พญ. สุดอำไพ จารุกิจโสภา - Dr Sudumpai Jarukitsopa

รักษาโรคข้ออักเสบและรูมาติสซั่ม เหมาะกับตัวเองเพราะชอบสืบ ค้นหาคำตอบ

แต่ละเคสไม่ซ้ำกัน มันค่อนข้างซับซ้อน ต้องนำผลตรวจทั้งผลแล็บ ผลเอกซเรย์ มาผสมผสานกันเพื่อหาโรคให้เจอ

แชร์

รักษาโรคข้ออักเสบและรูมาติสซั่ม
เหมาะกับตัวเองเพราะชอบสืบ ค้นหาคำตอบ

“แต่ละเคสไม่ซ้ำกัน มันค่อนข้างซับซ้อน ต้องนำผลตรวจทั้งผลแล็บ
ผลเอกซเรย์ มาผสมผสานกันเพื่อหาโรคให้เจอ”

Dr Sudumpai Banner 2

หากเอ่ยถึง โรคภูมิคุ้มกันทำลายตนเอง เช่น โรคลูปัส (โรคแพ้ภูมิตนเอง) โรคเกาต์ รูมาตอยด์ เชื่อว่าคนส่วนมากน่าจะเคยได้ยินถึงความร้ายกาจกันมาบ้าง เพราะจัดเป็นโรคเรื้อรังที่ต้องใช้เวลารักษานานเป็นปี และสิ่งที่น่ากังวลในมุมมองของคนไข้ คือหมอเฉพาะทางในประเทศไทยยังมีไม่มากนัก เพราะอะไรถึงเป็นเช่นนั้น แล้วหมอส่วนใหญ่ไปอยู่ที่ไหน?

MedPark Stories วันนี้ เดินทางมายัง ชั้น 8 เคาน์เตอร์ B โรงพยาบาลเมดพาร์ค โดยจุดหมายของเราอยู่ที่ คลินิกโรคข้อ และแขกพิเศษที่จะมาไขข้อข้องใจให้กับเราก็คือ พญ.สุดอำไพ จารุกิจโสภา แพทย์ผู้ชำนาญการด้านอายุรศาสตร์โรคข้อและรูมาติสซั่ม 

โรคข้อ รูมาติสซั่ม โรคซับซ้อนที่ท้าทายคุณหมอ

พญ.สุดอำไพ เล่าให้ฟังว่า กว่าจะมาเป็นแพทย์ประจำคลินิกโรคข้อ ให้คำปรึกษาคนไข้ ตั้งแต่คนไข้อายุมากกว่า 16 ปี ไปจนถึงผู้ป่วยสูงวัย ทั้งไทยและต่างชาติอย่างเช่นทุกวันนี้ ต้องย้อนไปสมัยเรียนอยู่ที่ โรงเรียนเตรียมอุดมศึกษา ช่วงก่อนเลือกสอบเข้ามหาวิทยาลัยจะมีคณะเป้าหมายยอดนิยมของเด็กเตรียมฯ ก็คือ แพทยศาสตร์ และ วิศวกรรมศาสตร์ คุณหมอปักธงเอาไว้แต่แรกว่าต้องเป็น “แพทย์” เท่านั้น เพราะไม่ชอบสายงานด้านวิศวกร และเป็นคนไม่กลัวเลือดอยู่แล้ว 

หลังจากเรียนจบ คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล ไม่นานก็ไปเป็นแพทย์ประจำบ้าน สาขาอายุรศาสตร์ ที่ University of Hawaii ระหว่างนั้น คุณหมอได้เรียนรู้และค้นหาความถนัดของตนเอง จนในที่สุดก็ตัดสินใจเรียนต่อเฉพาะทางด้าน โรคข้ออักเสบและรูมาติสซั่ม ที่ Mayo School of Graduate Medical Education รัฐมินนิโซตา ประเทศสหรัฐอเมริกา

“หมอเป็นคนตื่นเช้าค่ะ ตอนไปเรียนอายุรกรรม เราทำงานถึงเย็นก็หมดพลังแล้ว เคยรับโทรศัพท์กลางดึก มันค่อนข้างง่วงนอน เลยอาจฟังอะไรได้ไม่ครบถ้วน แล้วถ้าต้องแนะนำหรือพูดอะไรออกไป ก็กลัวจะสื่อสารผิดพลาด เลยรู้สึกว่าเราเหมาะกับงาน OPD มากกว่า”

“แล้วหมอ Rheumatology รักษาโรคข้ออักเสบและรูมาติสซั่ม รู้สึกว่าเป็นงานที่เหมาะกับตัวเองมาก เพราะเป็นคนชอบสืบ ชอบค้นหาคำตอบ การรักษาแต่ละเคสจะมีรายละเอียดไม่ค่อยซ้ำกัน อย่างคนไข้บางคน ผลเลือดผิดปกติ แต่พอค้นหาไปเรื่อย ๆ สุดท้ายแล้วเขาไม่ได้เป็นโรคอย่างที่เราคาดการณ์ไว้ตอนแรก คือมันค่อนข้างซับซ้อนในแง่ที่ว่า ต้องนำผลตรวจทั้งผลแล็บ ผลเอกซเรย์ มาผสมผสานกันเพื่อหาโรคให้เจอ”

Dr Sudumpai Banner 3

หมอรูมาตอยด์ เก่ง ๆ ประสบการณ์สูง ยังมีไม่มาก

โรคที่เกี่ยวข้องกับ ข้ออักเสบ และรูมาติสซั่ม ต้องอาศัยประสบการณ์อย่างสูงของแพทย์ แต่ปัจจุบัน หมอรูมาตอยด์ หมอรักษาโรคข้ออักเสบ ในประเทศไทยนั้นถือว่ายังมีไม่เพียงพอกับความต้องการ สวนทางกับจำนวนคนไข้เพิ่มสูงขึ้น แน่นอนว่า การที่คนไข้ต้องรอคิวเป็นเวลานานก็อาจทำให้อาการยิ่งทวีความรุนแรงมากขึ้นไปอีก เหตุผลหนึ่งที่ทำให้หมอมีจำนวนน้อย อาจเป็นเพราะกระบวนการวินิจฉัยแต่ละเคส ต้องใช้เวลาและความละเอียดสูง 

“คนไข้ที่ไปโรงพยาบาลรัฐ ต้องยอมรับเลยว่าตารางตรวจหมอค่อนข้างแน่น แล้วการเข้าถึงการรักษายาก เพราะโรงพยาบาลรัฐหลายอำเภอน่าจะไม่มีหมอด้านนี้ จึงต้องส่งต่อคนไข้เข้ามากรุงเทพฯ หรือโรงพยาบาลใหญ่ในตัวเมือง เลยใช้เวลานานขึ้น ส่วนใหญ่แล้วคนไข้ที่มาเอกชนก็เพราะรอคิวไม่ไหว บางรายมาจากต่างประเทศ เพราะที่ประเทศเขาไม่มีหมอเฉพาะทาง หรือมีไม่เยอะ”

“หมอเฉพาะทางที่โรงพยาบาลเอกชนจะได้เปรียบกว่าในแง่ของการทุ่มเทเวลาในการตรวจรักษา อย่างคนไข้บางราย มาด้วยอาการคล้ายกับโรครูมาตอยด์ แต่หมอจะยังสรุปให้ไม่ได้ในทันทีค่ะ เพราะการจะวินิจฉัยให้ครบองค์รวม มันต้องใช้เวลา ต้องดูหลายอย่างประกอบกัน แม้ค่ารักษาในโรงพยาบาลเอกชนจะสูง แต่คนไข้จะได้เจอหมอเฉพาะทางที่มีเวลาให้เต็มที่ ซักประวัติคนไข้ละเอียด ตอบคำถาม แนะนำคนไข้ได้ครบถ้วน” 

ในส่วนของวิธีการตรวจวินิจฉัย คุณหมอบอกว่ามีหลายแบบด้วยกัน เช่น เจาะเลือดตรวจทางห้องปฏิบัติการ การถ่ายภาพรังสี เอกซเรย์ หรือการทำ MRI เจาะดูดน้ำออกจากข้อ การฉีดยาโดยอาศัยเครื่องอัลตราซาวด์ช่วยนำทางเข็ม (Ultrasound Guided Injection) ส่วนยาที่ใช้รักษานั้นไม่ใช่เรื่องน่ากังวลอะไร เพราะยาในประเทศไทยเป็นยาคุณภาพดี ไม่แพ้กับต่างประเทศ

โรคเก๊าต์ รูมาตอยด์ กับความเชื่อที่หลายคนยังเข้าใจผิด

หมอเฉพาะทางด้านอื่นสามารถรักษาคนไข้แต่ละเคสเสร็จโดยใช้เวลาไม่นานนัก แต่สำหรับคนไข้โรคข้อและรูมาติสซั่ม เมื่อค้นหาโรคจนพบแล้ว ระหว่างกระบวนการรักษา หมอต้องให้ความรู้คนไข้แบบค่อยเป็นค่อยไป และติดตามผลกันเป็นเวลายาวนานหลายปี จนกว่าจะแน่ใจว่าสามารถคุมโรคได้จริง คุณหมอยกตัวอย่างเรื่องที่ต้องอธิบายให้แก่คนไข้รายใหม่ ๆ ส่วนมากมักจะเป็นความเชื่อผิด ๆ ที่ส่งต่อกันมา เกี่ยวกับอาหารการกิน เช่น รับประทานไก่แล้วจะทำให้เป็นโรคเก๊าต์

“คนไทยยังมีความเข้าใจผิดอยู่ว่าถ้าเป็นเก๊าต์จะกินไก่ไม่ได้ หรือ กินไก่มาก ๆ ทำให้เป็นโรคเก๊าต์ จริง ๆ แล้วเนื้อไก่มีกรดยูริกน้อยนะคะ ส่วนที่มีกรดยูริกเยอะจะเป็นเครื่องใน ซึ่งบางทีมันก็ไปอยู่ในน้ำซุป คนไทยกินก๋วยเตี๋ยว ซดน้ำซุป แล้วก็กินเครื่องในร่วมด้วย ก็เลยทำให้ยูริกในร่างกายเพิ่มขึ้น” 

“แล้วอีกอย่าง ยูริกพบมากในสัตว์เนื้อแดง เช่น เนื้อหมู เนื้อแกะ เนื้อวัว แต่ไก่เป็นสัตว์เนื้อขาวไง ส่วนใหญ่หมอจะบอกคนไข้ว่า ให้หลีกเลี่ยงการดื่มแอลกอฮอล์ เครื่องดื่มผสมน้ำตาล หรือ Sugary Drinks น้ำหวานต่าง ๆ ที่มันมีน้ำตาลฟรุกโตส ต้องให้ความรู้ที่ถูกต้องกับคนไข้ด้วย ถึงได้บอกว่าเราต้องมีเวลามานั่งคุยกัน”

มีคนไข้หลายคน ที่ยังเชื่อว่า ถ้าเป็นโรครูมาตอยด์ ห้ามกินอาหารบางอย่าง เช่น ของแสลง อาหารหมักดอง แต่ความจริงแล้วหมอไม่ได้ห้ามขนาดนั้น

“สาเหตุของรูมาตอยด์ มันไม่ได้เกี่ยวกับอาหารซะทีเดียวค่ะ แต่เนื่องจากส่วนใหญ่คนไข้รูมาตอยด์ต้องกินยากดภูมิต้านทาน เพื่อควบคุมโรค หมอก็จะบอกว่า การกินอาหารที่ไม่สุกมันมีโอกาสที่จะก่อโรคได้นะ แล้วพอเวลามันเกิดการติดเชื้อขึ้นมา ภูมิคุ้มกันก็จะทำหน้าที่ฆ่าเชื้อโรค มันก็เลยส่งผลให้อาการของรูมาตอยด์แย่ลง”

คุณหมอสุดอำไพ ยังเล่าให้ฟังอีกว่า คนไข้ OPD ที่มาพบส่วนใหญ่จะเผชิญกับอาการปวดในระดับที่เริ่มรบกวนการใช้ชีวิตประจำวัน และเป็นมาประมาณ 6 สัปดาห์ขึ้นไป ถือว่าเป็นอาการปวดเรื้อรัง ไม่มีทีท่าว่าจะดีขึ้น และก่อนจะมาพบหมอ ก็มักจะค้นหาข้อมูลมาจากอินเทอร์เน็ตมาส่วนหนึ่ง

“เดี๋ยวนี้มีด็อกเตอร์กูเกิล คนส่วนใหญ่เขาก็จะเสิร์ชมาก่อนแล้วว่าเขาน่าจะป่วยเป็นอะไรได้บ้าง หมอคิดว่าการค้นหาข้อมูลมาเป็นเรื่องที่ดี แต่ต้องมีความอัปเดตนิดนึงด้วยนะคะ มันอาจจะมีงานวิจัยใหม่ ๆ ผลการศึกษาต่าง ๆ ออกมาอีก หมอก็จะอธิบายกันยาวเลย แล้วก็จะแนะนำให้คนไข้หาความรู้เพิ่มเติมจากแหล่งที่เชื่อถือได้”

Dr Sudumpai Jarukitsopa Banner 22

การวินิจฉัยต้องอาศัยเทคโนโลยีที่มีศักยภาพ

จากประสบการณ์การเป็นหมอที่คลินิกโรคข้อ โรงพยาบาลเมดพาร์ค มาตั้งแต่เปิดให้บริการ คุณหมอค่อนข้างมั่นใจในศักยภาพของโรงพยาบาล

“โรงพยาบาลของเราค่อนข้างพร้อม โดยเฉพาะในเรื่องของเครื่องมือระบบดิจิทัล อย่างที่ ศูนย์รังสีวินิจฉัย ก็มีเครื่องมือที่สามารถตรวจพวกผลึกเกาต์ได้ รวมถึงพวก MRI ก็ได้มาตรฐานระดับโลก ห้องแล็บก็สามารถตรวจหาค่าต่าง ๆ ได้อย่างรวดเร็ว ถ้าเป็นการตรวจที่ไม่ทำบ่อยนัก ก็สามารถส่งไปให้แล็บโรงพยาบาลรัฐใหญ่ ๆ ที่เขาทำวิจัย หรือไม่ก็ส่งไปเมืองนอกก็ได้”

คุณหมอยกตัวอย่างเคสคนไข้ผู้หญิงที่รักษาด้วยยา Leflunomide ไประยะหนึ่งแล้วคนไข้ต้องการที่จะตั้งครรภ์ จึงจำเป็นต้องให้หยุดยาดังกล่าวเพื่อไม่ให้กระทบกับตัวอ่อนในท้อง

“เคสนี้การที่จะให้คนไข้หยุดยา เราต้องให้เขากินสารตัวหนึ่ง เพื่อช่วยขับยาออกมา พอกินครบแล้วเราก็ต้องวัด Level ให้อยู่ในระดับที่ปลอดภัย ก่อนที่จะไปบอกคนไข้ว่า โอเค คุณสามารถตั้งครรภ์ได้ ซึ่ง Level นี้ต้องส่งไปยังแล็บของเมโยคลินิก ใช้เวลารอผลไม่นาน ประมาณ 3 สัปดาห์ เขาจะส่งกลับมาให้ผ่านทางอีเมล์ ดังนั้น เรามีศักยภาพในการตรวจวินิจฉัยได้เกือบทุกอย่าง ถ้าไม่มีแล็บในประเทศไทย เราก็ส่งไปเมืองนอกได้”

Stem Cell Transplantation ก้าวต่อไปของการรักษา

คุณหมอเกริ่นถึง โรคออโตอิมมูน (Autoimmune) หรือโรคภูมิคุ้มกันทำร้ายตัวเอง ที่คนมักรู้จักกันในชื่อ โรคแพ้ภูมิคุ้มกันตัวเอง โรคภูมิต้านตนเอง โรคภูมิแพ้ตัวเอง หลายคนหวาดกลัวกับโรคนี้ แต่น้อยคนจะรู้ว่า ปัจจุบันมีแนวโน้มที่จะรักษาได้ดียิ่งขึ้นเรื่อย ๆ

“กลุ่มโรคออโตอิมมูนเขามีการศึกษาเกี่ยวกับ Stem Cell Transplantation หรือว่าพวกยากลุ่ม CAR T- Cell Therapy เนื่องจากโรคกลุ่มพวกนี้ เชื่อว่าเป็นความผิดปกติทางพันธุกรรม เดี๋ยวนี้การศึกษา Gene Sequencing ทำกันเยอะ ถ้าอนาคตรู้ว่าเป็นยีนตัวไหน แล้วเอายามุ่งเป้าไปรักษาตรงนั้น โรคก็อาจจะหายได้ค่ะ”

แม้ในทางการแพทย์จะมีการพัฒนายาใหม่ ๆ เช่น ยาชีววัตถุ (Biologic DMARDs และอื่น ๆ) แต่คุณหมอยืนยันว่า การรักษาด้วยยาในปัจจุบัน ยังไม่สามารถทำให้หายขาดจากโรคได้

“หมอจะบอกคนไข้เสมอว่า เราต้องดูแลรักษาข้อให้ดี จนกระทั่งถึงวันที่มีวิธีการรักษาที่หายขาด ซึ่งน่าจะทำได้นะคะ อีก 10-20 ปี ตอนนี้มีน้อยกว่า 5% ที่อาจจะหยุดยาได้สบายๆ แต่ส่วนมากยังจะต้องกินยาประคับประคองโรคไปตลอด จะกินมากกินน้อยว่ากันไป แล้วแต่การดูแลตัวเอง”

Dr Sudumpai Jarukitsopa Banner 1

โรคเรื้อรัง รักษาไม่หาย แต่สามารถใช้ชีวิตได้เหมือนคนปกติ

คำว่า “รักษาไม่หายขาด” เป็นสิ่งที่ทำให้คนไข้กังวล โดยเฉพาะกับคนไข้โรค Systemic Lupus Erythematosus (SLE) ภูมิต้านตนเอง โรคลูปัส หรือที่รู้จักกันดีในชื่อโรคพุ่มพวง คุณหมอจึงอยากเน้นย้ำและให้ความสำคัญ ในเรื่องการควบคุมตัวเองให้ดี เพราะนักวิจัยเองก็มีความพยายามในการเอาชนะโรคกลุ่มนี้อย่างไม่ลดละ

“โรคกลุ่มนี้เป็นโรคเรื้อรัง แต่ว่า ณ ปัจจุบัน ถ้ามาปรึกษากันตั้งแต่เนิ่น ๆ เราสามารถที่จะบรรเทาอาการได้ อย่างเช่น คนไข้ที่เป็น โรคพุ่มพวง หรือ เอสแอลอี แต่ก่อนคนก็จะบอกว่า โอ้โฮ เป็นแล้วแย่แน่ แต่เดี๋ยวนี้อัตราการเสียชีวิตน้อยกว่าแต่ก่อนมากค่ะ ส่วนใหญ่ถ้าอยู่ภายใต้การดูแลของแพทย์ กินยาสม่ำเสมอ คุมเอาไว้ให้ดี คนไข้สามารถใช้ชีวิตเหมือนคนปกติเลย”

เรามีความหวังในเรื่องของการตัดต่อยีนที่จะนำมาพัฒนาเป็นยามุ่งเป้าในอนาคต เป็นอีกหนึ่งในวิธีการรักษาที่ยังคงมีการพัฒนาวิจัยกันอยู่เรื่อย ๆ คุณหมอเล่าถึงคนไข้เคสหนึ่ง เป็นเคสของผู้ป่วยหญิงจากประเทศเพื่อนบ้าน อายุประมาณ 30 ปี ที่ป่วยด้วยโรคที่ไม่สามารถหาสาเหตุได้

“คนไข้มาด้วยความไม่รู้ว่าตัวเองเป็นโรคอะไร เขามีลูก 1 คน เคยตั้งครรภ์คนที่ 2 แต่ไม่สำเร็จ พอผ่านช่วงไตรมาสสองไปแล้วเขาแท้ง หลังจากรักษาตัวจนร่างกายกลับมาปกติดี วันหนึ่งก็มาเป็นสโตรก อยู่ ๆ ก็พูดไม่ได้ อัมพาตไปข้างหนึ่ง ญาติก็กังวลมาก เลยพามารักษาที่บ้านเรา สรุปคนนี้เป็นโรค SLE แล้วก็มี Antiphospholipid Syndrome หรือกลุ่มอาการต้านฟอสโฟลิพิด ซึ่งโรคพวกนี้มันจะเหมือนถูกกระตุ้นในช่วงตั้งครรภ์”

สำหรับคนไข้เคสนี้ ในความคิดเห็นของคุณหมอ ถือว่ารุนแรง มีอาการผิดปกติเยอะ ซึ่งกว่าจะได้ข้อสรุป ต้องตรวจอย่างละเอียด ทั้งตรวจร่างกาย ตรวจเลือด แล้วยังต้องทำงานร่วมกับคุณหมอระบบประสาทด้วย

“ด้วยความที่คนไข้อายุยังไม่มาก เขาจึงสามารถฟื้นตัวกลับมา พูดได้ เดินได้ปกติ ทุกวันนี้เขาก็ยังต้องกินยาเอสแอลอีอยู่ กินยาละลายลิ่มเลือด แล้วเขาก็มีลูกอีกคนหนึ่งสำเร็จ คือตอนหลังคุมโรคได้หมด จนทุกอย่างนิ่ง เราก็โอเคที่จะให้เขาตั้งครรภ์แล้วลูกก็พัฒนาการปกติ ทั้งนี้ทั้งนั้นก็ยังติดตามอาการอย่างต่อเนื่องอยู่ค่ะ”

จากหลาย ๆ เคสที่ได้รักษามา ได้ร่วมงานกับแพทย์และบุคลากรหลายแผนก คุณหมอเผยว่า ประทับใจที่ได้เป็นส่วนหนึ่งของโรงพยาบาลเมดพาร์ค เพราะผู้บริหาร แพทย์ และบุคลากร ล้วนเติบโตมาด้วยกัน 

“องค์กรใหญ่มาก ๆ บางทีอาจจะเข้าถึงกันยาก แต่ที่นี่คนส่วนใหญ่จะรู้จักกัน มีการสื่อสารหากันและกันตลอด แน่นอนว่าการทำงานทุกอย่างมันมีโอกาสที่จะติดขัด แต่เมื่อเกิดปัญหาปุ๊บ เรารู้ว่าจะต้องถามใคร ในระบบขั้นตอนต่าง ๆ รวมถึงการ Consult โรคต่าง ๆ สมมติเรามีคนไข้ร่วมกันกับแพทย์ท่านอื่น แล้วต้องมีการปรึกษาจากหลายแผนก แพทย์ทุกท่านจะเข้าถึงง่าย เหมือนกับเติบโตมาด้วยกัน ผู้บริหารก็ให้ความช่วยเหลือเป็นอย่างดี”

ตลอดเวลาที่สนทนากับคุณหมอ เราได้สัมผัสกับน้ำเสียงที่จริงจัง และแววตาที่ดูมีความสุขในการใช้ชีวิต คุณหมอมักจะเป็นตัวอย่างที่ดีให้กับคนไข้เสมอ โดยช่วงวันหยุดสัปดาห์ละ 2 วัน มักจะใช้เวลา 1-2 ชั่วโมงกับการเล่นเทนนิส เพื่อสุขภาพร่างกายที่แข็งแรง เพราะเชื่อว่าการที่แพทย์จะบอกอย่างเต็มปากว่าให้คนไข้ดูแลตัวเอง แพทย์ก็ต้องรู้จักดูแลตัวเองด้วยเช่นกัน

เผยแพร่เมื่อ: 17 พ.ย. 2023

แชร์

แพทย์ที่ถูกเอ่ยถึง

  • Link to doctor
    พญ. สุดอำไพ จารุกิจโสภา

    พญ. สุดอำไพ จารุกิจโสภา

    • อายุรศาสตร์
    • อายุรศาสตร์โรคข้อและรูมาติสซั่ม
    โรคเกาต์, โรคข้ออักเสบรูมาตอยด์, โรคแพ้ภูมิตัวเอง, โรคแพ้ภูมิตัวเอง, กล้ามเนื้ออักเสบ, โรคข้อเสื่อม