ปัจจัยเสี่ยง อาการ การรักษา และการป้องกันภาวะครรภ์เป็นพิษ (Preeclampsia)

ภาวะครรภ์เป็นพิษ (Preeclampsia)

ภาวะครรภ์เป็นพิษ (Preeclampsia) คือภาวะที่หญิงตั้งครรภ์หรือหลังคลอดใหม่ ๆ เกิดจากภาวะความดันโลหิตสูงจากการตั้งครรภ์ ร่วมกับความผิดปกติของอวัยวะ

แชร์

ภาวะครรภ์เป็นพิษ

ภาวะครรภ์เป็นพิษ เป็นภาวะที่พบในหญิงตั้งครรภ์หรือหลังคลอดใหม่ ๆ เกิดจากภาวะความดันโลหิตสูงจากการตั้งครรภ์ ร่วมกับความผิดปกติของอวัยวะ เช่น สมอง ตับ ไต ที่ปรากฎขึ้นหลังตั้งครรภ์ครบ 20 สัปดาห์ โดยความดันโลหิตที่สูงกว่า 140/90 มิลลิเมตรปรอท เป็นระยะเวลานานต่อเนื่องกันจะถือว่าเป็นโรคความดันโลหิตสูง หากตรวจพบเพียงครั้งเดียวจะยังไม่นับว่าเป็นโรคความดันโลหิตสูง

อะไรคือปัจจัยเสี่ยงที่ทำให้ครรภ์เป็นพิษ

ภาวะครรภ์เป็นพิษอาจเกิดขึ้นได้กับหญิงตั้งครรภ์ทุกคน โดยความเสี่ยงของภาวะครรภ์เป็นพิษจะสูงขึ้นเมื่อมีภาวะดังต่อไปนี้

  • ตั้งครรภ์เป็นครั้งแรก ไม่นับการทําแท้งหรือแท้งบุตรในอดีต
  • อายุน้อยกว่า 20 ปีหรือมากกว่า 35 ปี
  • เคยมีประวัติภาวะครรภ์เป็นพิษหรือคนในครอบครัวเคยมีภาวะครรภ์เป็นพิษ
  • เป็นโรคเบาหวานขณะตั้งครรภ์หรือโรคอ้วน
  • ตั้งครรภ์ฝาแฝดหรือมากกว่า

ครรภ์เป็นพิษ เกิดจากสาเหตุอะไร?

เมื่อรกฝังตัวเข้าไปในผนังมดลูกไม่ลึกพอ ทั้งรกและทารกในครรภ์อาจไม่ได้รับออกซิเจนและสารอาหารอย่างเพียงพอระหว่างการตั้งครรภ์ กลายเป็นปัญหาหลังตั้งครรภ์ครบ 20 สัปดาห์ซึ่งเป็นช่วงที่ทารกในครรภ์มีพัฒนาการเติบโตอย่างรวดเร็ว หลอดเลือดทั่วร่างกายของหญิงตั้งครรภ์ เช่น หลอดเลือดบริเวณสมอง ตับ และ ไตอาจได้รับความเสียหายจากภาวะที่รกและทารกในครรภ์ไม่ได้รับออกซิเจนและสารอาหารอย่างเพียงพอ นําไปสู่อาการต่างๆของภาวะครรภ์เป็นพิษ ปัจจุบันยังไม่ทราบแน่ชัดถึงกลไกของภาวะครรภ์เป็นพิษ

ความดันโลหิตสูงระหว่างตั้งครรภ์สามารถแบ่งออกได้เป็น 4 ประเภท ได้แก่

  • ภาวะครรภ์เป็นพิษ เป็นอาการของหญิงตั้งครรภ์ที่เกิดภาวะความดันโลหิตสูงเป็นครั้งแรกที่อายุครรภ์มากกว่า 20 สัปดาห์และอวัยวะต่าง ๆ เช่น สมอง ตับ หรือไตเกิดความเสียหาย อาจมีอาการปวดหัว มองเห็นไม่ชัด อาการชักเป็นครั้งคราว และตรวจพบโปรตีนในปัสสาวะ ภาวะครรภ์เป็นพิษอาจเกิดขึ้นหลังคลอดได้เช่นกัน โดยปกติแล้วอวัยวะต่าง ๆ มักฟื้นตัวเองภายใน 2-3 วันหรือไม่กี่สัปดาห์หลังคลอดบุตร
  • ภาวะความดันโลหิตสูงจากการตั้งครรภ์ พบได้ในหญิงที่อายุครรภ์มากกว่า 20 สัปดาห์ โดยมีความดันโลหิตสูงเพียงอย่างเดียว ไม่มีอาการอื่นของภาวะครรภ์เป็นพิษแต่อย่างใด อย่างไรก็ตามภาวะความดันโลหิตสูงจากการตั้งครรภ์อาจพัฒนาไปเป็นภาวะครรภ์เป็นพิษได้ในภายหลัง หรืออาจเป็นความดันโลหิตสูงเรื้อรังที่มีมาก่อนตั้งครรภ์หากความดันโลหิตไม่ลดลงหลังคลอดบุตรครบ 3 เดือน
  • ความดันโลหิตสูงเรื้อรังหรือความดันโลหิตสูงก่อนการตั้งครรภ์ พบในหญิงที่มีความดันโลหิตสูงก่อนตั้งครรภ์ครบ 20 สัปดาห์และได้รับการวินิจฉัยยืนยันอีกครั้งหลังคลอดบุตรเมื่อยังคงมีความดันโลหิตสูงนานเกิน 3 เดือน
  • ความดันโลหิตสูงเรื้อรังร่วมกับภาวะครรภ์เป็นพิษ พบในสตรีที่มีความดันโลหิตสูงก่อนตั้งครรภ์และมีภาวะครรภ์เป็นพิษร่วมด้วยหลังจากตั้งครรภ์นานกว่า 20 สัปดาห์

อาการครรภ์เป็นพิษ มีลักษณะอย่างไร?

ภาวะครรภ์เป็นพิษ มักไม่แสดงอาการใด ๆ หากไม่รุนแรง โดยหญิงตั้งครรภ์อาจมีความดันโลหิตสูงไม่มากและพบโปรตีนในปัสสาวะเพียงเล็กน้อย ดังนั้นจึงควรพบแพทย์ตามนัดทุกครั้งเพื่อตรวจวัดความดันโลหิต โดยเฉพาะอย่างยิ่งช่วงหลังตั้งครรภ์ครบ 20 สัปดาห์ขี้นไป

หญิงมีครรภ์อาจมีภาวะครรภ์เป็นพิษอย่างรุนแรงหากมีสัญญาณหรืออาการอย่างใดอย่างหนึ่งต่อไปนี้
สัญญาณของภาวะครรภ์เป็นพิษอย่างรุนแรง

  • ตรวจพบความดันโลหิต ≥160/110 มิลลิเมตรปรอท มากกว่าหนึ่งครั้ง ผู้หญิงที่มีความดันโลหิตระดับนี้จะเสี่ยงต่อการเกิดโรคหลอดเลือดสมอง
  • ระดับเกล็ดเลือด <100,000/มล
  • ค่าไตและตับผิดปกติ
  • มีภาวะน้ำท่วมปอด
  • มีอาการชัก

อาการครรภ์เป็นพิษรุนแรง

  • ปวดหัวรุนแรงอย่างต่อเนื่อง
  • ปวดบริเวณตรงกลางหรือขวาบนของช่องท้อง คล้ายกับอาการจากโรคกรดไหลย้อน
  • ตาพร่ามัว มองเห็นภาพซ้อน เห็นเส้นหยักหรือแสงไฟวาบ เริ่มมีจุดบอดหรือสูญเสียการมองเห็น

เมื่อมีสัญญาณหรืออาการแสดงข้างต้นควรปรึกษาแพทย์เพื่อตรวจวินิจฉัยและป้องกันไม่ให้อาการลุกลาม

วิธีรักษาภาวะครรภ์เป็นพิษ มีกี่วิธี อะไรบ้าง?

วิธีการรักษาภาวะครรภ์เป็นพิษในระหว่างตั้งครรภ์คือการคลอดบุตร แพทย์จะพูดคุยว่าควรทำการคลอดเมื่อไร โดยพิจารณาจากวันครบกําหนดคลอดและระดับความรุนแรงของโรค ทารกในครรภ์ควรมีเวลาเติบโตและพัฒนาอยู่ในครรภ์มากที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้

  • แพทย์จะแนะนําให้รอหากอายุครรภ์น้อยกว่า 34 สัปดาห์
  • แพทย์จะพูดคุยถึงทางเลือกต่าง ๆ หากอายุครรภ์อยู่ระหว่าง 34 และ 37 สัปดาห์
  • แพทย์จะแนะนําให้คลอดบุตรหากอายุครรภ์มากกว่า 37 สัปดาห์

หากตัดสินใจว่าจะรอ หญิงตั้งครรภ์ควรพบแพทย์บ่อยขึ้นหรือพักรักษาตัวอยู่ในโรงพยาบาลจนถึงวันคลอด หญิงที่มีภาวะครรภ์เป็นพิษสามารถคลอดธรรมชาติหรือผ่าคลอด (c-section) ก็ได้

หากมีอาการรุนแรงหญิงตั้งครรภ์จำเป็นต้องคลอดบุตรโดยเร็วที่สุด เมื่อความดันโลหิตสูงมากแพทย์จะให้ยาลดความดันโลหิตเพื่อป้องกันโรคหลอดเลือดสมอง และอาจให้ยาเพื่อป้องกันการชักระหว่างคลอด แต่มักจำเป็นต้องให้ในน้อยราย

วิธีป้องกันการเกิดภาวะครรภ์เป็นพิษ

ในปัจจุบันยังไม่มีวิธีที่ช่วยป้องกันภาวะครรภ์เป็นพิษได้ หญิงตั้งครรภ์จึงควรไปพบแพทย์ตามนัดอย่างสม่ำเสมอ เพื่อตรวจวัดความดันโลหิตและระดับโปรตีนในปัสสาวะ หากรู้สึกว่าทารกเคลื่อนไหวน้อยกว่าปกติหรือมีอาการของภาวะครรภ์เป็นพิษ ควรรีบไปพบแพทย์ทันที

หญิงตั้งครรภ์มีความเสี่ยงที่จะเกิดภาวะครรภ์เป็นพิษสูงหากเคยคลอดก่อนกําหนด เคยมีภาวะครรภ์เป็นพิษมาก่อน หรือมีความดันโลหิตสูงอยู่ก่อนแล้ว หรือตั้งครรภ์แฝด แพทย์อาจให้รับประทานยาแอสไพรินปริมาณต่ำ ๆ ในช่วงไตรมาสที่ 2 และ 3 ของการตั้งครรภ์ หญิงตั้งครรภ์ไม่ควรรับประทานยาใด ๆ โดยไม่ปรึกษาแพทย์ก่อน

Preeclampsia   Infographic Th

บทความโดย

เผยแพร่เมื่อ: 18 ต.ค. 2022

แชร์

แพทย์ที่เกี่ยวข้อง

  • Link to doctor
    ผศ.นพ. ธีระภัทร เจริญวิทย์

    ผศ.นพ. ธีระภัทร เจริญวิทย์

    • สูติศาสตร์และนรีเวชวิทยา
    • เวชศาสตร์มารดาและทารกในครรภ์
    Obstetrics and Gynecology, Maternal and Fetal Medicine, Fetal Anomalies, Fetal Cardiology
  • Link to doctor
    พญ. กมลภัทร วิจักขณ์พันธ์

    พญ. กมลภัทร วิจักขณ์พันธ์

    • สูติศาสตร์และนรีเวชวิทยา
    • เวชศาสตร์มารดาและทารกในครรภ์
    Obstetrics and Gynecology, Maternal and Fetal Medicine
  • Link to doctor
    พญ. ศรพิณ อามาตย์ทัศน์

    พญ. ศรพิณ อามาตย์ทัศน์

    • สูติศาสตร์และนรีเวชวิทยา
    • เวชศาสตร์มารดาและทารกในครรภ์
    Obstetrics and Gynecology, Maternal and Fetal Medicine
  • Link to doctor
    รศ.นพ. บุญชัย เอื้อไพโรจน์กิจ

    รศ.นพ. บุญชัย เอื้อไพโรจน์กิจ

    • สูติศาสตร์และนรีเวชวิทยา
    • เวชศาสตร์มารดาและทารกในครรภ์
    Obstetrics and Gynecology, Maternal and Fetal Medicine
  • Link to doctor
    พญ. ศศิวรรณ สุทัสน์มาลี

    พญ. ศศิวรรณ สุทัสน์มาลี

    • สูติศาสตร์และนรีเวชวิทยา
    • เวชศาสตร์มารดาและทารกในครรภ์
    Obstetrics and Gynecology, Maternal and Fetal Medicine
  • Link to doctor
    ผศ.นพ. ศักนัน มะโนทัย

    ผศ.นพ. ศักนัน มะโนทัย

    • สูติศาสตร์และนรีเวชวิทยา
    • เวชศาสตร์มารดาและทารกในครรภ์
    Obstetrics and Gynecology, Maternal and Fetal Medicine
  • Link to doctor
    นพ. นพดล ไชยสิทธิ์

    นพ. นพดล ไชยสิทธิ์

    • สูติศาสตร์และนรีเวชวิทยา
    • เวชศาสตร์มารดาและทารกในครรภ์
    Obstetrics and Gynecology, Maternal and Fetal Medicine
  • Link to doctor
    รศ.นพ. ธีระพงศ์ เจริญวิทย์

    รศ.นพ. ธีระพงศ์ เจริญวิทย์

    • สูติศาสตร์และนรีเวชวิทยา
    • เวชศาสตร์มารดาและทารกในครรภ์
    Obstetrics and Gynecology, Maternal and Fetal Medicine
  • Link to doctor
    พญ. มัฏฐวัณณ์ จามิกร

    พญ. มัฏฐวัณณ์ จามิกร

    • สูติศาสตร์และนรีเวชวิทยา
    • เวชศาสตร์มารดาและทารกในครรภ์
    Obstetrics and Gynecology, Maternal and Fetal Medicine