การผ่าตัดหัวใจแบบเปิด (Open-Heart Surgery) ขั้นตอน ความเสี่ยง และการพักฟื้นหลังผ่าตัด

การผ่าตัดหัวใจแบบเปิด (Open-Heart Surgery)

การผ่าตัดหัวใจแบบเปิด เป็นการผ่าตัดโดยใช้เครื่องปอดหัวใจเทียม มาทำหน้าที่แทนหัวใจและปอด ขณะที่ผ่าตัด ศัลยแพทย์จะทำการหยุดหัวใจ ไม่ให้เลือดไหลเข้าไปในหัวใจเพื่อจะสามารถเปิดเข้าไปในหัวใจเพื่อแก้ไขสิ่งผิดปกติได้

แชร์

การผ่าตัดหัวใจแบบเปิด

การผ่าตัดหัวใจแบบเปิด เป็นการผ่าตัดโดยใช้เครื่องปอดหัวใจเทียม มาทำหน้าที่แทนหัวใจและปอด ขณะที่ผ่าตัด ศัลยแพทย์จะทำการหยุดหัวใจ ไม่ให้เลือดไหลเข้าไปในหัวใจเพื่อจะสามารถเปิดเข้าไปในหัวใจเพื่อแก้ไขสิ่งผิดปกติได้ การผ่าตัดหัวใจแบบเปิดนี้ทำเพื่อรักษาแก้ไขโรคหัวใจชนิดต่าง ๆ  เช่น โรคหัวใจพิการแต่กำเนิด โรคลิ้นหัวใจพิการ โรคหลอดเลือดหัวใจตีบ โรคเส้นเลือดแดงใหญ่โป่งพอง โดยแพทย์จะทำการกรีดแผลยาวบริเวณหน้าอก เพื่อเปิดกระดูกหน้าอกออก ถ่างขยายหน้าอกทำให้สามารถเข้าไปแก้ไขหัวใจที่ผิดปกติได้ เช่น ทำบายพาส ต่อเส้นเลือดหัวใจ การเปลี่ยนหรือซ่อมลิ้นหัวใจ การแก้ไขหัวใจพิการแต่กำเนิด ตัดต่อเส้นเลือดแดงใหญ่ที่ฉีกขาดหรือโป่งพอง

โรคหัวใจที่ต้องผ่าตัดหัวใจแบบเปิด

ผู้ป่วยที่ต้องผ่าตัดหัวใจชนิดเปิดคือผู้ที่มีโรคต่าง ๆ เช่น

  • โรคหัวใจผิดปกติแต่กำเนิด เช่น ผนังกั้นหัวใจรั่ว ลิ้นหัวใจรั่ว ตีบ ช่องหัวใจออกผิดตำแหน่ง
  • โรคลิ้นหัวใจตีบ รั่ว ติดเชื้อ
  • โรคหลอดเลือดหัวใจตีบ
  • เส้นเลือดแดงใหญ่โป่งพอง ฉีกขาด
  • เนื้องอกที่หัวใจ
  • ต้องเปลี่ยนหัวใจ

Open Heart Surgery Banner 2

ขั้นตอนการผ่าตัดหัวใจแบบเปิด

ก่อนเข้ารับการผ่าตัดหัวใจชนิดเปิด

แพทย์จะตรวจร่างกายผู้ป่วยโดยละเอียด ว่าเป็นโรคหัวใจชนิดไหน การตรวจโดยคลื่นไฟฟ้าหัวใจ เอกซ์เรย์ปอดและหัวใจ ตรวจ Echocardiogram ฉีดเส้นเลือดหัวใจ ตรวจว่ามีโรคอะไรที่สำคัญอีกหรือไม่ เช่น เบาหวาน ความดัน ไขมันในเลือดสูง อัมพฤกษ์ อัมพาต ตรวจภาวะการแข็งตัวของเลือด ตรวจการทำงานของปอด

  • ถ้าเป็นไปได้ ควรงดบุหรี่ แอลกอฮอล์ ลดน้ำหนัก เพราะอาจจะไปเพิ่มความเสี่ยงของภาวะแทรกซ้อน
  • งดยาบางชนิด เช่น ยาละลายเลือด ยาต้านการแข็งตัวของเลือด ยาบรรเทาอาการอักเสบ
  • ในวันผ่าตัด ต้องงดอาหารและน้ำก่อนการผ่าตัด 8 ชั่วโมง เพื่อลดความเสี่ยงของการสำลักอาหารและน้ำระหว่างดมยาสลบ
  •  เจ้าหน้าที่จะโกนขนหน้าอก หัวเหน่า แขนขา และจะให้สารน้ำและยาทางหลอดเลือดที่แขน

ระหว่างการผ่าตัดหัวใจแบบเปิด

  • การผ่าตัดหัวใจแบบเปิด เป็นการผ่าตัดที่ซับซ้อน ใช้เวลาอย่างน้อย 4 ชั่วโมง แพทย์จะวางยาสลบเพื่อให้ผู้ป่วยไม่รู้สึกตัวระหว่างผ่าตัด
  • ศัลยแพทย์จะทำการกรีดแผลยาว 6-8 นิ้วที่กลางหน้าอก ตัดกระดูกหน้าอก ขยายกระดูกหน้าอกออก
  • ศัลยแพทย์จะทำการต่อหัวใจเข้ากับเครื่องปอดและหัวใจเทียม และจะให้ยาเพื่อหยุดการเต้นของหัวใจ
  • ศัลยแพทย์จะทำการผ่าตัดหัวใจตามแผนที่วางไว้โดยแพทย์ทำการผ่าตัดบายพาสหลอดเลือดหัวใจ ผ่าตัดซ่อมหรือเปลี่ยนลิ้นหัวใจ แก้ไขหัวใจที่พิการแต่กำเนิด ซ่อมหลอดเลือดโป่งพอง แล้วแต่กรณี
  • เมื่อทำการผ่าตัดซ่อมแซมหัวใจเสร็จเรียบร้อยแล้ว ศัลยแพทย์จะทำการฟื้นการไหลเวียนของโลหิต หัวใจจะเริ่มเต้นอีกครั้ง หากหัวใจยังเต้นผิดจังหวะ ศัลยแพทย์จะทำการช็อตด้วยไฟฟ้าอ่อน ๆ 
  • ทำการถอดสายเชื่อมต่อเครื่องหัวใจและปอดเทียม
  • ศัลยแพทย์ทำการปิดกระดูกหน้าอกและแผลผ่าตัดด้วยลวดและไหมเย็บแผล

หลังการเข้ารับการผ่าตัดหัวใจแบบเปิด

จะย้ายผู้ป่วยเข้าไปอยู่ในห้องผู้ป่วยวิกฤติเพื่อเฝ้าระวังอย่างใกล้ชิด เมื่อแข็งแรงดีแล้วจึงจะย้ายไปยังห้องผู้ป่วยปกติ เจ้าหน้าที่จะช่วยเหลือการไอ การลุกขึ้น ลุกจากเตียง เดินในห้อง นอกห้อง ขึ้นลงบันได หลังการผ่าตัด ผู้ป่วยจะเจ็บแผล ไอบ่อย ปวดกล้ามเนื้อ มีรอยฟกช้ำ แผลผ่าตัดอาจบวม กระเพาะอาหารและลำไส้ทำงานผิดปกติ ท้องผูก อารมณ์แปรปรวน ไม่อยากอาหาร นอนไม่หลับ

ความเสี่ยงและภาวะแทรกซ้อน

ความเสี่ยงที่อาจเกิดขึ้นได้มีตั้งแต่ แพ้การดมยาสลบ เลือดออกผิดปกติ หัวใจเต้นผิดจังหวะ อวัยวะส่วนอื่น ๆ ได้รับความเสียหาย เช่น ปอดบวม น้ำท่วมปอด ท้องอืด ท้องผูก การติดเชื้อ เกิดอัมพฤกษ์ อัมพาตได้ ในผู้ป่วยที่อ้วน ปอดทำงานผิดปกติ เช่น ถุงลมโป่งพอง สูบบุหรี่ สภาพร่างกายผู้ป่วยก่อนผ่าตัด ผู้ป่วยสูงอายุ จะเกิดโรคแทรกซ้อนได้ง่ายขึ้น

การแก้ไขหัวใจผิดปกติด้วยวีอื่น ๆ

เนื่องจากเทคโนโลยีด้านการผ่าตัดที่ทันสมัย ศัลยแพทย์อาจใช้การผ่าตัดแบบแผลเล็กแทนการผ่าตัดเปิดหน้าอก การเปลี่ยนลิ้นหัวใจเอออร์ติกโดยใช้สายสวน (TAVR) การขยายเส้นเลือดหัวใจโดยวิธีสวนหัวใจและใช้บอลลูนและขดลวด การปิดรูรั่วหัวใจโดยการใช้สายสวนหัวใจ การจี้หัวใจเพื่อรักษาหัวใจเต้นผิดจังหวะ การฝังเครื่องกระตุ้นหัวใจ การแก้ไขเส้นเลือดแดงใหญ่ ฉีกขาดหรือโป่งพองโดยการใช้การสวนหัวใจและขดลวด แม้กระทั่งการใช้หุ่นยนต์มาช่วยผ่าตัด

Open Heart Surgery Banner 3

การพักฟื้นหลังผ่าตัดหัวใจแบบเปิด

การพักฟื้นใช้เวลาประมาณ 1 เดือน ขึ้นอยู่กับสุขภาพของผู้ป่วย วิธีการผ่าตัดที่เลือกใช้ ภาวะแทรกซ้อนจากการผ่าตัด ผู้ป่วยสามารถกลับทำงานหรือเริ่มออกกำลังกายประมาณ 1 เดือนหลังการผ่าตัด ในช่วง 6 สัปดาห์แรก ควรงดขับรถหรือยกของหนัก ร่างกายจะฟื้นตัวเต็มที่ประมาณ 3 เดือนหลังผ่าตัด

การดูแลแผลผ่าตัด

  • ควรล้างมือทุกครั้งก่อนและหลังสัมผัสบริเวณแผลผ่าตัด
  • อาบน้ำฝักบัวได้แต่ไม่ควรเกิน 10 นาที เลี่ยงการฉีดน้ำตรงแผลโดยตรง ไม่ควรนอนแช่น้ำ
  • พยายามให้แผลแห้ง สังเกตการติดเชื้อบริเวณแผล เช่น บวมแดง ร้อน แผลซึม มีไข้

การจัดการกับอาการปวด

แพทย์จะให้รับประทานยาบรรเทาอาการปวด การจัดการกับการปวดจะช่วยให้ฟื้นฟูร่างกายได้เร็วขึ้น ลดความเสี่ยงของภาวะแทรกซ้อน เช่น ปอดบวม ลิ่มเลือดอุดตัน

Open Heart Surgery Banner 4

ปัญหาการนอนหลับ

การนอนหลับพักผ่อนอย่างเพียงพอจะช่วยให้ร่างกายฟื้นตัวได้เร็ว อาจใช้ยานอนหลับช่วย ผู้ป่วยบางรายมักจะนอนไม่หลับเวลากลางคืนแต่กลับมานอนหลับดีเวลากลางวัน ผู้ป่วยควรหลีกเลี่ยงเครื่องดื่มที่มีคาเฟอีน ใช้หมอนช่วยพยุงร่างกายขณะนอนหลับ รับประทานยาแก้ปวดก่อนนอน ถ้ารู้สึกกังวล หดหู่ใจหลังผ่าตัดอาจใช้ยาช่วยหรืออาจต้องพึ่งจิตแพทย์เพื่อช่วยคลายกังวล

ควรกลับมาหาแพทย์เมื่อไร

เมื่อมีอาการผิดปกติ ไข้สูง คลื่นไส้อาเจียน เหนื่อยหอบ แผลแดง ซึม เจ็บหน้าอกผิดปกติ

คำแนะนำจากแพทย์ โรงพยาบาลเมดพาร์ค

การผ่าตัดหัวใจชนิดเปิด เป็นการผ่าตัดใหญ่ มีความเสี่ยงจากการผ่าตัด ภาวะโรคแทรกซ้อน การพักฟื้นร่างกายจึงเป็นเรื่องจำเป็น ก่อนการผ่าตัดหากเตรียมตัวให้พร้อมจะช่วยให้การผ่าตัดปลอดภัยมากขึ้น เช่น ลดน้ำหนัก หยุดสูบบุหรี่ ออกกำลังกายพอสมควร หากมีข้อสงสัย กังวลใจใด ๆ สามารถปรึกษาแพทย์ได้เสมอ

Open Heart Surgery Infographic Th

บทความโดย

เผยแพร่เมื่อ: 15 พ.ย. 2023

แชร์

แพทย์ที่เกี่ยวข้อง

  • Link to doctor
    ผศ.นพ. บุลวัชร์ หอมวิเศษ

    ผศ.นพ. บุลวัชร์ หอมวิเศษ

    • ศัลยศาสตร์หัวใจและทรวงอก
    • ศัลยศาสตร์การปลูกถ่ายอวัยวะ
    • การผ่าตัดโรคหัวใจและทรวงอก
    Video-Assissted Thoracic Surgery (VATS), โรคมะเร็งปอด, Lung Nodules , Metastatic Lung Lesions, Pneumothorax, Empyema Thoracic, Pleural Effusion, Mediastinal Tumor, Chest Wall Tumor, Lung Volume Reduction Surgery, Surgery for Chronic Thromboembolism Pulmonary Hypertension (CTEPH), Minimally Invasive Cardiac Surgery, Heart and Lung Transplantation
  • Link to doctor
    นพ. ประดิษฐ์ชัย ชัยเสรี

    นพ. ประดิษฐ์ชัย ชัยเสรี

    • ศัลยศาสตร์
    • การผ่าตัดโรคหัวใจและทรวงอก
    การผ่าตัดหัวใจและปอด