น.อ.นพ.อุดม สุทธิพนไพศาล - Dr Udom Suthiponpaisan

โรคหลอดเลือดสมอง นาทีเป็น นาทีตาย ที่ต้องพร้อมรับมือ

โรคอื่น ๆ บางทีเขารู้ตัวเองแล้วไปรักษาเองได้ แต่โรคหลอดเลือดสมอง คนไข้จะช่วยเหลือตัวเองไม่ได้ มันจึงเป็นโรคที่เกี่ยวข้องกับคนในครอบครัวมากที่สุด

แชร์

โรคหลอดเลือดสมอง นาทีเป็น นาทีตาย ที่ต้องพร้อมรับมือ

“โรคอื่น ๆ บางทีเขารู้ตัวเองแล้วไปรักษาเองได้ แต่โรคหลอดเลือดสมอง คนไข้จะช่วยเหลือตัวเองไม่ได้ มันจึงเป็นโรคที่เกี่ยวข้องกับคนในครอบครัวมากที่สุด”

Dr Udom Banner 3

สมองของคนเรามีความซับซ้อนและมหัศจรรย์เหลือล้น แต่ก็น่ากลัวตรงที่ หากมีความผิดปกติของ หลอดเลือดในสมอง ไม่ว่าจะเป็นการตีบ อุดตัน แตก จุดเล็ก ๆ เพียงจุดเดียว จะส่งผลต่อการลำเลียงเลือดที่ประกอบด้วยออกซิเจนและสารอาหารที่จะไปเลี้ยงเซลล์สมอง เมื่อเซลล์สมองทยอยตายไป ก็จะไม่สามารถควบคุมระบบต่าง ๆ ของร่างกาย เดินไม่ได้ พูดไม่ได้ อาจทำได้แค่นอนนิ่งอยู่บนเตียง...

MedPark Story ขออาสาพาไปทำความรู้จักกับ คุณหมอทางด้านสมอง ผู้เป็นความหวัง และสร้างโอกาสในการกลับมามีชีวิตอันปกติสุขของคนไข้ที่เสี่ยงเป็น โรคอัมพฤกษ์ อัมพาต หรือทุพลภาพ เขาคือ น.อ.นพ.อุดม สุทธิพนไพศาล ร.น. แพทย์ผู้ชำนาญการด้านโรคหลอดเลือดสมองและรังสีร่วมรักษาระบบประสาท โรงพยาบาลเมดพาร์ค

ตั้งใจเรียนและงานอดิเรก

เรื่องราวชีวิตในช่วงวัยเยาว์ของ นพ. อุดม เรียกได้ว่าฉายแววเก่งครบเครื่อง ตั้งแต่การได้รับเลือกเป็นประธานนักเรียน ตั้งแต่ชั้นประถมศึกษา จนก้าวสู่ชั้นมัธยมต้น ที่เริ่มสนใจดนตรี และด้วยความหลงใหลเสียงอันเป็นเอกลักษณ์ของแซกโซโฟนอัลโต้ ประกอบกับแรงบันดาลใจจากภาพพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ที่ทรงแซ็กโซโฟน จึงสมัครเป็นนักดนตรีวงโยธวาทิตของโรงเรียน และได้เข้าร่วมแข่งขันวงโยธวาทิตระดับประเทศ ส่วนการเรียนก็โดดเด่นไม่แพ้ใคร ได้รับโล่ห์รางวัล คะแนนสูงสุดวิชาฟิสิกส์ ซึ่งผลจากความขยันหมั่นเพียร ทำให้คุณหมอสามารถสอบเข้าคณะแพทย์จุฬา ฯ ได้ตั้งแต่ ม. 5 เลยทีเดียว

“พอเข้าเตรียมอุดม ผมก็อ่านหนังสือ ทำโจทย์ แบบฝึกหัด แทบทุกวัน ไม่ได้จำกัดแค่เนื้อหาบทเรียนในชั้นเรียน ม. ปลาย แต่หาข้อมูลลึกไปถึงระดับมหาวิทยาลัยเลย ผมถนัดวิชาฟิสิกส์มาก ๆ เพราะชอบคำนวณ วิชาเลขมันก็เป็นแค่ตัวเลข แต่ฟิสิกส์มันเป็น movement เป็นกายภาพ เป็นอะไรที่เราเห็นได้จริง สามารถนึกตามเห็นภาพได้”

Dr Udom Banner 2

ต่อยอดความรู้ แนวทางใหม่ในการรักษา

คุณหมออุดมเรียนจบแพทย์ ในปี 2540 แล้วสมัครเข้ารับราชการเป็นแพทย์ทหาร สังกัดกองทัพเรือ รักษาคนไข้โรคทางสมองและระบบประสาทหลายเคส ซึ่งในสมัยนั้น การรักษาโรคหลอดเลือดสมอง ยังเป็นการให้ยาต้านเกร็ดเลือด ควบคุมความดันโลหิต และควบคุมปัจจัยเสี่ยงโรคประจำตัว แต่ด้วยเทคโนโลยีทางการแพทย์ที่พัฒนาวิธีการรักษาใหม่ ๆ อยู่ตลอด จึงไปศึกษาต่อเพื่ออัปเดตความรู้ และเพิ่มความชำนาญมากขึ้น

“ผมเจอคนไข้สโตรกเยอะ เลยไปเรียนต่อเฉพาะทางที่ รพ. จุฬาลงกรณ์ จบแล้วไปอยู่ รพ. สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ ก่อนย้ายมา รพ. สมเด็จพระปิ่นเกล้า มาสร้างทีมสำหรับการรักษาผู้ป่วยโรคหลอดเลือดสมองโดยเฉพาะเลย ตอนนั้นมีเคสผู้ป่วยหลอดเลือดสมองอุดตันเฉียบพลัน ผมก็ได้ให้ยาละลายลิ่มเลือดกับคนไข้ เป็นรายแรกของ รพ. ต่อมาการรักษาโรคหลอดเลือดสมองพัฒนาไปทางการรักษาด้วยการสวนหลอดเลือด ผมจึงกลับมาเรียนที่ รพ. จุฬาลงกรณ์ ถือเป็นครั้งที่ 4 หลังจากจบกลับมาทำงานที่ รพ. สมเด็จพระปิ่นเกล้า ต้องอยู่เวรคนไข้โรคหลอดเลือดสมองแทบทุกวัน เนื่องจากผู้ป่วยส่วนมากจะมีอาการช่วงกลางคืน นอกเวลาราชการ จึงจำเป็นต้องอยู่เวรเพื่อคัดกรองผู้ป่วย และให้การรักษาที่เหมาะสม ทันเวลา”

“จากประสบการณ์รักษาคนไข้มาหลายแบบ วิธีที่ผมมั่นใจก็คือ การสวนหลอดเลือด และลากลิ่มเลือดออกมา ซึ่งทำให้คนไข้ที่เพิ่งมีอาการ ฟื้นกลับมาเป็นปกติได้ภายในเวลาไม่นาน และผลเอกซเรย์คอมพิวเตอร์สมองพบความผิดปกติน้อยมาก ซึ่งสิ่งสำคัญที่ทำให้การรักษาประสบความสำเร็จได้ก็คือ ทำระบบดูแลผู้ป่วยให้ดี รวดเร็ว และช่วยเหลือผู้ป่วยอย่างเต็มที่ในสถานการณ์นั้น ๆ ครับ”

นพ. อุดม ทำงานจนเกษียณอายุราชการก่อนกำหนด (47 ปี) ซึ่งเป็นช่วงเวลาที่ทาง รพ.เมดพาร์ค เริ่มเปิดให้บริการ จึงเป็นโอกาสดีที่จะได้นำประสบการณ์ ความชำนาญทางด้านโรคหลอดเลือดสมอง มารักษาคนไข้ต่อไป

Dr Udom Banner 5

โรคหลอดเลือดสมอง รักษาได้ถ้ามาทันเวลา

สิ่งที่คุณหมอกังวลและอยากฝากถึงทุกคนก็คือ อาการสโตรก (Stroke) หรือ โรคหลอดเลือดสมอง มักจะเกิดขึ้นแบบฉับพลัน และเกิดกับใครก็ได้ ยิ่งคนที่มีความเสี่ยงก็ยิ่งต้องระวัง ควรเข้าใจลักษณะของโรค อาการเบื้องต้น เพื่อเตรียมตัวให้พร้อมสำหรับเหตุการณ์ฉุกเฉินที่อาจเกิดขึ้นไม่ว่ากับตนเองหรือคนใกล้ตัว หากมีอาการผิดปกติคล้ายอัมพาต พูดไม่ได้ ขยับไม่ได้ อย่ารอช้า รีบมาพบแพทย์ให้เร็วที่สุด ยิ่งเร็วยิ่งลดโอกาสเสี่ยง อัมพฤกษ์ อัมพาต

“หากคนไข้มาถึงโรงพยาบาลเร็ว สมองก็จะยังไม่เสียหายมาก ผมเคยรักษาคนไข้รายหนึ่ง มาถึง รพ. ด้วยอาการอัมพาต ตากลอกไปข้างขวา หน้าเบี้ยวด้านซ้าย แขนขาด้านซ้ายไม่มีแรงขยับไม่ได้ พูดไม่ได้ เลยส่งไปทำ CT scan พบว่าเลือดไม่ไปเลี้ยงเส้นเลือดสมองซีกขวา เนื่องจากมีลิ่มเลือดอุดตัน จึงให้ยาละลายลิ่มเลือดในห้องเอกซเรย์คอมพิวเตอร์เลย แล้วทำเอกซเรย์คอมพิวเตอร์หลอดเลือดสมองทันที ก็พบตำแหน่งที่หลอดเลือดสมองขนาดใหญ่อุดตัน จึงทำการสวนหลอดเลือดเพื่อเอาลิ่มเลือดที่อุดตันออกมา”

Dr Udom Banner 11

ปัจจัยสำคัญที่ทำให้คนไข้รอดชีวิต ในมุมมองของแพทย์ผู้ชำนาญการ อย่างแรกคือ ตัวโรค โรคประจำตัวเดิม และหลอดเลือดที่ตีบ ถ้าเป็นหลอดเลือดเล็ก คนไข้อาจทุพลภาพ อัมพาตข้างเดียว แต่ถ้าเป็นหลอดเลือดใหญ่ อาจเกิดภาวะสมองบวมจนไปกดสมองส่วนที่สำคัญอย่าง ก้านสมอง จนทำให้เสียชีวิตได้

สอง คือ ระยะเวลา ถ้าคนไข้มีอาการแล้วปล่อยทิ้งไว้ ไม่รีบมาโรงพยาบาล ตัวโรคก็จะเปลี่ยนไปเรื่อย ๆ ถ้ามาในช่วงที่เลยเวลาการรักษาที่สำคัญไปแล้ว ก็อาจจะเป็นการรักษาประคับประคองไม่ให้โรคแย่ลง ถ้าคนไข้เป็นแล้วรีบมา ต่อให้เป็นเยอะแต่มาเร็ว เรารักษาได้เต็มที่ ก็อาจจะกลับไปหายได้ สุดท้ายคือ โรงพยาบาล ถ้าคนไข้เป็นแล้ว รีบมาแล้ว แต่ไปโรงพยาบาลที่ไม่มีศักยภาพในการรักษาเต็มที่ ก็จะเสียเวลาในกระบวนการส่งต่อคนไข้ไปโรงพยาบาลอื่น

“ถ้าคนไข้เป็นโรคอื่น ๆ บางทีเขารู้ตัวเองแล้วไปรักษาเองได้ แต่โรคหลอดเลือดสมอง คนไข้จะช่วยเหลือตัวเองไม่ได้ มันจึงเป็นโรคที่เกี่ยวข้องกับคนในครอบครัวมากที่สุด ตั้งแต่ตอนเกิดเรื่อง ญาติต้องพามาโรงพยาบาล ถ้าอาการป่วยหนักมากขึ้น จนช่วยเหลือตัวเองไม่ได้ ป่วยติดเตียง ญาติก็ต้องมาดูแล ต้องทุ่มเทเวลาให้กับคนไข้มาก ๆ ในช่วงเวลานึงเลย” 

“ทุกคนต้องสังเกตอาการ ยิ่งคนที่มีปัจจัยเสี่ยง เป็นผู้สูงอายุ หรือเคยเป็นแล้ว ก็สังเกตง่ายหน่อย รีบพามา รพ. จะเป็นมากน้อย ถ้าประเมินได้เร็วคนไข้ก็มีโอกาสกลับมาดีได้เร็ว และสำหรับญาติ ๆ คนไข้ ถ้ารู้ว่าคนไข้มีโรคประจำตัว ควรพาไปเช็กอัพ รักษา ตามนัดเสมอ กินยาตามแพทย์สั่งเสมอ แต่ก็ต้องเผื่อไว้ว่าจะมีเหตุฉุกเฉินด้วย ต้องพร้อมรับมือตลอดเพราะอาจจะกลับมาเป็นได้ครับ”

Dr Udom Banner 4

แพทย์ทหาร ช่วยคนไข้และผู้บาดเจ็บในสงคราม

หากพูดถึงประสบการณ์ระหว่างทำงานใช้ทุนที่ รพ.สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ อ.สัตหีบ จ.ชลบุรี คุณหมอมีเรื่องเล่าสนุก ๆ น่าประทับใจเล่าสู่กันฟังมากมาย จากการปฎิบัติภารกิจช่วยเหลือคนไข้ทั้งทางบกและทางทะเล

“ช่วงที่รับเรือหลวงจักรีนฤเบศร์มาที่ไทย ผมต้องไปช่วยเหลือผู้ประสบอุทกภัย น้ำท่วมใหญ่ที่ จ.ชุมพร ขึ้นเฮลิคอปเตอร์วันละหลายรอบ ไปช่วยผู้ป่วยที่ติดน้ำท่วม คัดกรองผู้ป่วยหนักเพื่อไปรักษาที่ รพ. แล้วยังไปราชการเรืออื่น ๆ อีกหลายครั้ง ไปกับ เรือหลวงสิมิลัน (871) เรือหลวงสุรินทร์ (722) เรือหลวงอ่างทอง (791) เรือหลวงเจ้าพระยา เรือหลวงสายบุรี รวมถึงฝึกการแพทย์ทหารและการบรรเทาภัยพิบัติ ADMM - Plus ASEAN Military Medicine - Humanitarian Assistance and Disaster Relief Joint Exercise 2016 (AM - HEx 2016) ด้วยครับ”

นอกจากราชการในประเทศไทยแล้ว ยังมีอีกหนึ่งภารกิจสำคัญในต่างประเทศ นั่นคือ เข้าร่วมภารกิจช่วยเหลือติมอร์ตะวันออก (Thai – East Timor 972) ผลัดแรก ซึ่งช่วงนั้นเป็นช่วงบรรยากาศมาคุของติมอร์ตะวันออก ที่ได้รับเอกราชจากโปรตุเกส แต่ถูกยึดครองต่อจากประเทศอินโดนีเซีย

“หลังจากจัดการเลือกตั้งของสหประชาชาติ และประชาชนชาวติมอร์ตะวันออกเลือกปกครองตนเอง ทำให้เกิดสงครามกลางเมือง มีทหารจากหลายประเทศเข้าไปดูแลความสงบที่ติมอร์ตะวันออก ผมก็ได้เป็นส่วนหนึ่งที่ช่วยเหลือ ตรวจรักษาผู้ป่วยติมอร์ตะวันออก ถือเป็นประสบการณ์แปลกใหม่ที่ยังจดจำอยู่จนทุกวันนี้ครับ”

เผยแพร่เมื่อ: 14 ส.ค. 2023

แชร์

แพทย์ที่ถูกเอ่ยถึง

  • Link to doctor
    น.อ.นพ. อุดม สุทธิพนไพศาล ร.น.

    น.อ.นพ. อุดม สุทธิพนไพศาล ร.น.

    • ประสาทวิทยา
    • โรคหลอดเลือดสมอง (โรคอัมพฤกษ์ อัมพาต)
    • รังสีร่วมรักษาระบบประสาท
    โรคทางสมองและระบบประสาท, โรคหลอดเลือดสมอง, โรคความผิดปกติของหลอดเลือดสมองและคอ, โรคหลอดเลือดสมองโป่งพอง , ความผิดปกติของหลอดเลือดสมอง คอและไขสันหลังจากโรคหรืออุบัติเหตุ