หิวบ่อย หิวตลอดเวลา อาจเป็นสัญญาณเตือนโรคที่ไม่คาดคิด!
เชื่อว่ามีหลายคนเคยสังเกตตัวเอง ว่าเป็น คนกินไม่หยุด กินจุบจิบ มีขนม ผลไม้ ของว่างเท่าไร ก็คอยหยิบมากินจนหมด รู้สึกว่าตัวเอง หิวบ่อย หิวตลอดเวลา เหมือนกินเท่าไรก็ไม่รู้สึกอิ่ม ไม่พอสักที แม้สิ่งนี้จะไม่ได้ส่งผลเสียต่อสุขภาพโดยตรง แต่การที่เรา หิวบ่อย อาจเป็นสัญญาณเตือนเรื่องสุขภาพว่า อาจมีอะไรผิดปกติสักอย่างในร่างกาย โดยสาเหตุที่ทำให้เราหิวตลอดเวลา มีดังนี้
อาการหิวบ่อย จากพฤติกรรมและการใช้ชีวิต
บางครั้ง พฤติกรรมการใช้ชีวิตของเรา (รวมไปถึงนิสัยการกิน) ก็อาจเป็นต้นเหตุให้เรารู้สึกกินไม่อิ่ม กินไม่พอ หิวตลอดเวลาได้ เช่น
- กินโปรตีนไม่พอ กินอาหารประเภทแป้งขัดขาวเยอะ เพราะโปรตีนเป็นหนึ่งในสารอาหารหลักที่ให้พลังงานแก่ร่างกาย (ร่วมกับคาร์โบไฮเดรตและไขมัน) เมื่อกินร่วมกันในหนึ่งมื้อ ร่างกายจะมีพลังงานและรู้สึกอิ่ม แต่หากกินแต่อาหารที่มีแต่คาร์โบไฮเดรต หรือกินอาหารประเภทแป้งขัดขาว ที่มีสัดส่วนคาร์โบไฮเดรตสูง และไม่มีใยอาหาร จะทำให้ระดับน้ำตาลในเลือดพุ่งสูงและลดลงอย่างรวดเร็ว ทำให้รู้สึกหิวอีกครั้ง
- กินไขมันไม่พอ หลายคนหลีกเลี่ยงการบริโภคไขมันเพราะคิดว่าจะทำให้อ้วน แต่ในความเป็นจริง ไขมันคือหนึ่งในสารอาหารจำเป็น หากเลือกกินแต่อาหารที่ไม่มีไขมัน หรือไขมันต่ำ ร่างกายอาจขาดไขมันที่ดี ทำให้เกิดความรู้สึกอยากกินอาหารที่มีคาร์โบไฮเดรตและน้ำตาลสูงเข้าไปทดแทน
- กินใยอาหารน้อยเกินไป เพราะใยอาหารจะขยายตัวเมื่อกินเข้าไป จึงมีบทบาทในการควบคุมความหิวได้ หากกินอย่างเพียงพอ จะทำให้รู้สึกอิ่มได้เร็ว
- ดื่มน้ำน้อยไป บางครั้งเมื่อรู้สึกหิว อาจไม่ใช่ความหิวจริง ๆ แต่คือความรู้สึกกระหายน้ำ การดื่มน้ำสม่ำเสมอตลอดทั้งวัน จึงช่วยให้ร่างกายไม่ขาดน้ำ และอาจป้องกันความรู้สึกหิวได้ด้วย
- ไม่จดจ่อเวลากินอาหาร การกินอาหารโดยไม่จดจ่อ ไม่ว่าจะกินระหว่างกำลังดูหนัง ดูซีรีส์ คลิปวิดีโอ หรืออื่น ๆ อาจทำให้ไม่ตระหนักรู้ว่าตัวเองกำลังกินอะไร และกินเข้าไปเท่าไร แม้จะรับรู้ว่าตัวเองกินไปแล้ว แต่สมองจะไม่ได้ดื่มด่ำ พึงพอใจกับสิ่งที่กิน เมื่อไม่ได้ให้ความสำคัญกับสิ่งที่กินอยู่ จึงทำให้รู้สึกว่าอาหารที่กินเข้าไปยังไม่พอ ไม่ตอบสนองความต้องการเท่าที่ควร
- นอนไม่พอ หากนอนไม่พอจะทำให้ระดับฮอร์โมนเกรลิน (ghrelin) เพิ่มขึ้น ฮอร์โมนนี้ส่วนใหญ่ผลิตจากกระเพาะอาหาร ทำให้รู้สึกหิวได้
อาการหิวบ่อย ที่อาจมาจากความผิดปกติของร่างกาย
อาการหิวตลอดเวลา อาจเกิดจากโรค หรือสภาวะของร่างกายที่ผิดปกติได้เช่นกัน ดังนี้
- โรคเบาหวานชนิดที่ 1 เมื่อเป็นเบาหวานชนิดที่ 1 ร่างกายจะขาดอินซูลินที่จะพากลูโคสเข้าสู่เซลล์ ทำให้เซลล์ต่าง ๆ ในร่างกายไม่ได้รับกลูโคส กลูโคสจึงอยู่ในกระแสเลือด และถูกขับออกทางปัสสาวะ ทำให้ร่างกายเรียกร้องให้กินมากขึ้น
- ไฮโปไกลซีเมีย (Hypoglycemia) หรือภาวะน้ำตาลในเลือดต่ำ คือภาวะที่ร่างกายมีกลูโคสในระดับต่ำ อาจมาจากการกินยารักษาโรคเบาหวาน ผู้ที่มีภาวะนี้มักมีอาการเบลอ พูดไม่ชัด และมีปัญหาในการเดิน
- ปัญหาเกี่ยวกับต่อมไทรอยด์ ต่อมไทรอยด์เป็นต่อมที่ผลิตฮอร์โมนเพื่อควบคุมการทำงานของอวัยวะต่าง ๆ ภายในร่างกาย หากต่อมไทรอยด์ทำงานมากไป หรือมีภาวะไฮเปอร์ไทรอยด์ (hyperthyroidism) จะทำให้มีอาการชีพจรเต้นเร็ว เหงื่อออกมาก กล้ามเนื้ออ่อนแรง กระหายน้ำแม้จะเพิ่งดื่ม
- ความเครียด เมื่อมีความเครียดหรือวิตกกังวล ร่างกายจะหลั่งฮอร์โมนคอร์ติซอล ที่จะเพิ่มความรู้สึกหิว อีกทั้งผู้ที่มีความเครียดมีแนวโน้มอยากอาหารประมาณน้ำตาลและไขมันสูง
โดยปกติ ความหิวเป็นเรื่องธรรมชาติของร่างกายที่เรียกร้องพลังงาน ทำให้รู้สึกหิวเมื่อไม่ได้กินอะไรติดต่อกันประมาณ 2-3 ชั่วโมง แต่หากรู้สึกว่าร่างกายไม่ได้หิวหรืออยากกินเพราะขาดอาหาร ควรหาสาเหตุที่แท้จริงและวิธีแก้ไข เพื่อหลีกเลี่ยงการกินอาหารเกินกว่าความต้องการจริง ๆ ของร่างกาย