การตรวจสุขภาพทารกในครรภ์ Nonstress Test (NST) คืออะไร?
การตรวจสุขภาพทารกในครรภ์ Nonstress Test (NST) คือ การตรวจคัดกรองสุขภาพของทารกในครรภ์ เป็นการวัดอัตราการเต้นของหัวใจขณะที่ทารกดิ้น เพื่อประเมินว่าทารกได้รับออกซิเจนเพียงพอหรือไม่ เป็นวิธีที่ปลอดภัย ไม่ก่อให้เกิดความเจ็บปวด ไม่ก่อให้เกิดความเครียดต่อแม่และเด็ก
ในกรณีที่อัตราการเต้นของหัวใจของทารกในครรภ์ไม่เพิ่มขึ้นขณะที่ทารกดิ้น หรือทารกไม่ขยับเคลื่อนไหว แพทย์อาจให้เข้ารับการตรวจเพิ่มเติมเพื่อตรวจดูว่าทารกได้รับออกซิเจนเพียงพอหรือไม่
ทำไมถึงต้องทำการตรวจสุขภาพทารกในครรภ์ Nonstress Test ระหว่างการตั้งครรภ์?
การตรวจ nonstress test มักทำในกรณีดังต่อไปนี้
- อายุครรภ์เกินกำหนดหรือมากกว่า 40 สัปดาห์ เพราะอาจนำไปสู่ภาวะแทรกซ้อนได้
- การตั้งครรภ์มีความเสี่ยงสูง เนื่องจากโรคเบาหวาน ความดันโลหิตสูง ซึ่งจำเป็นต้องติดตามอาการของแม่และทารกในครรภ์อย่างใกล้ชิด
- ตั้งครรภ์แฝด
- มารดามีกรุ๊ปเลือด Rh-negative แต่ทารกในครรภ์มีกรุ๊ปเลือด Rh-positive ซึ่งอาจนำไปสู่ภาวะแทรกซ้อนร้ายแรง เนื่องจากร่างกายของมารดาจะสร้างแอนติบอดี้ไปทำลายเซลล์เม็ดเลือดแดงของทารกในครรภ์
- ทารกในครรภ์ดิ้นน้อยลง
- ทารกในครรภ์น้ำหนักตัวน้อยกว่าเกณฑ์
- มารดามีประวัติทารกเสียชีวิตในครรภ์
แพทย์จะทำการตรวจสุขภาพทารกในครรภ์ (Nonstress Test) เมื่อไร?
ปกติแล้วแพทย์จะทำการตรวจ nonstress test หลังอายุครรภ์ครบ 28 สัปดาห์ เนื่องจากอัตราการเต้นของหัวใจของทารกจะเริ่มตอบสนองเมื่อทารกดิ้น
ขั้นตอนการตรวจสุขภาพทารกในครรภ์ (Nonstress Test) เป็นอย่างไร?
ก่อนเข้ารับการตรวจ ควรปัสสาวะทิ้งออกให้หมดเสียก่อน จากนั้นจึงนอนบนเตียงตรวจ แพทย์จะทำการรัดเข็ดขัดยางยืด 2 เส้นรอบครรภ์ เพื่อติดตามการหดรัดตัวของมดลูกและดูอัตราการเต้นของหัวใจของทารก หากทารกไม่ตอบสนองระหว่างการตรวจ อาจมีสาเหตุมาจากการที่ทารกนอนหลับอยู่ แพทย์จะใช้เครื่องส่งเสียงปลุกทารก หรือให้มารดารับประทานขนมหรือเครื่องดื่มรสหวาน การตรวจจะใช้เวลาประมาณ 30 นาที แพทย์จะนำข้อมูลที่ได้มาวิเคราะห์และอธิบายให้ผู้เข้ารับการตรวจทราบ
ผลการตรวจสุขภาพทารกในครรภ์ (Nonstress Test) มีอะไรบ้าง?
ผลการตรวจสุขภาพทารกในครร nonstress test ที่ได้อาจเป็นผลแบบ reactive หรือ nonreactive
- ผล reactive: อัตราการเต้นของหัวใจของทารกในครรภ์เพิ่มขึ้น ตอบสนองกับการดิ้นของทารกหรือการหดรัดตัวของมดลูกอย่างน้อย 2 ครั้ง ภายใน 20 นาที
- ผล nonreactive: อัตราการเต้นของหัวใจของทารกไม่เพิ่มขึ้นเมื่อทารกดิ้นหรือทารกไม่ขยับตัว ซึ่งอาจมีสาเหตุมาจากการที่ได้รับออกซิเจนไม่เพียงพอหรือทารกนอนหลับสนิท ยาบางชนิดก็อาจส่งผลทำให้ผลตรวจออกมาเป็น nonreactive ได้เช่นกัน
แพทย์อาจทำการตรวจเพิ่มเติม ดังต่อไปนี้
- การประเมินสุขภาพทารกในครรภ์ เป็นการตรวจ nonstress test กับอัลตราซาวด์
- การตรวจสอบสุขภาพทารกในครรภ์ขณะมดลูกหดรัดตัว เพื่อประเมินการตอบสนองของทารกขณะมดลูกหดรัดตัวจากการให้ยา เพื่อจำลองการหดรัดตัวของมดลูกขณะคลอดบุตร
หากผลการตรวจพบความเสี่ยงในการเกิดภาวะแทรกซ้อน แพทย์จะทำการเฝ้าติดตามสุขภาวะของทารกในครรภ์อย่างใกล้ชิด หรือแนะนำให้คลอดบุตรหากอายุครรภ์เหมาะสม
คำถามที่ถามบ่อย
- ต้องทำอย่างไร หากทารกในครรภ์ไม่เคลื่อนไหวขณะเข้ารับการตรวจตรวจสุขภาพทารกในครรภ์ Nonstress Test?
หากทารกในครรภ์ไม่ตอบสนอง แพทย์จะใช้เครื่องส่งเสียงปลุก หรือให้มารดารับประทานเครื่องดื่มรสหวานหรือขนมเพื่อปลุกทารกในครรภ์และกระตุ้นให้ทารกขยับตัว - หากตรวจตรวจสุขภาพทารกในครรภ์ nonstress test ไม่ผ่านต้องทำอย่างไร?
ผลแบบ nonreactive ไม่ได้หมายความว่าทารกมีปัญหาเสมอไป แต่อาจจำเป็นต้องเข้ารับการตรวจเพิ่มเติมเพื่อหาสาเหตุของผลแบบ nonreactive ต่อไป - การตรวจตรวจสุขภาพทารกในครรภ์ nonstress test สามารถบอกเพศทารกได้หรือไม่?
การตรวจตรวจสุขภาพทารกในครรภ์ nonstress test ไม่สามารถบอกเพศของทารกได้ - การตรวจตรวจสุขภาพทารกในครรภ์ nonstress test เหมือนการตรวจ stress test หรือไม่?
- การตรวจสุขภาพทารกในครรภ์แบบ nonstress test ไม่ใช่การตรวจ exercise stress test โดยการตรวจแบบ nonstress test เป็นการประเมินอัตราการเต้นของหัวใจทารกในครรภ์เพื่อดูการเปลี่ยนแปลงอัตราการเต้นของหัวใจขณะที่ทารกขยับตัวหรือมดลูกหดรัดตัว ขณะตรวจมารดาจะนอนในท่าทางสบาย ๆ ระหว่างการตรวจ
- การตรวจ stress test เป็นการประเมินอัตราการเต้นของหัวใจ ความดันโลหิต และระดับออกซิเจนขณะที่ออกกำลังกาย เช่น เดินบนสายพานหรือปั่นจักรยานอยู่กับที่ โดยติดเครื่องตรวจไว้ที่หน้าอก การตรวจจะช่วยให้แพทย์วินิจฉัยการตอบสนองของหัวใจเมื่อออกกำลังกาย
คำแนะนำจากแพทย์โรงพยาบาลเมดพาร์ค
การตรวจแบบ nonstress test เป็นการประเมินสุขภาพของทารกในครรภ์ ที่ทำให้ทราบถึงอัตราการเต้นของหัวใจของทารกขณะที่ทารกดิ้น ผลที่ได้อาจเป็นแบบ reactive หรือ nonreactive หากมีคำถามหรือข้อกังวลใจใด ๆ ขณะตรวจหรือหลังการตรวจ สามารถสอบถามแพทย์ได้ทันที