Banner Web Mar 2024 Pvp

PVP Greenlight Laser เทคโนโลยีผ่าตัดต่อมลูกหมากโต บุกเบิกการรักษา คืนคุณภาพชีวิต

Green Light Photoselective Vaporization of the Prostate (PVP) เลเซอร์สีเขียว ที่ช่วยให้การผ่าตัดมีประสิทธิภาพขึ้นกว่าเดิม ความยาวคลื่นสม่ำเสมอ ก็จะตรงไปตัดเนื้อเยื่อในทิศทางเดียวกัน ความเสียหายจึงไม่กระจายไปยังบริเวณรอบ ๆ หรือกระจายได้น้อยมาก

แชร์

PVP Greenlight Laser เทคโนโลยีผ่าตัดต่อมลูกหมากโต 
บุกเบิกการรักษา คืนคุณภาพชีวิต 

ต่อมลูกหมากโต (Benign Prostatic Hyperplasia) ในวงการแพทย์ปัจจุบัน สามารถพูดได้ว่าเป็นภาวะที่เกิดกับผู้ชาย จากกระบวนการของร่างกายที่เป็นไปตามอายุที่เพิ่มขึ้น ซึ่งยากที่จะหลีกเลี่ยง แต่สามารถรักษาและคืนคุณภาพชีวิตให้กลับมาเป็นปกติดังเดิมได้ 

บทความนี้จะมาพูดคุยกับ นายแพทย์ไพบูลย์ บุญญะพานิชสกุล ศัลยแพทย์ผู้ชำนาญการด้านระบบทางเดินปัสสาวะและระบบสืบพันธุ์ แพทย์ผู้บุกเบิกการใช้เทคโนโลยีผ่าตัดรักษาต่อมลูกหมากโตด้วย PVP Greenlight Laser เป็นคนแรกในภูมิภาคเอเชีย เพื่อสร้างความเข้าใจและให้ข้อมูลน่ารู้เกี่ยวกับเทคโนโลยีการรักษาต่อมลูกหมากโตในปัจจุบัน

ภาวะต่อมลูกหมากโต สิ่งที่คุณผู้ชายยากจะหลีกเลี่ยง

ภาวะต่อมลูกหมากโต สามารถเกิดขึ้นได้ในเพศชายที่เริ่มอยู่ในวัยสูงอายุ โดยส่วนใหญ่จะพบในผู้ชายอายุ 50 ปีขึ้นไป โดยมีโอกาสพบต่อมลูกหมากโตอยู่ที่ร้อยละ 50 และเมื่ออายุ 60 ปีขึ้นไปจะมีโอกาสพบต่อมลูกหมากโตอยู่ที่ร้อยละ 60 ตามลำดับ ยิ่งอายุเพิ่มขึ้น โอกาสที่จะเกิดภาวะนี้ก็จะยิ่งเพิ่มขึ้น ถือเป็นปัจจัยภายในที่ยากจะหลีกเลี่ยง

อีกปัจจัยหนึ่งนอกเหนือจากอายุ คือ ฮอร์โมนเทสโทสเตอโรน ฮอร์โมนเพศชายที่หากได้รับมากไปก็อาจไปกระตุ้นให้ต่อมลูกหมากโตได้เช่นกัน โดยผู้ที่ได้รับฮอร์โมนชนิดนี้เพิ่ม มักจะเป็นผู้ที่รักษาภาวะเสื่อมสมรรถภาพทางเพศ หรือผู้ชายที่มีภาวะวัยทอง (Andropause) การรับฮอร์โมนเพศชายดังกล่าวเป็นปัจจัยภายนอกที่พอจะควบคุมหรือหลีกเลี่ยงได้ ภายใต้การดูแลของแพทย์เฉพาะทาง

“เมื่อต่อมลูกหมากโต ส่วนใหญ่ก็จะไปกดท่อปัสสาวะ ทำให้ปัสสาวะออกยาก ไม่พุ่ง ขาดตอน ปัสสาวะไม่สุด ปัสสาวะเหลือค้าง ตื่นมาปัสสาวะตอนกลางคืนบ่อย ๆ หรือพอไปยืนปัสสาวะแล้วต้องรอนานกว่าปัสสาวะจะออก อัตราการไหลไม่ดี และใช้เวลานานกว่าจะปัสสาวะเสร็จ ถ้าหากปล่อยไว้จนเป็นมาก ๆ ก็อาจกลายเป็นปัสสาวะไม่ออกเลยก็ได้ ดังนั้น หากพบว่าผู้สูงอายุผู้ชายเริ่มมีอาการเหล่านี้ ควรมาพบแพทย์ครับ”

หลายคนอาจกังวลว่าภาวะต่อมลูกหมากโต จะสัมพันธ์กับมะเร็งต่อมลูกหมากหรือไม่ นายแพทย์ไพบูลย์ให้คำตอบว่า ‘ไม่’ เนื่องจากปัจจัยการเกิดแตกต่างกัน 

“การมีภาวะต่อมลูกหมากโต ไม่ได้ทำให้เป็นมะเร็งต่อมลูกหมาก เนื่องจากต่อมลูกหมากเล็กหรือใหญ่ โอกาสเกิดมะเร็งต่อมลูกหมากไม่ต่างกัน”

Greenlight LASER Pvp 5

การรักษา ที่พัฒนาขึ้นเรื่อย ๆ

สำหรับการรักษาภาวะต่อมลูกหมากโต จะแบ่งตามระยะและความรุนแรงของอาการ หากรุนแรงไม่มาก เป็นอาการในระยะต้น แพทย์จะพิจารณารักษาด้วยยา ซึ่งจะช่วยบรรเทาอาการได้ เช่น ยากลุ่ม Alpha-Blockers ที่ช่วยคลายท่อปัสสาวะ ให้ปัสสาวะได้สะดวกขึ้น ซึ่งจะไม่ได้ส่งผลอะไรต่อต่อมลูกหมาก และยากลุ่มที่จะทำให้ต่อมลูกหมากเล็กลง แต่ต้องกินเป็นระยะเวลานาน ประมาณ 3 เดือนขึ้นไป โดยจะสามารถลดขนาดต่อมลูกหมากลงได้ประมาณ 20-30 เปอร์เซ็นต์ ช่วยให้ปัสสาวะได้คล่องขึ้น จึงใช้สำหรับในกรณีที่เป็นน้อย ๆ แต่ในกรณีที่ต่อมลูกหมากโตมาก ๆ ก็อาจช่วยไม่ได้มาก หรือไม่ได้ผลแล้ว

“ตัวยาจะไปบล็อกฮอร์โมนเพศชายที่จะไปถึงต่อมลูกหมาก ในบางรายจึงอาจมีสมรรถภาพทางเพศเสื่อม ซึ่งพบได้ประมาณ 10 ถึง 15 เปอร์เซ็นต์ จึงทำให้คนไข้บางรายไม่อยากกินยา ซึ่งแพทย์จะต้องแจ้งให้ทราบถึงโอกาสที่อาจจะเจอกับผลข้างเคียงครับ”

“เมื่อต่อมลูกหมากโตมาก ๆ จนต่อให้กินยาที่ช่วยลดขนาดต่อมลูกหมากลงได้ก็ยังไม่เพียงพอ ต่อมลูกหมากก็ยังเบียดท่อปัสสาวะอยู่ดี ซึ่งถือว่าเป็นมากแล้ว คนไข้ก็มักจะมาหาหมอเพื่อพิจารณาผ่าตัดรักษา แต่คำแนะนำคือไม่ควรปล่อยให้ไปถึงจุดนั้นครับ เพราะการผ่าตัดรักษา ยิ่งทำเร็วยิ่งได้ผลดี หากผ่าตัดตอนขนาดต่อมลูกหมากโตมาก ๆ จะทำได้ยาก และโอกาสเกิดผลข้างเคียงและภาวะแทรกซ้อนก็จะสูงขึ้นด้วย”  นายแพทย์ไพบูลย์อธิบาย

เมื่อพูดถึงการผ่าตัดรักษา นายแพทย์ไพบูลย์เล่าว่า ที่มีมาแต่แรกเริ่มจะเป็นการผ่าตัดเปิดหน้าท้อง เพื่อเอาต่อมลูกหมากออก ซึ่งเป็นวิธีที่มีความเสี่ยงต่อการเกิดภาวะแทรกซ้อนค่อนข้างสูง ต่อมาเป็นการส่องกล้องขูดต่อมลูกหมาก ที่แพทย์จะใช้กล้องขนาดเล็ก (Resectoscope) เพื่อทำการนำทางและทำการตัดเนื้อเยื่อของต่อมลูกหมากที่เกิดการขยายขนาดทำให้กีดขวางทางปัสสาวะ หรือที่เรียกว่า Transurethral Resection of the Prostate: TUR-P ซึ่งเป็นวิธีมาตรฐานที่ใช้กันโดยทั่วไปในปัจจุบัน

Greenlight LASER Pvp 3

วิธีนี้มีข้อเสียคือ อาจทำให้เกิดภาวะเลือดออกระหว่างหรือหลังจากทำการผ่าตัด นอกจากนี้ยังมีโอกาสเกิดภาวะที่เกลือแร่เปลี่ยนแปลง ถ้าเป็นมาก ๆ มีอันตรายตั้งแต่ ความดันต่ำ สมองสับสน ไตวาย ตับวาย จนถึงเกิดอาการโคม่า ในการทำการผ่าตัดด้วยวิธีนี้ คนไข้จำเป็นต้องทำการใส่สายสวนปัสสาวะขนาดใหญ่หลังจากทำการผ่าตัดเป็นระยะเวลาประมาณ 3 วัน สายสวนปัสสาวะจะช่วยระบายปัสสาวะที่มีเลือดปนออกจากกระเพาะปัสสาวะโดยมีการใส่น้ำล้าง การใส่สายสวนจะทำให้คนไข้รู้สึกเจ็บ อึดอัด ไม่สบายตัว การผ่าตัดวิธีนี้ ยังมีโอกาสเกิดแผลเป็นที่ปากกระเพาะปัสสาวะ หรือเกิดท่อปัสสาวะตีบได้บ่อย

ต่อมาเป็นการผ่าตัดส่องกล้องแบบแผลเล็ก (Minimally Invasive Surgery) วิธีนี้แพทย์อาจใช้คลื่นไมโครเวฟ คลื่นวิทยุ คลื่นอัลตราซาวนด์ ไอน้ำ หรือเลเซอร์ ชนิดจี้ที่ต่อมลูกหมาก ซึ่งเป็นวิธีการใช้ความร้อนไปทำให้เกิดเนื้อตายในต่อมลูกหมาก อาจทำให้ต่อมลูกหมากพองตัวหลังผ่าตัดใหม่ ๆ ทำให้คนไข้ปัสสาวะไม่ออกหลังรับการทำหัตถการได้ และหลังการผ่าตัดรักษา หลายรายก็อาจยังมีอาการปัสสาวะขัดอยู่  วิธีนี้เหมาะสำหรับผู้ป่วยที่ต่อมลูกหมากไม่โตมาก แต่ไม่ต้องการกินยารักษา และไม่อยากผ่าตัดรักษา

“เมื่อเราพบว่า การผ่าตัดแบบเดิม ๆ ยังให้ผลลัพธ์ที่ไม่เพอร์เฟกต์ จึงมองหาวิธีการหรือเทคโนโลยี ที่จะช่วยให้การผ่าตัดมีประสิทธิภาพขึ้น ผลลัพธ์น่าพึงพอใจขึ้น และคนไข้มีความสุขมากขึ้นครับ”

นายแพทย์ไพบูลย์มีโอกาสได้ศึกษาการใช้ เลเซอร์กรีนไลท์ ในการผ่าตัด และนำมาบุกเบิกให้เป็น การผ่าตัดรักษาต่อมลูกหมากโตด้วยแสงกรีนไลท์ (Green Light Photoselective Vaporization of the Prostate (PVP) Laser Procedure) ครั้งแรกในเอเชีย

Greenlight LASER Pvp 6

เลเซอร์สีเขียว ที่ช่วยให้การผ่าตัดมีประสิทธิภาพขึ้นกว่าเดิม

ปกติแล้ว แสงจะมีสีทั้งหมด 7 สี รวมกัน แล้วจะเห็นเป็นสีขาว แสงแต่ละสีมีความยาวคลื่นและปฏิกิริยาต่อเนื้อเยื่อแตกต่างกัน การตัดเนื้อเยื่อด้วยไฟฟ้าปกติซึ่งเป็นแสงสีขาว จึงอาจเกิดบาดแผล และความเสียหายที่ไม่สม่ำเสมอกับเนื้อเยื่อรอบ ๆ เกิดเป็นแผลภายในเยอะ 

ในขณะที่ เลเซอร์กรีนไลท์ เป็นเลเซอร์ชนิดที่มีแสงสีเขียว สีเดียว มีความยาวคลื่นสม่ำเสมอ ก็จะตรงไปตัดเนื้อเยื่อในทิศทางเดียวกัน ความเสียหายจึงไม่กระจายไปยังบริเวณรอบ ๆ หรือกระจายได้น้อยมาก และยังมีคุณสมบัติที่ทำให้เนื้อเยื่อที่โดนแสงหายไป ไม่ใช่การฝ่อ หด จึงสามารถผ่าตัดรักษาต่อมลูกหมากโตอย่างมีประสิทธิภาพ ทั้งยังช่วยปิดแผลบริเวณที่ตัด ทำให้เป็นหัตถการที่รุกล้ำน้อย เสียเลือดน้อย

“พอใช้วิธีนี้แล้วจึงสามารถทำหัตถการได้อย่างปลอดภัยมากขึ้น สามารถแก้ปัญหาต่อมลูกหมากได้ผล ผลข้างเคียงและภาวะแทรกซ้อนที่จะเกิดกับคนไข้ลดลง ใช้เวลาพักฟื้นน้อย อยู่โรงพยาบาลคืนเดียว กลับมาใช้ชีวิตตามปกติได้เร็ว และเขาสามารถปัสสาวะได้ดีเหมือนเดิม รักษาสมรรถภาพทางเพศไว้ได้ด้วย ซึ่งทำให้คนไข้มีความสุขมาก ๆ”

ถึงอย่างไร ก็ไม่อาจสรุปได้ว่าเทคโนโลยีทำให้การผ่าตัดรักษาง่ายขึ้น จนนึกประมาท ว่าเป็นหนักอย่างไรก็มีทางรักษา นายแพทย์ไพบูลย์เน้นย้ำตลอดการให้สัมภาษณ์ว่า การผ่าตัดรักษาได้เร็ว ตั้งแต่เนิ่น ๆ สำคัญที่สุด เพราะถึงต่อให้มีเทคโนโลยีที่ดีอย่างไร ถ้าตัวโรคดำเนินไปไกล ต่อมลูกหมากโตมาก ๆ การผ่าตัดรักษาก็จะยากและซับซ้อนอยู่ดี ขึ้นอยู่กับฝีมือ ประสบการณ์และความชำนาญของแพทย์ผ่าตัด 

“จากประสบการณ์ ตอนนั้นเทคโนโลยีนี้เป็นเทคโนโลยีใหม่ในขณะนั้น สิ่งที่ต้องขอบคุณคือคนไข้ที่ส่วนใหญ่ให้ความไว้วางใจ ทำให้การรักษาด้วยวิธีนี้แพร่หลาย และยังใช้มาจนถึงปัจจุบัน รวม ๆ ก็กว่า 20 ปีแล้วครับ สิ่งนี้พิสูจน์ว่าเป็นการผ่าตัดรักษาที่มีประสิทธิภาพ ผลการรักษาค่อนข้างเสถียร จึงยังเป็นหนึ่งในวิธีผ่าตัดรักษาที่ใช้กันมาจนถึงปัจจุบัน”

“ต้องยอมรับว่า เมื่อมีเทคโนโลยีการรักษาที่ดี คนก็ต้องให้ความคาดหวัง ซึ่งบางครั้ง ในคนไข้บางกลุ่ม อาจไม่ประสบความสำเร็จเท่าที่ควร ไม่ใช่เพราะเทคโนโลยีไม่ดี แพทย์ไม่เก่ง แต่ปัญหาสุขภาพของเขามันอาจไม่ได้เกิดจากต่อมลูกหมากโตอย่างเดียว อาจมาจากอายุที่มาก โรคประจำตัวอื่น ๆ ที่ไปส่งผลให้ระบบปัสสาวะผิดปกติครับ”

Greenlight LASER Pvp 2

มองอนาคตของการผ่าตัดรักษาต่อมลูกหมากโตไว้อย่างไร…

“ผมคิดว่าในเรื่องของระยะเวลา คงทำให้มันใช้เวลาลดลงกว่านี้ไม่ได้แล้ว เพราะถึงอย่างไร คนทำหัตถการก็คือแพทย์เฉพาะทางที่แต่ละคนมีประสบการณ์ ความชำนาญไม่เท่ากัน และปลายทางคือร่างกายมนุษย์ที่ต้องใช้ความใส่ใจละเอียดรอบคอบ แต่ในด้านของการคำนวณหาตำแหน่ง หาจุดยิงเลเซอร์ที่เหมาะสม ในอนาคตเทคโนโลยีเอไออาจจะเข้ามาช่วยได้ครับ ทั้งนี้ทั้งนั้นก็ต้องทำภายใต้การควบคุมของแพทย์ผู้มีความชำนาญด้วย” 

ต่อมลูกหมากโต ป้องกันได้หรือไม่

“การป้องกันไม่ให้เป็น ต้องบอกตามตรงว่าค่อนข้างยากครับ” นายแพทย์ไพบูลย์เอ่ย พร้อมอธิบายว่า เนื่องด้วยต่อมลูกหมากโตเกิดจากกระบวนการของร่างกายที่มีอายุเพิ่มมากขึ้น ซึ่งนับเป็นปัจจัยภายในที่ป้องกันไม่ได้ 

คำแนะนำคือการหลีกเลี่ยงปัจจัยภายนอก เช่น ปรึกษาแพทย์หากต้องกินยาฮอร์โมน หลีกเลี่ยงเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ เพราะจะทำให้ต่อมลูกหมากที่อาจจะเริ่มโตอยู่แล้ว ยิ่งโตขึ้น อาการแย่ลง รวมไปถึง หากพบอาการผิดสังเกต ปัสสาวะยาก ปัสสาวะไม่พุ่ง ต่อให้อายุยังไม่ถึงเกณฑ์ ก็ควรมาตรวจหาสาเหตุ เพราะต่อมลูกหมากโต เจอเร็ว รักษาแต่เนิ่น ๆ จะรักษาง่าย ถ้าหากเป็นมะเร็ง ก็มีโอกาสได้รับวินิจฉัยแต่เนิ่น ๆ และเป็นการตรวจคัดกรองมะเร็งต่อมลูกหมากไปในตัว แม้จะไม่ใช่โรคที่มีปัจจัยการเกิดเชื่อมโยงกันก็ตาม

“แนะนำให้ตรวจคัดกรองภาวะต่อมลูกหมากโตและมะเร็งต่อมลูกหมากตั้งแต่อายุ 50 ปีขึ้นไป หรือถ้าในครอบครัวมีประวัติป่วยด้วยโรคมะเร็งต่อมลูกหมาก อายุ 40 ปี ก็ควรไปตรวจคัดกรองได้แล้วครับ จำไว้ว่า ไม่ต้องกลัวที่จะตรวจเช็กสุขภาพ เพราะส่วนใหญ่โรคทุกโรค ยิ่งเจอเร็ว ยิ่งรักษาง่าย” 

เผยแพร่เมื่อ: 14 มี.ค. 2024

แชร์

แพทย์ที่ถูกเอ่ยถึง

  • Link to doctor
    นพ. ไพบูลย์ บุญญะพานิชสกุล

    นพ. ไพบูลย์ บุญญะพานิชสกุล

    • ศัลยศาสตร์
    • ศัลยศาสตร์ระบบทางเดินปัสสาวะ
    ศัลยศาสตร์ระบบทางเดินปัสสาวะ, ระบบสืบพันธ์ุ