รักษาข้อเท้าหลวมและข้อเท้าเสื่อม คืนความมั่นคงในการเดิน - Treatment for Ankle Instability and Arthritis, Restoring Confident Strides

การแพทย์กับการรักษาข้อเท้าหลวมและข้อเท้าเสื่อม

ข้อเท้าหลวม ภาวะที่เอ็นข้อเท้าย้วยไม่แข็งแรง เดินแล้วรู้สึกไม่มั่นคง ส่งผลให้ข้อเท้าพลิกได้ง่ายขึ้น นพ.กฤษฎิ์ ศัลยแพทย์กระดูกและข้อ แบ่งปันประสบการณ์เกี่ยวกับการรักษาคนไข้ที่เป็นประโยชน์

แชร์

การแพทย์กับการรักษาข้อเท้าหลวม ข้อเท้าเสื่อม
คืนก้าวเดินที่มั่นคงให้คนไข้

ข้อเท้าหลวม คือ ภาวะที่เอ็นข้อเท้าย้วย หรือไม่แข็งแรงอย่างที่ควรจะเป็น เวลาเดินแล้วทำให้รู้สึกไม่มั่นคง ส่งผลให้ข้อเท้าพลิกได้ง่ายขึ้น สร้างความลำบากให้คนไข้ อีกทั้งการที่ปล่อยให้ข้อเท้าพลิกบ่อย ๆ ยังส่งผลเสียในระยะยาวทำให้เกิดปัญหาข้อเท้าเสื่อมได้ ซึ่งจะยิ่งลดทอนคุณภาพชีวิตของคนไข้มากกว่าเดิม

บทความนี้ นายแพทย์กฤษฎิ์ พฤกษะวัน ศัลยแพทย์กระดูกและข้อ เฉพาะทางด้านการผ่าตัดเท้าและข้อเท้า ได้มาพูดคุย แบ่งปันประสบการณ์เกี่ยวกับการรักษาคนไข้ที่เป็นประโยชน์

Doctor4

ข้อเท้าหลวมสู่ข้อเท้าเสื่อม

“ภาวะนี้เป็นแล้วจะส่งผลเสียต่อการใช้ชีวิต อาจก่อให้เกิดการปวดบวมเรื้อรัง บางรายไม่สามารถกลับไปเล่นกีฬา หรือมีเพอร์ฟอร์แมนซ์ในการเล่นลดลง เพราะข้อเท้าหลวมตลอดเวลา”

คุณหมอกฤษฎิ์อธิบายว่า เวลาข้อเท้าหลวมจะทำให้เท้าพลิกได้บ่อย และการที่ข้อเท้าพลิกในแต่ละครั้ง จะส่งผลต่อการบาดเจ็บในส่วนอื่น ๆ ด้วย โดยเฉพาะอย่างยิ่ง คือ กระดูกอ่อนในข้อเท้า และเมื่อเกิดแผล กระดูกอ่อนสึก ก็จะทำให้มีอาการปวดร่วมด้วย และนอกจากนี้ อาจมีอาการเส้นเอ็นด้านนอกข้อเท้าเส้นอื่น ๆ ฉีกขาดได้ด้วยเช่นกัน

เมื่อถามถึงสาเหตุที่ทำให้ข้อเท้าหลวม จากประสบการณ์การเจอคนไข้มามาก คุณหมอตอบว่า 

“สาเหตุที่พบบ่อยที่สุดเลยและเป็นสาเหตุหลักของข้อเท้าหลวม คือ เมื่อข้อเท้าพลิกแล้วรักษาไม่ดี ไม่ถูกต้อง เนื่องจากความไม่รู้ ไม่ชำนาญ แทนที่ข้อเท้าจะได้ฟื้นฟูและเส้นเอ็นกลับมาติดกันแน่น ๆ กลายเป็นว่าติดในลักษณะย้วย ยืด”

เมื่อเส้นเอ็นไม่ได้ติดกันอย่างเหมาะสม จะส่งผลต่อความแข็งแรงของเส้นเอ็น และจากสถิติ พบว่าในคนไข้ข้อเท้าพลิก มีประมาณ 20-25 เปอร์เซ็นต์ที่จะพัฒนากลายเป็นข้อเท้าหลวม เพราะฉะนั้น การรักษาข้อเท้าพลิกอย่างถูกต้อง จะช่วยป้องกันข้อเท้าหลวมในอนาคตได้

แล้วลามไปข้อเท้าเสื่อมได้อย่างไร…

“เมื่อข้อเท้าหลวมก็จะทำให้ข้อเท้าพลิกบ่อย บางคนพลิกเป็นสิบครั้ง และการพลิกแต่ละครั้งมันส่งผลต่อกระดูกอ่อน ทำให้กระดูกอ่อนได้รับบาดเจ็บไปเรื่อย ๆ และอาจพัฒนากลายเป็นกระดูกอ่อนสึก ทำให้เกิดข้อเท้าเสื่อมในอนาคต หรือบางทีจะพบว่าเส้นเอ็นข้อเท้าด้านนอกส่วนอื่น ๆ ฉีกขาดไปด้วยและทำให้เกิดอาการปวด และเมื่อเอ็นข้อเท้าฝั่งหนึ่งหลวม เท้าก็จะเสียสมดุลในการรับน้ำหนักไป”

นอกจากนี้ คนไข้อาจมีปัญหาเรื่องข้อเท้าผิดรูปด้วย เช่น เท้าเอียงออกด้านนอก กลายเป็นข้อเท้าเสื่อมและผิดรูปร่วมด้วย ซึ่งเกิดจากเอ็นข้อเท้าที่ไม่ได้ยึดในท่าที่ถูกต้อง เมื่อลงน้ำหนักที่เท้า เท้าจะวางบนพื้นในท่าที่ไม่เหมาะสมในการกระจายน้ำหนัก กลายเป็นว่าน้ำหนักไม่ได้ลงมาตรง ๆ แต่เฉียงหรือลงไปยังด้านใดด้านหนึ่งเยอะขึ้น จึงทำให้โครงสร้างของข้อเท้าผิดรูป และจำเป็นต้องได้รับการรักษา

Doctor2

ข้อเท้าหลวม ข้อเท้าเสื่อม รักษาอย่างไร

สำหรับการรักษา จะมีตั้งแต่วิธีที่ไม่ผ่าตัด และผ่าตัด คุณหมอกฤษฎิ์แจกแจงว่า หากอาการและความรุนแรงของโรคไม่มาก อาจเริ่มด้วยการรักษาด้วยวิธีที่ไม่ผ่าตัด ได้แก่

  • การทำกายภาพบำบัด ฝึกบริหารเส้นเอ็นข้อเท้าให้แข็งแรงช่วยในการรับน้ำหนัก และฝึกความยืดหยุ่นของข้อเท้า รวมถึงการฝึกทรงตัว และฝึกเส้นประสาทการรับรู้ที่ข้อเท้า เพราะการเคลื่อนไหวข้อเท้าอย่างมั่นคง จะอาศัยเส้นเอ็นและเส้นประสาททำงานควบคู่กัน
  • ใช้เลเซอร์ในการบำบัด วัตถุประสงค์เพื่อลดปวด ลดบวม ให้เส้นเอ็นสมานตัวได้เร็ว
  • ใช้อุปกรณ์พยุงข้อเท้า หรือ Ankle Support, Ankle Brace และในรายที่ข้อเท้าหลวมผิดรูปร่วมด้วย อาจต้องใช้อุปกรณ์พิเศษ หรือตัดรองเท้าเฉพาะที่ทำมาเพื่อบังคับสรีระหรือท่าทางให้เหมาะสม
  • กินยาบรรเทาอาการปวด บรรเทาอาการอักเสบ และปรับพฤติกรรมการเคลื่อนไหว การใช้ชีวิตตามคำแนะนำของแพทย์

หากรักษาด้วยวิธีดังกล่าวประมาณ 3-6 เดือน แล้วยังไม่หาย แพทย์อาจพิจารณาตรวจ MRI Scan เพื่อดูการบาดเจ็บของข้อเท้า ว่ามีส่วนอื่นที่เสียหายไหม เช่น กระดูกอ่อนสึกหรือไม่ สภาพข้อเท้าเริ่มเสื่อมหรือยัง เพื่อจะได้วางแผนการรักษาในขั้นต่อไป ซึ่งก็คือ การผ่าตัด

“สำหรับการผ่าตัดในปัจจุบัน มีหลายวิธี ตั้งแต่การเปิดแผลเล็ก หรือการผ่าตัดส่องกล้องเข้าไปเย็บเอ็นข้อเท้า ซึ่งแต่ละวิธี ก็จะขึ้นอยู่กับการใช้งานของคนไข้ เช่น ถ้าเป็นนักกีฬา ต้องการเพอร์ฟอร์แมนซ์ที่ดี การเย็บเอ็นอย่างเดียวอาจไม่พอ อาจต้องใส่อุปกรณ์เข้าไปเย็บเสริมเพิ่ม ทำให้ข้อเท้าแข็งแรง และส่วนใหญ่ผลการรักษาค่อนข้างดีครับ คิดว่าเกิน 90 เปอร์เซ็นต์สามารถกลับมาเล่นกีฬาได้ตามปกติ”

โดยการผ่าตัดรักษา จะพิจารณาจากสภาพของข้อเท้าในคนไข้แต่ละรายเป็นหลัก และจะใช้วิธีการแตกต่างกันไป เช่น ในคนไข้ที่มีเท้าผิดรูป การผ่าตัดเข้าไปแก้ไขเส้นเอ็นอย่างเดียวอาจไม่ได้ผลดีเท่าไร จำเป็นต้องปรับแนวกระดูกเท้าให้กลับมาตรง ซึ่งการผ่าตัดจะซับซ้อนขึ้น

“หากข้อเท้าหลวมไม่เยอะ สามารถใช้วิธีการผ่าตัดส่องกล้อง ใช้เวลาพักฟื้นประมาณ 2-3 สัปดาห์ ก็สามารถกลับไปเดินลงน้ำหนักได้แล้วครับ แต่ในกรณีที่ต้องผ่าตัดเปิดแผล มีการใส่เอ็นเทียมเข้าไปเสริม จะใช้เวลาพักฟื้นประมาณ 4 สัปดาห์ ถึงจะเริ่มเดินลงน้ำหนักได้ ส่วนการกลับไปเล่นกีฬาจะใช้เวลาประมาณ 3-5 เดือน” 

ในมุมมองของหมอเท้า การรักษาโรคเท้าในปัจจุบัน ดีขึ้นมากน้อยแค่ไหน

“สมัยก่อนองค์ความรู้เกี่ยวกับเท้ามีไม่มากครับ เป็นอะไรมาก็ใส่เฝือกกันอย่างเดียว แล้วให้ส่วนที่หัก ที่เสียหาย ซ่อมตัวเองตามธรรมชาติ แต่ธรรมชาติก็ใช่ว่าจะซ่อมแล้วเหมือนเดิม 100 เปอร์เซ็นต์ กลับไปใช้งานได้ปกติ 100 เปอร์เซ็นต์ อย่างข้อเท้าพลิก ข้อเท้าหลวม จริงอยู่ว่าส่วนที่เสียหายมันสมาน แต่ความแข็งแรง ความมั่นคงของข้อเท้ามันไม่ได้กลับมาเท่าเดิม ไหนจะปัญหาข้อติดข้อยึดจากการใส่เฝือกอีก ภาวะแทรกซ้อนค่อนข้างเยอะทีเดียว”

“เรียกได้ว่าการรักษาเมื่อก่อน แค่ลดปวดได้ กลับไปใช้ชีวิตได้ ก็ถือว่าประสบความสำเร็จแล้ว ซึ่งในปัจจุบันอาจไม่พอแล้ว คนไข้ต้องการกลับไปมีไลฟ์สไตล์เหมือนก่อนที่จะมีปัญหานี้ กลับไปเล่นกีฬาได้มีประสิทธิภาพเท่า ๆ เดิม”

“พอการผ่าตัดได้รับการพัฒนา จากเมื่อก่อนใช้วิธีผ่าตัดเปิดแผล ก็เริ่มมีการผ่าตัดแผลเล็ก และการผ่าตัดส่องกล้อง ช่วยให้คนไข้ฟื้นตัวได้เร็วขึ้น ลดภาวะแทรกซ้อนได้เยอะขึ้น แทนที่จะรอเส้นเอ็นสมานเองตามธรรมชาติซึ่งไม่รู้ว่าจะต่อกันในลักษณะอย่างไร เหมาะสมไหม แพทย์ก็สามารถกำหนดได้ด้วยการเย็บเส้นเอ็น ให้ตึงพอเหมาะ ไม่หลวม ย้วย แก้ปัญหาข้อเท้าหลวมได้ตรงจุดครับ”

เมื่อการแพทย์พัฒนา จุดประสงค์ของการรักษาจึงไม่ใช่แค่บรรเทาอาการ หรือช่วยให้คนไข้ ‘พอ’ จะกลับไปใช้ชีวิตได้ แต่คือการพยายามช่วยให้คนไข้กลับไปใช้ชีวิตได้ใกล้เคียงเดิมมากที่สุด เคยมีกิจวัตรแบบไหน หลังรักษาแล้วคนไข้ควรจะสามารถได้สิ่งเหล่านั้นคืนมา นี่คือสิ่งที่นายแพทย์กฤษฎิ์ ตั้งเป้าไว้ให้เป็นบรรทัดฐานความสำเร็จของการรักษา

การรักษาโรคข้อเท้าหลวม ข้อเท้าเสื่อมนั้น บทบาทของแพทย์เฉพาะทางและการผ่าตัดจะช่วยได้ 80 เปอร์เซ็นต์ และการทำกายภาพบำบัดอีก 20 เปอร์เซ็นต์ เพราะข้อเท้าต้องการการเทรนด้านต่าง ๆ การลงน้ำหนัก การทรงตัว การรับรู้ของเส้นประสาทดังที่กล่าวไปแล้ว ข้อเท้าของคนไข้จึงจะกลับมาสมบูรณ์ได้

Doctor

คำแนะนำที่เป็นประโยชน์จากหมอเท้า

เพราะ 1 ใน 4 ของคนที่ข้อเท้าพลิก มักมีภาวะข้อเท้าหลวม คุณหมอกฤษฎิ์ จึงแนะนำว่า เมื่อข้อเท้าพลิก ควรมารักษากับแพทย์

“คนไข้ควรสังเกต ว่าหลังจากข้อเท้าพลิกมีอาการอะไรที่ผิดปกติไหม เช่น ปวดบวมเรื้อรังเกิน 2 เดือน ควรมาตรวจครับ แสดงว่าอาการบาดเจ็บดังกล่าวควรได้รับการรักษาจากแพทย์เฉพาะทางอย่างถูกวิธี เพื่อป้องกันปัญหาอื่น ๆ ตามมา”

หากมีอาการ คุณหมอแนะนำว่าควรลดการใช้งาน ลดน้ำหนัก ลดกิจกรรม สวมใส่อุปกรณ์พยุงข้อเท้าในการเดินตามที่แพทย์แนะนำ ในกรณีที่ไม่หายเป็นเรื้อรังจนเกิดข้อเท้าเสื่อมขึ้น แพทย์จะพิจารณาเรื่องการผ่าตัดเชื่อมข้อเท้า หรือการเปลี่ยนข้อเท้าเทียม โดยคำนึงถึงลักษณะการใช้งานของคนไข้ว่าแบบไหนเหมาะสมที่สุด

ข้อเท้าพลิก อาจฟังดูไม่ใช่เรื่องร้ายแรง แต่เมื่อพัฒนาเป็นข้อเท้าหลวม ข้อเท้าเสื่อม คุณภาพชีวิตของคนไข้จะย่ำแย่ทันที แพทย์เฉพาะทางด้านเท้าจึงเข้ามามีบทบาทในการดูแล รักษา พร้อม ๆ กับการให้ความรู้ความเข้าใจกับคนไข้  เพราะการป้องกัน ย่อมดีกว่าการแก้ไข

เผยแพร่เมื่อ: 23 ก.ค. 2024

แชร์

แพทย์ที่ถูกเอ่ยถึง

  • Link to doctor
    นพ. กฤษฎิ์ พฤกษะวัน

    นพ. กฤษฎิ์ พฤกษะวัน

    • ศัลยศาสตร์กระดูกและข้อ
    • การผ่าตัดเท้าและข้อเท้า
    ผ่าตัดแผลเล็กเท้าและข้อเท้า, ผ่าตัดส่องกล้องเท้าและข้อเท้า, แก้ไขภาวะผิดรูปของกระดูกเท้าและข้อเท้า