อาการ สาเหตุ และการรักษา ภาวะขาดวิตามินเอ - Vitamin A Deficiency, Symptoms, Causes amd Treatment

ภาวะขาดวิตามินเอ (Vitamin A Deficiency)

ภาวะขาดวิตามินเอ คือการที่ร่างกายได้รับวิตามินไม่เพียงพอจนอาจทำให้เกิดอาการต่าง ๆ เช่น ตาบอดกลางคืน ซึ่งสามารถรักษาได้โดยการรับประทานวิตามินเอเสริม และสามารถป้องกันได้หากรับประทานอาหารมีวิตามินเอสูง

แชร์

ภาวะขาดวิตามินเอ

วิตามินเอ มีบทบาทสำคัญต่อร่างกาย ช่วยในเรื่องการมองเห็น ระบบเผาผลาญ และการเจริญเติบโตของเซลล์ต่าง ๆ  เสริมสร้างภูมิคุ้มกัน และช่วยให้ระบบสืบพันธุ์ทำงานได้ดีขึ้น ร่างกายของคนเราไม่สามารถผลิตวิตามินเอได้เอง จึงจำเป็นต้องรับประทานอาหารที่มีวิตามินเอเป็นส่วนประกอบ  

โดยวิตามินเอนั้นจำเป็นต่อการผลิตเม็ดสีที่สำคัญต่อการทำงานของจอประสาทตา หากได้รับวิตามินเอไม่เพียงพอจะทำให้การผลิตเม็ดสีดังกล่าวไม่เพียงพอจนนำไปสู่อาการตาบอดกลางคืน วิตามินเอยังช่วยทำให้จอประสาทตาชุ่มชื่น ไม่แห้งเกินไปเพราะอาจทำให้จอประสาทตาถูกทำลาย จนเกิดปัญหาหรือสูญเสียการมองเห็น

นอกจากนี้วิตามินเอยังช่วยให้ผิวพรรณชุ่มชื่น สำคัญต่อเยื่อบุภายในปอด ลำไส้ และระบบทางเดินปัสสาวะ ช่วยให้ระบบดังกล่าวทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ วิตามินเอช่วยเสริมสร้างภูมิคุ้มกันของร่างกายในการต่อสู้กับเชื้อโรคเพื่อสุขภาวะที่ดีของร่างกาย

ประเภทของวิตามินเอ 

  • พรีฟอร์มวิตามินเอ หรือที่รู้จักกันในชื่อ เรตินอล พบมากในเนื้อวัว เนื้อปลา เนื้อสัตว์ปีก ไข่ และตับ
  • โปรวิตามินเอ คาโรทีนอยด์ พบในผัก ผลไม้สีแดง สีส้ม สีเหลือง โดยร่างกายจะค่อย ๆ ย่อยและเปลี่ยนคาโรทีนอยด์เป็นวิตามินเอ ซึ่งคาโรทีนอยด์ที่เป็นที่รู้จักมากที่สุดคือ เบต้าแคโรทีน

ภาวะขาดวิตามินเอ

ภาวะขาดวิตามินเอ คือการที่ร่างกายได้รับวิตามินไม่เพียงพอจนอาจทำให้เกิดอาการต่าง ๆ เช่น ตาบอดกลางคืน ซึ่งสามารถรักษาได้โดยการรับประทานวิตามินเอเสริม และสามารถป้องกันได้หากรับประทานอาหารมีวิตามินเอสูง

ผู้ที่เป็นโรคตับหรือโรคอื่น ๆ ที่ขัดขวางการดูดซึมวิตามินของร่างกายอาจเกิดภาวะขาดวิตามินเอได้ ซึ่งกลุ่มที่ได้รับผลกระทบจากภาวะขาดวิตามินเอมากที่สุด ได้แก่ เด็กทารก เด็กวัยเรียน หญิงตั้งครรภ์ และหญิงที่กำลังให้นมบุตร ภาวะขาดวิตามินเอเป็นสาเหตุหลักของภาวะตาบอดของเด็กทั่วโลก โดยมีเด็กราว 250,000 - 500,000 คนที่สูญเสียการมองเห็นจากภาวะนี้ทุกปี

Vitamin a Deficiency Banner 3

อาการขาดวิตามินเอ

  • มองกลางคืนไม่ค่อยเห็นหรือตาบอดกลางคืน (Nyctalopia)
  • กระจกตาหรือตาขาวแห้ง (Xerophthalmia)
  • เกล็ดกระดี่ขึ้นตา (Bitot spots)
  • แผลที่กระจกตา (Corneal ulcers)
  • กระจกตาน่วมหรืออ่อนตัว (Keratomalacia)

หากไม่ได้รับการรักษาอย่างเหมาะสม จะทำให้สูญเสียการมองเห็นไปในที่สุด  

สาเหตุที่ขาดวิตามินเอ

  • ภาวะทุพโภชนการ
  • โรคตับ ซึ่งส่งผลต่อการกักเก็บวิตามินในร่างกาย
  • โรคอื่น ๆ ที่อาจไปรบกวนความสามารถในการดูดซึมไขมันและวิตามินของร่างกาย เช่น โรคซีสติกไฟโบรซีส โรคซีลิแอ็ก ท้องเสียเรื้อรัง  โรคตับอ่อน การอุดตันของท่อทางเดินน้ำดีนอกตับ ภาวะขาดธาตุเหล็กและสังกะสี
  • การผ่าตัด เช่น การผ่าตัดลำไส้เล็ก การผ่าตัดกระเพาะอาหารเพื่อลดน้ำหนัก การผ่าตัดลำไส้หรือท่อน้ำดี
  • โรคพิษสุรา

การตรวจวินิจฉัยภาวะขาดวิตามินเอ

แพทย์จะซักประวัติ ตรวจร่างกายเพื่อดูอาการและอาจให้ตรวจเพิ่มเติมดังนี้

  • การตรวจวัดคลื่นไฟฟ้าจอตา สำหรับผู้ที่ตาบอดตอนกลางคืน แพทย์จะทำการตรวจวัดตัวรับแสงในจอตาโดยใช้แสงไฟ
  • การตรวจเลือด  (Serum retinol blood test) หากมีปริมาณวิตามินเอในเลือดต่ำกว่า 20 ไมโครกรัมต่อเดซิลิตร (mcg/dL) แสดงว่ามีภาวะขาดวิตามินเอรุนแรง

Vitamin a Deficiency Banner 2

การรักษาภาวะขาดวิตามินเอ

  • แพทย์อาจให้รับประทานวิตามินเอในปริมาณที่สูงเป็นเวลา 2-3 วัน ตามด้วยการรับประทานวิตามินเอในปริมาณที่น้อยลงจนกว่าการมองเห็นและสภาพผิวจะดีขึ้น โดยผู้ป่วยมักจะมองเห็นตอนกลางคืนได้ดีขึ้น แต่รอยแผลที่กระจกตานั้นอาจจะคงอยู่ ไม่สามารถรักษาให้หายได้
  • การรับประทานอาหารครบ 5 หมู่โดยเพิ่มอาหารที่มีวิตามินเอสูง

อย่างไรก็ตามการที่บริโภควิตามินเอมากจนเกินไปอาจนำไปสู่พิษวิตามินเอ เช่น ผื่น ปวดศีรษะ ผมแห้งหยาบ ผมร่วงเป็นหย่อม หรือตับถูกทำลาย

ภาวะแทรกซ้อน

  • สูญเสียการมองเห็น
  • ผิวแห้ง คัน เป็นขุย
  • ภาวะมีบุตรยาก
  • การเจริญเติบโตและพัฒนาการล่าช้าในเด็ก
  • การติดเชื้อที่ระบบทางเดินหายใจ

การป้องกันภาวะขาดวิตามินเอ

การรับประทานอาหารที่มีประโยชน์และครบ 5 หมู่เป็นวิธีการป้องกันภาวะขาดวิตามินเอที่มีประสิทธิภาพที่สุด โดยอาหารที่มีวิตามินเอสูงได้แก่ ไข่ ผลิตภัณฑ์อาหารจากนม ปลาแซลมอน เนื้อไก่ เนื้อวัว ตับ ผักใบเขียว ผักและผลไม้สีแดง สีเหลือง และสีส้ม

อาการขาดวิตามินเอ Vitamin a Deficiency - Infographic

เผยแพร่เมื่อ: 14 ส.ค. 2023

แชร์

แพทย์ที่เกี่ยวข้อง

  • Link to doctor
    พญ. ณิชา สมหล่อ

    พญ. ณิชา สมหล่อ

    • อายุรศาสตร์
    • อายุรศาสตร์โภชนศาสตร์คลินิก
    Adult Gastroenterology (Nutrition), โภชนาการคลินิก, อายุรกรรมทั่วไป, โรคอ้วนและภาวะน้ำหนักเกิน