อาการ สาเหตุ การวินิจฉัยและการรักษา ภาวะลิ่มเลือดอุดตัน-Thrombosis Symptoms, Causes, Diagnose, Treatment

ลิ่มเลือดอุดตัน (Thrombosis) อาการ สาเหตุ การวินิจฉัยและการรักษา

ลิ่มเลือดอุดตัน เป็นภาวะที่ภายในหลอดเลือดมีลิ่มเลือดเกิดขึ้น โดยลิ่มเลือดนั้นอาจอุดตันจุดที่ลิ่มเลือดก่อตัวขึ้น เลือดจะไหลเวียนไม่สะดวก ซึ่งอาจส่งผลให้เกิดโรคร้ายแรงอื่น ๆ ตามมา

แชร์

เลือกหัวข้อที่อ่าน


ภาวะลิ่มเลือดอุดตัน

ภาวะลิ่มเลือดอุดตัน เป็นภาวะที่ภายในหลอดเลือดมีลิ่มเลือดเกิดขึ้น โดยลิ่มเลือดนั้นอาจอุดตันจุดที่ลิ่มเลือดก่อตัวขึ้น หรืออุดตันจุดอื่นในร่างกายก็ได้ถ้าลิ่มเลือดหลุดจากจุดที่ก่อตัวครั้งแรก เมื่อหลอดเลือดอุดตัน เลือดจะไหลเวียนไม่สะดวก ซึ่งอาจส่งผลให้เกิดโรคร้ายแรงอื่น ๆ ตามมา ได้แก่ โรคหลอดเลือดสมองและหัวใจวาย

ภาวะลิ่มเลือดอุดตันคืออะไร

ภาวะลิ่มเลือดอุดตัน เป็นภาวะที่ภายในหลอดเลือดมีลิ่มเลือดเกิดขึ้น โดยลิ่มเลือดนั้นอาจอุดตันจุดที่ลิ่มเลือดก่อตัวขึ้น หรืออุดตันจุดอื่นในร่างกายก็ได้ เมื่อหลอดเลือดอุดตัน เลือดจะไหลเวียนไม่สะดวก ซึ่งอาจส่งผลให้เกิดโรคร้ายแรงอื่น ๆ ตามมา ได้แก่ โรคหลอดเลือดสมองและหัวใจวาย

ผู้ที่เป็นโรคหัวใจห้องบนสั่นพลิ้ว เบาหวาน มะเร็ง หรือโรคหัวใจและหลอดเลือด มีความเสี่ยงที่จะมีภาวะลิ่มเลือดอุดตันสูงกว่าคนอื่น อีกทั้ง ภาวะนี้จะยิ่งรุนแรงขึ้นหากปล่อยทิ้งไว้ ดังนั้น ยิ่งรักษาเร็วเท่าใด โอกาสที่ผลการรักษาจะสำเร็จยิ่งมีมากขึ้น

ประเภทของภาวะลิ่มเลือดอุดตัน

ภาวะลิ่มเลือดอุดตันแบ่งได้เป็น 2 กลุ่ม ได้แก่ ภาวะลิ่มเลือดอุดตันในหลอดเลือดแดง (Arterial thrombosis) และภาวะลิ่มเลือดอุดตันในหลอดเลือดดำ (Venous thrombosis)

  • ภาวะลิ่มเลือดอุดตันในหลอดเลือดแดง เป็นสาเหตุที่พบได้ทั่วไปของโรคหัวใจวายและโรคหลอดเลือดสมอง
  • ภาวะลิ่มเลือดอุดตันในหลอดเลือดดำ เป็นสาเหตุที่พบได้ทั่วไปของภาวะลิ่มเลือดอุดตันในปอด

ภาวะลิ่มเลือดอุดตัน มีสาเหตุเกิดจากอะไร

ภาวะลิ่มเลือดอุดตันอาจเกิดขึ้นเมื่อเนื้อเยื่อบุผนังหลอดเลือดเสียหาย หรือการไหลเวียนของเลือดลดลง สาเหตุสองประการนี้ทำให้เลือดจับกลุ่มเป็นก้อน นอกจากนี้ ภาวะลิ่มเลือดอุดตันยังอาจเกิดจากการใช้ยา ปัญหาสุขภาพ และปัจจัยอื่น ๆ เช่น โรคอ้วน กระดูกหัก โรคภูมิคุ้มกันทำลายตนเอง และยาคุมบางชนิด

ภาวะลิ่มเลือดอุดตัน มีปัจจัยเสี่ยงการเกิดจากอะไรบ้าง

ปัญหาสุขภาพ ยาบางประเภท รวมถึงกิจกรมบางกิจกรรม อาจเพิ่มความเสี่ยงในการเกิดภาวะลิ่มเลือดอุดตันได้ เช่น

  • ภาวะหลอดเลือดแข็ง
  • คนในครอบครัวมีประวัติเป็นภาวะลิ่มเลือดอุดตัน
  • หัวใจล้มเหลว
  • โรคลิ้นหัวใจ
  • ความดันโลหิตสูง
  • ระดับคอเลสเตอรอลสูง
  • อัมพาตครึ่งล่าง (Paraplegia)
  • นั่งติดต่อกันเป็นระยะเวลานาน เช่น เมื่อนั่งโดยสารในเครื่องบินเป็นระยะเวลานาน

ลิ่มเลือดอุัดตัน มีอาการอย่างไร

อาการของภาวะลิ่มเลือดอุดตัน จะแตกต่างกันไปตามขนาดของลิ่มเลือด ตำแหน่งที่เกิด และภาวะแทรกซ้อนที่เกิดขึ้น

อาการต่อไปนี้ เป็นอาการของภาวะลิ่มเลือดอุดตันในหลอดเลือดที่เกิดขึ้นในอวัยวะต่าง ๆ

  • ปอด
    • อาการปวดบริเวณหน้าอก และปวดขณะหายใจเข้า
    • มีปัญหาเรื่องการหายใจอย่างฉับพลัน
  • สมอง/คอ
    • สับสน มีพฤติกรรมแปลก ๆ หรือเปลี่ยนไป
    • พูดไม่ชัด
    • แขนหรือขาข้างใดข้างหนึ่งอ่อนแรง (Monoplegia)
  • หัวใจ
    • เจ็บหน้าอก
    • เวียนศีรษะ
    • หายใจลำบาก
  • หลอดเลือดแดงมีเซนเทอริก (Mesenteric artery)
    • ปวดท้องรุนแรง โดยเฉพาะหลังรับประทานอาหาร
    • อาการคลื่นไส้ อาเจียน
    • ท้องอืด
    • ท้องเสีย
    • มีไข้
  • หลอดเลือดแดงที่แขนและขา
    • แขนขามีอาการอ่อนแรง
    • มีตุ่ม (Blister) เกิดขึ้น
    • อาการชา
    • ผิวลอก (Skin sloughing)
    • อาการซีด (Pallor)
    • ผิวหนังตาย (Necrosis)
  • หลอดเลือดดำที่แขนและขา
    • อาการบวม
    • ผิวมีสีแดงหรือคล้ำขึ้น
    • ปวดรอบ ๆ จุดที่มีลิ่มเลือดอุดตัน

ภาวะลิ่มเลือดอุดตัน วินิจฉัยอย่างไร-How is thrombosis diagnosed

ภาวะลิ่มเลือดอุดตัน วินิจฉัยอย่างไร

แพทย์จะวินิจฉัยภาวะลิ่มเลือดอุดตันด้วยวิธีต่อไปนี้

  • ตรวจร่างกาย โดยแพทย์อาจตรวจดูสัญญาณของภาวะนี้
  • ตรวจเลือดเพื่อเช็คองค์ประกอบของเลือด ค่าดัชนีการเกิดลิ่มเลือด (Clot-formation markers) และค่า Heart-damage Marker
  • ใช้ภาพวินิจฉัย โดยแพทย์อาจสั่งให้ตรวจเอกซเรย์คอมพิวเตอร์ MRI อัลตราซาวนด์ และตรวจวินิจฉัยหลอดเลือดแดงหรือดำ (Angiography หรือ Venography) เพื่อให้เห็นภาพภายในร่างกายชัดขึ้น

ภาวะลิ่มเลือดอุดตัน รักษาอย่างไร

ภาวะลิ่มเลือดอุดตันรักษาได้ด้วยยาและเทคนิคผ่าตัดแผลเล็กหลายชนิด เช่น

  • ยาป้องกันการแข็งตัวของเลือด โดยแบ่งเป็น 2 ชนิด ได้แก่ ยาต้านเกล็ดเลือดและยาต้านการแข็งตัวของเลือด ช่วยป้องกันให้ไม่เกิดลิ่มเลือดได้ง่าย
  • การลากลิ่มเลือด (Thrombectomy) เป็นหนึ่งในวิธีที่นำลิ่มเลือดออกได้รวดเร็วที่สุด โดยมักทำผ่านการผ่าตัดแผลเล็ก
  • การให้ยาละลายลิ่มเลือด เป็นวิธีฉุกเฉินที่ใช้รักษาโรคหลอดเลือดสมอง หัวใจวาย และภาวะแทรกซ้อนอื่น ๆ ที่เกิดจากภาวะลิ่มเลือดอุดตัน

หลังรับการรักษาแล้ว ใช้เวลานานเท่าใดก่อนที่อาการจะดีขึ้น

ในการรักษาภาวะลิ่มเลือดอุดตัน อาการของผู้ป่วยจะดีขึ้นเมื่อการไหลเวียนเลือดดีขึ้น ซึ่งอาจใช้เวลาตั้งแต่หลักนาทีจนถึงหลักชั่วโมง ขึ้นอยู่กับขนาดลิ่มเลือดและตำแหน่งที่อยู่

ภาวะลิ่มเลือดอุดตัน มีวิธีป้องกันอย่างไร

การจัดการกับปัจจัยเสี่ยงจะทำให้ป้องกันภาวะลิ่มเลือดอุดตันได้ง่ายขึ้น โดยวิธีป้องกันมีดังนี้

  • ลดน้ำหนักด้วยการออกกำลังกายและควบคุมอาหาร
  • รับประทานยาลดความดันโลหิต
  • ใช้ยาป้องกันการแข็งตัวของเลือด
  • รับประทานยาเพื่อลดระดับคอเลสเตอรอล
  • เลี่ยงการนั่งติดต่อกันเป็นเวลานาน
  • เลิกหรือไม่เริ่มสูบบุหรี่

คำแนะนำจากแพทย์โรงพยาบาลเมดพาร์ค

เมื่อเกิดภาวะลิ่มเลือดอุดตันขึ้น อาจกลายเป็นปัญหาร้ายแรงถึงชีวิตได้ ดังนั้นจึงควรป้องกันไม่ให้เกิดตั้งแต่แรก นอกจากนี้ การทราบอาการของภาวะลิ่มเลือดอุดตัน จะช่วยให้เข้ารับการรักษาได้ตั้งแต่เนิ่น ๆ สำหรับผู้ที่มีนัดตรวจสุขภาพกับแพทย์เป็นประจำอยู่แล้ว ควรเข้ารับการตรวจทุกครั้งเพื่อประเมินความเสี่ยง

เผยแพร่เมื่อ: 09 ก.ค. 2024

แชร์