อาหารไอโอดีนต่ำ คู่มือสำหรับผู้ป่วยเตรียมรับการรักษาด้วยไอโอดีน-131
อาหารไอโอดีนต่ำ คืออะไร? การรับประทานอาหารไอโอดีนต่ำเป็นการจำกัดปริมาณไอโอดีนในแต่ละวันให้ น้อยกว่า 50 ไมโครกรัม เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการดูดซึม ไอโอดีน-131 (I-131) ซึ่งใช้ในการรักษา มะเร็งต่อมไทรอยด์ และภาวะ ต่อมไทรอยด์เป็นพิษ
ผู้ป่วยควรเริ่มควบคุมการรับประทานอาหารไอโอดีนต่ำอย่างเคร่งครัดเป็นเวลา 1–2 สัปดาห์ก่อนการรักษามะเร็งต่อมไทรอยด์และภาวะต่อมไทรอยด์เป็นพิษด้วยการกลืนไอโอดีน-131และต่อเนื่องอีก 5–7 วันหลังการรักษา
อาหารที่ควรหลีกเลี่ยง
เพื่อควบคุมปริมาณไอโอดีนในร่างกาย ผู้ป่วยควรหลีกเลี่ยงอาหารและผลิตภัณฑ์ต่อไปนี้
- อาหารและเครื่องปรุงที่มีไอโอดีนสูง
- เกลือที่มีส่วนผสมของไอโอดีน
- อาหารทะเลและผลิตภัณฑ์จากทะเล เช่น สาหร่าย ปลาหมึก กุ้ง ปลาแห้ง
- เครื่องปรุงรสที่มีส่วนผสมของไอโอดีน เช่น น้ำปลา ซอสหอยนางรม ซีอิ๊วขาว ซอสปรุงรส น้ำจิ้มสุกี้ น้ำจิ้มไก่ ซอสมะเขือเทศ กะปิ และปลาร้า
- ผลิตภัณฑ์จากนมและไข่
- นม และผลิตภัณฑ์จากนมทุกชนิด เช่น ชีส, โยเกิร์ต, เนย และไอศกรีม
- ไข่แดง และอาหารที่มีไข่เป็นส่วนประกอบ หรือ ไข่เสริมไอโอดีน
- ช็อกโกแลตผสมนม
- อาหารแปรรูป
- เนื้อสัตว์แปรรูปทุกชนิด เช่น ไส้กรอก แฮม หมูยอ
- อาหารหมักดอง อาหารตากแห้ง อาหารกระป๋อง และบะหมี่กึ่งสำเร็จรูป
- ขนมปังและเบเกอรี่ที่มีส่วนผสมของนม ไข่ หรือสารเติมแต่งที่มีไอโอดีน
- ถั่วเหลือง และผลิตภัณฑ์จากถั่วเหลือง เช่น เต้าหู้ นมถั่วเหลือง ผงถั่วเหลือง
ยาและอาหารเสริมที่ควรหลีกเลี่ยง
- วิตามินรวม หรืออาหารเสริมที่มีไอโอดีนเป็นส่วนประกอบ
- น้ำมันตับปลา
- ยาบางชนิดที่มีส่วนผสมของไอโอดีน เช่น ยาแก้ไอน้ำดำ กรุณาปรึกษาแพทย์ก่อนหยุดใช้ยา
- ยาสมุนไพรที่ไม่แน่ใจส่วนประกอบ ควรหลีกเลี่ยงหรือตรวจสอบกับแพทย์
คำแนะนำเพิ่มเติม
- อ่านฉลากอาหารและผลิตภัณฑ์เสริมอาหารอย่างละเอียด ให้ความสำคัญกับส่วนประกอบและหลีกเลี่ยงผลิตภัณฑ์ที่มีไอโอดีน
- ปรึกษาแพทย์หรือนักโภชนาการ เพื่อขอคำแนะนำเฉพาะบุคคลเกี่ยวกับการรับประทานอาหารไอโอดีนต่ำที่เหมาะสมกับคุณ
หากท่านมีข้อสงสัย กรุณาติดต่อ แผนกเวชศาสตร์นิวเคลียร์ ชั้น 6 เคาน์เตอร์ A โทร. 02-0903079 ระหว่างเวลา 8.00-16.00 น. หรือติดต่อผ่านทางอีเมล nuclearmedicine@medparkhospital.com