นายแพทย์พงศกร บุบผะเรณู ศัลยแพทย์กระดูกและข้อ - Dr Pongsakorn Bupparenoo, An Orthopedic

คนไข้กระดูกหัก รักษาแล้วไม่ใช่แค่กลับมาเดินได้ แต่เขาวิ่งได้ด้วย

ผ่าตัดกระดูกหักซับซ้อน ต้องอาศัย Orthopedic Trauma โดยเฉพาะ อุปกรณ์ต้องครบ และทีมต้องพร้อม รู้หรือไม่ 50-60% ของกลุ่มคนไข้กระดูก ไม่ใช่คนที่ต้องเปลี่ยนข้อเทียม หรือมีปัญหาด้านกระดูกสันหลัง แต่มาด้วยอาการ “กระดูกหัก”

แชร์

คนไข้กระดูกหัก พอรักษาไปแล้ว ไม่ใช่แค่เดินได้ แต่เขาวิ่งได้ วิดพื้นได้

ผ่าตัดกระดูกหักซับซ้อน ต้องอาศัย Orthopedic Trauma โดยเฉพาะ อุปกรณ์ต้องครบ และทีมต้องพร้อม

นายแพทย์พงศกร บุบผะเรณู ศัลยแพทย์กระดูกและข้อ - Dr Pongsakorn Bupparenoo, an Orthopedic With Family

รู้หรือไม่ 50-60% ของกลุ่มคนไข้กระดูก ไม่ใช่คนที่ต้องเปลี่ยนข้อเทียม หรือมีปัญหาด้านกระดูกสันหลัง แต่มาด้วยอาการ “กระดูกหัก” ถึงแม้ว่าหมอออร์โธฯ ทุกคนจะใส่เหล็กดามกระดูกได้ แต่สำหรับเคสที่มีความซับซ้อน ก็จำเป็นต้องอาศัย Orthopedic Trauma ที่ชำนาญในการใช้อุปกรณ์พิเศษ และมีเทคนิคการผ่าตัดที่ละเอียดยิ่งกว่า 

MedPark Story วันนี้เราอยู่กับ นพ. พงศกร บุบผะเรณู ศัลยแพทย์การบาดเจ็บทางออร์โธปีดิกส์ โรงพยาบาลเมดพาร์ค คุณหมอเป็น Orthopedic Trauma รุ่นแรก ๆ ของประเทศไทย และยังเป็นหนึ่งในกลุ่มผู้แต่งหนังสือ MIPO Book ของ AO Foundation สอนเทคนิคการผ่าตัดแบบ Minimally Invasive Plate Osteosynthesis วางขายทั่วโลก ยิ่งไปกว่านั้น ยังเป็นหมอคนไทยท่านแรก ที่ผ่าตัดกระดูกเชิงกรานด้วยเทคนิค Pararectus จนสำเร็จ

Dr Pongsakorn Bupparenoo With a Nurse at Orthopedic Center

ผ่าตัดกระดูกหักซับซ้อน จนทำให้คนไข้กลับมาวิ่งได้

หลังจาก นพ. พงศกร คว้าเกียรตินิยมอันดับสอง จากคณะแพทยศาสตร์ ศิริราชพยาบาล ก็ตัดสินใจเลือกเรียน Orthopedic ที่โรงพยาบาลราชวิถี กรมการแพทย์ โดยระหว่างเรียน ปี 3-4 คุณหมอได้มีโอกาสออกตรวจรักษาคนไข้ซึ่งส่วนใหญ่มาด้วย อาการกระดูกหักซับซ้อนจากอุบัติเหตุ

“มีคนไข้รายหนึ่ง กระดูกหัก 4 ชิ้น ต้นขาปลายขาหักทั้งสองข้าง ผม ทีมงาน และอาจารย์ ช่วยกันผ่าตัด 8 ชม. เหนื่อยมากเลยครับ แต่พอผ่านไปสองวันเขาเริ่มเดินได้แล้ว เขาบอกว่า พอเห็นขาตัวเองตอนแรกไม่คิดว่า จะเดินได้แล้วนะ เขาส่งคลิปวิ่งเหยาะ ๆ มาให้ดู ผม Happy มากครับ พอรักษาไปแล้วคนไข้ไม่ใช่แค่เดินได้ แต่เขาวิ่งได้ด้วย บางคนจากที่แขนหักก็กลับมาวิดพื้นได้ ก็เลยเป็นแรงบันดาลใจให้อยากทําด้านนี้”

ขณะที่เพื่อนร่วมรุ่นเลือกเรียนต่อเฉพาะทางสาขายอดนิยม อาทิ สาขาเท้าและข้อเท้า สาขามือและจุลยศัลยกรรม สาขากระดูกสันหลัง สาขาการบาดเจ็บทางกีฬา แต่คุณหมอสนใจด้านการบาดเจ็บทางออร์โธปิดิกส์ แต่ด้วยสมัยนั้น มีสถาบันที่เปิดสอนน้อยมาก คุณหมอจึงเดินทางไปเรียนเพิ่มเติมที่ สหรัฐอเมริกา เยอรมนี และสวิตเซอร์แลนด์ 

“ผมไปเรียนที่ Denver Health Medical Center สหรัฐอเมริกา แล้วก็ที่กรุงเบอร์ลิน เยอรมนี ซึ่งที่นั่นถือว่าเป็น Trauma Center เลยครับ แล้วกฎหมายเขาอนุญาตให้เข้าไปร่วมรักษาได้ด้วย วันแรกโปรเฟสเซอร์ก็ให้ผม มีส่วนร่วม เต็มที่ มีคนไข้ผ่าตัด 3-4 เคสทุกวัน แต่ละเคสก็น่าสนใจมาก ได้เห็นเทคนิคต่าง ๆ ในการผ่าตัด แล้วเทคโนโลยีของเยอรมันก็ค่อนข้างทันสมัยมากครับ”

นพ.พงศกร และคนไข้ - Dr Pongsakorn Bupparenoo, an Orthopedic With Patient

ผ่าตัดแผลเล็ก มีความแม่นยำ และง่ายมากขึ้น

ระหว่างเรียนที่เยอรมนี คุณหมอสนใจเป็นพิเศษเกี่ยวกับ เทคนิคการผ่าตัดเชิงกราน ที่เรียกว่า Pararectus ซึ่งมีความยุ่ง ยาก ซับซ้อน ใช้เวลาฝึกฝนเรียนรู้ 4-5 เดือนก่อนที่จะได้ลงมือผ่าตัดด้วยตัวเอง พอกลับมาเมืองไทยก็ได้นำ มาเผยแพร่ต่อด้วย 

“การผ่าตัดกระดูกหักซับซ้อน ต้องอาศัยหมอ Orthopedic Trauma โดยเฉพาะ อุปกรณ์ต้องครบ และทีมต้องพร้อม อย่าง การผ่าเชิงกราน ปกติที่เราทำจะมีแผลใหญ่ใช่ไหมครับ แต่ Pararectus ที่เยอรมนี เป็นเทคนิคกรีดแผลที่ ซับซ้อนขึ้น แต่แผลจะเล็กลงเกือบครึ่ง สามารถยิงสกรูได้ยาวกว่า มั่นคงมากกว่า คนไข้ก็ฟื้นตัวเร็วด้วย มักจะทำกรณีตกจากที่สูง หรือประสบอุบัติเหตุ แต่ในเมืองไทยยังไม่มีใครทํา ตอนโปรเฟสเซอร์ยื่นมีดผ่าตัด มาให้แล้วบอกว่าจะ เป็นผู้ช่วย ผมตกใจมากแต่พยายามไม่ตื่นเต้น ซึ่งการผ่าตัดก็ผ่านไปด้วยดีครับ”

ปัจจุบันมีโรงพยาบาลขนาดใหญ่ เพียงไม่กี่แห่งเท่านั้น ที่มีอุปกรณ์และความพร้อมในการผ่าตัดด้วยเทคนิค Pararectus โดยส่วนใหญ่เป็นโรงเรียนแพทย์ และโรงพยาบาลเอกชนชั้นนำ ซึ่งที่ โรงพยาบาลเมดพาร์ค ก็สามารถทำได้เช่นกัน นอกจากเทคนิคการกรีดแผลแล้ว ตัวช่วยสำคัญที่ทำให้หมอสามารถทำการผ่าตัดแผลเล็กได้ผลดี ก็คือ เครื่องเอกซเรย์ C-arm fluoroscopy ที่สามารถทํา Intraoperative 3D imaging ได้

“เวลาผ่าตัดเราจะเปิดแผลเหนือจุดที่กระดูกหัก แล้วสอดเครื่องมือเข้าไปยึดกระดูกให้อยู่กับที่ ซึ่งการใช้ C-arm ทำให้เห็นชัดเจนเลย ว่าเหล็กอยู่ตรงไหนแล้ว จัดกระดูกเข้าที่ดีหรือยัง ยึดสกรูเพื่อเข้าไปค้ำกับเหล็กได้ดีหรือยัง เราสามารถใช้ Intraoperative 3D imaging มาช่วยได้ แล้วเทคโนโลยี C-arm สมัยนี้พัฒนาไปมาก มันสามารถ หมุนได้ด้วย ทำให้เราได้เห็นภาพแบบกึ่ง CT Scan ขณะทำการผ่าตัดได้เลย”

นพ. พงศกร ยังพูดถึงเทคนิคอื่น เช่น Suprapatellar tibial nail ที่สามารถสอดเหล็กเข้าไปทางรูเล็ก ๆ เหนือเข่า โดยที่คนไข้ไม่ต้องงอเข่าเหมือนสมัยก่อนอีกแล้ว ซึ่งคุณหมอเป็นศัลยแพทย์ Orthopedic Trauma คนแรกที่รักษาด้วย เทคนิคนี้ในเมืองไทย

“เวลางอเข่า กล้ามเนื้อมันจะดึง เราต้องกรีดแผลผ่านเอ็นที่อยู่หน้าเข่า ซึ่งมีความยาก แต่ถ้าเราเหยียดเข่า เหมือนอยู่ในท่านอน กระดูกมันจะกลับเข้าตำแหน่งที่ง่ายกับทั้งหมอ ผู้ช่วย ทีม และดีกับคนไข้เองด้วย แผลก็จะเล็กนิดเดียว ไม่ปวดเข่าหลังผ่าตัด ซึ่งถ้าคนไข้มาที่เมดพาร์ค เราสามารถทำให้ได้นะครับ”

Orthopedic Trauma กับการรักษาเคสยากและซับซ้อน - Dr Pongsakorn Bupparenoo, an Orthopedic 2

Orthopedic Trauma กับการรักษาเคสยากและซับซ้อน

สำหรับเคสผ่าตัดที่ถือว่ายาก คุณหมอยกให้เคส ไข้กระดูกหัก 4 จุด จากอุบัติเหตุบิ๊กไบค์ชนแบริเออร์ ซึ่งคนไข้ถูกส่งตัวมารักษาต่อ และคุณหมอได้ผ่าตัดหลายครั้ง หลังจากคนไข้ ทำกายภาพบำบัดอย่างเคร่งครัด ปัจจุบันเขาสามารถวิดพื้น เล่นเวทได้ และอีกเคสที่น่าสนใจก็คือ คนไข้ถูกรถชน จนกระดูกหัวเข่าข้างหนึ่งทะลุออกมานอกผิวหนัง และกระดูกเข่าอีกข้างหนึ่งแตก

“เคสนี้คนไข้กำลังข้ามถนน แล้วแท็กซี่ฝ่าไฟแดงมาชน ตอนแรกเขาคิดว่าจะกลับไปวิ่งมาราธอนไม่ได้อีก แต่หลังจากรักษาผ่านไป 5 เดือน กลับมาเดินได้ปกติเลย ออกกำลังกายได้ และกำลังจะกลับไปวิ่งอีกแล้ว เป็นความภูมิใจมากสําหรับทางทีม Orthopedic Trauma เพราะว่าปกติแล้ว กระดูกแตกเข้าข้อ กว่าจะกลับไป วิ่งได้ ต้องใช้เวลามากกว่า 6 เดือน เคสนี้ถือว่าหายเร็วมากครับ”

การรักษาเร็ว ส่งผลดีกับคนไข้ ดังนั้น ความพร้อมของโรงพยาบาล แพทย์ ทีมงาน อุปกรณ์ทางการแพทย์ ถือเป็นเรื่องสำคัญมาก

“เมื่อกระดูกหัก ต้องให้มันอยู่นิ่ง ๆ ถ้าเป็นไปได้ไม่ต้องทําอะไรกับมัน แล้วรีบโทร. เรียกรถพยาบาลมา อย่างเคสนี้ คนไข้เข้ามาที่เมดพาร์คตอนตีสาม เราเช็กจนแน่ใจว่าไม่มีเส้นเลือดขาดก็ทำการผ่าตัดตอนตี 5 เลยครับ ขาก็กลับมา Stable เร็ว หลังผ่าตัดไม่มีติดเชื้อ เพราะว่าอุปกรณ์ทุกอย่าง ทันสมัย ได้มาตรฐาน ห้องผ่าตัดก็กว้างมาก จนเกือบจะเป็นสนามฟุตซอลได้เลยนะครับ หมอออร์โธชอบห้องใหญ่ ๆ เพราะ เครื่องมือเราเยอะครับ”

นพ.พงศกร บุบผะเรณู กิจกรรมวิ่งมาราธอนที่เบอร์ลิน - Dr Pongsakorn Bupparenoo, an Orthopedic Activity

การได้เห็นคนไข้กระดูกหัก สามารถกลับไปทำกิจกรรมที่ชื่นชอบได้อีกครั้ง ถือเป็นความสุข ความภาคภูมิใจ อันประเมินค่าไม่ได้ โดยเฉพาะกิจกรรมการวิ่ง เพราะเป็นสิ่งที่คุณหมอชื่นชอบด้วยเหมือนกัน

“ปีที่แล้วผมไปวิ่งที่เบอร์ลินมาราธอน ระยะทาง 42 กม. เหมือนได้ย้อนความหลังสมัยเรียน อากาศดีมาก วิ่งไม่ เหนื่อยเลยครับ ปกติผมจะชอบวิ่งที่สวนเบญจกิตติ วิ่งเสร็จถ้ามีคนไข้ ก็กลับมาดูต่อได้เลย และถ้ามีเวลาว่าง ๆ ก็จะชอบเล่นดนตรีด้วย ตอนเรียนที่เซนต์ดอมินิก ผมอยู่วงโยธวาธิต เล่นแซกโซโฟนครับ”

เผยแพร่เมื่อ: 06 มิ.ย. 2024

แชร์

แพทย์ที่ถูกเอ่ยถึง

  • Link to doctor
    นพ. พงศกร บุบผะเรณู

    นพ. พงศกร บุบผะเรณู

    • ศัลยศาสตร์กระดูกและข้อ
    • การบาดเจ็บทางออร์โธปิดิกส์
    ศัลยกรรมกระดูกและข้อ, Trauma Surgery