อาการ สาเหตุ การรักษาเจ็บคอ หรือ คออักเสบ Sore throat - Symptoms, Causes, Diagnosis and Prevention

อาการเจ็บคอ หรือ คออักเสบ (Sore throat or Pharyngitis)

อาการเจ็บคอ หรือ คออักเสบ คือการเจ็บ คัน หรือระคายเคืองภายในลำคอ และมักมีอาการมากขึ้นขณะกลืน สาเหตุของการเจ็บคอที่พบได้บ่อยที่สุดคือการติดเชื้อไวรัส (Viral pharyngitis) จากไข้หวัดซึ่งสามารถหายเองได้

แชร์

อาการเจ็บคอ หรือ คออักเสบ

อาการเจ็บคอ หรือ คออักเสบ คือการเจ็บ คัน หรือระคายเคืองภายในลำคอ และมักมีอาการมากขึ้นขณะกลืน สาเหตุของการเจ็บคอที่พบได้บ่อยที่สุดคือการติดเชื้อไวรัส (Viral pharyngitis) จากไข้หวัดซึ่งสามารถหายเองได้ คออักเสบจากเชื้อสเตรป (Streptococcal pharyngitis) เป็นอาการเจ็บคอที่เกิดขึ้นจากการรับเชื้อแบคทีเรียซึ่งพบได้ไม่บ่อยนักและต้องใช้ยาปฏิชีวนะเพื่อป้องกันการเกิดภาวะแทรกซ้อน ส่วนการเจ็บคอด้วยสาเหตุอื่นอาจต้องให้แพทย์เป็นผู้ตรวจวินิจฉัย

คออักเสบ อาการเป็นอย่างไร

อาการของคออักเสบนั้นจะแตกต่างกันไปตามสาเหตุ โดยมักมีอาการดังต่อไปนี้

  • เจ็บ คัน ในลำคอ
  • จุดหนองสีขาวอยู่บนต่อมทอนซิล
  • ต่อมน้ำเหลืองที่ขากรรไกรบวม
  • กลืนลำบาก
  • ต่อมทอนซิลบวมแดง
  • เสียงแหบ

อาการคออักเสบจากการติดเชื้อไวรัสมักมีอาการดังต่อไปนี้

  • มีไข้ต่ำ
  • มีอาการไอ
  • อาการน้ำมูกไหล
  • อาการจาม
  • ปวดตามข้อ
  • ปวดศีรษะ
  • อาเจียน

เจ็บคอ หรือ คออักเสบ ควรไปพบแพทย์เมื่อไร

สำหรับวัยเด็ก ควรรีบไปพบแพทย์ทันทีหากมีอาการเจ็บคอร่วมกับอาการดังต่อไปนี้

  • หายใจลำบาก
  • กลืนลำบาก
  • น้ำลายไหลมากผิดปกติซึ่งเป็นผลมาจากการกลืนไม่สะดวก

สำหรับวัยผู้ใหญ่ ควรไปพบแพทย์หากมีอาการเจ็บคอร่วมกับอาการดังต่อไปนี้

  • เจ็บคอขั้นรุนแรงหรือมีอาการนานกว่าหนึ่งอาทิตย์
  • กลืนลำบาก
  • หายใจลำบาก
  • อ้าปากยาก
  • ปวดเมื่อยตามไขข้อกระดูก
  • ปวดหู
  • ผื่นขึ้นตามผิวหนัง
  • มีไข้สูงกว่า 3 องศาเซลเซียส
  • เลือดปนในน้ำลาย
  • เสียงแหบเกิน 2 อาทิตย์
  • คอบวม

คออักเสบ เกิดจากสาเหตุอะไร

โดยส่วนใหญ่ อาการเจ็บคอมักเกิดจากการติดเชื้อไวรัสมากกว่าเชื้อแบคทีเรีย

โรคที่เกิดจากเชื้อไวรัสที่มักทำให้มีอาการเจ็บคอ ได้แก่

  • โรคไข้หวัดใหญ่
  • โรคไข้หวัดทั่วไป
  • โรคโมโนนิวคลิโอซิส
  • โรคหัด
  • โรคอีสุกอีใส
  • โรคโควิด-19

การติดเชื้อแบคทีเรียอาจทำให้เจ็บคอได้เช่นกัน โดยเชื้อ Streptococcus pyogenes (กลุ่ม A streptococcus) เป็นสาเหตุของอาการเจ็บคอที่พบได้บ่อยที่สุด

สาเหตุอื่น ๆ ที่ทำให้คออักเสบ

  • โรคภูมิแพ้: อาการคออักเสบเกิดจากการแพ้ต่อ ขนสัตว์ เชื้อรา ฝุ่น และ ภาวะคัดจมูกอาจทำให้คอระคายเคืองจากการหายใจผ่านช่องคอ
  • อากาศแห้ง: การคัดจมูกเรื้อรังส่งผลให้ต้องหายใจทางปากอาจทำให้คอแห้งและเจ็บคอได้
  • มลพิษทางอากาศ: สารระคายเคืองจากภายนอก เช่น สารเคมีจากควันบุหรี่ การเคี้ยวยาสูบ การดื่มแอลกอฮอล์ และการรับประทานอาหารรสเผ็ดอาจทำให้ระคายเคืองเยื่อบุในคอได้
  • การเกร็งกล้ามเนื้อคอ: การตะโกน พูดเสียงดัง หรือพูดเป็นเวลานานอย่างต่อเนื่องอาจทำให้เกิดอาการระคายเคืองคอได้



อาการเจ็บคอ หรือ คออักเสบ มีปัจจัยเสี่ยงจากอะไรบ้าง?

  • อายุ: เด็กที่มีอายุระหว่าง 3 ถึง 15 ปีมีความเสี่ยงที่จะมีอาการเจ็บคอมากที่สุดเพราะภูมิยังต่ำ
  • การสัมผัสกับควันบุหรี่: การสูบบุหรี่และหรือการได้รับควันบุหรี่จากผู้อื่นทำให้คอระคายเคืองได้ นอกจากนี้การสูบบุหรี่ยังเพิ่มความเสี่ยงต่อมะเร็งในช่องปาก คอหอย และกล่องเสียง
  • โรคภูมิแพ้: การแพ้ฝุ่น เชื้อรา หรือขนสัตว์อย่างต่อเนื่องจะเพิ่มความเสี่ยงของอาการเจ็บคอ
  • การสัมผัสสารเคมีที่ก่อการระคายเคือง: อนุภาคในอากาศจากการเผาไหม้เชื้อเพลิงและสารเคมีในบ้านอาจทำให้คอระคายเคืองได้
  • ไซนัสอักเสบที่เกิดซ้ำหรือต่อเนื่อง: การสั่งน้ำมูกอาจทำให้ระคายเคืองคอและส่งต่อโรคติดเชื้อในคอได้

การตรวจวินิจฉัยอาการเจ็บคอ หรือ คออักเสบ

  • การใช้อุปกรณ์ส่องไฟตรวจคอ หู และจมูก
  • การคลำที่ลำคอเพื่อตรวจหาต่อมน้ำเหลือง (lymph nodes) ที่โตขึ้น
  • การใช้เครื่องตรวจฟังเสียงเพื่อฟังการหายใจ
  • การใช้ไม้ป้ายคอ (throat swab) เพื่อตรวจหาเชื้อแบคทีเรียสเตรปโทคอกคัสซึ่งเป็นสาเหตุของโรคคออักเสบและเก็บตัวอย่างสารคัดหลั่งโดยใช้สำลีเช็ดหลังคอเพื่อนำไปตรวจอย่างละเอียด

การรักษาอาการเจ็บคอ คออักเสบ

นอกจากยาปฏิชีวนะจะไม่ช่วยบรรเทาอาการอาการเจ็บคอที่เกิดจากการติดเชื้อไวรัสแล้ว การใช้ยาปฏิชีวนะพร่ำเพรื่อยังเพิ่มความเสี่ยงต่อภาวะแทรกซ้อนอื่นๆ เช่น ผื่นคัน ท้องร่วง และอาการแพ้รุนแรง โดยทั่วไป อาการเจ็บคอจากการติดเชื้อไวรัสจะหายไปเองภายใน 4 – 5 วัน วิธีรักษาอาการเจ็บคอที่ได้ผลคือวิธีที่ช่วยลดอาการเจ็บได้ ตัวอย่างได้แก่

  • ยาแก้ปวด ยาแก้ปวดที่วางจำหน่ายตามร้านขายยาทั่วไปช่วยลดอาการเจ็บคอได้รวดเร็วและมีประสิทธิภาพ ยาที่ช่วยบรรเทาอาการเจ็บคอได้แก่ อะเซตามีโนเฟน (พาราเซตามอล) และยาต้านอักเสบชนิดที่ไม่ใช่สเตียรอยด์ (NSAID) อย่าง ไอบูโพรเฟน และ นาพรอกเซน
    อย่างไรก็ดี ถึงแม้ยาสเตียรอยด์แบบรับประทานจะช่วยบรรเทาอาการเจ็บคอได้ แต่แนะนำให้รับประทานเพียงช่วงสั้นๆ เนื่องจากอาจเกิดผลข้างเคียงที่เป็นอันตรายได้
  • กลั้วคอด้วยน้ำเกลือ การกลั้วคอด้วยน้ำเกลือเป็นวิธีรักษาอาการเจ็บคอมายาวนาน แม้จะไม่มีการศึกษาแน่ชัดว่าน้ำเกลือช่วยลดอาการเจ็บคอได้ก็ตาม โดยแนะนำให้ผสมน้ำเกลือในปริมาณ ¼ ถึง ½ ช้อนชา (1.5 ถึง 3 กรัม) ต่อน้ำอุ่น 1 แก้ว (250 มล.)
  • สเปรย์พ่นคอ สเปร์ยพ่นคอที่มีส่วนผสมของยาชาเฉพาะที่อย่าง เบนโซเคน และ ฟีนอล ช่วยรักษาอาการเจ็บคอได้ แต่ประสิทธิภาพของสเปรย์พ่นคอไม่แตกต่างจากการอมลูกอมทั่วไป
  • ยาอมแก้เจ็บคอ ยาอมแก้เจ็บคอหลายชนิดมียาชาเฉพาะที่ผสมอยู่ด้วย จึงช่วยบรรเทาอาการเจ็บคอและคอแห้งได้ นอกจากนี้ ยาอมแก้เจ็บคอยังออกฤทธิ์นานกว่าสเปรย์พ่นคอและการกลั้วคอ ดังนั้น จึงเป็นวิธีที่มีประสิทธิภาพในการรักษาอาการเจ็บคอมากกว่า
  • อาหารและเครื่องดื่ม เครื่องดื่มอุ่นๆ อย่างชาน้ำผึ้ง ชามะนาว ซุปไก่ รวมถึงเครื่องดื่มและของหวานเย็นๆ อย่าง ไอศกรีม ช่วยบรรเทาอาการเจ็บคอได้
  • วิธีอื่นๆ ปัจจุบัน มีผลิตภัณฑ์บรรเทาอาการเจ็บคอวางจำหน่ายในร้านขายอาหารเสริมและผลิตภัณฑ์เพื่อสุขภาพต่างๆ ทั้งทางหน้าร้านและทางออนไลน์ อย่างไรก็ตาม ผลิตภัณฑ์ประเภทนี้อาจมีสารกำจัดศัตรูพืชหรือวัชพืชตกค้าง มีฉลากและข้อมูลเกี่ยวกับขนาดการใช้ยาที่ไม่ถูกต้อง ทั้งยังขาดงานวิจัยรองรับความปลอดภัยและประสิทธิภาพในการใช้ จึงไม่เป็นที่แนะนำ

การรักษาคออักเสบจากเชื้อสเตรป 

แม้อาการคออักเสบจากเชื้อสเตรปอาจหายได้เองภายใน 2 – 5 วัน แต่เนื่องจากสาเหตุของอาการคือการติดเชื้อแบคทีเรีย ทำให้จำเป็นต้องรักษาด้วยยาปฏิชีวนะ โดยเฉพาะในผู้ป่วยที่ตรวจพบเชื้อเสตรปจากการตรวจด้วยการเพาะเชื้อและ Rapid Test ยาที่นิยมใช้รักษาอาการคออักเสบจากเชื้อสเตรป ได้แก่ เพนิซิลลิน และยาปฏิชีวนะกลุ่มใกล้เคียง โดยมีทั้งแบบเม็ดและน้ำ แนะนำให้รับประทาน 2 – 4 ครั้งต่อวัน เป็นระยะเวลา 10 วัน นอกจากชนิดรับประทานแล้ว ยังมีเพนิซิลลินแบบฉีดครั้งเดียวที่ช่วยบรรเทาอาการคออักเสบได้เช่นกัน สำหรับผู้ที่แพ้เพนิซิลลินอาจเลือกรับประทานยาปฏิชีวนะชนิดอื่นแทน ที่สำคัญคือ ควรรับประทานยาให้ครบตามขนาดเพื่อฆ่าเชื้อให้หมด

หากอาการไม่ดีขึ้นหลังรับประทานยาปฏิชีวนะได้ 3 วัน แนะนำให้พบแพทย์เพื่อรับการรักษาเพิ่มเติม

ระยะเวลาในการรักษา

ผู้ที่มีอาการคออักเสบจากเชื้อสเตรปกลับมาใช้ชีวิตตามปกติได้หลังจากรับประทานยาปฏิชีวนะครบ 24 ชั่วโมง โดยใน 24 ชั่วโมงแรก ยาจะช่วยบรรเทาอาการและลดความสามารถในการแพร่เชื้อแบคทีเรียลง
สำหรับผู้ที่ติดเชื้อโควิด 19 แนะนำให้พักที่บ้านและเว้นระยะห่างจากผู้อื่น ซึ่งรวมถึงคนที่ใช้ชีวิตร่วมกันในบ้าน โดยระยะเวลาในการกักตัวจะขึ้นกับอาการและปัจจัยต่างๆ ดังนั้น ควรสอบถามแพทย์หรือสถานพยาบาลว่าควรหยุดกักตัวเมื่อใด

ผู้ป่วยที่มีอาการเจ็บคอ แต่ไม่ได้มีอาการคออักเสบจากเชื้อสเตรปหรือติดเชื้อโควิด 19 สามารถกลับมาทำกิจกรรมตามปกติได้เมื่ออาการดีขึ้น แต่ควรหมั่นล้างมือให้สะอาดอยู่เสมอและปิดปากเมื่อไอหรือจามเพื่อป้องกันการแพร่เชื้อ

การป้องกันโรคคออักเสบ

วิธีป้องกันคออักเสบหรือการเจ็บคอที่ดีที่สุด คือหลีกเลี่ยงเชื้อโรคที่เป็นต้นเหตุและควรปฏิบัติตามสุขอนามัยที่ดี ดังต่อไปนี้

  • ล้างมืออย่างสม่ำเสมอนานอย่างน้อย 20 วินาทีโดยเฉพาะก่อนรับประทานอาหารและหลังใช้ห้องน้ำ
  • หลีกเลี่ยงการสัมผัสใบหน้า ตา จมูก หรือปาก
  • หลีกเลี่ยงรับประทานอาหาร หรือใช้แก้วน้ำหรือเครื่องใช้ต่าง ๆ ร่วมกัน
  • ควรไอหรือจามใส่กระดาษทิชชู่ แล้วล้างมือให้สะอาด
  • ใช้เจลแอลกอฮอล์ล้างมือทำความสะอาดอย่างสม่ำเสมอ
  • หลีกเลี่ยงการใช้โทรศัพท์สาธารณะหรือดื่มน้ำก๊อกสาธารณะ
  • ทำความสะอาดและฆ่าเชื้อโทรศัพท์ ลูกบิดประตู สวิตช์ไฟ รีโมท และแป้นพิมพ์คอมพิวเตอร์เป็นประจำ
  • หลีกเลี่ยงการสัมผัสกับผู้ป่วยหรือบุคคลที่ติดเชื้อ

การดูแลตนเองที่บ้านเมื่อเจ็บคอ หรือ คออักเสบ

  • นอนหลับพักผ่อนให้เพียงพอและพักการใช้เสียง
  • ดื่มน้ำเพื่อลดภาวะขาดน้ำและทำให้ลำคอชุ่มชื้น งดดื่มเครื่องดื่มที่มีคาเฟอีนและเครื่องดื่มแอลกอฮอล์
  • รับประทานอาหารและเครื่องดื่มอุ่น ๆ เช่น ชาที่ปราศจากคาเฟอีน น้ำอุ่นผสมน้ำผึ้ง และน้ำซุป
  • เพิ่มความชื้นในอากาศ โดยใช้เครื่องทำความชื้น แต่ควรหมั่นทำความสะอาดตัวเครื่องบ่อย ๆ เพื่อป้องกันเชื้อราและแบคทีเรีย
  • หลีกเลี่ยงสารระคายเคืองจากควันบุหรี่และผลิตภัณฑ์ทำความสะอาด
  • พักอยู่บ้านจนกว่าอาการจะดีขึ้น เพื่อป้องกันการแพร่กระจายของโรค

การเตรียมตัวก่อนพบแพทย์

ปรึกษาแพทย์หากบุตรหลานของท่านมีอาการเจ็บคอ เช่น กลืนลำบาก หรืออาการอื่นๆ และอาจจำเป็นต้องทำการตรวจกับแพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านหู คอ จมูก (ENT) หรือด้านภูมิแพ้

อาการคออักเสบจากเชื้อไวรัส

บทความโดย

เผยแพร่เมื่อ: 22 พ.ค. 2023

แชร์

แพทย์ที่เกี่ยวข้อง

  • Link to doctor
    รศ.นพ.   จิระพงษ์ อังคะรา

    รศ.นพ. จิระพงษ์ อังคะรา

    • โสต ศอ นาสิกวิทยา
    • เวชศาสตร์การนอนหลับ
    เวชศาสตร์การนอนหลับ, Otolaryngology
  • Link to doctor
    ดร.พญ. จิรดา ศรีเงิน

    ดร.พญ. จิรดา ศรีเงิน

    • ประสาทวิทยา
    • เวชศาสตร์การนอนหลับ
    • โรคความเคลื่อนไหวผิดปกติ
    เวชศาสตร์การนอนหลับ, โรคความเคลื่อนไหวผิดปกติ
  • Link to doctor
    พญ. ฐาปนี สมบูรณ์

    พญ. ฐาปนี สมบูรณ์

    • ประสาทวิทยา
    • โรคลมชัก
    • เวชศาสตร์การนอนหลับ
    โรคลมชักและการผ่าตัดโรคลมชัก, โรคความผิดปกติระหว่างการนอนหลับ
  • Link to doctor
    นพ. จิรยศ จินตนาดิลก

    นพ. จิรยศ จินตนาดิลก

    • อายุรศาสตร์
    • เวชศาสตร์การนอนหลับ
    • เวชศาสตร์ผู้สูงอายุ
    • อายุรศาสตร์โรคปอด
    เวชศาสตร์การนอนหลับ, อายุรศาสตร์โรคปอด, อายุรกรรมผู้สูงอายุ, อายุรกรรมทั่วไป