นพ.ประดิษฐ์ชัย ชัยเสรี ศัลยแพทย์ผู้ชำนาญการด้านการผ่าตัดหัวใจและหลอดเลือด - Dr Pradistchai Chaiseri, A Seasoned Cardiovascular Thoracic Surgeon

ถ้ากลัวแล้วต้องทรมานไปตลอดชีวิต กับสู้แล้วคุณจะดีขึ้น จะเลือกอย่างไหน

หมอผ่าตัด หนึ่งในอาชีพที่ช่วยชีวิตผู้คนมากมาย ช่วยเปลี่ยนชีวิตผู้คนให้ดีขึ้น ปลายทางที่ดูสดใส แต่ระหว่างทางไม่ง่ายนัก โดยเฉพาะผ่าตัดหัวใจ ที่ใคร ๆ ก็กลัว ไม่มีหมอคนไหนไม่อยากช่วยเหลือคนไข้ แต่ความร่วมมือจากคนไข้ก็สำคัญ

แชร์

“ในฐานะ ศัลยแพทย์หัวใจ ผมถามคนไข้ว่า
ถ้าคุณจะกลัวแล้วทรมานไปตลอดชีวิต
หรือกัดฟันสู้แล้วคุณจะดีขึ้น คุณจะเลือกอย่างไหน”

Dr Pradistchai Banner 2

หมอผ่าตัด หนึ่งในอาชีพที่ช่วยชีวิตผู้คนมากมาย ช่วยเปลี่ยนชีวิตผู้คนให้ดีขึ้น ปลายทางที่ดูสดใส แต่ระหว่างทางไม่ง่ายนัก โดยเฉพาะผ่าตัดหัวใจ ที่ใคร ๆ ก็กลัว ไม่มีหมอคนไหนไม่อยากช่วยเหลือคนไข้ แต่ความร่วมมือจากคนไข้ก็สำคัญ บทความนี้ นายแพทย์ประดิษฐ์ชัย ชัยเสรี ศัลยแพทย์ผู้ชำนาญการด้านการผ่าตัดหัวใจและหลอดเลือด จะมาแชร์มุมมองผ่านเรื่องราวและประสบการณ์การเป็นแพทย์ที่อุทิศตนให้กับงานผ่าตัดหัวใจ

เป็นศัลยแพทย์หัวใจ เพราะหลงใหลการทำงานใน OR

เมื่อถามถึงความเป็นมาและประสบการณ์ผ่าตัดหัวใจ นายแพทย์ประดิษฐ์ชัยเล่าว่าการสอบเข้ามหาวิทยาลัย ในคณะแพทยศาสตร์ ถือเป็นเป้าหมายสูงสุดและเป็นค่านิยมของหลายครอบครัว นายแพทย์ประดิษฐ์ชัยในตอนนั้นยังไม่ได้มีความชอบอะไรมากเป็นพิเศษ ทั้งยังสนใจทางด้านวิศวกรรมศาสตร์ด้วย แต่สุดท้ายก็สอบติด คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล ซึ่งเป็นคณะที่เลือกไว้เป็นอันดับแรก

“จุดเริ่มต้นที่ทำให้ผมสนใจการผ่าตัด คือการได้เข้าไปในห้องโออาร์หรือห้องผ่าตัด แล้วพบว่ามันมีเสน่ห์ ด้านนอกจะมืด ๆ แต่ด้านในจะสว่าง มีหลักการปฏิบัติที่เคร่งครัด เป็นขั้นเป็นตอน อาจารย์ของเราที่ตอนอยู่ข้างนอกแต่งตัวธรรมดา พอเข้าไปในห้องต้องสวมชุดเขียว เหมือนในนั้นเป็นอีกโลกหนึ่งเลยครับ วันหนึ่งผมก็มีโอกาสได้เข้าไปสังเกตการณ์การผ่าตัดหัวใจจริง ๆ ได้มีโอกาสล้างมือ เข้าไปดูการผ่าตัดอย่างใกล้ชิด และได้เห็นหัวใจของคนไข้ จึงเอ่ยขอกับอาจารย์ว่าขอแตะหัวใจหน่อย พอได้แตะหัวใจคนไข้จริง ๆ ก็รู้สึกหลงใหล ทั้งยังได้เห็นและเรียนรู้การทำงานของหมอผ่าตัดหัวใจเก่ง ๆ จาก นพ. ม.ร.ว.กัลยาณกิตติ์ กิตติยากร ซึ่งขณะนั้นเป็นอาจารย์แพทย์ผู้ชำนาญการด้านโรคทรวงอกและหัวใจ โรงพยาบาลรามาธิบดี”

“และเคสที่ทำให้ผมจำได้มาจนทุกวันนี้คือเคสผู้ป่วยเป็น Aneurysm หรือโรคหลอดเลือดแดงใหญ่โป่งพอง และระหว่างการผ่าตัด ต้องหยุดหัวใจ หยุดใช้เครื่องหัวใจและปอดเทียม ทำให้ดูเหมือนคนไข้เสียชีวิตไปแล้ว ใช้เพียงอุณหภูมิต่ำในการรักษาชีวิตคนไข้เอาไว้ พอผ่านไปราว 30-40 นาที อาจารย์ผ่าตัดแก้ไขเสร็จ ร่างกายคนไข้เริ่มกลับมาทำงาน เกิดภาวะเลือดออกอีก ก็ต้องหยุดหัวใจ ผ่าซ่อมต่ออีก และในที่สุดคนไข้ก็รอดชีวิต ครั้งนั้นนับว่าเป็นหนึ่งในสุดยอดของการผ่าตัด และผมก็เกิดความคิดที่อยากจะเป็นศัลยแพทย์หัวใจตั้งแต่นั้นครับ”

จากการได้เฝ้าสังเกตการผ่าตัดคนไข้ ที่มีศัลยแพทย์หนึ่งคนคอยควบคุม จัดการ บริหารทุกอย่างในห้องผ่าตัด รวมไปถึงได้เห็นการทำงานเป็นทีมของผู้เกี่ยวข้องทุกคนอย่างชำนิชำนาญ นายแพทย์ประดิษฐ์ชัยจึงมีความตั้งใจที่จะเรียนเฉพาะทางด้านหัวใจและการผ่าตัด แม้ในขณะนั้นจะดูเป็นเรื่องยาก แต่จังหวะชีวิตเริ่มลงล็อกหลังจากทำงานใช้ทุนเรียบร้อย และได้มาทำงานที่โรงพยาบาลโรคทรวงอก ทำให้มีโอกาสได้ฝึกอบรมเพิ่มเติม และได้เริ่มผ่าตัดหัวใจจริง ๆ เป็นเวลาหลายปีกว่าจะได้ชื่อว่า เป็นศัลยแพทย์หัวใจที่มีความสำเร็จค่อนข้างสูงโดดเด่น กลายเป็นที่สนใจ และเป็นที่ยอมรับในวงกว้าง 

“ช่วงที่ผ่าตัดคนไข้ใหม่ ๆ ผมมีธรรมเนียมนั่งเฝ้านอนเฝ้าคนไข้ของผมเลยครับ ที่โรงพยาบาลโรคทรวงอกตอนนั้นปริมาณคนไข้มาถึงมือผมไม่ได้มาก ผมเลยสามารถให้เวลาและทุ่มเทกับคนไข้แต่ละรายได้ รายไหนไม่มีอะไรน่าห่วง ผมก็อาจออกไปทำนู่นทำนี่แล้วกลับมาเฝ้าต่อ แต่รายไหนที่เป็นเคสยาก ๆ ผมก็จะมานั่งติดข้างเตียง จนคนไข้ทักว่าตื่นมาก็เจอหมอนั่งอยู่ข้าง ๆ แล้ว”

Dr Pradistchai Banner 3

เข้าใจงานของศัลยแพทย์หัวใจและทรวงอก 

โดยปกติแล้ว การรักษาคนไข้โรคหัวใจ จะมีวิธีรักษา 3 วิธี ได้แก่ กินยา สวนหัวใจ และการผ่าตัด ขึ้นอยู่กับชนิดของโรค ระยะของโรค และอาการ ว่าเป็นชนิดไหน ระยะไหนควรรักษาแบบไหน การผ่าตัดจะเป็นด่านสุดท้าย โดยเมื่อก่อน อัตราการเสียชีวิตจากการผ่าตัดหัวใจนั้นครึ่งต่อครึ่ง แต่ในปัจจุบันเหลือเพียงไม่ถึง 5 เปอร์เซ็นต์ ซึ่งเป็นอัตราที่ต่ำ

“ผมเคยมีคนไข้มาถึงหัวใจหยุดเต้นไปแล้ว ได้ปั๊มหัวใจ เราก็ต้องรีบเอาเข้าห้องผ่าตัดทั้งอย่างนั้น จนสามารถผ่าตัดและช่วยชีวิตไว้ได้ เป็นเคสที่ยากแต่ท้ายที่สุดคนไข้ปลอดภัย กับคนไข้หลายราย ก่อนผ่าตัดมีอาการเหนื่อยมาก หลังผ่าตัดหัวใจ เขาดีขึ้น ได้ใช้ชีวิตที่มีคุณภาพขึ้น ผ่านมาเป็นยี่สิบปี หัวใจของคนไข้ก็ยังดีอยู่เลย เขาบอกว่า ถ้าไม่ได้หมอตอนนั้นเขาคงตายแน่ เพราะอาการของเขาหนัก ทำอะไรไม่ได้ ใช้ชีวิตไม่ได้เลย ทำให้รู้ว่าสิ่งที่ทำอยู่ มันพลิกชีวิตของคนไข้ได้ เป็นความภูมิใจของผม”

สำหรับในรายที่ยาก นายแพทย์ประดิษฐ์ชัยก็มีวิธีรับมือด้วยการค่อย ๆ อธิบาย ให้ข้อมูลที่ถูกต้องชัดเจน ว่าทำไมต้องผ่าตัด และความคาดหวังจากการผ่าตัดอะไรบ้าง มีความเสี่ยงอะไรจะเกิดขึ้นได้บ้าง มีภาวะแทรกซ้อนอะไรบ้าง 

“มีหน้าผาให้คุณปีน ผมรู้ว่าคุณไม่อยากปีนหรอก อันตราย แต่ถ้าคุณอยู่ก้นเหว คุณอยากขึ้นไปอยู่ข้างบน ยังไงคุณก็ต้องปีนขึ้นไปให้ได้ คุณจะกลัวแล้วทรมานไปตลอดชีวิต หรือกัดฟันสู้แล้วคุณจะดีขึ้น”

อีกหนึ่งในความสำคัญของการผ่าตัดหัวใจ คือทีมเวิร์ก การมีทีมที่ดี ช่วยให้การทำงานในห้องผ่าตัดราบรื่นและมีประสิทธิภาพ ซึ่งนายแพทย์ประดิษฐ์ชัยจะอธิบายให้คนในทีมอย่างละเอียด เป็นขั้นตอน จนทุกวันนี้กลายเป็นทีมที่มีความชำนาญและทำงานร่วมกันอย่างเข้ามือ

“หากเจอคนไข้มีโรคเรื้อรัง มีอายุมาก ความเสี่ยงสูง ในฝั่งของหมอคือเตรียมคนไข้และบุคลากรให้มีความพร้อมที่สุด ละเอียดรอบคอบ เพื่อลดความเสี่ยงหรือความผิดพลาดที่จะเกิดขึ้นครับ”

Dr Pradistchai Banner 4

หัวใจ หากผิดปกติแม้เพียงเล็กน้อย ก็ควรรีบมาตรวจ

หมอหัวใจหลายคนมักบอกว่า โรคหัวใจนั้น หากเริ่มมีอาการแสดงจนผิดปกติ ตัวโรคมักจะเป็นไปมากแล้ว หลายคนมีอาการเหนื่อย เจ็บหน้าอกนิดหน่อย คิดว่าไม่เป็นอะไร ความจริงอาจเป็นสัญญาณถึงโรคหัวใจ การมาตรวจเช็กกับแพทย์เฉพาะทาง จะช่วยให้ทราบสาเหตุได้ไว การรักษาทำได้ง่าย

“บางรายมาด้วยอาการปวดท้องครับ แต่พอตรวจคลื่นไฟฟ้าหัวใจ แล้วพบว่าผิดปกติ สรุปว่าเป็นโรคหัวใจ โรคหลอดเลือดหัวใจตีบ ต้องสวนหัวใจและผ่าตัด ซึ่งคนไข้บางคนจะโวยวาย ไม่ยอมรับ เพราะคิดว่าตัวเองเป็นโรคท้อง บางครั้งโรคหัวใจอาจแสดงอาการที่คนไข้ไม่คาดคิด เช่น ปวดหลัง ปวดท้อง ท้องบวม บางรายเข้าใจว่าเป็นกรดไหลย้อน รักษากรดไหลย้อนมาตลอดแต่ไม่หาย พอมาตรวจอย่างละเอียด ถึงพบว่าเป็นโรคหัวใจขาดเลือดก็มีครับ”

ในปัจจุบัน การตรวจหัวใจทำได้หลายวิธีเพื่อวัตถุประสงค์หลากหลาย มีทั้งการตรวจคลื่นไฟฟ้าหัวใจตามมาตรฐาน การเอกซเรย์หน้าอก การเจาะเลือด การใช้เครื่อง Echocardiogram ตรวจ สามารถบอกความผิดปกติของหัวใจและลิ้นหัวใจได้ อีกทั้งยังมี Stress Test ที่จะให้คนไข้เดินหรือวิ่งบนลู่วิ่ง เพื่อดูการทำงานของหัวใจ อีกทั้งยังมีการทำ CT Coronary Calcium Score เพื่อตรวจปริมาณหินปูนในผนังหลอดเลือด ซึ่งมีประโยชน์มาก ๆ ในการวินิจฉัยโรคหัวใจ หากต้องการผลตรวจที่ละเอียดมากจริง ๆ ก็ต้องใช้วิธีฉีดสี หลังจากนั้นถึงจะพิจารณาว่าควรรักษาโดยการกินยา สวนหัวใจ หรือผ่าตัด

Dr Pradistchai Banner 5

แพทย์ผู้อุทิศตนให้กับการผ่าตัดหัวใจ

สำหรับกิจกรรมในวันสบาย ๆ หรือช่วงพักผ่อนของนายแพทย์ประดิษฐ์ชัยนั้นค่อนข้างเรียบง่าย เพราะเกือบทั้งชีวิต เขาอุทิศตนให้กับการผ่าตัดหัวใจช่วยเหลือคนไข้มาโดยตลอด จึงมีตารางงานที่ยุ่งอยู่เสมอ สิ่งที่มักทำประจำเพื่อหย่อนใจคือการดูกีฬา

“ผมชอบดูการแข่งกีฬาหลายชนิด ทั้งอเมริกันฟุตบอล รักบี้ ฟุตบอล แบดมินตัน เทเบิลเทนนิส วอลเลย์บอล ดูแล้วเข้าใจกฎกติกาการแข่งขัน และวิเคราะห์เกมไปด้วย อย่างสเกตน้ำแข็ง พอดูไปเรื่อย ๆ จะเริ่มจำได้ว่าท่าบังคับคือท่าไหน และนักกีฬาทำท่าถูกไหม”

หลังจากได้พูดคุย ก็สามารถสรุปได้ว่าคุณหมอชอบสิ่งที่ลงลึกในรายละเอียด ได้ศึกษา ทำความเข้าใจ 

“ผมจะยึดมั่นกับตัวเองในการทำตรงหน้าให้ดีที่สุด เพราะเป็นคนที่ให้ความสำคัญกับรายละเอียด เวลาเย็บแผลแต่ละจุดแต่ละมุม จะคำนึงถึงความเรียบร้อยสมบูรณ์แบบ ถ้าจุดไหนทำได้ไม่เรียบร้อยถูกใจก็จะแก้ไข นอกจากนี้จะเรียนรู้จดจำไว้ ว่าจะทำให้ดีกว่านี้อีกในครั้งต่อไป”

และด้วยความที่เป็นคนชอบลงรายละเอียดและชอบใช้เทคนิคต่าง ๆ ในงานที่ทำเป็นทุนเดิม จึงอาจเป็นหนึ่งในเหตุผลที่นายแพทย์ประดิษฐ์ชัยทำงานด้านศัลยกรรมได้ดี

“สำหรับใครที่รู้สึกว่าร่างกายมีความผิดปกติ เหนื่อยง่าย อย่าเพิ่งคิดว่าตัวเองยังแข็งแรงดี เพราะต่อให้ร่างกายแข็งแรงเหมือนนักกีฬา มีกล้ามเนื้อแข็งแรง แต่ภายในหลอดเลือดหัวใจเราไม่อาจรู้ได้เลยว่ามีไขมันไปเกาะอยู่ไหม ลิ้นหัวใจเราทำงานเป็นปกติดีรึเปล่า อย่ารอให้เหนื่อยหรือเจ็บหน้าอกมากจนทำอะไรไม่ได้ ควรมาตรวจร่างกายอย่างละเอียด อย่ากลัวว่าการมาตรวจว่าจะเป็นการยิ่งหา ยิ่งเจอ ต้องเข้าใจก่อนว่ารอยโรคมันมีอยู่แล้ว ยังไงก็ต้องเจอเข้าสักวันครับ”

สำหรับการป้องกันและวิธีที่จะช่วยลดความเสี่ยงโรคหัวใจที่นายแพทย์ประดิษฐ์ชัยแนะนำ คือ การออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ ลดอาหารไขมันสูง งดสูบบุหรี่ ไม่เครียด ควบคุมระดับน้ำตาลในเลือด ความดันโลหิต และคอเลสเตอรอลในเลือด และที่สำคัญที่สุด คือการตรวจเช็กสุขภาพสม่ำเสมอ และหมั่นสังเกตร่างกายของตัวเอง หากมีอาการผิดปกติ ควรมาพบแพทย์ผู้ชำนาญการ

Dr Pradistchai Banner 1

เผยแพร่เมื่อ: 15 พ.ย. 2023

แชร์

แพทย์ที่ถูกเอ่ยถึง

  • Link to doctor
    นพ. ประดิษฐ์ชัย ชัยเสรี

    นพ. ประดิษฐ์ชัย ชัยเสรี

    • ศัลยศาสตร์
    • การผ่าตัดโรคหัวใจและทรวงอก
    การผ่าตัดหัวใจและปอด