ภาวะต่อมไทรอยด์ทํางานมากเกินไป (ไฮเปอร์ไทรอยด์ Hyperthyroidism)

ภาวะต่อมไทรอยด์ทํางานมากเกินไป (ไฮเปอร์ไทรอยด์)

ไฮเปอร์ไทรอยด์ (Hyperthyroidism) เมื่อเกิดภาวะต่อมไทรอยด์ทํางานมากเกินไป จนผลิตและปล่อยฮอร์โมนไทรอยด์เข้าสู่ร่างกายเกินความจำเป็น ทำให้อัตราการเผาผลาญพลังงานเพิ่มขึ้นจนเกิดอาการผิดปกติ

แชร์

ภาวะต่อมไทรอยด์ทํางานมากเกินไป (ไฮเปอร์ไทรอยด์)

ต่อมไทรอยด์อยู่บริเวณกลางลำคอ ระหว่างกล่องเสียงและกระดูกหน้าอก มีหน้าที่ผลิต triiodothyronine (T3) และ thyroxine (T4) ซึ่งเป็นฮอร์โมนที่ควบคุมระบบเผาผลาญพลังงาน อุณหภูมิของร่างกาย อัตราการเต้นของหัวใจ และการผลิตโปรตีน

ที่ฐานของสมองของคนเราจะมีต่อมใต้สมองซึ่งควบคุมการทำงานของต่อมไทรอยด์ โดยจะผลิตฮอร์โมนกระตุ้นต่อมไทรอยด์ (TSH) สั่งให้ต่อมไทรอยด์ผลิต T3 & T4 หากร่างกายมีฮอร์โมน T3 & T4 น้อยเกินไปต่อมใต้สมองจะผลิต TSH ออกมามากขึ้นและในทางกลับกันก็จะผลิต TSH น้อยลงเมื่อมีฮอร์โมน T3 & T4 มากผิดปกติ

ภาวะไฮเปอร์ไทรอยด์เกิดขึ้นเมื่อต่อมไทรอยด์ทํางานมากเกินไป จนผลิตและปล่อยฮอร์โมนไทรอยด์เข้าสู่ร่างกายเกินความจำเป็น ทำให้อัตราการเผาผลาญพลังงานเพิ่มขึ้นจนเกิดอาการผิดปกติ

ไฮเปอร์ไทรอยด์มีอาการอย่างไร?

  • รู้สึกวิตกกังวลและหงุดหงิด
  • นอนไม่หลับ
  • ต้นแขนและต้นขาอ่อนแรง
  • มือสั่น
  • เหงื่อออกง่าย ขี้ร้อน
  • หัวใจเต้นเร็วหรือไม่เป็นจังหวะ
  • อ่อนเพลีย
  • น้ำหนักลดอย่างฉับพลันแม้ว่าจะรับประทานอาหารตามปกติหรือมากกว่าเดิม
  • ขับถ่ายบ่อย

ผู้หญิงบางรายอาจมีปัญหาประจําเดือนมาไม่ปกติหรือประจําเดือนขาดอย่างฉับพลัน ในขณะที่ผู้ชายอาจมีปัญหาหย่อนสมรรถภาพทางเพศหรือหน้าอกโตหรือกดเจ็บ อาการเหล่านี้จะดีขึ้นและหายไปหลังได้รับการรักษา

อาการต่าง ๆ เช่น การเต้นของหัวใจผิดปกติ น้ำหนักลดลง ซึมเศร้า เหนื่อยล้าอ่อนเพลียขณะทํากิจกรรมประจําวันสามารถเกิดขึ้นได้ในผู้สูงอายุโดยไม่ทราบว่าเกิดจากภาวะต่อมไทรอยด์ทํางานมากเกินไป ดังนั้นหากมีอาการควรเข้ารับการตรวจวินิจฉัยเพื่อหาสาเหตุที่แท้จริง

ไฮเปอร์ไทรอยด์เกิดจากสาเหตุอะไร?

เมื่อต่อมไทรอยด์ผลิตและปล่อยฮอร์โมนไทรอยด์มากเกินไปจะทําให้เกิดภาวะต่อมไทรอยด์เป็นพิษ โดยโรคที่มักส่งผลให้ต่อมไทรอยด์ผลิตฮอร์โมนมากผิดปกติ ได้แก่

  • โรคเกรฟส์ (Graves' Disease)เป็นโรคแพ้ภูมิตัวเองและเป็นสาเหตุของภาวะไทรอยด์ทํางานมากเกินไปที่พบได้บ่อยที่สุด โดยระบบภูมิคุ้มกันจะสร้างสารกระตุ้นต่อมไทรอยด์ให้ผลิตฮอร์โมนไทรอยด์มากเกินกว่าที่จำเป็นต่อร่างกาย
  • เนื้องอกที่ไม่ใช่เนื้อร้ายของต่อมไทรอยด์ที่เป็นพิษ (Toxic adenoma)คอพอกเป็นพิษชนิดหลายปุ่ม (Toxic multinodular goiter) หรือ โรคพลัมเมอร์ (Plummer's disease) เกิดขึ้นเมื่อ Thyroid Adenoma ผลิตฮอร์โมนไทรอยด์เกินความจําเป็น ทำให้เกิดก้อนเนื้อที่ไม่ใช่เนื้อร้าย ต่อมไทรอยด์จะมีขนาดใหญ่ขึ้น
  • ต่อมไทรอยด์อักเสบกึ่งเฉียบพลัน(Subacute thyroiditis) ต่อมไทรอยด์อักเสบกึ่งเฉียบพลันชนิดเป็นการอักเสบที่เกิดตามหลังการติดเชื้อไวรัส (Subacute granulomatous thyroiditis หรือ de Quervain's thyroiditis) เป็นผลมาจากการติดเชื้อไวรัส ซึ่งทำให้ต่อมไทรอยด์มีขนาดใหญ่ขึ้นและรู้สึกเจ็บ หลังจากที่หายดี ผู้ป่วยอาจมีภาวะพร่องฮอร์โมนไทรอยด์เป็นเวลาหลายเดือน และพบหลักฐานว่าโรคโควิด 19 มีส่วนเกี่ยวข้องกับโรคต่อมไทรอยด์อักเสบกึ่งเฉียบพลัน 
  • ภาวะไทรอยด์อักเสบหลังคลอด ทําให้ต่อมไทรอยด์อักเสบชั่วคราว 2-3 เดือนหลังคลอดบุตร โดยอาจกลายเป็นโรคต่อมไทรอยด์อักเสบหลังคลอดที่ไม่ก่อให้เกิดอาการเจ็บปวดอยู่นานหลายเดือน ตามด้วยภาวะพร่องฮอร์โมนไทรอยด์ โดยอาจมีอาการเป็นตะคริวอ่อนเพลีย และน้ำหนักตัวเพิ่มขึ้น 
  • การรับประทานยาฮอร์โมนไทรอยด์มากเกินไปของคนที่มีภาวะพร่องไทรอยด์สามารถเพิ่มระดับฮอร์โมนไทรอยด์ได้สูงผิดปกติได้

ปัจจัยเสี่ยงของโรคไฮเปอร์ไทรอยด์

  • มีคนในครอบครัวสายตรงเป็นโรคไทรอยด์หรือโรคแพ้ภูมิตัวเอง เช่น โรคเกรฟส์
  • ภาวะโลหิตจางจากโรคแพ้ภูมิตนเองที่เกิดมีแอนติบอดีจับกับสารช่วยการดูดซึมวิตามิน บี 12 ที่สร้างจากกระเพาะอาหาร ทำให้ร่างกายไม่สามารถดูดซึมวิตามินบี 12 และภาวะพร่องฮอร์โมนจากต่อมหมวกไตปฐมภูมิ
  • เพิ่งคลอดบุตร

ภาวะแทรกซ้อน

  • โรคหัวใจ เช่น ภาวะหัวใจห้องบนสั่นพลิ้วหรือภาวะหัวใจล้มเหลว
  • โรคกระดูกพรุนสามารถเกิดขึ้นได้เนื่องจากระดับฮอร์โมนไทรอยด์ที่สูงจะลดการดูดซึมแคลเซียมทําให้กระดูกอ่อนแอและเปราะ
  • โรคไทรอยด์ขึ้นตา เป็นความผิดปกติของกล้ามเนื้อและเนื้อเยื่อตา มักมีผลต่อผู้ป่วยภาวะต่อมไทรอยด์ทํางานมากเกินไปที่สูบบุหรี่ ปัญหาการมองเห็นที่เกิดจากโรคไทรอยด์ขึ้นตา ได้แก่
    • ลูกตาโปน
    • ปวดตา
    • รู้สึกเหมือนมีแรงดันในเบ้าตา
    • รู้สึกเหมือนมีเศษกรวดทรายในตา
    • เปลือกตาบวม
    • ตาแดง
    • เห็นภาพซ้อน
    • ตาไวต่อแสง
    • สูญเสียการมองเห็น
  • อาการทางผิวหนังจากโรคเกรฟส์ อาจทําให้สีผิวเปลี่ยนไป หน้าแข้งและเท้าบวม อย่างไรก็ตามมักพบได้น้อยมากและเกิดกับผู้ป่วยโรคเกรฟส์เท่านั้น
  • ภาวะต่อมไทรอยด์เป็นพิษวิกฤต (Thyrotoxic crisis หรือ thyroid storm) พบได้น้อยมาก แต่อาจทำให้เกิดอาการที่เป็นอันตรายถึงแก่ชีวิตได้ เช่น
    • มีไข้
    • หัวใจเต้นเร็ว
    • คลื่นไส้ อาเจียน
    • ขาดน้ำ
    • ท้องร่วง
    • ความสับสน
    • เพ้อ

    การตรวจวินิจฉัยโรคไฮเปอร์ไทรอยด์

    • การตรวจเลือดสามารถวัดฮอร์โมนไทรอยด์และฮอร์โมนกระตุ้นต่อมไทรอยด์ (TSH) หากระดับฮอร์โมนไทรอยด์สูงแต่ระดับฮอร์โมน TSH ต่ำ แพทย์อาจให้เข้ารับการถ่ายภาพการจับไอโอดีนในส่วนต่างๆ ของต่อมไทรอยด์ (Thyroid Scan) หรือการตรวจเลือดเพื่อวัดระดับปริมาณแอนติบอดีของต่อมไทรอยด์ เพื่อหาว่าสาเหตุของอาการเกิดจากโรคต่อมไทรอยด์อักเสบ โรคเกรฟส์หรือคอพอกแบบเป็นพิษ

    สาเหตุของโรคไฮเปอร์ไทรอยด์ (Hyperthyroidism)

    วิธีการรักษาไฮเปอร์ไทรอยด์

    รูปแบบการรักษาที่เหมาะสมนั้นขึ้นอยู่กับอายุของผู้เข้ารับการรักษา ประเภทและความรุนแรงของอาการ โดยผู้เข้ารับการรักษาสามารถพูดคุยปรึกษาแพทย์ถึงข้อดีและข้อเสียของการรักษาแต่ละประเภท

    การใช้ยา

    • ยาต้านไทรอยด์ ได้แก่ methimazole และ propylthiouracil ช่วยลดการผลิตฮอร์โมนไทรอยด์ ในหญิงตั้งครรภ์ แพทย์อาจแนะนําให้รับประทาน methimazole แทน propylthiouracil โดยควรปรึกษาแพทย์ถึงผลข้างเคียงของยาก่อนเริ่มใช้ยาทุกครั้ง
    • ยา Beta blocker เช่น atenolol หรือ propranolol ช่วยควบคุมอาการที่เกิดจากภาวะต่อมไทรอยด์ทํางานมากเกินไป อันได้แก่ อัตราการเต้นของหัวใจที่เร็วผิดปกติ ความวิตกกังวล อาการสั่น และอาการขี้ร้อน

    การรักษาด้วยการกลืนแร่กัมมันตรังสีไอโอดีน 131

    ผู้ป่วยอาจกลืนแร่กัมมันตรังสีไอโอดีน 131 ในรูปแบบแคปซูลหรือของเหลวครั้งเดียว  ซึ่งแร่จะใช้เวลา 6-18 สัปดาห์ในการทำให้เนื้อเยื่อต่อมไทรอยด์ถูกทําลายอย่างถาวรเพื่อลดการผลิตฮอร์โมนไทรอยด์  โดยปกติแล้วแพทย์จะแนะนำให้ทำการรักษาด้วยการรับประทานยาต้านไทรอยด์ก่อนเป็นลำดับแรก โดยเฉพาะอย่างยิ่งในผู้ป่วยสูงอายุ หรือมีอาการรุนแรง หรือเป็นโรคหัวใจ หลังการรักษาด้วยการกลืนแร่ ผู้ป่วยจะต้องรับประทานฮอร์โมนไทรอยด์เสริมไปตลอดชีวิต

    ความเสี่ยงจากการรักษาด้วยการกลืนแร่ ได้แก่

    • การกลับมาเป็นซ้ำ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในรายที่มีอาการรุนแรงหรือมีคอพอกขนาดใหญ่
    • ปัญหาโรคทางตาแย่ลงเมื่อเทียบกับผู้ที่ได้รับการผ่าตัด
    • ความเสี่ยงต่อการแพร่กระจายสารกัมมันตรังสีไอโอดีนไปยังผู้อื่น หลังการรักษาควรเว้นระยะห่างจากเด็กเล็กและสตรีมีครรภ์เป็นเวลา 5-7 วัน
    • ภาวะพร่องไทรอยด์

    การผ่าตัด

    เป็นการรักษาที่ได้ผลถาวร แต่มีความเสี่ยงดังต่อไปนี้

    • กล่องเสียงและต่อมพาราไทรอยด์ซึ่งทำหน้าที่ช่วยรักษาสมดุลของระดับแคลเซียมในร่างกายอาจได้รับความเสียหายระหว่างการผ่าตัด
    • ภาวะพร่องไทรอยด์ ซึ่งเกิดขึ้นได้กับแทบทุกคนที่ผ่าตัดนำต่อมไทรอยด์ออก

    แพทย์จะแนะนําให้ทำการผ่าตัด ในกรณีที่

    • ผู้ป่วยหายใจลำบากเพราะคอพอกขนาดใหญ่ปิดกั้นทางเดินหายใจ
    • ผู้ป่วยมีก้อนเนื้อในต่อมไทรอยด์ที่เสี่ยงเป็นมะเร็ง
    • ผู้ป่วยเป็นโรคเกรฟส์ขึ้นตา
    • ผู้ป่วยต้องการวิธีการรักษาที่ได้ผลแน่นอนก่อนตั้งครรภ์
    • ยาต้านไทรอยด์ไม่ทําให้อาการดีขึ้นและผู้ป่วยไม่ต้องการรับการรักษาด้วยการกลืนสารกัมมันตรังสีไอโอดีน

    การปรับเปลี่ยนการใช้ชีวิตและการรักษาตนเองที่บ้าน

    เมื่อมีภาวะต่อมไทรอยด์เป็นพิษ การได้รับการรักษาที่เหมาะสมนั้นถือเป็นสิ่งจําเป็น เมื่ออยู่ที่บ้าน ผู้ป่วยสามารถรับมือกับอาการต่าง ๆ ได้โดย

    • ออกกําลังกายเป็นประจําเพื่อเสริมสร้างกล้ามเนื้อ หัวใจ และปอดให้แข็งแรง ช่วยให้รู้สึกกระฉับกระเฉงอยู่เสมอ
    • ฝึกเทคนิคการผ่อนคลายเพราะความเครียดจะทําให้อาการแย่ลง โดยเฉพาะภาวะต่อมไทรอยด์ทํางานมากเกินไปที่มีสาเหตุมาจากโรคเกรฟส์

    การตั้งครรภ์และภาวะต่อมไทรอยด์ทํางานมากเกินไป

    หากผู้ป่วยมีภาวะต่อมไทรอยด์ทำงานมากเกินไปและต้องการวางแผนที่จะมีบุตร ควรปรึกษาแพทย์ถึงความเป็นไปได้ในการตั้งครรภ์ ภาวะต่อมไทรอยด์ทำงานมากเกินไปที่ไม่สามารถควบคุมได้ในมารดาอาจส่งผลต่อพัฒนาการของทารกในครรภ์ การเฝ้าระวังและการปรับยาสามารถช่วยหลีกเลี่ยงความเสี่ยงได้

    หากไม่ต้องการรับประทานยาต้านไทรอยด์ ผู้ป่วยอาจพิจารณาการรักษาโดยวิธีผ่าตัดหรือการกลืนแร่กัมมันตรังสีไอโอดีน อย่างไรก็ดีหลังการรักษาด้วยการกลืนแร่ ผู้ป่วยจำเป็นต้องรออย่างน้อย 6 เดือนก่อนเริ่มตั้งครรภ์ การรักษาด้วยการกลืนแร่นั้นไม่เหมาะกับหญิงที่กำลังตั้งครรภ์หรือให้นมบุตร

    คำถามที่พบบ่อย (FAQ)

    1. คำถาม: ไฮเปอร์ไทรอยด์ เกิดจากอะไร?
      คำตอบ:
      ภาวะไฮเปอร์ไทรอยด์เกิดจากต่อมไทรอยด์ทํางานมากเกินไป จนผลิตและปล่อยฮอร์โมนไทรอยด์เข้าสู่ร่างกายเกินความจำเป็น ทำให้อัตราการเผาผลาญพลังงานเพิ่มขึ้นจนเกิดอาการผิดปกติ

    2. คำถาม: อาการของโรคไฮเปอร์ไทรอยด์ เป็นอย่างไร?
      คำตอบ:
      อาการของคนที่มีภาวะไฮเปอร์ไทรอยด์ มักรู้สึกวิตกกังวลและหงุดหงิด เหงื่อออกง่าย ขี้ร้อน น้ำหนักลดอย่ารวดเร็ว หัวใจเต้นเร็ว มือสั่น อ่อนเพลีย ต้นแขนต้นขาอ่อนแรง ทั้งนี้ ในผู้สูงอายุ อาการต่าง ๆ เช่น การเต้นของหัวใจผิดปกติ น้ำหนักลดลง ซึมเศร้า เหนื่อยล้าอ่อนเพลียขณะทํากิจกรรมประจําวันสามารถเกิดขึ้นได้ ดังนั้น หากมีอาการเหล่านี้ควรเข้ารับการตรวจวินิจฉัยเพื่อหาสาเหตุที่แท้จริง

    3. คำถาม: จะรู้ได้อย่างไรว่าเป็นไฮเปอร์ไทรอยด์?
      คำตอบ:
      ภาวะไฮเปอร์ไทรอยด์สามารถรู้ได้จากการตรวจเลือด เพื่อวัดฮอร์โมนไทรอยด์และฮอร์โมนกระตุ้นต่อมไทรอยด์ (TSH) แพทย์อาจวัดระดับปริมาณแอนติบอดีของต่อมไทรอยด์ เพื่อหาว่าสาเหตุของอาการเกิดจากโรคต่อมไทรอยด์อักเสบ โรคเกรฟส์หรือคอพอกแบบเป็นพิษ

    4. คำถาม: ไฮเปอร์ไทรอยด์ รักษาได้ไหม?
      คำตอบ:
      ภาวะไฮเปอร์ไทรอยด์สามาถรักษาได้ โดยการทานยาต้านไทรอยด์เพื่อช่วยลดการผลิตฮอร์โมนไทรอยด์ หรือยา Beta blocker ช่วยควบคุมอาการที่เกิดจากภาวะต่อมไทรอยด์ทํางานมากเกินไป การรักษาอีกแบบคือการกลืนแคปซูลหรือของเหลวครั้งเดียว ซึ่งเป็นแร่กัมมันตรังสีไอโอดีน 131 ทำให้เนื้อเยื่อต่อมไทรอยด์ถูกทําลายอย่างถาวรเพื่อลดการผลิตฮอร์โมนไทรอยด์ การรักษาที่ได้ผลถาวร คือ การผ่าตัด แต่อาจมีความเสี่ยง

    Hyperthyroidism   Infpgraphic Th

    บทความโดย

    เผยแพร่เมื่อ: 03 เม.ย. 2023

    แชร์

    แพทย์ที่เกี่ยวข้อง

  • Link to doctor
    นพ. วิน ภาคสุข

    นพ. วิน ภาคสุข

    • อายุรศาสตร์
    • อายุรศาสตร์โรคต่อมไร้ท่อและเมตาบอลิซึม
  • Link to doctor
    พญ. ปฐมา จรรย์แสง ผ่องสุวรรณ

    พญ. ปฐมา จรรย์แสง ผ่องสุวรรณ

    • อายุรศาสตร์
    • อายุรศาสตร์โรคต่อมไร้ท่อและเมตาบอลิซึม
    ไทรอยด์ และมะเร็งไทรอยด์
  • Link to doctor
    นพ. ธีรวุฒิ คลังเจริญชัย

    นพ. ธีรวุฒิ คลังเจริญชัย

    • อายุรศาสตร์
    • อายุรศาสตร์โรคต่อมไร้ท่อและเมตาบอลิซึม
    อายุรศาสตร์โรคต่อมไร้ท่อและเมแทบอลิซึม
  • Link to doctor
    พญ. ศศิภัสช์ ช้อนทอง

    พญ. ศศิภัสช์ ช้อนทอง

    • อายุรศาสตร์
    • อายุรศาสตร์โรคต่อมไร้ท่อและเมตาบอลิซึม
    โรคความผิดปกติของต่อมหมวกไต, โรคทางเมแทบอลิก, ความดันโลหิตสูงจากภาวะผิดปกติของต่อมไร้ท่อ, ความผิดปกติ แปรปรวนของสภาวะสารน้ำและเกลือแร่, โรคอ้วนและภาวะน้ำหนักเกิน, โรคต่อมใต้สมอง, โรคไทรอยด์, เนื้องอกและมะเร็งต่อมไทรอยด์
  • Link to doctor
    ผศ.พญ. ธัชนันท์ พรธารักษ์เจริญ

    ผศ.พญ. ธัชนันท์ พรธารักษ์เจริญ

    • อายุรศาสตร์
    • อายุรศาสตร์โรคต่อมไร้ท่อและเมตาบอลิซึม
    โรคต่อมไร้ท่อทั่วไป
  • Link to doctor
    นพ. อมรพรรณ เลิศฤทธิ์

    นพ. อมรพรรณ เลิศฤทธิ์

    • อายุรศาสตร์
    • อายุรศาสตร์โรคต่อมไร้ท่อและเมตาบอลิซึม
    โรคต่อมไร้ท่อทั่วไป
  • Link to doctor
    พญ.  ปิยนุช  ปิยสาธิต

    พญ. ปิยนุช ปิยสาธิต

    • อายุรศาสตร์
    • อายุรศาสตร์โรคต่อมไร้ท่อและเมตาบอลิซึม
    อายุรกรรมทั่วไป, โรคต่อมไร้ท่อทั่วไป, อายุรศาสตร์โรคต่อมไร้ท่อและเมแทบอลิซึม
  • Link to doctor
    พญ. ณิชกานต์ หลายชูไทย

    พญ. ณิชกานต์ หลายชูไทย

    • อายุรศาสตร์
    • อายุรศาสตร์โรคต่อมไร้ท่อและเมตาบอลิซึม
    โรคต่อมหมวกไต, ความผิดปกติของแคลเซียมและกระดูก, อินซูลินปั๊ม, โรคต่อมไร้ท่อทั่วไป, ไขมันในเลือดสูง, โรคอ้วนและภาวะน้ำหนักเกิน, โรคต่อมใต้สมอง, โรคไทรอยด์
  • Link to doctor
    พญ. วชรพรรณ อัสนุเมธ

    พญ. วชรพรรณ อัสนุเมธ

    • อายุรศาสตร์
    • อายุรศาสตร์โรคต่อมไร้ท่อและเมตาบอลิซึม
    อายุรศาสตร์โรคต่อมไร้ท่อและเมแทบอลิซึม, อายุรกรรมทั่วไป