งานกายภาพบำบัด เหมือนมีคนไข้เป็น ‘ครู’ ของเรา - กภ.พนิดา เฉลิมพรชัย นักกายภาพบำบัด - In physical therapy, patients are our teachers. - Khun Panida Chalermpornchai

งานกายภาพบำบัด เหมือนมีคนไข้เป็น ‘ครู’ ของเรา

เราต้องรักษา ‘ศรัทธา’ ของคนไข้ ทำอย่างไรก็ได้ให้เขาเชื่อมั่น และให้ผลลัพธ์ตามที่เขาต้องการให้ได้ จึงต้องเรียนรู้มากขึ้น ไม่หยุดขวนขวา

แชร์

งานกายภาพบำบัด เหมือนมีคนไข้เป็นครูของเรา

“เราต้องรักษา ‘ศรัทธา’ ของคนไข้
ทำอย่างไรก็ได้ให้เขาเชื่อมั่น และให้ผลลัพธ์
ตามที่เขาต้องการให้ได้ จึงต้องเรียนรู้มากขึ้น ไม่หยุดขวนขวาย”

Khun Panida Chalermpornchai 3

หนึ่งในวิชาชีพที่ช่วยสนับสนุนการรักษาของแพทย์และมีส่วนสำคัญมากในการคืนคุณภาพชีวิตที่ดีแก่ผู้ป่วย นั่นก็คือ กายภาพบำบัด คุณกระต่าย - กภ.พนิดา เฉลิมพรชัย ผู้จัดการศูนย์เวชศาสตร์ฟื้นฟูและกายภาพบำบัด โรงพยาบาลเมดพาร์ค สละเวลามาพูดคุย และเล่าถึงประสบการณ์การทำงานที่เต็มไปด้วยเรื่องราวน่าประทับใจ

เพราะที่บ้านเป็นห่วง อยากให้ดูแลตัวเองได้

เหตุผลหลัก ๆ ของการเข้าสู่เส้นทางสายอาชีพนี้ของคุณกระต่าย มาจากการที่ตอนเด็ก ๆ ไม่สบายบ่อย ป่วยเป็นโรคภูมิแพ้และไซนัสอักเสบ ครอบครัวจึงเป็นห่วง และอยากให้เรียนในสายวิชาชีพแพทย์ จะได้มีความรู้ดูแลตัวเองได้ยามเจ็บป่วย

“ที่บ้านแค่อยากให้เราเรียนในสายสุขภาพ แต่ไม่ได้บังคับว่าต้องเป็นหมอ เราเห็นว่านักกายภาพบำบัดเป็นอาชีพที่ไม่ต้องอยู่เวร มีเวลาเข้า-ออกงานชัดเจน ประกอบกับสามารถนำความรู้ที่ได้มาดูแลตัวเองได้เช่นกัน”

“ตอนเรียนปีแรก ต้องเรียนคณิตศาสตร์ การคำนวณต่าง ๆ ซึ่งตอนนั้นไม่เข้าใจว่าจะเรียนทำไม แต่พอขึ้นปีที่สอง ถึงได้เห็นถึงความสำคัญ เพราะเราต้องใช้ทักษะคำนวณค่าต่าง ๆ จากเครื่องมือบางชนิด ที่เราต้องเข้าใจเวกเตอร์ของเครื่องมือชนิดนั้น ๆ เมื่อสัมผัสกับผิวมนุษย์”

อีกหนึ่งวิชาที่คุณกระต่ายชื่นชอบในขณะนั้นคือ กายวิภาคศาสตร์ เป็นวิชาที่นักศึกษาจะได้ศึกษาส่วนต่าง ๆ ของร่างกายกับร่างอาจารย์ใหญ่ พอเรียนแล้วรู้สึกชอบ ประกอบกับทำคะแนนได้ดี ยิ่งพอได้เรียนการวิเคราะห์การเคลื่อนไหวของมนุษย์ ก็ยิ่งทำให้สนุก

“ตอนเดินตามอาจารย์ ได้เห็นการจัดการ การวางแผนทำกายภาพบำบัดคนไข้ของอาจารย์ การเข้าหา พูดคุย มันทำให้เราชื่นชมมาก ๆ โดยเฉพาะเวลาที่นักกายภาพบำบัดออกไปเจอคนไข้ จะใช้เวลากับคนไข้แต่ละรายค่อนข้างเยอะ หน้าที่ของเราคือนอกจากไปช่วยทำกายภาพบำบัดแล้ว ยังพูดคุย สอบถามสารทุกข์สุกดิบเพื่อลดความเครียด ความกังวล และเติมเต็มกำลังใจ สร้างความเชื่อใจ เหมือนเพื่อนคนหนึ่ง ผลคือคนไข้ก็จะสนิทกับเราได้ง่าย และให้ความร่วมมือกับการบำบัดรักษามากขึ้นเป็นผลพลอยได้”

Khun Panida Chalermpornchai 2

เพราะคนไข้ บางครั้งก็เป็นผู้สอน

ตลอดการทำงาน ประสบการณ์ในวิชาชีพหลายครั้งก็แสดงให้เห็นว่าตนนั้นไม่ได้เก่งเพียงพอเมื่อเรียนจบมา การทำงานไม่ได้ราบรื่นอย่างที่คาด จึงเข้าใจว่า กายภาพบำบัดเป็นอีกวิชาชีพที่ต้องเรียนรู้ไปเรื่อย ๆ ไม่จบสิ้น

“ตอนเดินตามอาจารย์เรารู้สึกว่าทุกอย่างมันดูง่าย เป็นขั้นเป็นตอน เพราะอาจารย์มีแบบแผนที่อาศัยประสบการณ์วางไว้ให้เรา แต่พอเราต้องมาทำหัตถการให้คนไข้เอง หลายอย่างไม่เป็นอย่างคิด เรียนมาแบบนี้ ต้องทำแบบนี้ได้สิ แต่เอาเข้าจริงทำไม่ได้ ด้วยเงื่อนไขทางสรีระของคนไข้ที่แตกต่างหลากหลาย ใช้วิธีนี้กับคนนี้ได้ แต่ใช้กับอีกคนไม่ได้ เรายังต้องค่อย ๆ ศึกษาไป”

คุณกระต่ายมักเตือนตัวเองตลอด ว่าในทุก ๆ การช่วยเหลือคนไข้แต่ละราย ก็เหมือนกับการเพิ่มพูนประสบการณ์และได้เรียนรู้เพิ่มเติมเรื่อย ๆ อีกทั้งยังได้รับพลังบวกจากคนไข้อีกด้วย

“เคยเจอคนไข้อัมพาตครึ่งซีก อายุแค่ยี่สิบเอ็ดปีเท่านั้น นับว่าเป็นอายุที่น้อยมาก ๆ แต่เขาต้องมาเจอกับเรื่องยาก ๆ แล้ว สิ่งที่ไม่เคยหายไปเลยคือพลังใจ เขามองโลกในแง่บวกมาก คิดอยู่เสมอว่าวันหนึ่งเขาจะกลับไปทำงานได้ ทำอะไร ๆ ที่เขาตั้งใจได้ มีเป้าหมายในชีวิต ทำให้เราเข้าใจว่า คนไข้แต่ละรายมีจุดประสงค์ในการดำเนินชีวิตไม่เหมือนกัน”

Khun Panida Chalermpornchai 6

“บางทีเราไปคิดแทนเขา ทั้ง ๆ ที่เขาก็มีความตั้งใจของตัวเอง ลืมถามว่าเขาอยากทำอะไร คนมักเข้าใจว่าผู้ป่วยติดเตียง ผู้ป่วยอัมพาต แค่รอให้คนมาดูแล และคิดทุกอย่างให้ก็พอ แต่ความจริงแล้วเขามีความคิด มีสิ่งที่อยากทำ หรืออยากเลือกด้วยตนเอง อย่างเสื้อผ้า อาหาร เฟอร์นิเจอร์ในบ้าน พอเขากลายเป็นผู้ป่วย คนในครอบครัวมักมองข้ามความคิดเห็นของเขาไป ซึ่งตรงนี้สำคัญมาก ๆ เพราะการที่เขายังได้คิดได้ตัดสินใจ ช่วยให้เขารู้สึกยังมีคุณค่า และมีกำลังใจมากขึ้น”

ด้วยอาชีพนี้จำเป็นต้องเรียนรู้อยู่ตลอดเวลา คุณกระต่ายจึงมักลงคอร์สเรียนเสริม เพื่อตักตวงความรู้ใหม่ ๆ และนำมาใช้กับงานที่ทำอยู่ เพราะหนึ่งในอุปสรรคการทำงาน ก็คือ ‘ตัวเอง

“ในการทำงานจริง เราพบว่ามีสิ่งที่ตัวเองไม่รู้อีกเยอะมาก หลายอย่างไม่มีในตำรา คนไข้ร้อยราย การรักษาร้อยแบบ จึงเกิดคำถามขึ้นมาว่าเราเก่งพอไหม ตอนทำงานใหม่ ๆ วิชาชีพนักกายภาพบำบัดยังใหม่อยู่มาก หลายคนยังไม่เข้าใจว่าเราทำอะไรได้ และลำพังตัวเราคนเดียวทำอะไรไม่ได้เยอะ จึงคุยกับหมอ บอกว่าช่วยตรงไหนได้บ้าง ให้เขาเข้าใจ รวมถึงทำให้คนไข้เข้าใจด้วย พอได้ทำ เกิดผลลัพธ์ที่ดี หมอมั่นใจในตัวเรา วิชาชีพนี้ก็ขยายมากขึ้น ผู้คนก็รู้จักว่าอาชีพนี้ทำอะไรได้บ้าง”

ข้อดีของการทำงานด้านกายภาพบำบัด คือสังคมนักกายภาพบำบัดที่ค่อนข้างเอื้อเฟื้อ เนื่องจากช่วงแรก ๆ ยังมีนักกายภาพบำบัดไม่มาก การทำงานจึงเป็นการช่วยเหลือเกื้อกูล ใครมีปัญหาอะไรตรงไหน สามารถปรึกษากันได้ ให้ความช่วยเหลือกันได้

Khun Panida Chalermpornchai 4

เพราะคนเราเคลื่อนไหวตลอดชีวิต

พอถามถึงความสำคัญของอาชีพนักกายภาพบำบัดในโรงพยาบาล คุณกระต่ายอธิบายว่าความสำคัญนั้นเริ่มตั้งแต่มนุษย์ขยับตัวได้

“คนเราอยู่กับร่างกายตลอด ตั้งแต่ตื่นจนกระทั่งเข้านอน กายภาพบำบัดจะเข้าไปมีส่วนดูแลตั้งแต่ในครรภ์จนกระทั่งวาระสุดท้ายของชีวิต เพราะอาชีพนี้จะช่วยดูแลเรื่องการเคลื่อนไหวทั้งหมดของมนุษย์”

เช่น หากวันหนึ่ง เกิดนอนแล้วปวดหลัง นอนไม่ได้ นอนไม่สบาย หน้าที่ของเราคือดูแลและแนะนำ ว่าต้องทำอย่างไรให้ไม่มีปัญหา ที่นอน หมอน เลือกอย่างไร ให้เหมาะ พออายุมากเข้า ก็จะแนะนำว่าทำยังไงให้ไม่ล้ม และจำสิ่งต่าง ๆ ได้มากขึ้น หากได้รับการผ่าตัด ใส่ข้อเทียมมา ส่วนนั้น ๆ จะทำงานไม่เต็มประสิทธิภาพเหมือนเดิม กล้ามเนื้อถดถอย หน้าที่ของเราก็ต้องไปช่วยพัฒนากล้ามเนื้อส่วนนั้น เพื่อให้คนไข้กลับไปใช้ชีวิตได้อย่างปกติ หน้าที่ของนักกายภาพบำบัด จึงกระจายไปอยู่ทุกส่วนของการใช้ชีวิตและการรักษา

นอกจากนี้ งานกายภาพบำบัด ยังไม่ได้ทำเพียงบำบัดรักษา แต่เป็นการให้คำแนะนำเพื่อให้มนุษย์ใช้งานร่างกายได้อย่างเต็มประสิทธิภาพ ทั้งการเลือกรองเท้าให้วิ่งเร็วขึ้นในนักวิ่ง วิธีว่ายน้ำไม่ให้กินแรง วิธีชู้ตลูกบาสให้ไกล ตีกอล์ฟให้ไกล และช่วยแนะนำได้แม้กระทั่งการเลือกเตียงสักหลัง ให้เหมาะกับสรีระของผู้นอน ไม่ก่อให้เกิดปัญหาปวดหลังปวดตัวตามมา

“ที่ขาดไม่ได้คือการซัพพอร์ต จิตใจของคนไข้เสมือนคนในครอบครัว ให้เขากล้า ลุกขึ้น ได้ด้วยตัวเอง และให้ความร่วมมือกับการบำบัด มีเคสหนึ่งที่คนไข้อายุแค่สิบเจ็ดปี ถูกยิง กระสุนเจาะไขสันหลัง เป็นลูกชายคนเดียวของครอบครัว สภาพจิตใจของทั้งคนไข้ทั้งคุณพ่อคุณแม่แย่มาก ๆ จึงต้องใช้วิธีการพูดคุยและส่งเสริมพลังใจ ให้คุณพ่อคุณแม่สบายใจ ให้คนไข้ตั้งเป้าหมาย ว่าอยากจะดีขึ้นเพื่อทำอะไรในอนาคต”

“ช่วงแรกอาจเต็มไปด้วยความสิ้นหวัง แต่พอเราประกบ คอยพูดคุย ให้เขามีแรงใจ จากเด็กที่อาจนอนติดเตียงไปตลอดชีวิต ปัจจุบันประกอบอาชีพวิศวกรที่ประเทศญี่ปุ่น สามารถเดินไปไหนมาไหนได้โดยใช้เพียงไม้ค้ำเท่านั้น”

นี่คือข้อพิสูจน์ว่า ความรู้ในสาขาวิชาชีพและการสนับสนุนจากนักกายภาพบำบัด บวกความความมุ่งมั่นตั้งใจและเชื่อมั่นของคนไข้ ก็สามารถช่วยคืนคุณภาพชีวิตของคนคนหนึ่งได้เลย

Khun Panida Chalermpornchai 5

เพราะการเดินทาง คือการได้เรียนรู้ ลดอัตตา

เวลาไม่ได้ทำงาน คุณกระต่ายมักเลือกออกไปเที่ยวในที่ไกล ๆ ตัดตัวเองออกจากงานโดยสิ้นเชิง หากเป็นที่ที่ไม่มีสัญญาณโทรศัพท์ด้วยก็ยิ่งดี

“การเดินทางของเราคือการเดินทางจริง ๆ ชอบออกไปดูผู้คน ดูพฤติกรรม วัฒนธรรม ทำให้ได้เรียนรู้ และเติบโตขึ้นทั้งไอคิวและอีคิว เมื่อถูกรายล้อมด้วยผู้คนใหม่ ๆ สถานที่ที่ไม่คุ้นเคย จะพบว่าเราเป็นเพียงสิ่งเล็ก ๆ ท่ามกลางสิ่งต่าง ๆ บนโลก”

“ถ้าอยู่กับสิ่งแวดล้อมเดิม ๆ ด้วยหน้าที่การงานที่มีตำแหน่ง มีหัวโขนที่เราสวม ผู้คนจะปฏิบัติกับเราตามลำดับขั้น แต่เมื่อออกไปข้างนอก ผู้คนรอบข้างไม่รู้จักเรา พวกเขาจะปฏิบัติกับเราแบบไหนก็ได้ อาจถูกมองข้าม มองไม่เห็น ทำให้ได้รู้ว่า หากเราเป็นคนตัวเล็ก ๆ จะต้องเผชิญกับอะไรบ้าง”

“เมื่อกลับมา เราก็จะไม่ยึดติดกับตำแหน่งหน้าที่ ลดอัตตาลง ไม่คิดใช้อำนาจหน้าที่ไปเอาเปรียบหรือโอ้อวดกับใคร ให้เกียรติทุกคนที่ทำงานด้วย ทุกคนล้วนมีหน้าที่ของตัวเอง ซึ่งสิ่งที่เขาทำ เราก็อาจทำไม่ได้”

คุณกระต่าย - กภ.พนิดา เฉลิมพรชัย
ผู้จัดการศูนย์เวชศาสตร์ฟื้นฟูและกายภาพบำบัด
โรงพยาบาลเมดพาร์ค

เผยแพร่เมื่อ: 19 ก.ค. 2023

แชร์