อาการเจ็บหน้าอก
อาการเจ็บหน้าอก อาจเป็นลักษณะปวดหน่วงๆในหน้าอก หรือปวดเสียวแปลบขี้นมา ซึ่งอาจเป็นอยู่นาน 2-3 นาทีถึงหลายชั่วโมง หรือหลายเดือน อาการเจ็บหน้าอกเกิดขึ้นได้จากหลายสาเหตุ แต่สาเหตุที่เป็นอันตรายต่อชีวิตมากที่สุดได้แก่โรคหัวใจวาย ซึ่งเป็นภาวะฉุกเฉินทางการแพทย์ที่อาจเป็นอันตรายถึงแก่ชีวิตได้
อาการเจ็บหน้าอกที่เกิดจากโรคหัวใจ
หากอาการเจ็บหน้าอกนั้นเกิดจากโรคหัวใจ ผู้ป่วยอาจมีอาการ ดังนี้
- รู้สึกเหมือนหน้าอกโดนกดทับและแน่นหน้าอก
- อาการปวดร้าวไปที่กราม คอ ไหล่ หลัง และแขนข้างหนึ่งหรือทั้งสองข้าง
- อาการเจ็บหน้าอกเป็นมากขึ้นหากออกกำลังกายและดีขึ้นเมื่อหยุดพัก
หากมีอาการเจ็บหน้าอกนานกว่า 5 นาทีและอาการไม่ดีขึ้นหลังพักผ่อนหรือรับประทานยา ควรรีบไปพบแพทย์ทันที อาการเจ็บหน้าอกจากโรคหัวใจถือเป็นภาวะฉุกเฉิน
อาการอื่น ๆ ที่อาจพบร่วมด้วย ได้แก่
- หายใจหอบเหนื่อย
- เหงื่อออก
- คลื่นไส้หรืออาเจียน
- เวียนศีรษะและเป็นลม
- จังหวะการเต้นของหัวใจผิดปกติ โดยมักเต้นเร็ว
สาเหตุ
- อาหารไม่ย่อย: จะรู้สึกแสบร้อนบริเวณลิ้นปี่
- โรคปอด: เจ็บหน้าอกร่วมกับหายใจลำบาก
- ปัญหาเรื่องกล้ามเนื้อและกระดูก: เจ็บหน้าอกเมื่อกดบริเวณนั้น ๆ
- โรคหัวใจและหลอดเลือด
- ภาวะชั้นผนังหลอดเลือดแดงใหญ่ปริตัวแยกออกจากกัน ผู้ป่วยอาจรู้สึกเหมือนด้านในอกฉีกออกจากกัน มีอาการเจ็บอย่างรุนแรงที่หน้าอก หลัง และสะบัก
- โรคหลอดเลือดแดงใหญ่โป่งพองเกิดจากการที่ผนังของหลอดเลือดแดงใหญ่เสื่อมสภาพ จนโป่งใหญ่ขึ้น ผนังหลอดเลือดอาจแตก ทําให้เกิดอาการเจ็บบริเวณหน้าอกหรือท้องอย่างรุนแรง ถือเป็นภาวะฉุกเฉิน
- โรคหลอดเลือดหัวใจเกิดจากการที่คอเลสเตอรอลสะสมที่ผนังหลอดเลือดมากจนปิดกั้นการไหลเวียนของเลือดไปยังหัวใจ อาการเจ็บหน้าอกมักรุนแรงขึ้นเมื่อออกกำลังกาย
- ภาวะหัวใจขาดเลือดเฉียบพลัน เกิดจากการที่กล้ามเนื้อหัวใจตายลงเนื่องจากได้รับปริมาณออกซิเจนไม่เพียงพอ ซึ่งมักเป็นผลจากการที่หลอดเลือดหัวใจอุดตันเฉียบพลัน
- โรคกล้ามเนื้อหัวใจหนาผิดปกติเป็นภาวะที่ผนังกล้ามเนื้อหัวใจห้องล่างหนาขึ้น ทำให้กล้ามเนื้อหัวใจนั้นได้รับออกซิเจนได้ไม่เพียงพอ
- เยื่อหุ้มหัวใจอักเสบเป็นการติดเชื้อหรืออักเสบของเยื่อหุ้มหัวใจ ผู้ป่วยจะรู้สึเจ็บแปลบที่อกร้าวไปที่ไหล่และแขนซ้าย ความเจ็บจะรุนแรงขึ้นเมื่อนอนราบหรือหายใจเข้า
การตรวจวินิจฉัย
- การตรวจคลื่นไฟฟ้าหัวใจ (EKG/ECG)
- การตรวจเลือด เพื่อวัดเอนไซม์การทำงานของหัวใจ ซึ่งเป็นโปรตีนชนิดที่พบในกล้ามเนื้อหัวใจ หากพบโปรตีนชนิดนี้มากขี้นในเลือดสามารถบ่งชี้ได้ว่าผู้ป่วยเป็นโรคหัวใจขาดเลือด
- การเอกซเรย์ทรวงอก เพื่อแสดงขนาด รูปร่าง และสภาพของหัวใจ ปอด และหลอดเลือด
- การตรวจหัวใจด้วยคลื่นความถี่สูง เพื่อดูสภาพการทำงานของหัวใจ
- การตรวจเอกซเรย์คอมพิวเตอร์ (CT scan) เพื่อตรวจวินิจฉัยว่ามีลิ่มเลือดในหลอดเลือดแดงของปอดหรือผนังหลอดเลือดแดงใหญ่ปริตัวแยกชั้นออกจากกันหรือไม่
การรักษา
- การรับประทานยา
- การผ่าตัด
- การสวนหัวใจเพื่อขยายหลอดเลือดหัวใจด้วยบอลลูนและขดลวด จะทำเมื่อผู้ป่วยมีอาการเจ็บหน้าอกจากการอุดตันของหลอดเลือดหัวใจ แพทย์จะใส่สายสวนที่มีบอลลูนและขดลวดสวมอยู่ใกล้ปลายสายเข้าไปในหลอดเลือดหัวใจบริเวณที่อุดตัน บอลลูนจะถูกทำให้โป่งตัวขึ้นเพื่อขยายหลอดเลือดแดงที่อุดตัน เสร็จแล้วก็จะแฟบตัวลง แพทย์จะวางขดลวดตรงตำแหน่งที่ตีบเพื่อช่วยค้ำให้ผนังหลอดเลือดถ่างขยายตัว
- การผ่าตัดบายพาส เป็นการนำหลอดเลือดจากส่วนอื่นของร่างกายมาสร้างเป็นทางเบี่ยงให้เลือดไหลเวียนไปยังหัวใจ
- การผ่าตัดซ่อมแซมหลอดเลือดแดงใหญ่ที่ผนังปริตัวแยกชั้นออกจากกัน ถือเป็นการผ่าตัดฉุกเฉินเพื่อซ่อมแซมเส้นเลือดแดง
- การขยายปอด เป็นการรักษาภาวะลมรั่วออกจากปอด โดยแพทย์จะสอดท่อระบายเข้าไปในช่องทรวงอกเพื่อให้ปอดขยายตัวได้
- การปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการดำเนินชีวิต
- ออกกําลังกายอย่างน้อยวันละ 30 นาที
- คงน้ำหนักตัวที่เหมาะสม
- เลิกสูบบุหรี่หรือใช้ผลิตภัณฑ์ยาสูบใด ๆ
- รับประทานอาหารที่มีคุณค่าทางโภชนาการ ปรึกษาแพทย์หรือนักโภชนาการเพื่อวางแผนการรับประทานอาหารที่มีประโยชน์ต่อร่างกาย
- ควบคุมดูแลโรคประจำตัว อันได้แก่ โรคเบาหวาน โรคความดันโลหิตสูง โรคไขมันในเลือดสูงให้อยู่ในระดับที่เหมาะสม