สู้ให้ถึงที่สุด...มะเร็งลามไปที่ปอด ให้คีโมร่วมกับภูมิคุ้มกันบำบัด

สู้ให้ถึงที่สุด... มะเร็งลามไปที่ปอด ให้คีโมร่วมกับภูมิคุ้มกันบำบัด

คุณแม่เป็นทุกสิ่งทุกอย่างของจูน สิ่งที่ทำให้ดีที่สุดในเวลานี้ คือให้เขาได้รับการรักษาที่ดีที่สุด เพื่อมีชีวิตที่ยังมีความสุข อยู่กับเรานานที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้

แชร์

สู้ให้ถึงที่สุด... มะเร็งลามไปที่ปอด
ให้คีโมร่วมกับภูมิคุ้มกันบำบัด

“คุณแม่เป็นทุกสิ่งทุกอย่างของจูน สิ่งที่ทำให้ดีที่สุดในเวลานี้
คือให้เขาได้รับการรักษาที่ดีที่สุด เพื่อมีชีวิตที่ยังมีความสุข
อยู่กับเรานานที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้”

K Apita Banner 2

เรื่องราวของคุณ อติภา บัวปลั่ง คุณแม่ผู้เป็นทุกอย่างของลูก ในวัยที่น่าจะได้ใช้ชีวิตหลังเกษียณอย่างมีความสุข กลับต้องเข้ารับการผ่าตัด ซ้ำแล้ว ซ้ำเล่า จากก้อนเนื้อที่ไม่มีอันตราย จนมาสู่ก้อนมะเร็งที่ลามไปยังปอด  หลายคนบอกให้ทำใจ แต่ไม่ใช่สำหรับครอบครัวนี้

“คุณแม่เคยเป็นซีสต์ที่เต้านมเมื่อปี 2010 รักษาไปแล้ว จนผ่านไปประมาณ 7 ปี เหมือนมีก้อนที่เต้านมขึ้นมาอีกข้างหนึ่ง เวลาคุยโทรศัพท์ คุณแม่จะบอกว่า ปวดหน้าอก ไม่เคยปวดแบบนี้มาก่อน ไม่รู้เหมือนกันว่าทำไม พอไปตรวจก็เลยรู้ว่าเป็น มะเร็งเต้านม ทริปเปิลเนกาทีฟ ระยะ 2A ก้อนใหญ่ประมาณ 1.9 เซนติเมตร”

คุณอติภาเข้ารับการรักษามะเร็งเต้านมที่โรงพยาบาลแห่งหนึ่ง ด้วยวิธีให้เคมีบำบัด ฉายแสง และผ่าตัด โดยผ่าตัดเฉพาะก้อนเนื้อออกมา และติดตามผลการรักษา (Follow up) ทุก 4-6 เดือน จนกระทั่ง พฤศจิกายน 2021 คุณหมอสังเกตเห็นค่ามะเร็งสูงขึ้นเล็กน้อย จึงส่งไปตรวจสแกนทั้งร่างกายจนเจอว่ามี ก้อนเนื้อที่รังไข่ หรือ เนื้องอกรังไข่ คุณอติภาได้ตัดสินใจผ่ามดลูกออกไป ซึ่งหลังจากตรวจชิ้นเนื้อแล้ว แพทย์แจ้งว่าไม่ใช่ก้อนมะเร็งอย่างที่กังวลกัน ทำให้ทุกคนสบายใจขึ้นมาก

มะเร็งตัวร้าย ซ่อนลึก ลุกลามสู่ปอด

“ไม่รู้เป็นอะไร คุณหมอเจอจุดที่ปอด...”  คุณจูนเล่าย้อนไปถึงคำพูดและเหตุการณ์ ตอนที่คุณแม่โทรศัพท์มาระบายความอัดอั้นตันใจ น้ำเสียงคุณแม่ในนาทีนั้นแฝงไปด้วยความท้อแท้หมดกำลังใจ

เดือนเมษายน 2022 หลังจากผ่าตัดมดลูกออกไปไม่นานนัก คุณแม่เริ่มรู้สึกปวดบริเวณหน้าอกอย่างมากในช่วงกลางคืน จึงไปตรวจที่คลินิกใกล้บ้าน และได้ยาแก้กล้ามเนื้ออักเสบมาทาน แต่ก็ยังไม่ดีขึ้น จนถึงวันนัดติดตามผลการรักษา (Follow up) มะเร็ง จึงได้ปรึกษาคุณหมอและตรวจเพิ่มเติม จากการตรวจผลเลือดไม่พบค่ามะเร็ง การตรวจอัลตร้าซาวน์ เนื้อหน้าอกก็ยังปกติดี แต่ผลตรวจเอกซเรย์ทำให้พบสิ่งที่ไม่คาดคิด

“คุณหมอเอกซเรย์พบน้ำในปอด แล้วก็มีจุดเล็ก ๆ ด้วย ทั้งที่ฟอลโล่อัพทุก 4-6 เดือน มีทั้งอัลตร้าซาวด์หน้าอก เอกซเรย์ ตรวจเลือด แต่มันไม่ได้โชว์ผลอะไรเลยนะ อาจจะเป็นไปได้ว่าเชื้อมะเร็งซ่อนอยู่ลึกมาก ๆ จนไม่สังเกตเห็นมาตรวจเจออีกทีมันไม่ได้เป็นที่เนื้อหน้าอก แต่มันแพร่ไปที่ปอดเรียบร้อยแล้ว คุณแม่บอกว่าเซ็งมากเลยเนี่ย แล้วก็ร้องไห้ออกมา”

K Apita Banner 1

คุณจูนตัดสินใจเดินทางกลับมาเมืองไทย ด้วยความมุ่งมั่นที่จะหาวิธีการรักษาที่ดีที่สุดให้กับคุณแม่ พยายามหาข้อมูลไม่ว่าจะเป็น งานวิจัยทางการแพทย์ พูดคุยกับผู้ป่วยมะเร็ง อ่านงานวิจัยทางคลินิก จนพบข้อมูลเกี่ยวกับ ภูมิคุ้มกันบำบัด (Immunotherapy) หนึ่งในวิธีการรักษามะเร็ง ที่เป็นการกระตุ้นเซลล์ระบบภูมิคุ้มกัน ทำให้เม็ดเลือดขาวมีประสิทธิภาพมากขึ้น จนสามารถตรวจจับ และทำลายเซลล์มะเร็งได้ ซึ่งแตกต่างจากการใช้ยาเคมีบำบัดและยาพุ่งเป้าที่มุ่งทำลายเซลล์มะเร็งโดยตรง

“ทุกคนมีพันธุกรรมแตกต่างกันไป การใช้ Immunotherapy กับคุณแม่ อาจจะได้ผลก็ได้ จูนอ่านงานวิจัยค่อนข้างเยอะ คุยกับเพื่อนที่เป็นหมอ เข้าร่วมกลุ่มในโซเชียล นั่งดูรายชื่อหมอที่เมืองไทย ท่านไหนบ้างที่เพิ่งตีพิมพ์ Published paper งานวิจัยด้านมะเร็ง หรือไปเรียน ไปทำแล็บด้านมะเร็งเต้านม ในสถาบันต่างประเทศที่เป็นอันดับท็อปของโลก จนได้มาพบกับคุณหมอสุดปรีดา ที่โรงพยาบาลเมดพาร์ค เขาบอกว่า ถ้าไม่รักษาก็น่าจะอยู่ได้ 6 เดือน แต่ถ้ารักษาก็จะมีเวลา 2 ปีขึ้นไปนะ ไม่เป็นไร...เดี๋ยวจะสู้ให้ถึงที่สุด สู้ไปด้วยกัน”

“แล้วคุณหมอพูดขึ้นมาว่า ตอนนี้มี Clinical Trial คนที่เป็น PDL-1 negative ค่า TMB ต่ำเหมือนกับคุณแม่ แต่ใช้ Immunotherapy แล้วได้ผล เราจะมาลองกัน พอได้ยินแบบนี้แล้วก็รู้สึกเริ่มมีความหวัง นี่คือสิ่งที่ทำให้ตัดสินใจมาโรงพยาบาลเมดพาร์คเลย จูนรู้สึกได้ว่าคุณหมอที่นี่แคร์คนไข้ ไม่ใช่แค่ physical แต่แคร์ mentally ด้วย จูนต้องการคนแบบนี้ คนที่พร้อมจะสู้ไปด้วยกัน ได้ลองทำอะไรใหม่ ๆ ไปด้วยกัน นี่คือสิ่งที่ดีที่สุดที่จูนสามารถหาให้คุณแม่ได้ตอนนี้”

Dr Sudpreeda Chainitikun Banner

ข้อมูลการรักษาต่าง ๆ ที่คุณจูนได้ศึกษาค้นคว้ามานั้น นพ.สุดปรีดา ชัยนิธิกรรณ แพทย์ผู้ชำนาญการด้านการวินิจฉัยและวางแผนการรักษาโรคมะเร็ง มีความเข้าใจเป็นอย่างดี พร้อมรับฟังความคิดเห็น และแลกเปลี่ยนข้อมูลซึ่งกันและกัน ไม่ว่าสงสัยเรื่องใด ก็ยินดีอธิบาย เพื่อให้คนไข้และครอบครัวเข้าใจตรงกัน ปัจจุบัน คุณอติภาได้เข้าสู่กระบวนการรักษาตามแผนที่วางไว้ โดยอยู่ในขั้นตอนของการให้เคมีบำบัด และภูมิคุ้มกันบำบัด ควบคู่กัน

“มะเร็งระยะ 4 มะเร็งระยะลุกลาม มะเร็งระยะสุดท้าย แค่ฟังก็รู้สึกว่ามันน่ากลัวแล้วใช่ไหมคะ ยิ่งถ้าเกิดขึ้นกับคนที่เรารัก มันเจ็บปวด เสียใจมากเลยล่ะ แต่จูนอยากจะบอกว่า มันไม่ใช่โทษประหาร มันยังมีหนทางรักษาอยู่ค่ะ คุุณแม่เป็นทุกสิ่งทุกอย่างของจูน สิ่งที่ทำให้ดีที่สุดในเวลานี้ คือต้องให้เขาได้รับการรักษาที่ดีที่สุด เพื่อให้เขามีชีวิตที่ยังมีความสุข ยังแข็งแรง ไม่เจ็บไม่ปวด แล้วอยู่กับเรานานที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้” คุณจูนทิ้งท้าย


ภูมิคุ้มกันบำบัด อีกหนึ่งความหวังของการรักษาผู้ป่วยมะเร็ง

ภูมิคุ้มกัน เป็นกระบวนการทำงานของเซลล์เม็ดเลือดขาวและสารชีวเคมีที่กระจายอยู่ในอวัยวะต่าง ๆ เพื่อป้องกันร่างกายจากสิ่งแปลกปลอม หรือ แอนติเจน เช่น แบคทีเรีย ไวรัส เชื้อรา ปรสิต ที่เข้ามาบุกรุก รวมไปถึง เซลล์มะเร็ง ที่ก่อตัวและพัฒนาตัวเองให้สามารถซ่อนตัว และหลบหลีกการตรวจจับของภูมิคุ้มกันและเซลล์เม็ดเลือดขาวได้

ปัจจุบัน วิทยาการความรู้ทางการแพทย์ก้าวหน้าไปมาก มีการศึกษาและนำหลักของ ภูมิคุ้มกันบำบัด (Immunotherapy) มาใช้รักษาโรคมะเร็ง โดยอาจใช้เป็นการรักษาหลัก หรือการรักษาเสริมร่วมกับวิธีการรักษาทั่วไป อย่าง เคมีบำบัด การฉายรังสี หรือการผ่าตัด แล้วแต่ระยะของมะเร็ง และการวินิจฉัยของแพทย์

K Apita Dr Sudpreeda Banner 4

หลักการทำงานของภูมิคุ้มกันบำบัด

หลักการของภูมิคุ้มกันบำบัดคือ การกระตุ้นระบบภูมิคุ้มกันและเม็ดเลือดขาวให้มีประสิทธิภาพ ในการมองเห็น จดจำ ตรวจจับ และกำจัดเซลล์มะเร็ง ได้เสมือนเชื้อโรคทั่วไปที่เข้ามาในร่างกาย เป็นทางเลือกใหม่ในการรักษาโรคมะเร็งได้หลากหลายประเภท ไม่ว่าจะเป็น มะเร็งต่อมน้ำเหลือง มะเร็งเต้านม มะเร็งผิวหนัง มะเร็งตับ มะเร็งปอด มะเร็งศีรษะและลำคอ มะเร็งกระเพาะปัสสาวะ มะเร็งไต เป็นต้น แต่ประสิทธิภาพของยา อาจจะแตกต่างกันตามชนิดของมะเร็ง ดังนั้น จึงอยู่ในดุลยพินิจของแพทย์ในการเลือกใช้

ยาสำหรับรักษาตามหลักภูมิคุ้มกันบำบัดนั้น แพทย์จะพิจารณาเลือกใช้ตามชนิดของมะเร็ง ซึ่งหลังจากคนไข้ได้รับยาแล้วต้องสังเกตอาการ และได้รับการดูแลอย่างใกล้ชิด ในบางรายอาจมีผลข้างเคียง หรืออาการไม่พึงประสงค์ แต่ถือว่ามีผลข้างเคียงน้อยกว่าเมื่อเทียบกับการรักษาด้วยยาเคมีบำบัด เช่น ผิวมีผื่นขึ้น มีไข้ ท้องเสีย ลำไส้อักเสบ ปอดอักเสบ คลื่นไส้ น้ำตาลในเลือดสูงขึ้น 

สำหรับเคสของคุณอติภานั้นก็มีผลข้างเคียงเล็กน้อยคือ ลำไส้อักเสบ และตับอักเสบ ซึ่ง นพ.สุดปรีดา ได้ให้ข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับการรักษา

“คนไข้เป็นมะเร็งเต้านมระยะแพร่กระจาย ชนิด Triple negative  ซึ่งถือว่าเป็นชนิดที่ค่อนข้างดุ และพยากรณ์โรคไม่ดีในกลุ่มของมะเร็งเต้านมด้วยกัน คนไข้ได้รับการรักษาโดยใช้ยาที่เป็นภูมิคุ้มกันบำบัด ควบคู่กับเคมีบำบัด ผลการตอบสนองดีในแง่ที่ว่าก้อนยุบค่อนข้างชัดเจนครับ แต่ก็มีผลข้างเคียงของยาด้วย ซึ่งคนไข้เองอาจไม่ได้สังเกตถึงอาการข้างเคียง แต่หมอตรวจจับได้จากผลเลือด ก็เลยทำการปรับยาไป 2-3 รอบ ก็กลับมาปกติ”

“เนื่องจากมะเร็งมันไม่ได้ยุบแล้วหายไปตลอด มันคงแอบอยู่ในร่างกายไปเรื่อย ๆ วันใดวันนึง หากร่างกายอ่อนแอมันก็จะกลับมา ตอนนี้ยังให้ยาต่อไปแต่อาจจะลดปริมาณลง ไม่หนักเท่าช่วงแรก ๆ ซึ่งในการรักษาเราไม่ได้ดูเฉพาะประสิทธิภาพของยา แต่ต้องดูคุณภาพชีวิตของคนไข้ด้วย พอปรับยาไม่ให้มีผลข้างเคียงแล้ว คนไข้ก็เลยมีคุณภาพชีวิตค่อนข้างดี ดูแข็งแรง ไปเที่ยวกับครอบครัวได้ อย่างน้อยก็รู้สึกว่าประสบความสำเร็จในแง่ของการรักษา คนไข้ก็สามารถอยู่กับโรคมะเร็งได้โดยที่ชีวิตยังมีความสุขครับ”

เผยแพร่เมื่อ: 16 พ.ย. 2023

แชร์

แพทย์ที่ถูกเอ่ยถึง

  • Link to doctor
    นพ. สุดปรีดา ชัยนิธิกรรณ

    นพ. สุดปรีดา ชัยนิธิกรรณ

    • อายุรศาสตร์
    • อายุรศาสตร์มะเร็งวิทยา
    การวินิจฉัยและวางแผนการรักษาโรคมะเร็ง, การรักษามะเร็งโดยเคมีบำบัด, การรักษามะเร็งแบบมุ่งเป้า, การรักษามะเร็งด้านอิมมูโนบำบัด, การดูแลแบบประคับประคอง