ศัลยแพทย์ ควรรู้ว่าต้องลงมีดเมื่อใด จึงจะช่วยคนไข้ให้ได้ผลดีที่สุด A surgeon must know precisely when to operate for the best surgical outcome.

ศัลยแพทย์ ควรรู้ว่าต้องลงมีดเมื่อใด จึงจะช่วยคนไข้ให้ได้ผลดีที่สุด

ศัลยแพทย์ หรือ หมอผ่าตัด เป็นอีกหนึ่งอาชีพที่มีบทบาทรักษา ช่วยชีวิต ไม่ต่างกับแพทย์สาขาอื่น ๆ อีกทั้งลักษณะงาน ต้องอยู่ในสถานการณ์กดดันบ่อย ๆ งานด้านศัลยศาสตร์ จึงค่อนข้างน่าสนใจ วันนี้ MedPark Stories ชวนมาพูดคุยกับ นพ.พรพีระ จิตต์ประทุม ศัลยแพทย์

แชร์

ศัลยแพทย์ ควรรู้ว่าต้องลงมีดเมื่อใด จึงจะช่วยคนไข้ให้ได้ผลดีที่สุด

“ถ้าหมอผ่าตัดได้ดี วันรุ่งขึ้นเราก็จะเห็นว่าคนไข้ดีขึ้นเลย”

Dr Pornpeera 3

ศัลยแพทย์ หรือ หมอผ่าตัด เป็นอีกหนึ่งอาชีพที่มีบทบาทรักษา ช่วยชีวิต ไม่ต่างกับแพทย์สาขาอื่น ๆ อีกทั้งลักษณะงาน ต้องอยู่ในสถานการณ์กดดันบ่อย ๆ งานด้านศัลยศาสตร์ จึงค่อนข้างน่าสนใจ วันนี้ MedPark Stories ชวนมาพูดคุยกับ นพ.พรพีระ จิตต์ประทุม ศัลยแพทย์ผู้ชำนาญการด้านศัลยศาสตร์ทั่วไป โรงพยาบาลเมดพาร์ค ถึงที่มาที่ไปของการเข้าสู่สายอาชีพนี้ ว่าการทำงานในฐานะหมอศัลย์ฯ ทั่วไป มีอะไรน่าสนใจบ้าง 

Role Model ในการเป็น หมอศัลย์ฯ คือ คุณพ่อ

คุณหมอพรพีระเกริ่นว่า ตนนั้นโตมาในครอบครัวที่มีคุณพ่อเป็นศัลยแพทย์คนเดียวและคนแรกของจังหวัดระนอง 

“ระนองเป็นจังหวัดที่มีประชากรน้อย คุณพ่อดูแลคนทั้งจังหวัด ผ่าช่องท้อง ทรวงอก ผ่าสมอง ผ่าทุกอย่าง ซึ่งเราก็เห็นพ่อทำงานตั้งแต่เด็ก ได้ตามไปดูห้องผ่าตัด เวลาไปไหนมาไหน ผู้คนในจังหวัดก็จะมีความรู้สึกในเชิงบวกกับครอบครัวของเราครับ”

เมื่อได้อยู่ในสภาพแวดล้อมที่มีคุณพ่อเป็นที่รักของคนไข้และผู้คนในพื้นที่ คุณหมอจึงมีประสบการณ์ว่าหมอเป็นงานที่ดี และรู้สึกชอบ ประกอบกับพี่ชายก็เป็นหมอเช่นกัน ในที่สุดก็เลือกเรียนแพทย์ตามคุณพ่อและพี่ชาย

อย่างไรก็ตาม ศัลยแพทย์ทั่วไป ที่ต้องผ่าตัดได้ทุกอย่างเหมือนเมื่อก่อน มีน้อยมากแล้ว เพราะปัจจุบันจะมีการเรียนรู้ที่ลึกมากขึ้นในจุดใดจุดหนึ่ง มีอนุสาขาย่อย ศัลยแพทย์ในปัจจุบันจึงมีความชำนาญเชี่ยวชาญเฉพาะทาง สามารถทำการผ่าตัดได้อย่างมั่นใจ 

“หากเราเดินเข้ามาในแผนกศัลย์ฯ อาจเจอหมอผ่าตัดเต้านม ผ่าตัดช่องท้อง ผ่าตัดไทรอยด์ ผ่าตัดตับอ่อน หรือผ่าตัดเส้นเลือด อะไรแบบนี้ครับ ข้อดีก็คือเมื่อคนไข้ต้องผ่าตัดรักษาจุดไหน ก็จะมีศัลยแพทย์ที่มีความชำนาญเป็นพิเศษในจุดจุดนั้นช่วยดูแล ซึ่งที่เมดพาร์คก็มีศัลยแพทย์เฉพาะทางมากมายครับ”

Dr Pornpeera 6

หมอผ่าตัด สามารถเห็นความเปลี่ยนแปลงของผลการรักษาที่ชัดเจน

“การผ่าตัดรักษาส่วนมาก เป็นหนึ่งในการรักษาที่สามารถเห็นผลของการรักษาได้ชัดเจนหลังการผ่าตัดครับ เมื่อคนไข้มาหา ถ้าหมอผ่าตัดได้ดี วันรุ่งขึ้นเราก็จะเห็นว่าคนไข้ดีขึ้นเลย จะแตกต่างจากงานอายุรกรรม กายภาพ ที่อาจต้องใช้เวลา ต้องรักษาต่อเนื่อง เป็นสัปดาห์ เป็นเดือน หรือเป็นปี ๆ” คุณหมอพรพีระกล่าว

ดังนั้น การทำหน้าที่ให้ดีที่สุดในช่วงระยะเวลาสั้น ๆ ในห้อง OR หรือห้องผ่าตัด จึงเป็นตัวตัดสินผลการรักษาได้เลย ศัลยแพทย์ทุกคนจึงจำเป็นต้องประเมินคนไข้แต่ละเคสได้อย่างรอบคอบ ชำนิชำนาญ

“ตั้งแต่สมัยเรียน สิ่งที่ถูกพร่ำสอนมาเสมอ คือ หมอศัลย์ฯ ที่เก่ง ไม่ได้หมายถึงหมอที่ผ่าได้ทุกอย่าง แต่คือการที่เราสามารถเลือกเคสได้ว่าเมื่อไรควรผ่าตัดและเมื่อไรไม่ควรผ่าตัดครับ ต้องเลือกเคสได้ และคาดคะเนความน่าจะเป็นของผลลัพธ์ที่อาจเกิดขึ้นได้ด้วย เพี่อให้การผ่าตัดของเราทำให้เขาดีขึ้น ไม่ใช่ก่ออาการแทรกซ้อนจนเขาแย่ลง”

Dr Pornpeera 4

ดูแลคนไข้ด้วยความจริงใจ และได้รับความเชื่อใจกลับมา

คุณหมอพรพีระอธิบายว่า ในทุก ๆ การรักษา การทำหัตถการ มีโอกาสที่จะเกิดผลข้างเคียงที่ไม่พึงประสงค์ขึ้นได้ บางอย่างเป็นปัจจัยมาจากแพทย์ ความเพียบพร้อมของอุปกรณ์ต่าง ๆ บางอย่างก็เป็นปัจจัยที่มาจากสุขภาพร่างกายของตัวคนไข้เอง 

“หลังการผ่าตัด ถ้าหากเกิดอาการแทรกซ้อนขึ้นมา หมอต้องอธิบายกับคนไข้อย่างละเอียด และตรงไปตรงมา พยายามดูแลคนไข้อย่างสุดความสามารถจนหายเป็นปกติครับ การที่คนไข้เข้าใจเหตุและผลที่ทำให้เกิดอาการไม่พึงประสงค์นั้น เขาก็จะเกิดความไว้วางใจ และเชื่อมั่นในตัวหมอครับ”

ไม่ว่าอย่างไร ก็ไม่มีใครอยากให้เกิดขึ้น แต่หากเกิดขึ้นแล้ว แพทย์ต้องสามารถแก้ปัญหา และดูแลคนไข้ให้ดีที่สุด จึงจะเป็นการทำหน้าที่ผู้ให้การรักษาอย่างสมบูรณ์

“เมื่อเราทำเต็มที่ ดูแลเขาอย่างดี จากเคสที่ผลการรักษาไม่เป็นอย่างคิด กลายมาเป็นเคสที่คนไข้ให้ความไว้วางใจเรามาจนถึงปัจจุบันครับ” 

เมดพาร์ค โรงพยาบาลที่มีศัลยแพทย์เฉพาะทางครอบคลุม

คลินิกศัลยกรรม โรงพยาบาลเมดพาร์ค มีทีมศัลยแพทย์ที่มีประสบการณ์สูง มีความชำนาญในการผ่าตัดในทุกรูปแบบ รวมถึงการผ่าตัดแบบไม่มีแผลภายนอก เช่น การส่องกล้องทางปากหรือทวารหนัก เป็นต้น  

อีกทั้ง ศัลยแพทย์ยังมีความชำนาญเฉพาะด้าน ทำงานเป็นทีมร่วมกับแพทย์ทุกสาขาและบุคลากรทางการแพทย์ทุกฝ่าย เพื่อวินิจฉัยและทำการผ่าตัดได้อย่างแม่นยำ และช่วยให้การผ่าตัดบรรลุเป้าหมาย และประสบความสำเร็จ

“เรามีแพทย์สามารถทำการผ่าตัดที่ซับซ้อน อย่างการผ่าตัดลดเหงื่อออกที่มือ การผ่าตัดตับ ท่อน้ำดี และนอกจากนี้ผมยังมองเห็นแนวโน้มว่าในอนาคต จะมีการผ่าตัดด้วยแขนกล ที่ศัลยแพทย์สามารถควบคุมทำหัตถการทางไกลได้ เพิ่มโอกาสการเข้าถึงการรักษากับศัลยแพทย์เฉพาะทางมากขึ้นด้วยครับ”

Dr Pornpeera 2

เคยมีคนเข้าใจผิดเกี่ยวกับตัวเองที่เป็นศัลยแพทย์ไหม? 

“มีครับ พอเขารู้ว่าผมเป็นศัลยแพทย์ มักจะเจอคำถามว่า ทำคิ้วได้ไหม ทำตาได้ไหม คือเขาจะเข้าใจว่าเป็นศัลยกรรมความงาม ซึ่งงานศัลยกรรมจริง ๆ แล้วคือการผ่าตัดศัลยกรรมเพื่อการรักษาด้วย แตกแยกย่อยไปกว้างมาก ๆ”

“อีกอย่างคือ คนมักคิดว่าเป็นหมอผ่าตัด ต้องอยู่ในห้องผ่าตัดตัวโชกเลือด แบบเลือดเยอะ ๆ ซึ่งในปัจจุบัน การผ่าตัดหลาย ๆ เคส เสียเลือดน้อยมากครับ จะไม่ได้มีเลือดออกมาเยอะขนาดนั้น เพราะเทคโนโลยีการแพทย์ และเครื่องมือค่อนข้างก้าวหน้ามาก ๆ เช่น การผ่าตัดส่องกล้อง เลือดออกน้อย ไม่ได้น่ากลัวครับ”

Dr Pornpeera 5

หมอศัลย์ฯ ที่ชาร์จพลังด้วยการใช้พลัง

คุณหมอพรพีระเล่าให้ฟังว่า เมื่อมีเวลาว่าง จะชอบไปท่องเที่ยว เทรกกิ้ง หรือเดินขึ้นเขา นับเป็นการชาร์จพลังด้วยการใช้พลังที่น่าสนใจ 

“ผมชอบเดินขึ้นเขามาตั้งแต่สมัยเรียนครับ ตอนไปเรียนต่อก็จะเลือกเมืองที่มีภูเขา หรืออยู่ใกล้ภูเขา มีเส้นทางเทรกกิ้งให้ไปเดินในช่วงวันหยุด อย่างประเทศญี่ปุ่น ธรรมชาติค่อนข้างสวย ดูเพลิน ๆ เดินเพลิน ๆ ครับ”

หลัก ๆ คุณหมอจะเลือกภูเขาที่ไม่สูงมาก เดินง่ายหน่อย สามารถพาครอบครัวมาเดินด้วยได้

“บางจุดที่ลำบากหน่อย หรือภรรยากับลูกขึ้นไม่ไหว หรือไม่อยากขึ้น ผมก็เดินขึ้นคนเดียวครับ พอถึงข้างบนแล้วได้เห็นวิวสวย ๆ ก็ถ่ายรูปเก็บไว้เป็นที่ระลึก”

นอกจากนี้ การฝึกฝน พัฒนาตัวเองก็เป็นอีกหนึ่งสิ่งที่คุณหมอให้ความสำคัญ แม้จะไม่ได้เชี่ยวชาญทุกเรื่อง แต่ต้องทำจุดที่ตัวเองมั่นใจ ชำนาญ และมีประสบการณ์ให้ดีที่สุด

เผยแพร่เมื่อ: 02 ก.ค. 2025

แชร์

แพทย์ที่ถูกเอ่ยถึง

  • Link to doctor
    นพ. พรพีระ จิตต์ประทุม

    นพ. พรพีระ จิตต์ประทุม

    • ศัลยศาสตร์
    • ศัลยศาสตร์ทั่วไป
    • การผ่าตัดช่องท้องผ่านกล้อง
    General Surgery, Minimally Invasive Surgery