งหนึ่งเพื่อให้บรรลุเป้าหมาย มีความอุตสาหะพยายาม ไม่ย่อท้อต่ออุปสรรค
องค์ประกอบของความฉลาดทางอารมณ์ มีกี่ด้าน?
องค์ประกอบของความฉลาดทางอารมณ์ แบ่งออกเป็น 3 ด้าน ดังนี้
ด้านดี
- มีทักษะความพร้อมทางด้านอารมณ์ที่จะสามารถอยู่ร่วมกับผู้อื่นได้ รู้จักควบคุมอารมณ์ตนเอง เมื่อทำผิดพลาดสามารถยอมรับการกระทำของตนเองได้ เมื่อผู้อื่นทำผิดพลาด รู้จักให้อภัย รู้จักการให้และการรับ
- มีความสามารถในการรับรู้และเข้าใจอารมณ์ของผู้อื่น รู้จักเห็นอกเห็นใจผู้อื่น เข้าใจและยอมรับในตัวผู้อื่น แสดงออกซึ่งความเห็นใจอย่างเหมาะสม
- มีจิตสำนึกสาธารณะ มีความรับผิดชอบต่อส่วนรวม เห็นแก่ประโยชน์ส่วนรวม สามารถสร้างแรงบันดาลใจให้ตนเองและผู้อื่นได้
ด้านเก่ง
- มีแรงจูงใจในการพัฒนาตนเองให้ประสบความสำเร็จ มีความเพียรพยายามในการพัฒนาตนเองให้ดียิ่งขึ้น รู้จักศักยภาพตนเอง มีความเชื่อมั่นในตนเอง
- สามารถปรับตัวเพื่อรับมือกับปัญหาและสถานการณ์ต่าง ๆ ได้ มีความสามารถในการรับรู้และเข้าใจปัญหา การตัดสินใจเพื่อแก้ปัญหา มีขั้นตอนในการแก้ปัญหาได้อย่างเหมาะสม มีความยืดหยุ่น
- มีความสามารถในการสร้างสัมพันธภาพที่ดีกับผู้อื่น กล้าแสดงออกอย่างเหมาะสม กล้าแสดงความเห็นที่แตกต่างอย่างสร้างสรรค์ สามารถแรงจูงใจในการทำงานและการใช้ชีวิตให้ตนเองและผู้อื่นได้ มีความมุ่งมั่นที่จะไปให้ถึงเป้าหมาย
ด้านสุข
- เป็นผู้ที่มีทัศนคติที่ดี เป็นผู้ที่คิดบวก มีความภูมิใจในตนเอง มองเห็นคุณค่าในตนเอง มีความนับถือตนเอง
- เป็นผู้ที่สามารถปรับใจ และสามารถสร้างกำลังใจให้ตนเองได้แม้เผชิญกับความผิดหวัง ท้อแท้ หรือเสียใจ
- มีความพึงพอใจในตนเอง เป็นผู้มีอารมณ์ขัน มีกิจกรรมเสริมสร้างความสุข รู้จักผ่อนคลายตนเอง มีความสงบทางจิตใจ
การพัฒนา EQ หรือ ความฉลาดทางอารมณ์ มีวิธีการอย่างไร?
จุดประสงค์ของการพัฒนา EQ หรือความฉลาดทางอารมณ์ คือการช่วยให้เข้าใจตนเองอย่างลึกซึ้ง ช่วยให้ตะหนักรู้ สามารถควบคุม และจัดการอารมณ์ของตนเองได้อย่างผู้ที่มีวุฒิภาวะ ช่วยให้เข้าใจอารมณ์ที่ส่งผลต่อความคิดและการกระทำ และนำไปสู่การบริหารจัดการอารมณ์ ตลอดจนทักษะในการสื่อสารกับผู้อื่นได้อย่างมีประสิทธิภาพ แนวทางในการพัฒนา EQ หรือ ความฉลาดทางอารมณ์ มีวิธีการดังต่อไปนี้
ฝึกการเจริญสติ ตระหนักรู้ในตนเอง (Practicing self-awareness)
การฝึกการเจริญสติ หรือการฝึกสมาธิเพื่อให้ตระหนักรู้เท่าทันอารมณ์ตนเอง และสามารถตอบสนองอารมณ์นั้นต่อบุคคลอื่นได้อย่างเหมาะสม เช่น รู้ว่าขณะนี้กำลังโกรธ หรือเสียใจก็สามารถระงับความโกรธ หรือความเสียใจนั้น รู้จักข่มใจและแสดงออกอย่างเหมาะสม พร้อมทั้งเจรจาด้วยเหตุและผล ทั้งนี้เพื่อเป็นการฝึกสติและการตระหนักรู้ อาจทดลองจดบันทึกเหตุผลที่ทำให้รู้สึกโกรธ โมโห ดีใจ หรือเสียใจ และให้กำลังใจตนเองที่สามารถใจเย็นและรับมือกับสถานการณ์ที่ยากลำบากนั้น ๆ ได้
การตระหนักรู้ความรู้สึกของผู้อื่น (Recognizing how other feeling)
นอกจากการตระหนักรู้อารมณ์ตนเองแล้ว การตระหนักรู้อารมณ์ผู้อื่นก็เป็นคุณสมบัติสำคัญในการเป็นผู้มีความฉลาดทางอารมณ์ ให้ประเมินความรู้สึก รับรู้ และความเข้าใจของผู้อื่นต่อการสื่อสารของเราทั้งคำพูด อารมณ์ และพฤติกรรม เพื่อนำไปสู่การพัฒนา และสามารถปรับวิธีการสื่อสารของเราให้สอดคล้องกับสถานการณ์ โดยอาจขอให้เพื่อนสนิท หรือผู้ใหญ่ที่สนิทประเมินวิธีการพูด การสื่อสาร รวมทั้งประเมินความรู้สึกที่ได้รับหลังจบการสนทนา พร้อมทั้งขอคำแนะนำ ติชมเพื่อนำไปพัฒนา
การฝึกฝนทักษะการฟัง (Practicing active listening skill)
การสื่อสารของผู้คนในสังคม มีทั้งการใช้ภาษาและอวัจนภาษา การฟังผู้พูดอย่างตั้งใจ การจับประเด็น น้ำเสียง หรือท่าทางรวมถึงปฏิกิริยาทั้งเชิงบวกและลบถือเป็นเรื่องสำคัญ การตั้งใจฟังคู่สนทนาอย่างตั้งใจ ยังเป็นการแสดงออกซึ่งความเคารพให้เกียรติผู้พูด และเป็นการสร้างสัมพันธภาพที่ดีระหว่างบุคคล ในการฝึกการฟัง ผู้ฝึกอาจลองจับประเด็น ใจความสำคัญ น้ำเสียง ท่าทาง และอาจจดบันทึกและทบทวนสิ่งที่ผู้พูดพูดเพื่อเน้นย้ำสิ่งที่ต้องการ ทั้งนี้เพื่อความเข้าใจที่ตรงกัน
ฝึกการสื่อสารที่ชัดเจนและตรงประเด็น (Clear and concise communication)
ทักษะการสื่อสารที่ดีเป็นเครื่องบ่งชี้ความฉลาดทางอารมณ์ การสื่อสารที่ชัดเจนและตรงประเด็นอย่างเหมาะสม และการกล้าแสดงความเห็นที่แตกต่างอย่างสร้างสรรค์จะช่วยให้บรรลุเป้าหมายการทำงานร่วมกัน ในการฝึกการสื่อสารแบบกลุ่มให้สอบถามกลุ่มผู้ฟัง หรือทบทวนซ้ำเพื่อความเข้าใจที่ตรงกัน และอาจสื่อสารผ่านช่องทางอื่น ๆ ซ้ำเพื่อช่วยเตือนความจำ
ฝึกการเป็นผู้คิดบวก (Practicing positive mindset)
ความคิดเชิงบวกเป็นพื้นฐานสำคัญของความฉลาดทางอารมณ์ การยืนหยัดในความคิดเชิงบวกอย่างมั่นคงแม้ในสถานการณ์ที่ตึงเครียดจะช่วยให้หาทางออกให้กับปัญหาได้ และยังช่วยให้บุคคลรอบข้างสามารถสงบสติอารมณ์ได้ การเป็นคนคิดเชิงบวก ยังช่วยส่งเสริมการแก้ปัญหาและการทำงานร่วมกันเป็นทีม ในสังคมการทำงาน การแสดงความคิดเห็นเชิงลบอาจเป็นเรื่องปกติ แต่การฝึกการมองโลกในแง่บวก จะช่วยลดความตึงเครียด และช่วยให้พบทางออกของปัญหาได้
การแสดงความรู้สึกเห็นใจต่อผู้อื่น (Empathizewith others)
การตระหนักรู้ความรู้สึกของผู้อื่นเป็นคุณสมบัติที่สำคัญอีกประการของผู้ที่มีความฉลาดทางอารมณ์ การปลอบประโลมผู้อื่นเมื่อเผชิญกับความเศร้า เสียใจ และการแสดงความเห็นอกเห็นใจในสถานการณ์ที่ยากลำบากเป็นการช่วยยกระดับจิตใจ ช่วยให้สังคมน่าอยู่ และช่วยพัฒนาความฉลาดทางอารมณ์ไนระดับที่สูงขึ้น
การเปิดกว้าง ยอมรับความคิดเห็นที่แตกต่าง (Open-mindedness)
ผู้ที่มีความฉลาดทางอารมณ์มักเข้าถึงง่าย เนื่องจากการเป็นผู้ที่มีทักษะในการฟังที่ดี สามารถพิจารณา และเข้าใจมุมมอง ทางความคิดของผู้อื่นได้ เป็นผู้ที่เปิดรับการเรียนรู้สิ่งใหม่ แนวคิดใหม่ นวัตกรรมใหม่ ๆ แม้ว่าจะต้องใช้เวลาในการศึกษาทำความเข้าใจ แต่สุดท้ายก็จะสามารถนำสิ่งที่พิจารณาแล้วว่าเป็นประโยชน์มาประยุกต์ใช้ในชีวิตประจำวันได้
การรับฟังคำติชม ข้อเสนอแนะ และความคิดเห็นของผู้อื่น (Listening to others' feedback)
ผู้ที่มีความฉลาดทางอารมณ์เป็นผู้ที่เปิดกว้าง สามารถรับฟังคำติชม ข้อเสนอแนะ และความคิดเห็นจากผู้อื่นเพื่อนำมาต่อยอดพัฒนาตนเอง รวมถึงยินดีที่จะปรับปรุงวิธีการสื่อสารกับผู้อื่น แม้ความคิดเห็น หรือวิธีปฏิบัตินั้นอาจทำให้รู้สึกลำบากในการนำมาประยุกต์ใช้ แต่ผู้ที่มีความฉลาดทางอารมณ์จะถือเป็นโอกาสในการเรียนรู้และเติบโต
ความสามารถในการอยู่ได้อย่างสงบภายใต้สถานการณ์กดดัน (Remain calm under pressure)
ผู้ที่มีความฉลาดทางอารมณ์คือผู้ที่สามารถรับมือกับสถานการณ์ที่ตึงเครียด กดดัน ด้วยท่าทีสงบและคิดบวก โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อต้องทำงานภายใต้ระยะเวลาที่กำหนด ดังนั้น ความสามารถในการรักษาตนเองให้อยู่ในความสงบ โฟกัสไปที่เป้าหมาย และมุ่งมั่นจนสำเร็จถือเป็นคุณสมบัติเด่นของผู้ที่มีความฉลาดทางอารมณ์ เมื่อต้องเผชิญกับสถานการณ์กดดัน ให้ลองตั้งสติ กำหนดลมหายใจเข้า-ออก ลึก ๆ เรียงลำดับความสำคัญที่ต้องทำก่อน-หลัง โดยอาจขอความช่วยเหลือจากผู้อื่นในการช่วยให้สงบสติอารมณ์ และตั้งสติ
EQ ความฉลาดทางอารมณ์ คุณสมบัติสำคัญสู่การประสบความสำเร็จในชีวิต
การมี IQ สูง หรือมีความฉลาดทางสติปัญญาที่ดีเพียงอย่างเดียวอาจไม่เพียงพอที่จะทำให้ประสบความสำเร็จในชีวิตได้ ในทางกลับกัน ผู้ที่มี IQ ธรรมดาแต่มี EQ สูงจะช่วยทำให้ประสบความสำเร็จได้เป็นอย่างดีและมีความสุขอย่างยั่งยืน การเป็นผู้มี EQ สูง หรือมีความฉลาดทางอารมณ์มาก จะช่วยให้เรียนรู้ได้ดี ช่วยให้คิดดี พูดดี ทำดี ช่วยยกระดับอารมณ์และจิตใจ และช่วยสร้างแรงบันดาลใจไปสู่ความสำเร็จ
บทความโดย
พญ.ฐิติพร ศุภสิทธิ์ธำรง
จิตแพทย์ผู้ชำนาญการด้านจิตเวชศาสตร์ผู้สูงอายุ
ประวัติแพทย์