ปวดหัวข้างขวา อันตรายไหม เกิดจากอะไรได้บ้าง? - Is a right-sided headache a cause for concern?

ปวดหัวข้างขวา อันตรายไหม เกิดจากอะไรได้บ้าง

หลายคนอาจเคยเจอกับอาการ ปวดหัวข้างขวา อยู่บ่อย ๆ จนบางทีก็นึกสงสัย มันเกิดจากสาเหตุอะไร แล้วทำไมต้องปวดข้างนี้ อาการปวดหัว มีหลากหลาย ต่างบริเวณ ต่างสาเหตุ แต่การปวดหัวข้างใดข้างหนึ่งจะเป็นหนึ่งในอาการยอดฮิตที่พบได้บ่อย

แชร์

ปวดหัวข้างขวา อันตรายไหม เกิดจากอะไรได้บ้าง?

หลายคนอาจเคยเจอกับอาการ ปวดหัวข้างขวา อยู่บ่อย ๆ จนบางทีก็นึกสงสัย มันเกิดจากสาเหตุอะไร แล้วทำไมต้องปวดข้างนี้ อาการปวดหัว มีหลากหลาย ต่างบริเวณ ต่างสาเหตุ แต่การปวดหัวข้างใดข้างหนึ่งจะเป็นหนึ่งในอาการยอดฮิตที่พบได้บ่อยทีเดียว วันนี้เราจะมาช่วยหาต้นตอของอาการปวดหัวข้างขวา พร้อมทั้งแนะนำวิธีรับมือในเบื้องต้น

ทำไมถึงปวดหัวข้างขวา 

อาการปวดหัวมีประมาณ 300 ชนิด การที่เราปวดหัวข้างขวา หรือข้างใดข้างหนึ่ง ก็อาจเกิดได้จากหลายสาเหตุ ทั้งที่มีพยาธิสภาพในสมองชัดเจน และที่ไม่มีพยาธิสภาพ ดังนี้

สาเหตุทางระบบประสาท

หากเกิดความผิดปกติภายในสมอง อาจก่อให้เกิดอาการปวดหัวได้ ดังนี้

  1. ไมเกรน (Migraines)
    ไมเกรน คือโรคทางประสาทวิทยาชนิดหนึ่ง ส่งผลให้เกิดอาการปวดตุบ ๆ เป็นจังหวะอย่างรุนแรงบริเวณข้างใดข้างหนึ่งของศีรษะ มักมาพร้อมอาการอื่น ๆ อาทิ คลื่นไส้ อาเจียน ไวต่อแสงและเสียง
  2. ปวดหัวจากความเครียดและกล้ามเนื้อตึงตัว (Tension headaches)
    ปวดหัวจากความเครียดและกล้ามเนื้อตึงตัว คืออาการปวดตึงที่ศีรษะ ส่วนใหญ่เกิดขึ้นทั้งสองข้าง อาจรู้สึกเหมือนถูกหนีบ บางครั้งก็ลามไปถึงลำคอและไหล่ เป็นอาการปวดหัวที่พบได้บ่อย เกิดจากความตึงเครียด เหนื่อยล้า
  3. ใช้ยาแก้ปวดมากเกินไป
    ใช้ยาแก้ปวดมากเกินไป บางครั้ง อาการปวดหัว อาจเป็นผลข้างเคียงจากการรับประทานยาแก้ปวดมากเกินไป ซึ่งมีทั้งยาตามแพทย์สั่ง และยาทั่วไป อาทิ อะเซตามิโนเฟน (Acetaminophen) หรือ ไทลินอล (Tylenol) แอสไพริน (Aspirin) ไอบูโพรเฟน (Ibuprofen)
    อาการปวดหัวในกรณีนี้เรียกว่า การปวดศีรษะแบบรีบาวด์ (Rebound headache) เป็นอาการปวดหัวที่เกิดมาจากการใช้ยาแก้ปวดมากเกินไป ทำให้ยาแก้ปวดนั้นบรรเทาปวดได้ในระยะสั้น ๆ และเมื่อยาหมดฤทธิ์ จึงก่อให้เกิดอาการปวดหัวมากขึ้น
  4. ปวดหัวแบบคลัสเตอร์ (Cluster headaches)
    ปวดหัวแบบคลัสเตอร์ คืออาการปวดรุนแรงรอบ ๆ ดวงตาข้างใดข้างหนึ่ง และอาจกระจายไปยังบริเวณอื่นของศีรษะ ใบหน้า เป็นอาการที่พบมากในผู้ชาย

สาเหตุทางระบบประสาทที่พบได้ แต่ไม่บ่อย

  • เส้นประสาทต้นคอหรือท้ายทอยอักเสบ (Occipital neuralgia) คือเส้นประสาทส่วนที่เชื่อมตั้งแต่บริเวณด้านบนไขสันหลังไปจนถึงต้นคอได้รับบาดเจ็บ หรืออักเสบ ทำให้เกิดอาการปวดศีรษะบริเวณด้านหลัง
  • หลอดเลือดแดงอักเสบ (Temporal arteritis) คือหลอดเลือดแดงบริเวณขมับอักเสบ ทำให้เกิดอาการปวดบริเวณขมับ และปวดกราม
  • โรคปวดเส้นประสาทใบหน้า (Trigeminal neuralgia) คืออาการปวดเส้นประสาทสมองคู่ที่ 5 จึงทำให้เกิดอาการปวดบริเวณใบหน้ารวมถึงอาการปวดหัว เมื่อเกิดอาการปวดแต่ละครั้ง มักเป็นข้างใดข้างหนึ่ง

สาเหตุอื่น ๆ 

นอกจากนี้ยังมีสาเหตุอื่น ๆ ที่อาจก่อให้เกิดอาการปวดทั้งศีรษะ และปวดหัวข้างเดียว เช่น

  • โรคภูมิแพ้
  • โรคเส้นเลือดสมองโป่งพอง (Cerebral Aneurysm)
  • ความเหนื่อยล้า
  • ได้รับบาดเจ็บที่ศีรษะ
  • การติดเชื้อ และไซนัสอักเสบ
  • ความผันผวนของระดับน้ำตาลในเลือดจากการอดอาหาร
  • เกิดการหดเกร็งของกล้ามเนื้อบริเวณคอ
  • มีเนื้องอก

วิธีบรรเทาอาการปวดหัวเบื้องต้น

อาการปวดหัวส่วนมากสามารถบรรเทาได้ด้วยตัวเองที่บ้าน ดังนี้

  • ประคบอุ่นหรือประคบเย็นบริเวณหลังคอ
  • หลีกเลี่ยงอาหารที่กระตุ้นให้ปวดหัว เช่น เครื่องดื่มแอลกอฮอล์ เครื่องดื่มที่มีคาเฟอีน อาหารที่มีผงชูรส
  • ดื่มน้ำอย่างเพียงพอ
  • นอนหลับ พักสายตา
  • หากเกล้าผมแน่นหรือตึงเกินไป ให้คลายออก
  • กดนวดกล้ามเนื้อที่ตึงบริเวณคอและไหล่
  • หลีกเลี่ยงแสงจ้า วูบวาบ สถานที่ที่มีเสียงดัง และมีกลิ่นแรง
  • อาบน้ำ
  • พักผ่อนให้เพียงพอ
  • ใช้น้ำมันหอมระเหยที่ช่วยให้ผ่อนคลาย เช่น ลาเวนเดอร์ สะระแหน่
  • รับประทานยาแก้ปวดประเภทที่สามารถซื้อรับประทานเองได้ 

Right Sided Headache Banner 2

เมื่อไรควรไปหาหมอ

อาการปวดหัวหลายแบบ สามารถหายเองได้โดยไม่ต้องทำอะไร แต่ในกรณีปวดหัวรุนแรง ปวดหัวโดยไม่เคยปวดมาก่อน หรือปวดมากขึ้นแม้กระทั่งกินยาแก้ปวดแล้วก็ตาม รวมไปถึง มีอาการทางระบบประสาทอื่น ๆ ตามที่ระบุด้านล่าง ควรรีบไปพบแพทย์

  • การมองเห็นที่เปลี่ยนไปจากเดิม เห็นภาพเบลอ เห็นภาพซ้อน
  • เกิดความสับสน
  • มีไข้
  • ได้รับบาดเจ็บที่ศีรษะ
  • เคลื่อนไหวแล้วปวดหัวยิ่งขึ้น
  • คอแข็ง (Stiff Neck) กล้ามเนื้อลำคอด้านหลังแข็งเกร็ง
  • มีผื่น
  • ปวดหัวจนนอนไม่ได้
  • พูดไม่ชัด
  • อ่อนแรง (Weakness)

ประเมินอาการปวดศีรษะ พบสาเหตุ รักษาได้ 

อาการปวดหัว ดูเหมือนเป็นเรื่องเล็ก แต่เมื่ออาการเกิดขึ้นบ่อย ๆ จนเรื้อรังและรบกวนชีวิตประจำวัน ควรพบแพทย์เพื่อ ประเมินอาการปวดศีรษะ ซึ่งแพทย์จะประเมินอาการโดยละเอียด เพื่อหาสาเหตุ และวางแนวทางการรักษาได้อย่างเหมาะสมกับผู้ป่วยในแต่ละราย ตรงจุดและรวดเร็ว บอกลาอาการปวดหัวที่คอยกวนใจ ไม่ว่าปวดหัวข้างไหน หรือปวดแบบไหนก็หายห่วง

บทความโดย

เผยแพร่เมื่อ: 05 ก.ย. 2023

แชร์