ทำไมต้องผ่าตัดมดลูก หลังผ่าตัดมดลูกต้องดูแลตัวเองอย่างไร - Self Care After Hysterectomy

หลังผ่าตัดมดลูก ต้องดูแลตัวเองอย่างไร

การผ่าตัดมดลูก (Hysterectomy) คือ การผ่าตัดนำเอามดลูกออกจากร่างกาย ทำให้หลังผ่าตัดจะไม่มีประจำเดือน ไม่สามารถตั้งครรภ์ได้ วิธีนี้ใช้สำหรับการรักษาอาการและความผิดปกติต่าง ๆ ที่ส่งผลต่อระบบสืบพันธุ์ของผู้หญิง

แชร์

หลังผ่าตัดมดลูก ต้องดูแลตัวเองอย่างไร?

คุณผู้หญิงหลายคนมักเกิดความวิตกกังวล เมื่อรู้ว่าตัวเองต้องเข้ารับการผ่าตัดมดลูก กลัวว่าร่างกายจะไม่เหมือนเดิม เกิดความเปลี่ยนแปลงในทางที่แย่ลง แต่ในความเป็นจริงแล้ว การดูแลตัวเองอย่างเหมาะสม ก็ช่วยให้การใช้ชีวิตหลังผ่าตัดมดลูกเป็นเหมือนปกติ สุขภาพแข็งแรงได้ไม่ยาก 

ทำไมต้องผ่าตัดมดลูก?

การผ่าตัดมดลูก (Hysterectomy) คือ การผ่าตัดนำเอามดลูกออกจากร่างกาย ทำให้หลังผ่าตัดจะไม่มีประจำเดือน ไม่สามารถตั้งครรภ์ได้ วิธีนี้ใช้สำหรับการรักษาอาการและความผิดปกติต่าง ๆ ที่ส่งผลต่อระบบสืบพันธุ์ของผู้หญิง เช่น 

•    เลือดออกผิดปกติจากโพรงมดลูก
•    เนื้องอกมดลูก เนื้องอกมดลูกขนาดใหญ่
•    ภาวะเยื่อบุโพรงมดลูกเจริญผิดที่ และมีอาการรุนแรง
•    พังผืดในมดลูก 
•    ภาวะมดลูกหย่อน
•    มะเร็งปากมดลูก มะเร็งมดลูก

และอื่น ๆ ตามการพิจารณาของสูตินรีแพทย์ ซึ่งการผ่าตัดมดลูกจะใช้เวลา 1-4 ชั่วโมงโดยประมาณ ขึ้นอยู่กับโรคและพยาธิสภาพ

ผ่าตัดมดลูกมีกี่ประเภท?

การผ่าตัดมดลูก แบ่งได้ 3 ประเภท ดังนี้

  1. การผ่าตัดมดลูกออกทั้งหมด (Total Hysterectomy)
  2. การผ่าตัดมดลูกออกบางส่วน (Partial Hysterectomy) หรือที่เรียกว่าการผ่าตัดบริเวณมดลูกส่วนบน
  3. การผ่าตัดมดลูกแบบถอนราก (Radical Hysterectomy) คือ การผ่าตัดเพื่อเอามดลูก ปากมดลูก และส่วนบนของช่องคลอดออก ในบางรายต้องผ่าตัดเอารังไข่และ/หรือท่อนำไข่ออกด้วย วิธีนี้ใช้ในการรักษามะเร็งปากมดลูกเท่านั้น 

ระยะเวลาในการพักฟื้นอาจแตกต่างกันไป ขึ้นอยู่กับประเภทของการผ่าตัด เช่น อาจใช้เวลาประมาณ 4-6 สัปดาห์ในการพักฟื้นจากการผ่าตัดเปิดหน้าท้อง แต่อาจใช้เวลาเพียง 2-3 สัปดาห์ หากผ่าตัดด้วยวิธีการส่องกล้อง หรือการผ่าตัดแผลเล็ก

อาการที่อาจเกิดขึ้นหลังผ่าตัดมดลูก

หลังการผ่าตัด คนไข้อาจมีอาการเจ็บในอุ้งเชิงกราน และในกรณีผ่าตัดเปิดช่องท้อง ก็จะรู้สึกเจ็บบริเวณแผลผ่าตัดบริเวณหน้าท้อง ซึ่งแพทย์จะพิจารณาจ่ายยาแก้ปวด ร่วมกับการประคบเย็นในช่วง 24 ชั่วโมงแรกหลังการผ่าตัด 

นอกจากนี้ อาจมีอาการคลื่นไส้อาเจียน ที่เป็นผลมาจากการดมยาสลบ ซึ่งหากรู้ตัวว่าตัวเองมีแนวโน้มที่จะเกิดปฏิกิริยาตอบสนองต่อการดมยาสลบ อาจปรึกษาแพทย์เพื่อหาวิธีช่วยลดอาการข้างเคียงดังกล่าว และแพทย์อาจจ่ายยาป้องกันการคลื่นไส้ อาเจียน ในช่วง 2-3 วันแรกหลังการผ่าตัด

อาการอื่น ๆ ที่อาจเกิดขึ้นได้ คือ เลือดออกทางช่องคลอดนิดหน่อย ท้องอืดและมีแก๊สเล็กน้อยหลังการผ่าตัด ซึ่งหากอาการดังกล่าวเป็นมากกว่าปกติ ควรแจ้งแพทย์

อาการในระยะยาวหลังผ่าตัดมดลูกที่อาจเกิดขึ้นได้

หลายคนกังวลเรื่องการเปลี่ยนแปลงของฮอร์โมน หลังจากผ่าตัดมดลูก แต่ในความจริงแล้ว หากการผ่าตัดมดลูกนั้น ไม่ได้ตัดรังไข่ออกไปก็จะไม่เกิดการเปลี่ยนแปลงของฮอร์โมนใด ๆ แต่หากต้องตัดรังไข่ออกไปด้วย คนไข้อาจพบอาการที่เกิดจากความเปลี่ยนแปลงของฮอร์โมนเหมือนอาการวัยทอง เช่น ร้อนวูบวาบ เหงื่อออกตอนกลางคืน และมีน้ำหนักตัวเพิ่มขึ้น ซึ่งแพทย์อาจพิจารณาจ่ายยาที่ช่วยลดอาการวัยทองและป้องกันภาวะกระดูกพรุนให้

บางรายอาจพบความเปลี่ยนแปลงของตกขาว ในกรณีที่มีการผ่าตัดเอาเฉพาะส่วนบนของมดลูกออก หากการผ่าตัดมดลูก มีการเอาบริเวณปากมดลูกออก ก็จะไม่มีเยื่อมูกปากมดลูก ถ้าการผ่าตัดเอารังไข่ออกด้วย ปริมาณตกขาวก็จะลดลงอย่างเห็นได้ชัด และอาจจะมีอาการช่องคลอดแห้งตามมาได้ แพทย์อาจแนะนำให้ใช้ยาหรือครีมเฉพาะ (ครีมเอสโตรเจน) เพื่อเพิ่มความชุ่มชื้นของช่องคลอด

อีกหนึ่งผลกระทบในระยะยาวคือสภาพอารมณ์ ซึ่งอาจแตกต่างไปในแต่ละคน ในบางรายอาจรู้สึกเสียใจที่ไม่สามารถตั้งครรภ์และมีลูกได้อีกแล้ว แต่ในบางคนอาจโล่งใจ ที่การผ่าตัดสามารถรักษาปัญหาทางสุขภาพได้ ไม่ต้องมีประจำเดือน และไม่ต้องคุมกำเนิดอีก ซึ่งหากเริ่มรู้สึกว่ามีอารมณ์เชิงลบ และมีอารมณ์รุนแรง ควรปรึกษาแพทย์เฉพาะทาง

หลังผ่าตัดมดลูก มีเพศสัมพันธ์ได้เมื่อไร?

คำแนะนำสำหรับการมีเพศสัมพันธ์หลังผ่าตัดมดลูก คือ มีได้หลังผ่าตัดไปแล้วอย่างน้อย 6 สัปดาห์ ซึ่งส่วนใหญ่จะไม่พบความผิดปกติ หรือความเปลี่ยนแปลงในการมีเพศสัมพันธ์ใด ๆ แต่ก็มีคนไข้จำนวนน้อย ที่อาจรู้สึกเจ็บเมื่อสอดใส่ลึก ซึ่งสามารถปรับเปลี่ยนกิจกรรมทางเพศให้อยู่ในระดับที่เหมาะสม ไม่รู้สึกเจ็บได้

ควรดูแลตัวเองหลังผ่าตัดมดลูกอย่างไร?

เมื่อทำความเข้าใจกับความเปลี่ยนแปลง และอาการที่อาจเกิดขึ้นหลังผ่าตัดมดลูกแล้ว การเตรียมตัวรับมือและดูแลตัวเอง จะช่วยให้ใช้ชีวิตได้อย่างเป็นปกติและราบรื่น

  • กลับไปทำงานหรือทำกิจกรรมตามปกติ อย่างค่อยเป็นค่อยไป ในบางรายอาจสามารถกลับไปทำงานได้ภายใน 2 สัปดาห์ แต่ในบางราย ร่างกายอาจต้องการการพักฟื้นที่นานกว่านั้น ไม่ควรหักโหม
  • ช่วงแรกอาจงดการทำงานที่ใช้แรงเยอะ หากต้องทำงานบ้านต่าง ๆ ให้ทำช้า ๆ และไม่ควรทำงานหนัก
  • สามารถออกกำลังกายได้ โดยเริ่มจากการออกกำลังกายเบา ๆ เช่น การเดิน แล้วเริ่มเพิ่มระดับตามความเหมาะสมเมื่อร่างกายพร้อม และแพทย์เจ้าของไข้อนุญาต
  • ควรปรับนิสัยการนั่งหลังผ่าตัด โดยไม่ควรนั่งท่าเดียวและที่เดียวนาน ๆ ควรเปลี่ยนท่านั่งบ่อย ๆ 

หลังผ่าตัดมดลูก เมื่อไหร่ควรพบแพทย์?

อย่างที่กล่าวไปแล้วว่า คนไข้อาจพบอาการข้างเคียงหลังการผ่าตัดมดลูก เช่น อาการปวด เลือดออกทางช่องคลอดเล็กน้อย คลื่นไส้ อาเจียน ท้องอืด ท้องผูก โดยคนไข้ส่วนใหญ่จะใช้เวลาพักฟื้นหลังผ่าตัดประมาณ 6 สัปดาห์ โดยไม่มีภาวะแทรกซ้อนรุนแรง แต่หากมีอาการแสดงดังต่อไปนี้ ไม่ควรนิ่งนอนใจ

  • มีไข้สูง 37.8 องศาเซลเซียสขึ้นไป
  • มีเลือดออกบริเวณแผล
  • มีตกขาวปริมาณมาก หรือมีเลือดออกทางช่องคลอดปริมาณมาก
  • มีอาการปวดรุนแรง แม้กินยาบรรเทาอาการปวดตามแพทย์สั่ง

นอกจากนี้ หากพบอาการผิดปกติอื่น ๆ ที่น่ากังวล หรือไม่สบายใจ อย่าลังเลที่จะติดต่อโรงพยาบาลและปรึกษาแพทย์เจ้าของไข้

เผยแพร่เมื่อ: 31 มี.ค. 2024

แชร์