Oral Cancer Monitoring Banner 1

เฝ้าระวังมะเร็งช่องปาก

มะเร็งช่องปากที่ตรวจพบราว 4,440 รายในแต่ละปี หรือประมาณ 12 รายต่อวัน โดยพบมากในภาคตะวันออกเฉียงเหนือของประเทศไทย ซึ่งน่าจะมีความเชื่อมโยงกับการเคี้ยวหมาก นอกจากนี้มะเร็งช่องปากมักพบได้มากในเพศชายและผู้สูงอายุ

แชร์

มะเร็งนับเป็นปัญหาสุขภาพที่สําคัญ ซึ่งมีจำนวนผู้ป่วยเพิ่มมากขึ้นเรื่อย ๆ ทั่วโลก เป็นหนึ่งในสาเหตุสําคัญของการเสียชีวิตรองจากโรคหัวใจและหลอดเลือดและโควิด-19 มะเร็งสามารถเติบโตขึ้นได้ในทุกส่วนของร่างกาย มะเร็งบริเวณศีรษะและลําคอเป็นหนึ่งในมะเร็งที่พบมากที่สุดในประเทศกําลังพัฒนาโดยเฉพาะในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ มะเร็งช่องปาก คือมะเร็งที่เติบโตขึ้นในส่วนใดส่วนหนึ่งของช่องปาก อันรวมไปถึงริมฝีปาก เหงือก ลิ้น กระพุ้งแก้ม เพดานปาก พื้นปาก และช่องคอ เฉกเช่นเดียวกับประเทศอื่น ๆ จํานวนผู้ป่วยโรคมะเร็งช่องปากในประเทศไทยยังคงเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องและพบมากขึ้นในกลุ่มคนหนุ่มสาว

ข้อมูลซึ่งตีพิมพ์โดยสถาบันมะเร็งแห่งชาติแห่งประเทศไทยแสดงตัวเลขของผู้ป่วยมะเร็งช่องปากที่ตรวจพบราว 4,440 รายในแต่ละปี หรือประมาณ 12 รายต่อวัน โดยพบมากในภาคตะวันออกเฉียงเหนือของประเทศไทย ซึ่งน่าจะมีความเชื่อมโยงกับการเคี้ยวหมาก นอกจากนี้มะเร็งช่องปากมักพบได้มากในเพศชายและผู้สูงอายุ (>อายุ 45 ปี)   ปัจจัยเสี่ยงที่สําคัญของมะเร็งช่องปาก ได้แก่ การสูบบุหรี่และการดื่มแอลกอฮอล์ที่มากเกินไป ไวรัสฮิวแมนแพพพิลโลมา (Human Papilomavirus – HPV) และการเคี้ยวหมากเป็นประจํา 

แม้ว่าวิธีการรักษาโรคมะเร็งจะก้าวหน้าไปอย่างมากในช่วงหลายทศวรรษที่ผ่านมา แต่การพยากรณ์โรคมะเร็งช่องปากยังคงมีประสิทธิภาพต่ำ ผู้ป่วยจำนวนไม่ถึงร้อยละ 50 เท่านั้นที่มีชีวิตรอดนานกว่า 5 ปีหลังการตรวจพบ สาเหตุหลักนั้นเกิดจากการที่มะเร็งช่องปากในระยะแรกมักไม่ค่อยถูกตรวจพบ และผู้ป่วยส่วนใหญ่จะพบว่าเป็นมะเร็งก็ต่อเมื่อมะเร็งอยู่ในระยะลุกลาม กระจายไปยังเนื้อเยื่อและโครงสร้างข้างเคียงแล้ว หรือหลังจากที่มะเร็งได้แพร่กระจายไปยังบริเวณอื่น ๆ ดังนั้นจึงมีโอกาสที่จะหายขาดได้น้อย และแม้ว่าจะรักษาให้หายขาดได้ผู้ป่วยมะเร็งระยะลุกลามจำเป็นต้องได้รับการรักษาเชิงรุกมากขึ้น ขณะที่รับการรักษา ผู้ป่วยมะเร็งจํานวนมากมักประสบกับปัญหาด้านความบกพร่องในการใช้งานและรูปลักษณ์ เช่น การอ้าปากได้จํากัด ไม่มีน้ำลาย ปัญหาด้านการพูดและการกลืน ทำให้คุณภาพชีวิตของผู้ป่วยแย่ลง ดังนั้นการตรวจพบมะเร็งช่องปากในระยะเริ่มต้นจึงมีความสําคัญอย่างยิ่งเนื่องจากการรักษามะเร็งช่องปากในระยะเริ่มต้นจะเพิ่มโอกาสในการเอาชนะโรคและลดผลข้างเคียงของการรักษามะเร็ง โดยเฉพาะอย่างยิ่งในกลุ่มที่มีความเสี่ยงสูง


Versa HD Elekta’s top-of-the-line LINAC with Catalyst+ HD high precision patient positioning system
for VMAT, IMRT, IGRT, SRS, SRT, SBRT advanced radiation therapy

สัญญาณและอาการของโรคมะเร็งช่องปากมีอะไรบ้าง?
อาการของมะเร็งช่องปากนั้นหลากหลาย ขึ้นอยู่กับระยะและตำแหน่งของโรค ผู้ป่วยมะเร็งช่องปากมักมีแผลร้อนในที่ไม่หายหรือมีอาการปวดที่หาสาเหตุไม่ได้และไม่หายเองภายในสองสัปดาห์ "สัญญาณเตือนและอาการแสดง" อื่น ๆ ที่อาจบ่งบอกถึงการพัฒนาของโรคมะเร็งช่องปาก ได้แก่:

  • รอยปื้นสีแดงหรือสีขาวกับสีแดงในปากหรือบนริมฝีปาก
  • แผลร้อนในที่ไม่หายหรือมีเลือดออกได้ง่าย
  • อาการบวมหรือก้อนเนื้อภายในช่องปากหรือบริเวณศีรษะและลําคอ
  • บวม กดเจ็บ หรือชาในปากหรือริมฝีปาก
  • น้ำหนักลดลงโดยไม่มีสาเหตุ
  • ฟันโยกโดยไม่มีสาเหตุ
  • ปวดหู
  • กลืนลําบากหรือกลืนแล้วเจ็บ
  • รู้สึกเหมือนมีอะไรติดอยู่ในลําคอหรือเสียงเปลี่ยน (เสียงแหบ)
  • ขยับลิ้นหรือกรามไม่ได้

หากมีอาการดังกล่าวมานานกว่า 2 สัปดาห์ ควรพบทันตแพทย์หรือแพทย์เพื่อทำการตรวจวินิฉัย เมื่อมีอาการเหล่านี้ ไม่ได้หมายความว่ากำลังเป็นโรคมะเร็งในช่องปากเสมอไป อาการอาจเกิดจากปัญหาสุขภาพอื่น ๆ ก็เป็นได้

การตรวจคัดกรองมะเร็งปากมีความสําคัญหรือไม่? และควรจะตรวจบ่อยแค่ไหน?
การตรวจพบมะเร็งในช่องปากและการได้รับการรักษาตั้งแต่ระยะแรก ๆ ช่วยเพิ่มโอกาสในการรักษาให้หายและลดภาระเรื่องการรักษาพยาบาล มะเร็งในช่องปากมักตรวจพบได้ยากโดยเฉพาะในระยะเริ่มต้น เพราะมักไม่มีอาการเจ็บปวดและมีอาการในช่องปากเพียงเล็กน้อย ทันตแพทย์มีบทบาทสําคัญในการตรวจพบและระบุอาการเริ่มแรกของมะเร็งช่องปาก เพราะเป็นบุคคลแรกที่สามารถพบการเปลี่ยนแปลงที่น่าสงสัยระหว่างการทำทันตกรรม การตรวจคัดกรองมะเร็งช่องปากโดยละเอียดสามารถทำได้ภายในเวลาเพียงไม่กี่นาที ทันตแพทย์สามารถตรวจคัดกรองช่องปากขณะที่ทำการตรวจสุขภาพฟันตามปกติ ดังนั้นทุกคนจึงควรพบทันต์แพทย์เป็นประจําอย่างน้อยปีละสองครั้งเพื่อให้ทันตแพทย์ทําความสะอาดช่องปากและตรวจคัดกรองมะเร็งช่องปากไปพร้อมกัน

"ยิ่งตรวจพบมะเร็งเร็วเท่าไร แนวโน้มที่จะหายขาดยิ่งมากขึ้นเท่านั้น"






บทความโดย
ทพญ.คุนันยา พิมลบุตร
ทันตแพทย์ผู้ชำนาญการด้านเวชศาสตร์ช่องปาก
ประวัติแพทย์

ทพ.จักรพันธุ์ สามไพบูลย์
ทันตแพทย์ผู้ชำนาญการด้านศัลยกรรมช่องปากและใบหน้า
ประวัติแพทย์

บทความโดย

เผยแพร่เมื่อ: 07 มี.ค. 2024

แชร์