เวียนหัว บ้านหมุน (Vertigo)
เวียนหัว บ้านหมุน (Vertigo) คือ การมองเห็นสิ่งแวดล้อมหมุนหรือเป็นความรู้สึกตัวเองหมุน แม้ว่าตัวเราจะนิ่งอยู่กับที่ก็ตาม
อาการเวียนหัว บ้านหมุน
- รู้สึกโคลงเคลง ทรงตัวไม่ได้เวียนศีรษะ
- คลื่นไส้ อาเจียน
- หูได้ยินลดลง มีเสียงดังในหู
- ไวต่อแสงและเสียง
- มองเห็นภาพซ้อน
- เหนื่อยหอบอ่อนแรง ชาตามแขนและขา หรือเดินเองไม่ได้
สาเหตุของอาการเวียนหัว บ้านหมุน
- โรคหินปูนหูชั้นในเคลื่อน (Benign Paroxysmal Positional Vertigo: BPPV) เกิดจากมีหินปูนในหูชั้นในเคลื่อน อาการเป็นมากขึ้นเมื่อขยับศีรษะ มักมีอาการบ้านหมุนไม่นาน แพทย์จะทำการรักษาโดยการหมุนศีรษะเพื่อให้หินปูนย้ายกลับเข้าที่
- โรคน้ำในหูชั้นในผิดปกติ (Meniere disease) เป็นความผิดปกติของหูชั้นในที่ยังไม่ทราบสาเหตุที่แน่ชัด มักเกิดขึ้นในหูข้างใดข้างหนึ่ง มีอาการนานหลายนาทีจนถึงหลายชั่วโมง โดยอาจมีการได้ยินลดลง หรือเสียงดังในหูร่วมด้วย
- โรคเส้นประสาทการทรงตัวอักเสบ (Vestibular neuritis) เกิดจากการจากการอักเสบบริเวณเส้นประสาทที่ควบคุมการทรงตัว ทำให้มีอาการบ้านหมุนอย่างรุนแรง จนไม่สามารถยืนหรือเดินได้
- Vestibular migraine เป็นอาการบ้านหมุนที่มีอาการสัมพันธ์กับอาการปวดไมเกรน โดยอาจเห็นแสงระยิบระยับ หรือมีอาการไวต่อแสงได้
- โรคสมองอื่น ๆ เช่น โรคหลอดเลือดสมอง ภาวะสมองขาดเลือด หรือมีเลือดออกในสมอง
การตรวจวินิจฉัยหาสาเหตุอาการเวียนหัว บ้านหมุน
- การซักประวัติ: แพทย์จะถามถึงลักษณะของอาการบ้านหมุน ระยะเวลาที่มีอาการ สิ่งที่ไปกระตุ้นให้เกิดอาการ และอาการร่วม เพื่อวินิจฉัยสาเหตุของอาการเวียนศีรษะบ้านหมุน
- การตรวจร่างกาย: แพทย์จะตรวจการเคลื่อนไหวของดวงตา การได้ยิน การเดินและการทรงตัวของผู้ป่วย
การรักษาอาการเวียนหัว บ้านหมุน
การรักษานั้นมีรายละเอียดแตกต่างกันไปตามสาเหตุของโรค โดยอาจมีการใช้ยา การหลีกเลี่ยงปัจจัยกระตุ้นของโรค รวมถึงการฟื้นฟูระบบการทรงตัวของหูชั้นในที่ถูกต้อง เพื่อให้ผู้ป่วยสามารถกลับไปใช้ชีวิตประจำวันได้ตามปกติและป้องกันอุบัติเหตุที่อาจเกิดขึ้นจากอาการบ้านหมุนด้วย
ควรไปพบแพทย์เมื่อใด
- ควรไปพบแพทย์ทันที หากมีอาการบ้านหมุน ร่วมกับตามองเห็นภาพซ้อน พูดไม่ชัด/สื่อสารไม่ได้ มีแขนขาอ่อนแรง เจ็บหน้าอก หรืออาเจียนไม่หยุด
- หากสังเกตอาการบ้านหมุนแล้วอาการไม่ดีขึ้น ควรพบแพทย์หูคอจมูก เพื่อได้รับวินิจฉัยที่ถูกต้องและรับการรักษาที่เหมาะสม