Paibul.jpg

The Earlier The Better เรื่องสุขภาพ ยิ่งรู้ตัวไว ยิ่งรับมือง่าย

โรคมะเร็งต่อมลูกหมาก ถ้าเจอเร็ว รักษาง่ายกว่า คุณภาพหลังการรักษาก็จะยิ่งดีกว่าครับ

แชร์

The Earlier The Better เรื่องสุขภาพ ยิ่งรู้ตัวไว ยิ่งรับมือง่าย

“โรคมะเร็งต่อมลูกหมาก ถ้าเจอเร็ว รักษาง่ายกว่า คุณภาพหลังการรักษาก็จะยิ่งดีกว่าครับ”

Paibul Boonyapanichskul Banner 2

เกือบทุกโรคภัย การตรวจเจอไว จะเพิ่มโอกาสการกลับมามีคุณภาพชีวิตที่ดี แต่ก็ต้องมาควบคู่กับการรักษาที่มีประสิทธิภาพ และใช้ความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีให้เกิดประสิทธิผล 

นพ.ไพบูลย์ บุญญะพานิชสกุล แพทย์เฉพาะทางด้านศัลยศาสตร์ทางเดินปัสสาวะ ให้ความสำคัญกับการพัฒนาต่อยอดการรักษาด้วยเทคโนโลยีใหม่ ๆ อยู่เสมอ ทำให้มีโอกาสได้บุกเบิกวิธีการรักษา สร้างประโยชน์แก่วงการแพทย์ในประเทศไทยมากมาย 

เกือบต้องลาออกมาดูแลกิจการที่บ้าน

ย้อนไปสมัยเด็ก ยามที่คนในครอบครัวเจ็บไข้ได้ป่วยก็มักจะไปรักษากับ นพ. สมหมาย ทองประเสริฐ ซึ่งท่านเป็นแพทย์ที่มีความทุ่มเท ไม่คิดค่ารักษาแพง และเป็นแบบอย่างของแพทย์ที่ดี อาจารย์ไพบูลย์จึงมีความชื่นชม และตั้งใจอยากเป็นหมอมาตั้งแต่นั้น 

“เด็ก ๆ สมัยนั้น หากเรียนดี ก็จะอยากเป็นหมอกันครับ ผมเองเป็นคนเรียนเก่งมาตั้งแต่เด็ก ประกอบกับมีอาจารย์หมอสมหมายเป็นตัวอย่าง จึงเลือกเส้นทางนี้ ขนาดตอนมีการแสดงละครโรงเรียน ผมยังได้เล่นเป็นหมอเลย จึงผูกพันกับการเป็นหมอ”

แม้จะเป็นนักเรียนหัวกะทิระดับจังหวัด ประกอบกับมีความตั้งใจแน่วแน่ แต่ก็เกือบไม่ได้ทำตามฝัน

“ที่บ้านผมมีธุรกิจของครอบครัว แล้วผมเป็นลูกชายในครอบครัวคนจีน คุณพ่อคุณแม่เลยตั้งความหวังว่าผมจะเป็นคนออกมาดูแลกิจการ ตอนนั้นเกือบต้องลาออกมาแล้วครับ แต่ด้วยความที่มีผลการเรียนดี มีความสามารถพอที่จะเรียนแพทย์ ผมจึงได้เรียนต่อ และอยู่ในเส้นทางนี้มาโดยตลอด”

Paibul Boonyapanichskul Banner 4

บุกเบิกเทคโนโลยี ผ่าตัดต่อมลูกหมาก ด้วย Green Light Laser ในไทย

เมื่อเข้าสู่เส้นทางแพทย์ อาจารย์ไพบูลย์มีความสนใจด้านศัลยกรรม จึงได้เรียนศัลยกรรมทั่วไปที่โรงพยาบาลภูมิพล และมีโอกาสได้ไปเรียนต่อที่สหราชอาณาจักร โดยฝึกอยู่กับอาจารย์ศัลยแพทย์ทางเดินปัสสาวะ มีคนไข้ในความดูแลมากมาย 

อาจารย์ไพบูลย์ได้เห็นเทคโนโลยีการรักษาที่ทันสมัยจากศูนย์การเรียนรู้ต่าง ๆ ที่นั่น ได้รู้จักการผ่าตัดเปลี่ยนไต การรักษานิ่วในไตโดยการส่องกล้อง (PCNL) และการรักษานิ่วในไตและท่อไตโดยการส่องกล้องผ่านท่อปัสสาวะ (URS) จึงเกิดความตั้งใจที่จะกลับมาทำงานในฐานะศัลยแพทย์ทางเดินปัสสาวะ

“เมื่อมีการเปิดศูนย์รักษานิ่ว ที่โรงพยาบาลราชวิถี ผมได้รับการชักชวนให้ไปประจำ จึงริเริ่มนำวิธีการรักษานิ่วด้วยการส่องกล้อง ทั้ง PCNL และ URS มาใช้เป็นที่แรกของประเทศไทย”

นอกจากจะบุกเบิกการใช้เทคโนโลยีในการรักษานิ่วแล้ว อาจารย์ไพบูลย์ก็เปิดรับวิธีใหม่ ๆ ในการรักษาต่อมลูกหมากโตด้วยเช่นกัน

“สมัยนั้นการรักษาต่อมลูกหมากโต จะผ่าตัดต่อมลูกหมากโดยการส่องกล้อง แล้วขูดบางส่วนของต่อมลูกหมากออกมา ผมเห็นว่ามันน่าจะมีวิธีการรักษาที่จะทำให้คนไข้บาดเจ็บน้อยกว่า และมีอาการแทรกซ้อนน้อยกว่านี้ ”

“ซึ่งตอนนั้นมีเทคโนโลยีการใช้เลเซอร์ในการผ่าตัดเข้ามาในเมืองไทย ผมเป็นคนแรกที่สนใจและเข้าไปศึกษา นำมาใช้รักษาต่อมลูกหมากโต ตั้งแต่เลเซอร์รุ่นเก่า จนถึงปัจจุบัน ใช้เลเซอร์ชนิดใหม่ที่เรียกว่า Green Light ที่ตอบโจทย์การรักษาคุณภาพชีวิตของคนไข้ บาดเจ็บและมีอาการแทรกซ้อนน้อยกว่าเยอะ”

อาจารย์ไพบูลย์ เป็นผู้ที่นำการผ่าตัดรักษาด้วยการใช้ Green Light Laser มาใช้เป็นครั้งแรกในประเทศไทย นับว่าเป็นแพทย์คนเดียวจากเอเชีย ที่ได้เข้าร่วมเป็นคณะกรรมการร่วมกับคณะแพทย์ในสหรัฐอเมริกา และได้รับแต่งตั้งให้เป็น Proctor เพื่อฝึกสอนการรักษาด้วย Green Light Laser ให้กับแพทย์ในเอเชีย 

นอกจากนั้นยังมีการนำเทคโนโลยีใหม่ ๆ เกี่ยวกับการรักษามะเร็งต่อมลูกหมากเข้ามาในประเทศไทย นั่นก็คือ การฝังแร่รักษา หรือ Brachytherapy นั่นเอง ซึ่งให้ประสิทธิผลเป็นที่น่าพอใจเช่นกัน

Paibul Boonyapanichskul Banner 1

ผ่าตัดมะเร็งต่อมลูกหมาก ยิ่งเชี่ยวชาญ งานยิ่งท้าทาย 

จากประสบการณ์การเป็นแพทย์ด้านศัลยศาสตร์ระบบทางเดินปัสสาวะ พบว่าส่วนใหญ่ คนไข้ที่มาหาจะมาจากภาวะต่อมลูกหมากโต ซึ่งเป็นอาการที่พบมากในผู้ชายสูงอายุ เนื่องจากการที่ต่อมลูกหมากทำงานมาเป็นระยะเวลานาน จนโตขึ้นเรื่อย ๆ เมื่อถามถึงประสบการณ์ที่ประทับใจ อาจารย์บอกว่ามีเยอะทีเดียว 

“มีเคสหนึ่ง ผมใช้เลเซอร์ผ่าตัดมะเร็งต่อมลูกหมาก ด้วยเทคโนโลยีของเลเซอร์ หลังผ่าตัด รุ่งขึ้นคนไข้สามารถปัสสาวะได้เองเลย ไม่เหมือนการรักษาแบบเก่า ที่หลังผ่าตัดต้องใส่สายปัสสาวะไปอีกหลายวัน ซึ่งคนไข้มีความสุขมาก เพราะไม่เคยปัสสาวะได้ปกติแบบนี้เป็นเวลากว่ายี่สิบปีแล้ว เหมือนชีวิตกลับไปเป็นวัยรุ่น ถึงกับเอ่ยปากบอกว่าถ้ารู้ว่าทำแล้วดีแบบนี้มาทำนานแล้ว”

“อีกเคสหนึ่ง ผมเคยได้ผ่าตัดเปลี่ยนไตให้คนไข้ พอกลับมาติดตามอาการ คนไข้มีความสุขมาก เพราะเขาทุกข์ทรมานมาตลอด กับการที่ต้องมาฟอกไต คุณภาพชีวิตย่ำแย่ แต่พอได้ไตใหม่ ไตทำงานปกติ เขากลับมามีชีวิตปกติ กินอาหาร ใช้ชีวิตได้เหมือนตอนก่อนจะป่วย เขารู้สึกขอบคุณมาก ๆ ผมเองก็ประทับใจ ที่เรามีโอกาสได้ให้ชีวิตใหม่แก่เขา”

การผ่าตัดที่ยากที่สุดที่เคยทำมา อาจารย์ไพบูลย์เล่าว่าคือการผ่าตัดมะเร็งต่อมลูกหมาก ซึ่งเป็นการผ่าตัดแบบเปิด เทคโนโลยียังไม่ก้าวหน้าเหมือนปัจจุบัน ต้องใช้ความชำนาญและความตั้งใจมาก และมีเคสต่อมลูกหมากใหญ่ที่สุดที่เจอ หนักร่วม 250 กรัม ได้ผ่าตัดด้วยวิธี PVP หรือ Green Light Laser ได้สำเร็จ อาจารย์ไพบูลย์ได้ใช้ความเชี่ยวชาญผ่าตัดด้วย Green Light Laser นี้มามากกว่า 1000 ราย

Paibul Boonyapanichskul Banner 3

หมอผ่าตัดมือฉมัง สู่คนปลูกต้นไม้มือเย็น

ใครจะไปรู้ว่าอาจารย์ไพบูลย์มีกิจกรรมยามว่างเป็นการปลูกต้นไม้ โดยงานอดิเรกนี้เริ่มต้นช่วงที่เกิดการระบาดของโรคโควิด-19 ช่วงนั้นจะเข้ามาทำงานที่โรงพยาบาลไม่บ่อย มีช่วงที่ต้องหยุดอยู่บ้านนานหลายสัปดาห์ จึงต้องหากิจกรรมทำเพื่อหย่อนใจ ให้ชีวิตไม่จำเจ

“ในใจผมก็คิดอยู่ ว่าถ้าหากไม่ได้ทำอะไร ผมอาจเป็นชาวสวน เพราะทุกวันนี้ก็ทำอยู่ ที่บ้านผมปลูกมะม่วง และเลี้ยงกล้วยไม้ ทำเรือนกล้วยไม้ เพราะพวกต้นไม้ดอกไม้ แค่ปลูกให้มันขึ้น แต่ไม่จำเป็นต้องดูแลใกล้ชิดเหมือนเลี้ยงสัตว์ หลายคนก็บอกว่าผมเป็นคนมือเย็น”

นอกจากนี้ อาจารย์ไพบูลย์ยังใช้ความสามารถด้านการทำธุรกิจที่ได้มาจากพื้นฐานทางครอบครัว ผสานกับความรู้มาทำธุรกิจนำเข้าเครื่องมือแพทย์ โดยให้ลูกสาวเป็นผู้ดูแลอีกด้วย

ถ้ามีสัญญาณผิดปกติ อย่ารอ เจอเร็ว รักษาง่ายกว่า

สำหรับเทคนิคการดูแลสุขภาพ จากแพทย์ผู้ชำนาญการด้านระบบทางเดินปัสสาวะ รวมถึงระบบสืบพันธุ์ อาจารย์ไพบูลย์แนะนำว่า ผู้หญิงไม่ควรกลั้นปัสสาวะนานเกิน 4 ชั่วโมง เพราะจะเกิดกระเพาะปัสสาวะอักเสบได้ แต่ก็ไม่ควรปัสสาวะบ่อย เช่น ปัสสาวะทุกชั่วโมง เพราะจะทำให้กระเพาะปัสสาวะไม่ได้ขยายตัวเท่าที่ควร 

ในผู้ชาย ควรระวังเรื่องโรคเกี่ยวกับต่อมลูกหมาก ควรสังเกตตัวเอง ว่าการปัสสาวะเบาลงจากปกติไหม โดยเปรียบเทียบกับตอนสมัยวัยรุ่น หากรู้สึกว่าปัสสาวะเบากว่าเดิมถึงครึ่งหนึ่ง ไม่ควรรอจนกระทั่งปัสสาวะไม่ออก เพราะหลายคนมักมีสัญญาณสุขภาพมาแล้ว แต่ไม่รีบมาพบแพทย์ จนไปถึงจุดที่ปัสสาวะไม่ออก ซึ่งมันอาจช้าไป ทำให้รักษาได้ยาก ถ้ามาตั้งแต่ต้น นอกจากจะรักษาง่าย ยังมีโอกาสกลับไปมีคุณภาพชีวิตที่ดีดังเดิมได้ 

นอกจากนี้ ผู้ชายทุกคนควรเข้ารับการตรวจคัดกรองมะเร็งต่อมลูกหมากเมื่ออายุ 50 ปีเป็นต้นไป โดยตรวจปีละครั้ง และอาจต้องมาตรวจถี่กว่านั้น หากพบความผิดปกติ ในคนที่มีประวัติคนในครอบครัวป่วยโรคมะเร็งต่อมลูกหมาก แนะนำให้มาตรวจคัดกรองตั้งแต่อายุ 40 ปีเป็นต้นไป

เผยแพร่เมื่อ: 04 ต.ค. 2020

แชร์

แพทย์ที่ถูกเอ่ยถึง

  • Link to doctor
    นพ. ไพบูลย์ บุญญะพานิชสกุล

    นพ. ไพบูลย์ บุญญะพานิชสกุล

    • ศัลยศาสตร์
    • ศัลยศาสตร์ระบบทางเดินปัสสาวะ
    ศัลยศาสตร์ระบบทางเดินปัสสาวะ, ระบบสืบพันธ์ุ