Dr. Visitsak Suksa Ardphasu Banner 1

นักเทคนิคการแพทย์ เป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้การรักษาคนไข้ ประสบความสำเร็จมากขึ้น

ห้องแล็บมีกระบวนการทำงานไม่เหมือนแผนกอื่น เราทำงานกับเชื้อโรค สารเคมี หลายอย่างอาจเกิดอันตรายทั้งผู้ป่วยและผู้ปฏิบัติงาน

แชร์

นักเทคนิคการแพทย์
เป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้การรักษาคนไข้
ประสบความสำเร็จมากขึ้น

“ห้องแล็บมีกระบวนการทำงานไม่เหมือนแผนกอื่น
เราทำงานกับเชื้อโรค สารเคมี

หลายอย่างอาจเกิดอันตรายทั้งผู้ป่วยและผู้ปฏิบัติงาน”

Dr. Visitsak Suksa Ardphasu Banner 2

เราต่างรู้กันดีว่าในช่วงสถานการณ์ การแพร่ระบาดของ เชื้อโควิด-19 นอกจากทีมแพทย์ พยาบาล ที่ทุ่มเทกับการตรวจรักษา ดูแลคนไข้อย่างเต็มที่แล้ว ยังมี นักเทคนิคการแพทย์ ที่เป็นกำลังสำคัญของหน่วยงานเช่นกัน พวกเขาเปรียบเสมือน ‘นักสืบในห้องปฏิบัติการ’ ที่รายงานข้อมูลสำคัญ ช่วยให้แพทย์วางแผนการรักษาคนไข้ได้อย่างมีประสิทธิภาพ

MedPark Stories จึงขอพาคุณไปชมบรรยากาศ ‘ห้องปฏิบัติการทางการแพทย์’ หรือเรียกง่าย ๆ ว่า ‘ห้องแล็บ’ พื้นที่ที่มีการควบคุมมาตรฐานอย่างเข้มงวด ภายใต้การบริหารของ ดร.กอล์ฟ - ดร.วิสิตศักดิ์ สุขสะอาดพสุ ผู้มีประสบการณ์การทำงานในห้องปฏิบัติการมานานกว่า 30 ปี 

เทคนิคการแพทย์ นักวินิจฉัยโรคจาก ‘เลือด’

ในอดีต อาชีพ ‘นักเทคนิคการแพทย์’ อาจยังไม่รู้จักกันแพร่หลาย คนมักคุ้นเคยกับ แพทย์ ทันตแพทย์ สัตวแพทย์ เภสัชกร พยาบาล มากกว่า อีกทั้งการใช้ห้องแล็บเพื่อการวินิจฉัยทางการแพทย์ ก็ยังมีไม่มากนัก ส่วนมากจะใช้เพียงเพื่อตรวจเลือด ตรวจความสมบูรณ์ของเม็ดเลือด (Complete Blood Count, CBC) เป็นหลัก ซึ่งต่างจากปัจจุบันที่สามารถวินิจฉัยได้หลากหลายขึ้น

“ตอนเด็ก ๆ ผมชอบเรียนวิทยาศาสตร์ ชีววิทยา เรียนเรื่องเซลล์ สิ่งมีชีวิต การเกิดปรากฏการณ์ต่าง ๆ ในร่างกาย ผมคิดว่าอาชีพ นักเทคนิคการแพทย์ จบมาแล้วไม่ตกงานแน่นอน เพราะสมัยนั้นคนเรียนด้านนี้ยังน้อย มหาวิทยาลัยที่เปิดสอนก็มีแค่ 3-4 แห่งเองครับ”

ดร.วิสิตศักดิ์ ได้เข้าเรียนในคณะเทคนิคการแพทย์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น ซึ่งในหลักสูตรการเรียนการสอน จะมีสาขาให้เลือกหลากหลาย เช่น สาขาเคมีคลินิก (Clinical chemistry) เรียนเกี่ยวกับการตรวจเลือด ตรวจน้ำตาล ไขมันในเลือด สาขาจุลชีววิทยาคลินิก (Clinical microbiology) ที่ตรวจหาไวรัส เชื้อแบคทีเรียจากสิ่งส่งตรวจ สาขาภูมิคุ้มกันวิทยาคลินิก (Clinical immunology) สาขาเวชศาสตร์การธนาคารเลือด (Transfusion medicine) เป็นต้น

“ถ้าพูดถึงสาขาที่ผมชอบมากที่สุด ก็น่าจะเป็น โลหิตวิทยา (Hematology) ที่เรียนเกี่ยวกับเลือดครับ เลือดที่เจาะมา เม็ดเลือดเป็นยังไง ส่องกล้องดูความผิดปกติของเม็ดเลือด ถ้ามีปัญหาเราก็ไปเตรียม บลัดสเมียร์ (Blood Smear) ก็จะเห็นเซลล์ต่างๆ แล้วก็ช่วยในการวินิจฉัยได้ว่าผู้ป่วยมีความผิดปกติอะไร”

ดร.วิสิตศักดิ์ จบการศึกษาในปี 2536 เริ่มทำงานเป็นนักเทคนิคการแพทย์ โรงพยาบาลรัฐ และโรงพยาบาลเอกชน โดยทำหน้าที่ตรวจสิ่งส่งตรวจอยู่ประมาณ 5 ปี หลังจากนั้นจึงได้เลื่อนตำแหน่งขึ้นมาเป็นหัวหน้าแผนก ควบคุมการทำงานในแผนกทั้งหมด

Dr. Visitsak Suksa Ardphasu Banner 5

นักเทคนิคการแพทย์ คุณสมบัติ และประสบการณ์ ที่ AI ทดแทนไม่ได้

ต้องยอมรับว่าเครื่องมือทางการแพทย์ ในสมัยนี้พัฒนาอย่างล้ำหน้า ส่งผลให้การทำงานของนักเทคนิคการแพทย์ มีความรวดเร็ว ประหยัดเวลามากขึ้น ทว่าในมุมมองของ ดร. กอล์ฟ ก็ยังคงให้ความสำคัญกับทักษะเฉพาะตัว

“เทคโนโลยีเข้ามาช่วยได้เยอะครับ แต่ทดแทนกันไม่ได้เต็มร้อย ยกตัวอย่าง การทำ Blood Smear เรามี AI มาช่วยก็จริง แต่ก็ยังมีข้อจำกัด อาจไม่แม่นเหมือนสายตาของเราเอง ยิ่งถ้าคนมีประสบการณ์มานานจะบอกได้เลยว่า เซลล์เม็ดเลือดขาวนี้เป็นลูคีเมียหรือเปล่า หรือเพาะเชื้อแล้วมี Colony ก็บอกได้เลยว่าเป็นเชื้ออะไร”

สิ่งที่ต้องคำนึงถึงอย่างมากก็คือ การควบคุมคุณภาพ เพราะแต่ละขั้นตอนมีโอกาสที่จะเกิดความผิดพลาดได้ ดังนั้น ไม่ว่าจะใช้เครื่องมือใด นักเทคนิคการแพทย์จะต้องตรวจสอบคุณภาพก่อนเสมอ เพื่อให้รายงานผลได้อย่างถูกต้องแม่นยำที่สุด

“เนื่องจากเราไม่เห็นตัวคนไข้ ตัวอย่างที่ถูกส่งมา คือตัวแทนของคนไข้ครับ เราจะใช้บาร์โค้ดที่ติดไว้เท่านั้น การ Identify คนไข้จึงต้องไม่ผิดพลาด และเรายังเน้น Patient Safety ด้วย เจาะเลือดยังไงไม่ให้เกิดภาวะแทรกซ้อน เช่น อาการบวม เส้นเลือดแตก ปวด ต้องทำอย่างระมัดระวัง”

“เรื่องเวลาก็สำคัญครับ สิ่งส่งตรวจบางอย่างต้องรีบตรวจภายใน 1 ชม. จึงจะได้ผลที่แม่นยำ รวมไปถึงวิธีการทำ ตัวอย่างเลือดที่เจาะมา ต้องเหมือนเลือดที่อยู่ในร่างกายคนไข้มากที่สุด ถ้ารัด Tourniquet (สายรัดห้ามเลือด) นานไป จะทำให้เลือดเปลี่ยนแปลงได้ การเค้นเลือดคนไข้ ก็จะทำให้สัดส่วนเลือดไม่ตรง การเก็บปัสสาวะต้องให้คนไข้ถ่ายทิ้งไปนิดนึงก่อนแล้วค่อยเก็บมา เป็นต้น การรายงานผลการตรวจต้องรายงานถูกคนไข้ เพื่อให้การรักษาไม่ผิดพลาด”

ห้องแล็บ ที่ออกแบบโดยคำนึงถึงมาตรฐาน ความปลอดภัย

สิ่งหนึ่งที่ช่วยให้การทำงานในห้องปฏิบัติการ เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ ก็คือ การออกแบบ วางระบบต่าง ๆ ให้ถูกต้องตามระเบียบมาตรฐาน และเป็นไปตามที่กฎหมายบัญญัติไว้ ซึ่ง ดร.กอล์ฟ ก็ได้มีส่วนร่วมในการออกแบบห้องปฏิบัติการ ตั้งแต่แรกเริ่มก่อสร้างโรงพยาบาลเลยทีเดียว

“ห้องแล็บเป็นสถานที่ที่มีทั้งสารเคมี และสารติดเชื้อ เพราะเราต้องทำการเพาะเชื้อครับ เราจึงต้องคำนึงถึงการออกแบบ เช่น พื้นต้องมีรอยต่อน้อยที่สุด ถ้ามีเลือดหยดลงพื้น ต้องเช็ดทำความสะอาดง่าย ความสูงของเพดานต้องสูงพอที่จะรองรับเครื่องมือใหม่ ๆ ในอนาคต ระบบการรักษาความปลอดภัย ทางหนีไฟ ทางขนขยะติดเชื้อ ต้องวางระบบมาเป็นอย่างดี”

“แผนกต่าง ๆ ในห้องแล็บก็มีความต้องการเฉพาะตัวแตกต่างกันไป อย่างแผนกตรวจวินิจฉัยทางศัลยพยาธิวิทยา (Surgical pathology) จะใช้สารเคมีเยอะหน่อย ต้องไม่ให้มีปัญหาเรื่องกลิ่นรบกวน หรือพื้นที่ส่วนไหนบ้างที่ต้องใส่ถุงมือหรือสวมชุด PPE ก่อนเข้าไป รวมถึงผังทางเดินสำหรับบุคคลภายนอกที่เข้ามาเยี่ยมชม ก็ต้องแยกเป็นสัดส่วนเช่นกัน”

Dr. Visitsak Suksa Ardphasu Banner 1

ดร.วิสิตศักดิ์ ยังออกแบบห้องเจาะเลือด โดยเน้นความเป็นส่วนตัวของคนไข้ ออกแบบระบบกระสวย หรือ ท่อส่ง (Pneumatic Tube) สำหรับนำสิ่งส่งตรวจกลับมาที่ห้องแล็บ ดูแลในส่วนของมาตรฐานเครื่องมือ อุปกรณ์ เลือกแบรนด์ที่ได้รับการยอมรับในระดับนานาชาติ ทำให้ห้องแล็บของโรงพยาบาลเมดพาร์ค มีความพร้อมในการให้บริการทั้ง Clinical Laboratory ที่มีการตรวจทั่วไป งานตรวจวิเคราะห์ทางชีวโมเลกุล (Molecular biology) จุลชีววิทยา (Microbiology) และ Surgical pathology หรือตรวจชิ้นเนื้อ รวมถึงธนาคารเลือด

“ระบบสารสนเทศของเรา เป็นแบบออนไลน์ทั้งหมดครับ จุดเด่นก็คือ ‘บาร์โค้ด’ ระบุข้อมูลคนไข้ ช่วยลดความผิดพลาดได้มาก เรามีทีมนักเทคนิคการแพทย์ ที่มีความรู้ความสามารถ มีประสบการณ์ ประมาณ 30 คน ทำงาน 24 ชั่วโมง ซัพพอร์ตศูนย์ต่าง ๆ ในโรงพยาบาลเมดพาร์ค รวมถึงโรงพยาบาลในเครือ ที่มาใช้บริการในส่วนของ Surgical pathology อีกด้วยครับ”

Safety ทั้งคนไข้และผู้ปฏิบัติงาน

เมื่อถามถึงโอกาสที่ผู้ปฏิบัติงานในห้องแล็บจะได้รับเชื้อ จากตัวอย่างที่ถูกส่งมาตรวจนั้น ดร. วิสิตศักดิ์ บอกกับเราว่ามีน้อยมาก เพราะทางห้องปฏิบัติการมีการป้องกันอยู่ตลอดเวลา

“ทุกสิ่งส่งตรวจ เราถือว่าเหมือนกันหมด ไม่ได้แยกว่าอันไหนมีเชื้อหรือไม่มีเชื้อ เราจึงต้องป้องกันทุกอย่างไวตั้งแต่แรก มันเป็นมาตรฐานที่เรียกว่า Laboratory Safety Program เช่น รองเท้าผ้าใบที่เป็นผ้า ห้ามใส่ เพราะถ้าเลือดหยดลงไปมันจะซึมได้ ต้องเป็นรองเท้าหนังที่รองเท้าที่ทำความสะอาดได้ง่าย”

ปัจจุบัน โรงพยาบาลเมดพาร์ค ได้รับการรับรองคุณภาพมาตรฐานทั้ง ISO 15189 และ ISO 15190 โดย ISO 15189 เป็นมาตรฐานระดับสากลที่วัดระบบคุณภาพและขีดความสามารถของห้องปฏิบัติการทางการแพทย์ เพื่อให้ความมั่นใจได้ว่า การรายงานผลทางห้องปฏิบัติการนั้น มีความถูกต้อง และน่าเชื่อถือ ส่วน ISO 15190 เป็นระบบการรับรองความปลอดภัยของห้องปฏิบัติการทางการแพทย์ เพื่อให้เกิดความปลอดภัยของผู้ปฏิบัติงานและสิ่งแวดล้อม

“ห้องแล็บมีกระบวนการทำงานไม่เหมือนแผนกอื่น เราทำงานกับเชื้อโรค สารเคมี หลายอย่างอาจเกิดอันตรายทั้งผู้ป่วยและผู้ปฏิบัติงาน การตรวจสอบมาตรฐานของห้องปฏิบัติการทางการแพทย์ จึงมีระบบการรับรองคุณภาพเฉพาะ ที่แยกออกมาจากการรับรองมาตรฐาน HA JCI ของโรงพยาบาล เช่น ISO, Laboratory Accreditation ซึ่งจะมีหน่วยงานภายนอกมาตรวจอีกทีครับ”

คลังความรู้ของ นักศึกษาเทคนิคการแพทย์

ห้องปฏิบัติการโรงพยาบาลเมดพาร์ค สนับสนุนการเรียนการสอนให้แก่นักศึกษาเทคนิคการแพทย์ จากมหาวิทยาลัยต่าง ๆ ที่ต้องการมาฝึกงานก่อนจบการศึกษา และยังได้รับการขึ้นทะเบียนให้เป็นหน่วยงานที่สามารถจัดอบรม จัดกิจกรรมการศึกษาอบรมต่อเนื่องทางเทคนิคการแพทย์ (Continuing Medical Technology Education) เพื่อรับคะแนนการต่ออายุใบประกอบวิชาชีพนักเทคนิคการแพทย์ได้ด้วย

“เราดำเนินงานให้สอดคล้องกับพันธกิจของโรงพยาบาล ที่มุ่งเน้นพัฒนาการให้บริการทางการแพทย์ การเรียนการสอน และการวิจัย เพื่อสนับสนุนให้บุคลากรมีองค์ความรู้ และคิดค้นนวัตกรรมใหม่ๆ นำไปสู่แนวทางการรักษาคนไข้ได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้นครับ”

นอกเหนือจากเป็นแหล่งความรู้และฝึกปฏิบัติสำหรับนักศึกษาแล้ว ดร.วิสิตศักดิ์ ยังได้รับเชิญให้ไปบรรยายวิชาการนอกสถานที่ ให้แก่นักศึกษาทั้งปริญญาตรี ปริญญาโท ในมหาวิทยาลัยหลายแห่ง โดยจะเน้นเรื่องมาตรฐานห้องปฎิบัติการ และการบริหารเป็นหลักด้วย

Dr. Visitsak Suksa Ardphasu Banner 3

ความสำเร็จที่ภาคภูมิใจ

ช่วงสถานการณ์โควิด-19 ระบาดหนักในประเทศไทย ดร.วิสิตศักดิ์ และทีมงาน มีส่วนสร้างภาพลักษณ์ ชื่อเสียงให้กับโรงพยาบาลอย่างมาก และสิ่งที่เกินความคาดหมายก็คือ ทำให้คนรู้จักวิชาชีพ และบทบาทของนักเทคนิคการแพทย์มากขึ้น

“เนื่องจากการวินิจฉัย ต้องใช้ผลแล็บเป็นหลัก ฉะนั้น การเก็บสิ่งส่งตรวจ การนำส่งต้องมีระบบการทำงานที่ได้คุณภาพ เราจัดมาตรฐานให้กับทุกส่วนงาน ทั้งแพทย์ พยาบาล ฝ่ายการตลาด ไม่ว่าจะเป็นในรูปแบบคนไข้วอล์คอิน ไดรฟ์ทรู หรือคนไข้ที่เราได้ออกไป Swab นอกโรงพยาบาล” 

“เราออกไปช่วยเยอะมาก ไปตามที่หน่วยงานต่าง ๆ ที่ร้องขอมา กองถ่ายภาพยนตร์เราก็ไป รายงานผลกันทั้งวันทั้งคืน ซึ่งก็ผ่านมาได้ด้วยดีครับ โรงพยาบาลเริ่มเป็นที่รู้จัก ก็รู้สึกภูมิใจว่าพวกเรา นักเทคนิคการแพทย์ เป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้การรักษาคนไข้ ประสบความสำเร็จมากขึ้นครับ”

อีกหนึ่งบทบาทที่หลายคนยังไม่รู้ก็คือ ประธานชมรมท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์ หนึ่งในชมรมที่โรงพยาบาลเมดพาร์คจัดขึ้น เพื่อสร้างความสัมพันธ์อันดีระหว่างบุคลากรด้วยกัน ซึ่งเป็นเรื่องถนัดของ ดร. กอล์ฟ เพราะชอบท่องเที่ยวอยู่แล้ว โดยทริปท่องเที่ยวที่จัดขึ้นจะเป็นแบบไปเช้าเย็นกลับ One-Day Trip เน้นสร้างความผ่อนคลาย ความสามัคคี และในอนาคตเราอาจจะได้เก็บภาพบรรยากาศความสนุกสนานมาฝากกัน

ดร.วิสิตศักดิ์ สุขสะอาดพสุ
นักเทคนิคการแพทย์ หัวหน้าห้องปฏิบัติการ
โรงพยาบาลเมดพาร์ค

เผยแพร่เมื่อ: 25 ก.ย. 2023

แชร์