Appendicitis Banner Mp.jpg

ไส้ติ่งอักเสบ

อาการเจ็บปวดมักเกิดขึ้นตรงบริเวณด้านขวาล่างของช่องท้อง โดยส่วนใหญ่ผู้ป่วยมักรู้สึกเริ่มปวดบริเวณลิ้นปี่หรือรอบ ๆ สะดือ

แชร์

ไส้ติ่งอักเสบ เป็นอาการติดเชื้อของไส้ติ่งซึ่งเป็นอวัยวะที่มีลักษณะเป็นหลอดเรียวยาวคล้ายนิ้วมือตรงด้านขวาล่างของช่องท้อง

อาการเจ็บปวดมักเกิดขึ้นตรงบริเวณด้านขวาล่างของช่องท้อง โดยส่วนใหญ่ผู้ป่วยมักรู้สึกเริ่มปวดบริเวณลิ้นปี่หรือรอบ ๆ สะดือและต่อมาอาการปวดอาจย้ายตำแหน่งไปตรงด้านขวาล่างของช่องท้อง อาการมักแย่ลงหากการติดเชื้อรุนแรงมากขึ้น

ไส้ติ่งอักเสบเกิดได้กับทุกเพศทุกวัย แต่มักพบในช่วงอายุ 10-30 ปี การรักษามักทำโดยการผ่าตัด

อาการของโรค

  • ปวดบริเวณด้านขวาล่างของท้อง
  • อาการปวดเริ่มที่บริเวณลิ้นปี่หรือ รอบสะดือและย้ายไปยังด้านขวาล่างของช่องท้อง
  • อาการปวดแย่ลงเมื่อไอ เดิน หรือเปลี่ยนท่าทางกะทันหัน
  • คลื่นไส้ อาเจียน
  • เบื่ออาหาร
  • มีไข้ต่ำ ๆ หากไส้ติ่งอักเสบรุนแรงขึ้น
  • ท้องเสียหรือท้องผูก
  • ท้องอืด
ตำแหน่งที่ปวดสัมพันธ์กับตำแหน่งของไส้ติ่ง หญิงตั้งครรภ์มักมีอาการปวดบริเวณด้านขวาบนของช่องท้องเพราะตำแหน่งไส้ติ่งเปลี่ยนไปจากมดลูกที่โตขึ้นระหว่างการตั้งครรภ์


ควรพบแพทย์เมื่อไร
ควรพบแพทย์เมื่อเริ่มมีอาการของโรคไส้ติ่งอักเสบ ควรพบแพทย์ทันทีเมื่ออาการปวดในช่องท้องแรงขึ้นเรื่อย ๆ

สาเหตุ
ไส้ติ่งอักเสบเกิดขึ้นจากการอุดตันของช่องโพรงภายในไส้ติ่ง ซึ่งนำไปสู่การติดเชื้อ อันเกิดจากการเพิ่มปริมาณของแบคทีเรีย ไส้ติ่งอาจแตกหากไม่ได้รับการรักษาอย่างทันท่วงที

อาการแทรกซ้อน
  • ไส้ติ่งแตก: เมื่อไส้ติ่งแตก หนองจะแพร่กระจายไปทั่วช่องท้องได้ เป็นสาเหตุของการเกิดเยื่อบุช่องท้องอักเสบ ควรได้รับการผ่าตัดและการทำความสะอาดช่องท้องอย่างทันท่วงที
  • ฝี: เมื่อไส้ติ่งแตก อาจทำให้เกิดฝีหนอง ซึ่งต้องทำการใส่สายระบายหนองเป็นเวลา 1-2 สัปดาห์ ระหว่างนั้นผู้ป่วยจะได้รับยาปฏิชีวนะเพื่อฆ่าเชื้อควบคู่ไปด้วย

หลังจากระบายหนองออกและหายอักเสบดีแล้ว ก็สามารถผ่าตัดเอาไส้ติ่งออกได้อย่างปลอดภัย ในบางกรณีแพทย์อาจทำการผ่าตัดทันทีหลังการระบายหนองจากฝีในช่องท้องได้หมด

การวินิจฉัยโรค
แพทย์จะซักถามอาการของผู้ป่วยและทำการตรวจช่องท้องเพื่อวินิจฉัยโรค
การตรวจและวินิจฉัยโรค อาจทำได้โดย

  • การตรวจร่างกาย
    แพทย์จะกดเบาๆบริเวณที่ปวด หากผู้ป่วยมีอาการเยื่อบุช่องท้องอักเสบอาการปวดจะแรงขึ้น หลังจากที่แพทย์ปล่อยมือที่กด แพทย์จะประเมินอาการท้องแข็งและอาการเกร็งท้อง แพทย์อาจทำการตรวจทางทวารหนักร่วมด้วย ในหญิงวัยเจริญพันธุ์แพทย์อาจทำการตรวจภายในเพื่อวินิจฉัยโรคทางสูตินรีเวชซึ่งอาจเป็นสาเหตุของอาการปวดท้อง
  • การตรวจเลือด
    เมื่อร่างกายมีการติดเชื้อ จำนวนเม็ดเลือดขาวในเลือดจะสูงขึ้น
  • การตรวจปัสสาวะ
    เพื่อตรวจว่าอาการปวดเกิดจากโรคนิ่วหรือโรคกระเพาะปัสสาวะอักเสบหรือไม่
  • การสแกนวินิจฉัย
    แพทย์อาจให้ทำการเอกซ์เรย์ อัลตราซาวนด์ เอกซเรย์คอมพิวเตอร์ (CT) หรือ ตรวจด้วยคลื่นวิทยุและสนามแม่เหล็กไฟฟ้า (MRI) บริเวณช่องท้อง เพื่อช่วยระบุโรคหรือตรวจหาสาเหตุอื่น ๆ ของอาการปวดท้อง

การรักษา
โรคไส้ติ่งอักเสบรักษาได้ด้วยวิธีผ่าตัด ก่อนเข้ารับการผ่าตัดผู้ป่วยอาจต้องได้รับยาปฏิชีวนะเพื่อฆ่าเชื้อ

  • การผ่าตัดไส้ติ่ง
    แพทย์จะทำการผ่าตัดเปิดหน้าท้อง โดยจะทำการกรีดช่องท้องยาว 5-10 เซนติเมตรหรือ 2-4 นิ้วเพื่อตัดไส้ติ่งออก ส่วนการผ่าตัดไส้ติ่งผ่านกล้องนั้น แผลจะมีขนาดเล็ก 2-3 แผลและใช้เครื่องมือผ่าตัดพิเศษ พร้อมกล้องวิดีโอเพื่อนำไส้ติ่งออก
    การผ่าตัดผ่านกล้องนั้น
    ผู้ป่วยจะมีรอยแผลเล็กและฟื้นตัวได้เร็วกว่า แพทย์มักแนะนำการผ่าตัดผ่านกล้องในผู้ป่วยสูงอายุหรือเป็นโรคอ้วน แต่การผ่าตัดประเภทนี้อาจไม่เหมาะกับทุกคน แพทย์จะทำการผ่าตัดเปิดหน้าท้องในกรณีที่ไส้ติ่งแตกหรือเกิดฝี เพราะสามารถทำความสะอาดช่องท้องได้ดีกว่า ผู้ป่วยต้องพักในโรงพยาบาล 1-2 วันหลังการผ่าตัด
  • การระบายฝีก่อนการผ่าตัดเปิดหน้าท้อง
    หากเกิดการสะสมของหนองจนเกิดเป็นฝีหลังไส้ติ่งแตก แพทย์จะทำการระบายหนองออกจากฝีโดยการใส่ท่อระบายผ่านหน้าท้อง แพทย์จะทำการผ่าตัดเปิดหน้าท้องหลังระบายหนองออกและควบคุมการติดเชื้อได้แล้ว

การดูแลรักษาตัวที่บ้านและการเปลี่ยนแปลงการใช้ชีวิต
การพักฟื้นหลังการผ่าตัดอาจใช้เวลา 2-3 สัปดาห์ หรือนานกว่านั้นหากไส้ติ่งแตก เพื่อช่วยให้การฟื้นตัวเร็วขึ้น ผู้ป่วยอาจปฏิบัติตัวดังต่อไปนี้

  • งดกิจกรรมที่ออกแรงมาก ๆ
    • หลังการผ่าตัดผ่านกล้อง ควรงดกิจกรรมที่ออกแรงมาก 3-5 วัน
    • หลังการผ่าตัดเปิดหน้าท้อง ควรงดกิจกรรมที่ออกแรงมาก 10-14 วัน
      ผู้ป่วยสามารถปรึกษาแพทย์ว่ากิจกรรมใดที่ควรหลีกเลี่ยงและเมื่อไรที่สามารถกลับไปทำกิจกรรมตามปกติได้
  • ใช้หมอนหรือมือพยุงแผลผ่าตัดขณะที่ไอ หัวเราะ หรือเคลื่อนไหวเพื่อช่วยลดอาการปวด
  • ปรึกษาแพทย์หากอาการปวดไม่บรรเทาลงหลังรับประทานยา อาการปวดแผลหลังผ่าตัดจะดีขึ้นวันต่อวัน ผู้ป่วยควรปรึกษาแพทย์หากยังมีอาการปวดหลังรับประทานยา
  • พยายามเคลื่อนไหวเมื่อทำได้ พยายามขยับตัวโดยอาจเริ่มจากการเดินระยะสั้น ๆ และค่อย ๆ เพิ่มกิจกรรมเมื่อรู้สึกพร้อม
  • พักผ่อน ระหว่างพักฟื้น อาจรู้สึกง่วงบ่อย ผู้ป่วยสามารถพักหรือนอนหลับได้ตามที่ต้องการ
  • ปรึกษาแพทย์ เรื่องการกลับไปทำงานหรือไปโรงเรียน เมื่อรู้สึกแข็งแรงมากพอ ผู้ป่วยสามารถกลับไปทำงานได้ เด็กสามารถไปโรงเรียนภายใน 1 สัปดาห์ แต่ควรงดกิจกรรมใช้กำลัง เช่น การเล่นกีฬาหรือวิชาพละศึกษา เป็นเวลา 2-4 สัปดาห์

การรักษาทางเลือก
เพื่อบรรเทาอาการปวดหลังผ่าตัด แพทย์จะสั่งยาแก้ปวดให้ผู้ป่วย การรักษาทางเลือกร่วมกับการรับประทานยาตามปกติ สามารถช่วยบรรเทาอาการปวดได้ ผู้ป่วยสามารถปรึกษาแพทย์ถึงการรักษาทางเลือกได้ เช่น

  • การเบี่ยงเบนความสนใจ เช่น พูดคุยกับเพื่อน ฟังเพลง สามารถช่วยเบี่ยงเบนความสนใจไปจากอาการปวดหลังผ่าตัด เด็ก ๆ มักลืมอาการปวดหากถูกดึงความสนใจไปเรื่องอื่น ๆ
  • จินตภาพภายใต้การชี้นำ เช่น จินตนาการถึงสถานที่อยากไปหรือชื่นชอบ

การเตรียมตัวก่อนพบแพทย์
เมื่อผู้ป่วยมีอาการปวดท้องที่เข้าได้กับไส้ติ่งอักเสบ ควรเข้าพบแพทย์ตั้งแต่เนิ่นๆ  หากอาการปวดนั้นเกิดจากไส้ติ่งอักเสบ ควรเข้ารักษาตัวในโรงพยาบาลและได้รับการผ่าตัด

สิ่งที่ผู้ป่วยควรทำ
ก่อนพบแพทย์ ผู้ป่วยสามารถสอบถามว่าต้องเตรียมตัวอะไรบ้าง เช่น การงดน้ำและอาหาร และควรเตรียมข้อมูลดังต่อไปนี้

  • อาการของโรค ทั้งที่น่าจะมีสาเหตุมาจากโรคไส้ติ่งอักเสบหรือโรคอื่น ๆ
  • ประวัติทางการแพทย์ของครอบครัว เหตุการณ์ที่ทำให้เกิดความเครียดหรือการเลี่ยนแปลง
  • ชนิดและขนาดของยาหรือผลิตภัณฑ์อาหารเสริมที่รับประทานอยู่
  • คำถามที่อยากถามแพทย์

ผู้ป่วยอาจพาญาติหรือเพื่อนไปพบแพทย์ด้วยเพื่อช่วยจดบันทึก
ตัวอย่างคำถามที่ผู้ป่วยอาจจะอยากถามแพทย์

  • อาการเกิดจากโรคไส้ติ่งอักเสบหรือไม่
  • ต้องทำการตรวจอะไรบ้าง
  • สาเหตุของอาการปวดท้องมีอะไรบ้าง
  • จำเป็นต้องผ่าตัดหรือไม่ และเมื่อไรควรได้รับการผ่าตัด
  • การผ่าตัดมีความเสี่ยงอะไรบ้าง
  • หลังจากผ่าตัดแล้ว ต้องพักฟื้นในโรงพยาบาลหรือไม่
  • ต้องพักฟื้นนานเท่าไร
  • สามารถกลับไปทำงานได้เมื่อไร
  • ไส้ติ่งแตกหรือไม่
  • ผู้ป่วยสามารถถามคำถามอื่น ๆ เพื่อคลายข้อสงสัย

สิ่งที่แพทย์จะถาม
ตัวอย่างคำถามที่แพทย์อาจจะถามผู้ป่วย

  • อาการเริ่มขึ้นเมื่อไร
  • อาการปวดเริ่มตรงจุดใด
  • อาการปวดย้ายตำแหน่งหรือไม่
  • มีอาการปวดมากหรือไม่
  • อะไรทำให้อาการปวดแย่ลง
  • อะไรทำให้อาการปวดดีขึ้น
  • มีไข้ร่วมด้วยหรือไม่
  • มีอาการคลื่นไส้ อาเจียนหรือไม่
  • มีอาการอื่น ๆ ร่วมด้วยหรือไม่

บทความโดย

เผยแพร่เมื่อ: 13 มี.ค. 2022

แชร์

แพทย์ที่เกี่ยวข้อง

  • Link to doctor
    พญ. อสมา วาณิชตันติกุล

    พญ. อสมา วาณิชตันติกุล

    • สูติศาสตร์และนรีเวชวิทยา
    • ผ่าตัดส่องกล้องทางนรีเวช
    Gynecologic Oncology, Gynecologic Endoscopy, Minimally Invasive Surgery, Sexual Medicine
  • Link to doctor
    พญ. สุจารี พิมลพันธุ์

    พญ. สุจารี พิมลพันธุ์

    • ศัลยศาสตร์
    • การผ่าตัดช่องท้องผ่านกล้อง
  • Link to doctor
    พญ. อรวี ฉินทกานันท์

    พญ. อรวี ฉินทกานันท์

    • สูติศาสตร์และนรีเวชวิทยา
    • นรีเวชวิทยา
    • สตรีวัยหมดประจำเดือน
    • การผ่าตัดช่องท้องผ่านกล้อง
    • นรีเวชทางเดินปัสสาวะ
    Urogynecology, Female Pelvic Reconstructive Surgery, Minimally Invasive Gynecology, Menopause
  • Link to doctor
    นพ. บัณฑิต สุนทรเลขา

    นพ. บัณฑิต สุนทรเลขา

    • ศัลยศาสตร์
    • ศัลยศาสตร์เต้านม
    • ศัลยศาสตร์ทั่วไป
    • การผ่าตัดช่องท้องผ่านกล้อง
    Laparoscopic Adrenalectomy, Laparoscopic Appendectomy, Laparoscopic Cholecystectomy, Laparoscopic Colorectal Surgery, Laparoscopic Gastrectomy, Laparoscopic Herniorrhaphy, Laparoscopic Pancreatectomy, Laparoscopic Small Bowel Resection, Laparoscopic Splenectomy, การปลูกถ่ายไต
  • Link to doctor
    นพ. พรพีระ จิตต์ประทุม

    นพ. พรพีระ จิตต์ประทุม

    • ศัลยศาสตร์
    • ศัลยศาสตร์ทั่วไป
    • การผ่าตัดช่องท้องผ่านกล้อง
    General Surgery, Minimally Invasive Surgery