ผลข้างเคียง การรักษายานอนหลับ (Sleeping pills) - Sleeping pills - Side effect & Treatments

ยานอนหลับ (Sleeping pills) ผลข้างเคียง การรักษา

ยานอนหลับ (Sleeping pills) คือ ยาที่ใช้รักษาภาวะนอนหลับยาก นอนไม่หลับ นอนหลับ ๆ ตื่น ๆ โดยอาการนอนไม่หลับมีทั้งนอนไม่หลับในระยะสั้น และนอนไม่หลับในระยะยาว ผู้ที่มีอาการนอนไม่หลับจำนวนมาก

แชร์

ยานอนหลับ (Sleeping pills) 

ยานอนหลับ (Sleeping pills) คือ ยาที่ใช้รักษาภาวะนอนหลับยาก นอนไม่หลับ นอนหลับ ๆ ตื่น ๆ โดยอาการนอนไม่หลับมีทั้งนอนไม่หลับในระยะสั้น และนอนไม่หลับในระยะยาว ผู้ที่มีอาการนอนไม่หลับจำนวนมากจึงตัดสินใจใช้ยานอนหลับออกฤทธิ์เร็ว ยากล่อมประสาท หรือ ยาช่วยนอนหลับ เพื่อแก้ปัญหาการนอนไม่หลับ ในปัจจุบันมียานอนหลับมากมายหลายชนิดที่ออกฤทธิ์แตกต่างกันตามโครงสร้างทางเคมีและผลทางเภสัชวิทยา อย่างไรก็ตามการใช้ยานอนหลับในระยะสั้นเพื่อช่วยให้นอนหลับสามารถกระทำได้ หากแต่ไม่ควรใช้ต่อเนื่องติดต่อกันเป็นระยะเวลานาน ๆ ทั้งนี้เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดผลข้างเคียงอันเกิดการใช้ยานอนหลับเป็นเวลายาวนานที่อาจส่งผลเสียต่อสุขภาพในระยะยาวได้ การค่อย ๆ เลิกยานอนหลับร่วมกับการฝึกการนอนหลับอย่างเป็นธรรมชาติโดยไม่พึ่งยานอนหลับจะช่วยให้กลับมามีสุขภาพร่างกายที่ดี มีชีวิตชีวา พร้อมรับกิจวัตรประจำวันในเช้าวันใหม่ได้อย่างสดใส แข็งแรง

ยานอนหลับ คืออะไร?

ยานอนหลับ คือยาที่ออกฤทธิ์ช่วยให้นอนหลับ ช่วยบรรเทาอาการเครียดและวิตกกังวล ยานอนหลับช่วยให้ผู้ที่มีความผิดปกติในการนอนหลับ ผู้ที่เป็นโรคนอนไม่หลับ หรือผู้ที่มักจะตื่นกลางดึกแล้วไม่สามารถนอนหลับต่อให้สามารถนอนหลับได้อย่างสนิทโดยไม่ตื่นขึ้นมาในตอนกลางดึกอีก ผู้ที่มีปัญหาในการนอนหลับจำนวนมากจึงนิยมใช้ยานอนหลับในการช่วยให้นอนหลับได้ดีขึ้น

กลุ่มยานอนหลับ มีอะไรบ้าง?

ยานอนหลับมีหลายชนิด ได้แก่

  • กลุ่มยาเบนโซไดอะซีปีน Benzodiazepines (BZD) เป็นกลุ่มยานอนหลับออกฤทธิ์แรง ที่ช่วยให้นอนหลับได้ง่ายขึ้น ช่วยให้คลายกังวล และช่วยในเรื่องการเรียนรู้และความจำ โดยยากลุ่มนี้ช่วยเพิ่มระดับของสารสื่อประสาท GABA กระตุ้นให้สมองรู้สึกง่วงนอน ช่วยให้นอนหลับได้ดีขึ้น ทั้งยังช่วยคลายกล้ามเนื้อ คลายกังวล และเป็นยาที่ใช้รักษาโรคลมชัก ยาในกลุ่มนี้ ได้แก่ ยาอัลพราโซแลม(Alprazolam) ยาโคลนาซีแพม (Clonazepam) ยาไดอะซีแพม (Diazepam) หรือ ยาลอราซีแพม (Lorazepam) มีทั้งแบบออกฤทธิ์สั้นและออกฤทธิ์ยาว โดยแพทย์จะเป็นผู้สั่งยาโดยพิจารณาจากความรุนแรงของอาการ โรคร่วม อายุ และโรคประจำตัว ยาชนิดนี้อาจทำให้เกิดอาการ วิงเวียน อ่อนเพลีย หงุดหงิดง่าย และอาจมีผลข้างเคียงในระยะยาว เช่น ภาวะซึมเศร้า ที่ควรระมัดระวังในการใช้ยาโดยเฉพาะอย่างยิ่งผู้ป่วยโรคตับ และโรคไต
  • กลุ่มยานอนเบนโซไดอะซิปีน Nonbenzodiazepines (Non-BZD) หรือ กลุ่มยาซีดรักส์ (Z-drugs) เป็นกลุ่มยานอนหลับออกฤทธิ์เร็ว เนื่องจากดูดซึมได้ดี โดยจะออกฤทธิ์ใน 30 นาทีหลังจากที่ได้ทานยาและออกฤทธิ์ได้นานถึง 8 ชั่วโมง โดยจะทำให้สมองรู้สึกง่วงนอน ทำให้คลายกังวล ช่วยให้นอนหลับได้ดี และไม่ทำให้รู้สึกง่วงหรือมึนงงในตอนเช้า เป็นกลุ่มยาที่แพทย์นิยมสั่งจ่ายให้คนไข้มากที่สุด เนื่องจากเป็นยาที่มีผลข้างเคียงน้อย พบอาการดื้อยาต่ำ และไม่ทำให้เกิดอาการติดยานอนหลับ ยาในกลุ่มนี้ ได้แก่ ยาโซลพิเดม (Zolpidem) ยาแอมเบียน (Ambien) หรือ ยาโซพิโคลน (Zopiclone)
  • กลุ่มยา Melatonin เป็นกลุ่มยาที่สังเคราะห์ขึ้นเพื่อเลียนแบบสารชนิดเดียวกันกับสารสื่อประสาทในสมอง ที่หลั่งออกมาตามธรรมชาติเพื่อช่วยกระตุ้นให้รู้สึกอยากนอนหลับ โดยปกติ สารเมลาโทนินในสมองเป็นปัจจัยที่ทำให้เกิดวงจรการนอน โดยจะหลั่งออกมาในเวลาตอนกลางคืน หรือในที่ที่มีแสงสว่างน้อย เพื่อช่วยให้ร่างกายรู้สึกง่วงหงาวหาวนอน รู้สึกผ่อนคลาย และช่วยให้รู้สึกอยากนอนหลับ โดยแพทย์นิยมสั่งยากลุ่มนี้ให้กับผู้ที่มีปัญหาในการหลับ หลับยาก ผู้ที่ทำงานไม่เป็นเวลา ทำงานเป็นกะ ผู้สูงอายุที่มีปัญหานอนไม่หลับ เนื่องจากการหลั่งของสารเมลาโทนินตามธรรมชาติลดน้อยลงตามวัย
  • กลุ่มยา Antidepressants เป็นยากลุ่มยาต้านโรคซึมเศร้าที่ช่วยรักษาอาการนอนไม่หลับ ช่วยคลายเครียด และคลายวิตกกังวลได้ดีมาก โดยเป็นกลุ่มยาที่แพทย์ใช้รักษาผู้ป่วยโรคซึมเศร้า โรคไมเกรน โรคลำไส้แปรปรวนหรือโรคไอบีเอส (Irritable bowel syndrome: IBS) โดยเป็นยาที่ออกฤทธิ์ต่อสารสื่อประสาทส่วนกลางช่วยให้สมองรู้สึกผ่อนคลาย คลายกังวล และช่วยให้รู้สึกง่วงนอน ขนาดของตัวยากลุ่มนี้มีตั้งแต่ 10, 25 หรือ 50 มิลลิกรัม มีทั้งรูปแบบของ ยานอนหลับแบบน้ำ และรูปแบบของยานอนหลับแบบเม็ด อาการข้างเคียงที่อาจเกิดขึ้นในผู้ที่ใช้ยากลุ่มนี้ คือ อาการท้องผูก ปัสสาวะลำบาก คอแห้ง หรือปากแห้ง สมรรถภาพทางเพศลดลง และอาจทำให้น้ำหนักเพิ่ม โดยแพทย์ไม่นิยมใช้ยากลุ่มนี้ในผู้ที่มีอายุน้อย หรือวัยรุ่น เนื่องจากอาจเสี่ยงต่อผลข้างเคียงที่รุนแรง

ผลข้างเคียงจากการใช้ยานอนหลับ มีอะไรบ้าง?
ผลข้างเคียงจากการใช้ยานอนหลับ มีอะไรบ้าง
?

ผลข้างเคียงจากการใช้ยานอนหลับจะเริ่มแสดงให้เห็น เมื่อผู้ใช้ยานอนหลับเกิดการติดยานอนหลับ และไม่สามารถนอนหลับได้หากปราศจากยานอนหลับ การเลิกยากระทันหันหรือการ หักดิบ (Cold turkey) อาจทำให้เกิดผลข้างเคียงจากการถอนยา (Withdrawal symptoms) และอาจทำให้อาการนอนไม่หลับแย่ลงกว่าเดิม (Rebound insomnia) ผลข้างเคียงจากการใช้ยานอนหลับมีทั้งในระยะสั้นและระยะยาว มีอาการดังต่อไปนี้

ผลข้างเคียงในระยะสั้น

  • ง่วงนอน อ่อนเพลีย
  • ปวดศีรษะ
  • คลื่นไส้
  • สับสน มึนงง
  • ท้องเสีย หรือ ท้องผูก
  • ปากแห้ง
  • กล้ามเนื้ออ่อนแรง
  • การตัดสินใจช้า สมองประมวลผลช้า
  • อาหารไม่ย่อย มีแก๊ซในกระเพาะอาหาร จุกเสียด แน่นท้อง

ผลข้างเคียงในระยะยาว

ผลข้างเคียงจากการใช้ยานอนหลับในระยะยาวส่งผลต่อการทำงานของสมอง เปลี่ยนแปลงโครงสร้างการนอนหลับ และทำให้ติดยานอนหลับ การดื้อยา รวมถึงผลข้างเคียงอื่น ๆ ได้แก่

  • เสี่ยงต่อภาวะสมองเสื่อม โดยเฉพาะผู้สูงอายุ
  • ส่งผลต่อความจำ ความจำเสื่อม หรืออาการโรคอัลไซเมอร์
  • อาจทำต่อเกิดภาวะซึมเศร้า
  • สมรรถภาพทางเพศเสื่อม
  • เสี่ยงต่อการเกิดอุบัติเหตุ พลัดตกหกล้ม
  • การกดระบบหายใจขณะหลับ จนอาจทำให้เสียชีวิตได้

การเลิกยานอนหลับ มีวิธีการอย่างไร?

ผู้ที่ต้องการเลิกยานอนหลับควรเตรียมความพร้อมในการรับมือต่อผลข้างเคียงที่อาจเกิดขึ้นจากการเลิกยานอนหลับ โดยควรเริ่มต้นโดยการค่อย ๆ ลดขนาดยานอนหลับทีละน้อย เพื่อให้ร่างกายค่อย ๆ ปรับตัวและไม่รู้สึกทรมาน พร้อมกับการปรับพฤติกรรม ดังต่อไปนี้

  • การควบคุมสุขอนามัยการนอนหลับ (Sleep hygiene instruction) ปรับพฤติกรรมการนอน โดยการเข้านอนและตื่นนอนให้เป็นเวลาเพื่อให้เกิดอุปนิสัยในการนอนหลับที่ดี ช่วยให้การนอนหลับมีคุณภาพ และเพื่อป้องกันไม่ให้อาการนอนไม่หลับแย่ลงไปกว่าเดิม
  • การควบคุมสิ่งเร้า (Stimulus control) การจัดห้องนอนให้สะอาด ปราศจากสิ่งรบกวน ปิดไฟในห้องให้มืดสนิท ปิดโทรศัพท์มือถือไม่ให้มีเสียงหรือแสงสีฟ้าที่รบกวนการนอนหลับ รักษาอุณหภูมิห้องให้อยู่ในระดับต่ำเพื่อช่วยให้นอนหลับได้ดี
  • ควบคุมระยะเวลาการนอน (Sleep restriction) โดยการจำกัดการนอน โดยการฝึกฝนการบีบอัดระยะเวลาการนอน (Sleep compression) เพื่อรักษาอาการ/โรคนอนไม่หลับและฟื้นฟูระบบการทำงานของร่างกายโดยการสร้างแรงขับในการอยากนอนหลับ (Sleep drive)
  • การฝึกการผ่อนคลาย (Relaxation training) ฝึกการทำสมาธิ ฝึกการหายใจ และการฝึกการผ่อนคลายกล้ามเนื้อ เพื่อช่วยให้ร่างกาย และจิตใจคลายกังวล
  • การปรับพฤติกรรมในการใช้ชีวิต (Lifestyle modification) เช่น การออกกำลังกายเป็นประจำเพื่อให้ร่างกายรู้สึกเหนื่อยและอยากพักผ่อน ลดการดื่มเครื่องดื่มที่มีคาเฟอีน ชา กาแฟ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในช่วงเวลาหลังเที่ยง ลดการทานน้ำตาล หลีกเลี่ยงการทานอาหารก่อนนอน และดื่มน้ำเปล่าให้เพียงพอต่อวัน
  • การบำบัดจิตโดยการปรับความคิดและพฤติกรรม (Cognitive behavioral therapy: CBT) เป็นการบำบัดจิตโดยการพูดคุยกับนักจิตบำบัด หรือแพทย์ผู้ชำนาญการเฉพาะทางที่มีประสบการณ์เพื่อจัดการกับสภาวะอารมณ์และกระบวนการคิดในเชิงลบ พร้อมทั้งเรียนรู้และปรับวิธีคิดเชิงบวก พร้อมทั้งวิธีการแก้ปัญหาที่มีประสิทธิภาพ สามารถนำไปปรับใช้ได้ในชีวิตจริง เพื่อให้เกิดความรู้สึกเชิงบวกกับตนเอง และพร้อมที่จะสร้างความเชื่อมั่นในศักยภาพ และเป็นผู้ที่มองเห็นคุณค่าในตนเอง

การสร้างสุขนิสัยในการนอนที่ดี ช่วยให้นอนหลับได้

การนอนหลับเป็นกิจกรรมพื้นฐานที่จำเป็นต่อการมีสุขภาพที่ดี สมองและร่างกายจะใช้ช่วงเวลานี้ในการบำรุง ซ่อมแซมส่วนต่าง ๆ ของร่างกายที่ถูกใช้งานให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น การนอนหลับอย่างเพียงพอจะช่วยฟื้นฟูร่างกายและจิตใจ ช่วยให้รู้สึกกระปรี้กระเปร่า และส่งผลดีต่ออารมณ์ในวันรุ่งขึ้น อย่างไรก็ตาม มีผู้คนจำนวนมากที่มีปัญหาในการนอนหลับและตัดสินใจใช้ยานอนหลับ หากแต่ยานอนหลับเหล่านี้ปลอดภัยจริงหรือ? ผู้ที่ใช้ยานอนหลับในระยะยาวจำนวนมากมักมีอาการเสพติดยานอนหลับ และไม่สามารถนอนหลับได้ปราศจากยาเหล่านี้ การพยายามเลิกยานอนหลับ อาจทำให้เกิดอาการข้างเคียงจากการเลิกยาต่าง ๆ ตามมาอันเป็นผลมาจากการหยุดยานอนหลับอย่างกระทันหันจนส่งผลกระทบต่อการดำเนินชีวิตประจำวัน

การรักษาอาการนอนไม่หลับที่ดีที่สุดคือการสร้างสุขนิสัยในการนอนที่ดี การฝึกการนอนหลับอย่างเป็นธรรมชาติ ควบคู่กับการค่อย ๆ เลิกยานอนหลับ และการบำบัดรักษาอาการนอนไม่หลับร่วมกันกับแพทย์ผู้ชำนาญการอย่างเป็นระบบ จะช่วยให้การนอนหลับดีขึ้น มีสุขภาพกายและใจที่พร้อมกลับมาใช้ชีวิตได้อย่างมีคุณภาพอีกครั้ง


คุณมีความเสี่ยงหยุดหายใจขณะนอนหลับหรือเปล่า?
ลองทำแบบทดสอบเลย!

Sleeping Pills Infographic   Th

บทความโดย

เผยแพร่เมื่อ: 07 มิ.ย. 2023

แชร์